มาร์ค คอนสแตนติน: เริ่มจากเด็กไร้บ้าน สู่ LUSH แบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิกเพื่อสังคม

มาร์ค คอนสแตนติน: เริ่มจากเด็กไร้บ้าน สู่ LUSH แบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิกเพื่อสังคม
กระปุกมาสก์สีดำ บาธบอมบ์สีสดใส และเครื่องสำอางแบบไม่ต้องพึ่งขวดใส่ ที่หลายคนเห็นต้องร้องอ๋อ!  เป็นผลงานอันน่าประทับใจของ LUSH Cosmetics ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณขยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่จะทำได้ เนื่องในโอกาสที่ LUSH ประเทศไทยกำลังจะครบรอบ 5 ปี วันนี้ทาง The People จึงอยากพาให้ทุกคนได้รู้จักกับ มาร์ค คอนสแตนติน (Mark Constantine) หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน   ชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก มาร์ค คอนสแตนติน เกิดในปี 1952 ที่เมืองซัตตัน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ “ผมคิดว่าการเป็นผู้ประกอบการต้องมีข้อบกพร่องทางจิตใจ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้” มาร์คตอบในบทสัมภาษณ์ครบรอบ 20 ปีของ LUSH ชีวิตวัยเด็กของมาร์คเต็มไปด้วยรสชาติของชีวิต เมื่อเขาอายุได้เพียง 2 ขวบ พ่อของเขาได้ทิ้งเขากับแม่และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากนั้นชีวิตของมาร์คก็เติบโตขึ้นมากับแม่และพ่อเลี้ยง จนกระทั่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลงเมื่อมาร์คอายุได้เพียง 16 ปี ด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวที่พังทลายลง เขากลายเป็นคนไร้บ้านในทันที ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะเข้าเรียนต่อ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างที่ตั้งใจไว้ มาร์คต้องอาศัยการกางเต็นท์ในพื้นที่ป่าเพื่อหลับนอน และทำงานไม่เว้นแม้กระทั่งวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อหาเงินมาซื้ออาหารในการประทังชีวิตไปวัน ๆ เขากลายเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานหลายต่อหลายครั้งในลอนดอน จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจย้ายมาที่เมืองพูล (Poole) เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง   เริ่มชีวิตในสายความงามแบบธรรมชาติ มาร์คเริ่มจากการฝึกงานเป็นช่างทำผมในร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งในเมือง และงานนี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับ ลิซ เวียร์ (Liz Weir) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อลิธซาเบธ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ LUSH และภรรยาของมาร์คเอง มาร์คและลิซมีความสนใจร่วมกันในเรื่องธุรกิจความสวยความงาม ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา โดยเริ่มจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมและความงามจากธรรมชาติที่มาจากผลไม้และสมุนไพรเป็นหลัก จนกระทั่งในช่วงปี 1980 มาร์คและลิซได้ตัดสินใจขายสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ The Body Shop ในราคา 11 ล้านปอนด์ (490 ล้านบาท) ก่อนจะนำเงินทุนที่ได้มาสร้างแบรนด์ Cosmetics To Go ที่มีจุดเด่นคือการขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางไปรษณีย์ โดยยังคงความเป็นมิตรกับธรรมชาติเอาไว้ แต่สุดท้ายก็สามารถอยู่รอดได้เพียง 6 ปีเท่านั้น แต่ความมุ่งมั่นของมาร์คในการทำแบรนด์ยังไม่จบอยู่เท่านี้ เขาและภรรยา รวมไปถึงพนักงานอีก 5 คนของ Cosmetics To Go ที่มีแนวคิดและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ก็ได้จับมือกันเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในชื่อ LUSH Cosmetics   LUSH แบรนด์ที่ทำเพื่อสังคม LUSH สาขาแรกเปิดขึ้นในปี 1995 ในเมืองพูล ประเทศอังกฤษ เมืองเดิมที่เป็นจุดเริ่มต้นทางธุรกิจของมาร์ค ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และลดขวดบรรจุภัณฑ์เท่าที่สามารถจะทำได้ และการพยายามใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 95% ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก ทำให้เมื่อมองไปที่ชั้นวางของในร้าน จะเต็มไปด้วยบาธบอมบ์หลากหลายสีที่กองอยู่ หรือสบู่ แชมพู ครีมนวด ที่มาในลักษณะแท่งแทนการใส่ขวดอย่างที่ควรจะเป็น และกลิ่นภายในร้านยังให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติที่ไม่ได้แต่งกลิ่นแต่อย่างใด ความแตกต่างจากแบรนด์อื่น และจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของทางแบรนด์ รวมไปถึงการปฏิเสธการทดลองกับสัตว์ทุกชนิด ต่างดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคที่ต้องการหันหลังให้กับสารเคมี และมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  นอกจากนี้ มาร์คยังแสดงจุดยืนของแบรนด์ผ่านทางการบริจาคเงินการกุศลให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา LUSH ได้ระดมทุนและมอบเงินจำนวน 50 ล้านปอนด์ (2.2 พันล้านบาท) และในปีที่แล้วเพียงปีเดียวมีการให้ทุนสนับสนุนมากถึง 3,500 กลุ่ม รวมไปถึงที่ผ่านมา LUSH มักจะออกมาพูดถึงเรื่องของการถูกละเมิดทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากชีวิตในวัยเด็กของมาร์คเอง และเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำคือ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2018 ที่ LUSH เปิดตัวแคมเปญที่มุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบในสหราชอาณาจักร  สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ LUSH ถูกพูดถึงในวงกว้างว่าเป็นแบรนด์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง   ขยายขนาดใหญ่ คงไว้ซึ่งโฮมเมด จากแบรนด์โฮมเมดที่ตั้งอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ปัจจุบัน LUSH ได้ทำการขยายธุรกิจมากกว่า 900 สาขา ใน 49 ประเทศทั่วโลก และถึงแม้ว่าในปี 2021 ที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ LUSH ก็ยังสามารถทำกำไรได้ถึง 100 ล้านยูโร (4.6 พันล้านบาท) ด้วยการแสดงจุดยืนที่ต้องการช่วยเหลือให้โลกสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ผ่านการบริจาคเงิน หรือแม้กระทั่งสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการแจกแอลกอฮอล์ฟรี และการเปิดให้คนสามารถเข้ามาล้างมือในร้านได้ LUSH ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นผ่านระยะเวลากว่า 26 ปี ที่โลดเล่นอยู่ในวงการนี้ว่า การเติบโตของธุรกิจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเพื่อสังคมและการทำผลิตภัณฑ์โฮมเมดแบบกระปุกต่อกระปุก  ซ้ำยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์มากขึ้น ด้วยการสร้างความพิเศษให้กับตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้ใช้รู้สึกพิเศษ แม้ว่าจะมีระยะเวลาการใช้งานที่สั้นกว่าแบรนด์อื่นมากก็ตาม หากลองพลิกดูด้านล่างบรรจุภัณฑ์จะพบกับภาพของผู้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไป  เรียกได้ว่าตลอดการซื้อผลิตภัณฑ์ของ LUSH ของคุณอาจจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตที่ไม่ซ้ำกันเลยก็เป็นได้   ภาพ: https://weare.lush.com/ https://www.lush.com/uk/en และ Getty Images   อ้างอิง: https://www.bournemouthecho.co.uk/news/13498104.mark-and-mo-constantine-on-the-20-year-success-of-lush/ https://theecologist.org/2019/jan/04/unexpected-life-story https://weare.lush.com/lush-life/our-company/who-we-are/ https://www.lushusa.com/stories/article_our-fresh-handmade-story.html https://companycheck.co.uk/company/04162033/LUSH-COSMETICS-LIMITED/companies-house-data