กง ไณย: ครูดนตรี ‘แม่โขง เดลตา บลูส์’ ผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดงและส่งต่อคบไฟแห่งบทเพลงให้คนรุ่นหลัง

กง ไณย: ครูดนตรี ‘แม่โขง เดลตา บลูส์’ ผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดงและส่งต่อคบไฟแห่งบทเพลงให้คนรุ่นหลัง
สองมือประดับ เคลื่อนไหว ลงน้ำหนักและดีดไปบนเครื่องดนตรีสองสาย สรรพสำเนียงจาก ‘จะเป็ยฏ็องแวง’ (กระจับปี่เขมร: ‘จับเปย’ หรือ ‘จะเป็ย’ ก็ว่า) ฟังเสนาะหูไม่น้อยเมื่อสอดรับกับลำนำที่ผู้บรรเลงมันได้ขับร้องคลอไปด้วย การขับร้องและบรรเลงของ ‘อาจารย์กง ไณย’ (Master Kong Nay) ภายในบทเพลง ‘Vannda - Time To Rise feat. Master Kong Nay’ ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อสองเดือนที่แล้ว และเป็นกระแสไปทั่วโลกนั้นราวท่วงทำนองที่ได้ปลุกบางอย่างให้ฟื้นตื่น - บางอย่างที่งดงามแต่กลับหลับใหลในเวทีโลกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การรุกรานของอิทธิพลสงครามเย็นเมื่อร่วม 40 ปีที่แล้ว หลังยุคเขมรแดงผ่านพ้น วัฒนธรรมซึ่งเคยรุ่มรวยในกัมพูชาอย่างดนตรี ได้กลายเป็นสิ่งถูกเรียกขานว่า ‘วัฒนธรรมใกล้ตาย’ หากชายวัย 76 ปี ผู้เล่นเครื่องดนตรีสองสายมาเกือบชั่วชีวิตกลับไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เพียงในบทเพลง ‘Time To Rise’ ที่เขาร่วมร้องกับแรปเปอร์หนุ่มเลือดใหม่ 'Vann Da - វណ្ណដា' และพาให้เสียงดนตรีแห่งบ้านเกิดได้เป็นที่รู้จัก แต่ก่อนหน้าและหลังจากนั้น อาจารย์กง ไณย นักดนตรีตาบอด เจ้าของฉายา ‘เรย์ ชาร์ลส แห่งกัมพูชา’ ก็ได้ยกสองมือของตนขึ้นประดับบนสาย และถ่ายทอดมนตร์เสน่ห์แห่งกัมพูชาให้โลกได้ร่วมสดับมาอย่างช้านาน *เรย์ ชาร์ลส คือชื่อของนักดนตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้วางรากฐานให้กับดนตรีแนวอาร์แอนด์บี หรือริทึมแอนด์บลูส์ และถูกขนานนามโดยเพื่อนนักดนตรีว่าเป็น ‘อัจฉริยะตัวจริง’   เครื่องสายและเด็กชายตาบอด เรื่องราวของเรย์ ชาร์ลสแห่งกัมพูชานั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี 1944 ที่กง ไณย ลืมตาดูโลก ในขวบปีที่ 4 ของชีวิต เด็กชายป่วยเป็นไข้ทรพิษ และสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไป ภายใต้ความมืดอย่างนั้นเองที่เด็กชายวัย 13 ปีร้องขอกับลุงของตนให้สอนดนตรี ลุงของกง ไณยตัดสินใจสอนเขาไปพร้อม ๆ กับพูดความจริงว่า “มันยากนักที่ข้าจะสอนเด็กตาบอดเช่นเอ็งให้เล่นดนตรี” แม้จะยาก หากเด็กชายก็ไม่ท้อแท้ เขาฝึกปรือฝีมือกับเครื่องสาย และฝึกขับร้องท่วงทำนองแบบ ‘ลำนำด้นสด’ อยู่ 2 ปี กว่าที่กง ไณยกับเครื่องดนตรี ‘จะเป็ย’ จะสนิทชิดเชื้อ ราวเป็นเพื่อนรักกันมายาวนาน ในวัยหนุ่มย่างก้าวเข้าวัยผู้ใหญ่ กง ไณยใช้จะเป็ยของตนเลี้ยงชีพ แม้สองตาจะมองไม่เห็น แต่สองหูของนักดนตรีหนุ่มยังได้ยินทุกอย่างชัดเจน ทั้งเสียงดนตรีที่เขารักนักหนา และเสียงแห่งหายนะที่กำลังคืบคลานเข้าหาพี่น้องชาวกัมพูชาช้า ๆ ในรูปแบบของการเข่นฆ่า เพื่อล้างเผ่าพันธุ์ นับตั้งแต่ปี 1947 ที่สงครามเย็นระหว่างสองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่สมาทานทุนนิยมและสหภาพโซเวียตที่สมาทานสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ได้ส่งอิทธิพลต่อนานาประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับในกัมพูชา ปี 1975 การเถลิงอำนาจของ ‘พล พต’ ผู้นำกองกำลังติดอาวุธ ‘เขมรแดง’ (Khmer Rouge) ได้เปลี่ยนแปลงกัมพูชาทั้งประเทศให้กลายเป็น ‘ทุ่งสังหาร’ (killing fields)   ทุ่งสังหาร เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด สดับรับด้วยนัดที่เหลือ เสียงของแข็งฟาดเข้ากับร่าง เสียงครวญระคนครางของมนุษย์ระงมลั่น ผู้คนนับสิบ ร้อย หรือพันร่างล้มฟุบลงกับพื้น บาดแผลสาหัส ป่วยไข้ ร่างกายผ่ายผอม อดอยาก และจากโลกใบนี้ไป การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเพื่อสร้างสังคมตามอุดมคติของพล พตนั้นโหดร้าย เพราะต้องการสร้างสังคมกรรมาชีพ พล พตจึงได้ออกแบบประเทศให้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘นารวม’ อันหมายถึงการเกณฑ์คนเมืองให้ออกไปสู่ชนบท บังคับใช้แรงงานทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยให้ไปทำนาและเป็นแรงงาน ผู้ใดก็ตามที่ไม่สามารถเป็นชาวนา ชนชั้นกรรมาชีพ และทหารได้จะถูกฆ่าระหว่างทางอพยพ เพราะพล พตถือว่า ‘ไร้ประโยชน์’ แน่นอนว่ากง ไณยถูกหมายหัว - เพราะเขาไม่ใช่ชาวนา ไม่ใช่กรรมกรผู้เลี้ยงชีพด้วยการทำงานหนัก และไม่ใช่ทหารที่สะพายปืนประดับเอว อาชีพ ‘ศิลปิน’ ของเขาถูกเขมรแดงนับเป็นขั้วตรงข้าม หรือ ‘ศัตรู’ เพื่อนร่วมอาชีพของกง ไณยหลายคนถูกฆ่า บ้างถูกซ้อมทรมาน บ้างถูกปล่อยให้โหยอาหารตาย ในช่วงแรกกง ไณยได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องทำงานหนัก และไม่ถูกยึดจะเป็ยคู่ใจ แต่บทเพลงเดียวที่เขาได้รับอนุญาตให้เล่นเพื่อจะมีชีวิตรอดต่อไป คือบทเพลงสรรเสริญคุณงามความดีของเขมรแดง แต่สุดท้าย ความโชคร้ายก็ดำเนินมาถึง กง ไณยถูกพรากเครื่องดนตรีคู่ชีวิตไป และถูกส่งตัวไปทำงานในโรงงานเชือกปาล์ม “เขมรแดงทุบตีเรา เราได้กินเพียงใบมันสำปะหลังและใบมันฝรั่งประทังชีวิต” หลังจากทนทรมานอยู่นานวัน กง ไณยถูกพาตัวไปกลางป่า และใช้เวลาตลอดคืนที่นั่น ภายใต้ความหวาดกังวลว่าจะถูกฆ่า เขาได้แต่รอให้รุ่งเช้ามาถึง เมื่อแสงตะวันที่เรย์ ชาร์ลสแห่งกัมพูชาไม่อาจเห็นปรากฏขึ้น กง ไณยก็ได้รับรู้ข่าวดีเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ปี 1978 เขมรแดงแตกพ่าย ผู้รอดชีวิตถูกส่งคืนสู่บ้าน สู่อ้อมกอดของครอบครัว “หลังวันประกาศอิสรภาพ ผมรู้สึกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผมรู้สึกถึงอิสระที่กลับคืนมา อิสระที่ผมจะได้เล่นจะเป็ยอีกครั้ง” ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่เขมรแดงครองอำนาจได้คร่าชีวิตผู้คนในกัมพูชาไปกว่าสองถึงสามล้านคน