มาร์ก เฟลต์ เอฟบีไอ ผู้ล้มประธานาธิบดี (ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ)

มาร์ก เฟลต์ เอฟบีไอ ผู้ล้มประธานาธิบดี (ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ)
"เรารู้ว่า มีอะไรบ้างที่หลุดออกไป และเราก็รู้ว่า ใครเป็นคนที่ปล่อยมันออกไป"  เอช. อาร์ เฮลเดอมัน (H. R. Haldeman) เลขาธิการใหญ่ทำเนียบขาว มือขวาของ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 37 จากพรรครีพับลิกัน กล่าวกับเจ้านาย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1972 หลังเกิดเหตุ สายและคนของซีไอเอรวม 5 ราย ถูกจับตัวได้ขณะพยายามติดอุปกรณ์ดักฟังในออฟฟิศของพรรคเดโมแครตในวอเตอร์เกต วอชิงตัน ดี.ซี. ตามใบสั่งจากทำเนียบขาว หรือกรณีอื้อฉาวที่รู้จักกันในชื่อ “วอเตอร์เกต” "คนในเอฟบีไอรึ?" นิกสันถาม "ใช่ครับท่าน" เฮลเดอมันตอบกลับ  "ใครกัน?" "มาร์ก เฟลต์ (Mark Felt) ครับ" "เขาจะทำอย่างนั้นไปทำบ้าอะไรวะ!!?" นิกสันกล่าวอย่างเจ็บปวด เมื่อรู้ว่าเบอร์สองของหน่วยงานสอบสวนกลางอยู่เบื้องหลังการส่งข้อมูลชั้นความลับให้กับนักข่าว (The New York Times) (บันทึกเทปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นิกสันและคนใกล้เคียงสันนิษฐานได้อย่างถูกต้องว่า เฟลต์เป็นสายให้กับนักข่าว)  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปลายปีเดียวกัน ผู้ก่อเหตุพยายามสร้างหลักฐานเท็จว่ามันเป็นเพียงการโจรกรรมธรรมดา ฝ่ายนิกสันและคณะพยายามปฏิเสธว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาหรือทีมงานหาเสียง ขณะเดียวกันก็พยายามทำลายหลักฐาน ซ่อนตัวพยาน และขัดขวางการสอบสวนของเอฟบีไอหรือสำนักงานสอบสวนกลางทุกวิถีทาง  แต่ มาร์ก เฟลต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง กลับไม่ยอมรับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทั้งพยายามคัดค้านการใช้อำนาจในการสั่งยุติการสอบสวนคดีของทำเนียบขาว พร้อมกันนั้นก็ยังส่งข้อมูลชั้นความลับส่งไปให้นักข่าว จนความอื้อฉาวของการใช้อำนาจโดยมิชอบของนิกสันนั้นฉาวโฉ่ และถูกสาวเข้ามาใกล้ตัวเกินกว่าที่เขาจะนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้  การบุกรุกเพื่อหาข้อมูลเล่นงานฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลนิกสันไม่ได้เพิ่งจะมีขึ้นในช่วงรณรงค์เลือกตั้งเท่านั้น หลังชนะเลือกตั้งในปี 1969 นิกสันแม้จะยอมถอนกำลังภาคพื้นดินออกจากเวียดนาม แต่เขาก็ยังต้องการดำเนินสงครามเวียดนามต่อไปในแบบของตัวเอง (ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดให้มากขึ้นแทนที่พลเดินเท้า) จึงรู้สึกระคายเคืองกับการประท้วงอย่างเนือง ๆ ของฝ่ายต่อต้านสงคราม และเริ่มใช้วิธีการ "แบล็คเมล์" หาเรื่องสกปรกหรือเรื่องอะไรก็ได้ในการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ทั้งนักกิจกรรม นักข่าว และนักการเมือง เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง  และวิธีการหาข้อมูลของทีมงานนิกสันก็คือการบุกรุก เพื่อขโมยข้อมูล และติดตั้งเครื่องดักฟังในบ้าน หรือสำนักงานของบุคคลเป้าหมาย ซึ่งเขาทำจนได้ใจ กระทั่งมาถูกจับได้อย่างจังในกรณีวอเตอร์เกต ฝ่าย มาร์ก เฟลต์ นั้นเป็นลูกหม้อของเอฟบีไอใต้ปีกของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนแรก และได้รับการหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสืบต่อไป แต่เมื่อฮูเวอร์เสียชีวิตลงในเดือนพฤษภาคม 1972 นิกสันกลับตั้งให้ แอล. แพทริก เกรย์ ที่ 3 (L. Patrick Gray, III) ที่ข้ามห้วยจากสำนักงานอัยการ ให้ขึ้นมารับตำแหน่งเฉพาะกาลไปก่อน ซึ่งไม่นานจากนั้นก็เกิดเหตุวอเตอร์เกตขึ้นพอดี สาเหตุที่นิกสันไม่เลือกเฟลต์นั้น คงเป็นเพราะเขาไม่มั่นใจว่า เฟลต์จะภักดีต่อเขาจริง เพราะก่อนหน้านั้น ฮูเวอร์ ผอ. และ ไคลด์ เอ. โทลสัน (Clyde A. Tolson) รอง ผอ.ต่างมีปัญหาสุขภาพ เฟลต์ในฐานะผู้ช่วยรอง ผอ. ซึ่งถือเป็นเบอร์สามขององค์กรก็รับหน้าที่สั่งการกิจการต่าง ๆ ของเอฟบีไอ จึงมีสถานะเหมือนเป็น ผอ. ในทางปฏิบัติอยู่แล้ว การเลือกคนนอกมานั่งเป็น ผอ. แทน จึงเป็นการหักหน้าเขาอย่างแรง  เมื่อ บ็อบ วูดเวิร์ด (Bob Woodward) นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรงจาก Washington Post มาเคาะประตูขอข้อมูลเรื่องคดีโจรกรรมวอเตอร์เกตจากเขา เฟลต์จึงคิดว่า น่าจะร่วมมือกับวูดเวิร์ดในการเปิดโปงการใช้วิธีการสกปรกของรัฐบาลนิกสันในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ว่าแล้วจึงคิดวิธีการติดต่อกับวูดเวิร์ดที่สลับซับซ้อนเพื่อมิให้ใครจับได้ วิธีการก็คือ หากเฟลต์ต้องการติดต่อกับวูดเวิร์ด เขาก็จะส่งหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยวงกลมที่หน้า 20 เอาไว้ ส่วนวูดเวิร์ดถ้าหากต้องการติดต่อกับเฟลต์ก็จะส่งสัญญาณด้วยการเคลื่อนกระถางดอกไม้ที่ปักธงแดงซึ่งวางไว้ริมระเบียงบ้าน แล้วทั้งคู่ก็จะแอบมาพบกันที่ลานจอดรถใต้ดินแห่งหนึ่งในยามค่ำ  จากนั้น Washinton Post (โดย วูดเวิร์ด และ คาร์ล เบิร์นสไตน์ [Carl Bernstein]) ก็ปล่อยรายงานเรื่องการใช้เครื่องมือของรัฐในการสอดแนมและบ่อนทำลายทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลออกมาเป็นระยะ โดย ฮาเวิร์ด ไซมอนส์ (Howard Simons) บรรณาธิการผู้จัดการของ Post  อ้างถึงแหล่งข่าวผู้ปล่อยข้อมูลออกมาในชื่อ “Deep Throat” โดยใช้ชื่อของหนังโป๊ชื่อดังในสมัยนั้นที่ยังต้องเผยแพร่เป็นการใต้ดิน เพื่อสื่อถึงแหล่งข่าวที่มีความลึกลับแต่ก็กว้างขวาง เฟลต์ให้ข้อมูลกับวูดเวิร์ดอย่างต่อเนื่องหลายเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องราวอื้อฉาวของรัฐบาลจะอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม  แม้ว่านิกสันจะยังคงชนะการเลือกตั้งในปี 1972 แต่สุดท้ายคดีวอเตอร์เกตก็ทำให้เขาต้องยอมลาออกจากตำแหน่งไปเองในปี 1974 เจอรัลด์ ฟอร์ด รองประธานาธิบดี จึงขึ้นมารับตำแหน่งแทนนายเก่า แล้วฟอร์ดก็สั่งให้อภัยโทษโดยไม่มีเงื่อนไขให้กับนิกสัน ในทุกการกระทำที่นิกสันทำไประหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนเฟลต์นั้น แม้ทางวูดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์จะปิดปากเงียบไม่ยอมเผยว่าใครคือ “Deep Throat” ต้นทางข้อมูลลับจากเอฟบีไอ แต่เฟลต์ก็ยังถูกตั้งกรรมการสอบหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยในกรณีแอบส่งข้อมูลลับให้ The New York Times (แทนที่จะเป็น Washington Post)  ก่อนที่เขาจะเกษียณออกไปในปี 1973 และเฝ้าดูวันสิ้นอำนาจของนิกสันอยู่ที่บ้าน ความลับของ Deep Throat ถูกปกปิดมานานกว่า 3 ทศวรรษ จนกระทั่งเฟลต์เองออกมาบอกว่า เขานี่แหละคือ Deep Throat ในปี 2005  หลายคนมองว่า เฟลต์คือฮีโรที่ช่วยล้มผู้นำที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ขณะที่บางคนอาจมองว่า เฟลต์เป็นพวกองุ่นเปรี้ยวรึเปล่า? ที่พอไม่ได้รับตำแหน่งใหญ่ที่ตัวเองหมายตาก็เลยต้องการแก้แค้นนิกสัน และบางคนก็เห็นว่า การปล่อยข้อมูลลับให้กับนักข่าว แม้จะเป็นข้อมูลที่จริงก็เป็นสิ่งที่ผิด ทางที่ดีคือ เขาควรจะรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชาถึงจะถูก (แม้ผู้บังคับบัญชาของเขามาจากการแต่งตั้งของนิกสัน?)   โรเบิร์ต ดัลเลก (Robert Dallek) นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า "ถ้าหากนี่เป็นการแก้แค้น มันก็ลดทอนคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ แต่ไม่มีใครหรอกที่จะทำอะไรโดยมีแรงจูงใจเดียวโดยไม่มีเรื่องอื่นปน มันชัดเจนว่าเขารู้สึกแย่มากกับการละเมิดรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น แล้วก็ผสมโรงด้วยความโกรธแค้นกับการเมืองภายในเอฟบีไอ "การที่เบอร์สองของเอฟบีไอต้องพึ่ง Washington Post ในการเปิดโปงความสกปรกในทำเนียบขาว แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างเขากับรัฐบาลนิกสัน แน่นอนว่าเขาโกรธคนพวกนี้มาก คนอื่น ๆ ก็อาจตีความเรื่องนี้ได้หลากหลายว่า เขาแค่แค้นที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้อำนวยการต่อจากฮูเวอร์ หรือจะเป็นเพราะเขาคือคนที่ยึดหลักการหนักแน่น และรู้สึกว่าถูกตบหน้ากับการละเมิดรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกันแน่" (The New York Times) อย่างไรก็ดี เฟลต์เองก็ถูกตั้งข้อหาละเมิดสิทธิประชาชนด้วยการบุกรุกและดักฟังผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายเช่นกัน (ที่ต่างคือ เฟลต์ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเหมือนนิกสัน) โดยในคดีที่เขาตกเป็นจำเลยนั้น เป้าหมายของเขาเป็นญาติและเพื่อนของสมาชิกกลุ่ม Weather Underground กลุ่มต่อต้านสงครามหัวรุนแรงที่ก่อเหตุวางระเบิดอาคารต่าง ๆ ของรัฐบาล และเฟลต์ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในปลายปี 1980 และเป็นประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่ให้อภัยโทษกับเขาในปีต่อมา  เฟลต์ เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1913 หลังจบจากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ เขาก็มาทำงานให้กับวุฒิสมาชิก เจมส์ พี. โป๊ป (James P. Pope) จากพรรคเดโมแครต หลังจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันเขาก็ไปทำงานให้กับเอฟบีไอ จนได้รับตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้อำนวยการ และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2008