ซึ่งนับเป็น 1/4 ของประชากรในประเทศ   วัฒนธรรมที่ถูกฝังดิน / สามปีแห่งความทุกข์ยาก สามปีแห่งความลำบากยากลืมเลือน ทุกอย่างถูกทำลาย เลือดหลั่งไหลลงกับดิน ลูกเล็กกำพร้าพ่อแม่ กัมพูชาคือลานฆ่า มันสั่งเราไถนา เหนื่อยและล้า ล้มลงไป สามี ภรรยา คนคุ้นหน้าถูกแยกไกล เราถูกบังคับให้ลืมผองเพื่อน จวบจนวันที่ 7 มกราฯ ชาวกัมพูชารอดพ้นโศกภัย / คือเนื้อเพลงจากบทบรรเลงจะเป็ยประกอบคำร้อง ‘เพลงแห่งการปลดปล่อย’ (Liberation Song) ที่กง ไณยประพันธ์หลังได้กลับบ้าน อย่างที่ได้บรรยายไปข้างต้น เพื่อนร่วมอาชีพของกง ไณยหลายคนเสียชีวิตในช่วงเวลาที่โหดร้ายเหล่านั้น ชายหนุ่มที่รอดตายมาได้ราวปาฏิหาริย์จึงถือเป็นพันธกิจของตนที่จะปลุกฟื้นคืนจิตวิญญาณในเสียงดนตรีให้แก่กัมพูชาอีกครั้ง เริ่มจากรับตำแหน่งครูสอนจะเป็ยให้คนรุ่นถัดไปในประเทศ สู่การบินลัดฟ้าไปนานาเมืองเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมให้ต่างชาติได้สัมผัส จากเอเชียถึงตะวันตก พร้อมด้วยจะเป็ยคู่กาย ที่ ‘อาจารย์กง ไณย’ ได้พากเพียรไปร้องและเล่นให้ใครก็ตามบนโลกได้ฟัง สอดประสานกับการทำงานของนักดนตรีชั้นครูคนอื่น ๆ และการสนับสนุนจากรัฐและหน่วยงานเอกชน เสียงดนตรีแห่งกัมพูชาก็ดูราวแสงคบไฟที่ค่อย ๆ สว่างขึ้นทุกขณะในเวทีดนตรีโลก   ส่งต่อคบไฟ ให้เสียงดนตรีพุ่งทะยาน แม้จะพากเพียรถึงเพียงนั้น อาชีพ ‘ครูดนตรี’ ของกง ไณยก็ยังต้องเจอปัญหา “มีบางคนบอกว่าไม่อยากเรียนจะเป็ย เพราะถ้าเรียนก็จะตาบอดเหมือนผม คำพูดนั้นทำให้ผมรู้สึกแย่ ถ้าคุณไม่ใส่ใจจะรักษาดนตรีที่กำลังจะตาย คุณก็ไม่ควรซ้ำให้ยิ่งแย่ด้วยการฝังกลบมัน” กง ไณยได้รับรางวัลแรกในชีวิตจากการแข่งขันจะเป็ยเมื่อปี 1982 และหลังจากนั้นชื่อของเขาก็ถูกประดับไปด้วยถ้วยรางวัลมากมาย เขายังคงขับขานเสียงร้องประสานทำนองดนตรีในทุกที่ที่เขาไป และแม้จะรักในท่วงทำนองของเครื่องดนตรีโบราณถึงเพียงนั้น หากกง ไณยก็ไม่ได้เกลียดชังหรือไม่เปิดรับดนตรีจากโลกตะวันตก อันเห็นได้ชัดจากการร่วมงานของเขากับแรปเปอร์หนุ่มวันดา เพื่อพาเพลง traditional-hip hop ภาษาเขมรให้พุ่งทะยานสู่สากลโลก “ผมไม่ได้ห้ามวัยรุ่นถ้าพวกเขาจะรักเสียงดนตรีใหม่ ๆ ผมเพียงแต่ไม่อยากให้ใครหลงลืมดนตรีพื้นบ้าน และผมก็ยินดีที่ยังมีคนรุ่นเยาว์มากมายที่รักและสนใจในการบรรเลงจะเป็ย” / Time To Rise… ถึงเวลาพุ่งทะยานแล้ว พุ่งทะยานขึ้นสูงเท่าดวงดาว ให้มีความสุขทั้งหนุ่มสาว ศิลปินหนุ่มสาวที่กำลังใฝ่ฝัน ขอเปิดตำนานบทใหม่ มรดกยิ่งใหญ่จากข้า กง ไณย เอย… /   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=10141048 https://m.phnompenhpost.com/lifestyle/time-rise-rapper-chapei-legend-viral-hit-ancient-modern-mix https://fukuoka-prize.org/en/laureates/detail/d56501b7-202f-4a4d-84fd-11b457c196a2 https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1343271/music-with-a-vision