แมตต์ เกรนิง: ผู้ให้กำเนิด 'เดอะซิมป์สันส์' ซิตคอมเสียดสี ที่มีต้นแบบจากครอบครัวตัวเอง

แมตต์ เกรนิง: ผู้ให้กำเนิด 'เดอะซิมป์สันส์' ซิตคอมเสียดสี ที่มีต้นแบบจากครอบครัวตัวเอง
ต่อให้ไม่มีใครรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ก็น่าจะมีคนเคยเห็นมันผ่านตากันมาบ้าง เพราะแอนิเมชันชื่อดัง ที่เคยเป็นป็อปคัลเจอร์ในช่วงยุค 90s อย่าง 'เดอะซิมป์สันส์' (The Simpsons) ยังคงหาที่ทางที่จะอยู่ในใจผู้ชมในยุคปัจจุบัน แม้จะไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่ากาลก่อนแล้วก็ตาม แม้เบื้องหลังความสำเร็จของ เดอะซิมป์สันส์ จะมีหลายคนที่ควรได้รับคำชมเชย แต่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คงหนีไม่พ้นผู้ให้กำเนิดตัวละครแสนประหลาด และเส้นเรื่องชวนปวดหัว แมทธิว อับราฮัม เกรนิง (Matthew Abram Groening) หรือ 'แมตต์ เกรนิง' ผู้ออกแบบและให้กำเนิดครอบครัวสุดวายป่วงที่ชาวอเมริกันรู้จักและหลงรักมาตลอด 30 ปี โดยใช้ต้นแบบที่มีใกล้ตัวอย่าง ครอบครัวของเขาเอง เกรนิงเติบโตที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เขามีวัยเด็กที่สนุกสนาน และครอบครัวที่แม้จะไม่ได้แตกต่างจากชนชั้นกลางชาวอเมริกันทั่วไป แต่ก็มีความทันสมัย เพราะพ่อของเกรนิงเป็นนักทำหนังสารคดี เกรนิงได้รับการปลูกฝังให้มีความคิดเป็นอิสระ เขามักจะชอบตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัว การโตมาในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนทำให้เขามีพี่น้องวัยเดียวกันที่นอกจากจะเป็นเพื่อนเล่นคลายเหงา ก็ยังเป็นการจำลองสังคมแห่งการแก่งแย่ง ที่หากเรามีพี่น้องที่สนิทสนมกันมาก ๆ ย่อมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี [caption id="attachment_27614" align="aligncenter" width="640"] แมตต์ เกรนิง: ผู้ให้กำเนิด 'เดอะซิมป์สันส์' ซิตคอมเสียดสี ที่มีต้นแบบจากครอบครัวตัวเอง เดอะซิมป์สันส์โมเดลแรก[/caption] เกรนิงค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนเป็นครั้งแรก เพราะได้มีโอกาสไปแข่งขันแต่งเรื่องสั้นตอนอยู่เกรด 3 โจทย์ในการแข่งขันครั้งนั้นคือ 'เด็กชายผู้ถูกกระแทกที่ศีรษะและค้นพบว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น' ในเวอร์ชันของเกรนิง เด็กชายคนนั้นกลายเป็น 'ผี' เขาตายจากการถูกกระแทก และวนเวียนกลับมาหลอกหลอนทุกครั้งในวันฮาโลวีน เรื่องราวสยองขวัญที่ได้รับรางวัล คล้ายจะกระแทกให้เกรนิงรู้ว่าโตไปเขาอยากจะทำอะไรต่อ Life in Hell (1977-2012) คือผลงานการ์ตูนช่องที่ได้ตีพิมพ์เรื่องแรกของเกรนิง เขาได้ไอเดียมาจากการใช้ชีวิตอันแสนยากลำบากในลอสแอนเจลิส เพราะก่อนจะได้งานทำที่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ L.A. Reader เกรนิงต้องดิ้นรนทำงานพิเศษอย่าง โชเฟอร์ พนักงานล้างจาน และพนักงานในร้านขายแผ่นเสียง เจ้ากระต่ายบิ๊กกี้ ตัวละครหลักใน Life in Hell มักจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมที่กดขี่ฟันเฟืองในระบบ ซึ่งในความเป็นจริงคือคนด้วยกันจนแทบไม่ได้ลืมตาอ้าปาก มุกตลกเสียดสีที่หยิบเอาความเป็นจริงมาเล่นทำให้ Life in Hell กลายเป็นคอลัมน์การ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากในช่วงเวลาหนึ่ง เกรนิงทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนที่ L.A. Reader จนถึงช่วงปี 1986 ก่อนจะได้รับการทาบทามให้มาออกแบบการ์ตูนคั่นใน The Tracey Ullman Show รายการตลกซึ่งกำลังจะมีกำหนดฉายในเวลานั้น ทีแรกเกรนิงคิดจะหยิบตัวละครจาก Life in Hell มาสร้าง แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะไม่อยากยกเลิกลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ Life in Hell ในหนังสือ ช่วงเวลา 15 นาที ก่อนที่จะเข้าไปคุยกับเจมส์ บรูกส์ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เขาจึงออกแบบ 'ครอบครัวซิมป์สันส์' กลุ่มตัวละครสุดวายป่วงที่กำลังจะกลายมาเป็นตำนานในอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น แมตต์ เกรนิง: ผู้ให้กำเนิด 'เดอะซิมป์สันส์' ซิตคอมเสียดสี ที่มีต้นแบบจากครอบครัวตัวเอง เกรนิงตั้งชื่อตัวละครตามชื่อสมาชิกในครอบครัวของเขาเอง โดยตระกูลซิมป์สันส์ เป็นครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลางทั่วไป ที่อาศัยอยู่ที่เมืองสปริงฟิลด์ มี 'โฮเมอร์' พ่อผู้โมโหง่าย ทำงานเป็นผู้ตรวจความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่งงานกับ 'มาร์จ' แม่บ้านชาวอเมริกันทั่วไป ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ 'บาร์ต' เด็ก ป.4 เจ้าปัญหา 'ลิซ่า' เด็กแก่แดด อายุ 8 ขวบ และ 'แม็กกี' ทารกน้อยที่ไม่เคยมีบทพูด หลังจากฉายเป็นการ์ตูนสั้น ๆ คั่นรายการได้ไม่นาน ด้วยมุกตลกแบบจิกกัดของเดอะซิมป์สันส์ก็ทำให้ผู้ชมชาวอเมริกันถูกอกถูกใจครอบครัวนี้ ทีมผู้ผลิตจึงตัดสินใจจะทำเดอะซิมป์สันส์เป็นซีรีส์ยาว ตอนละประมาณครึ่งชั่วโมง ฉายช่วงไพรม์ไทม์ทางช่อง Fox และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ เดอะซิมป์สันส์ ที่ออกอากาศครั้งแรกในปี 1989 ก่อนจะฉายยาวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ทั้ง 5 ตัวละครที่กล่าวไป คือตัวละครหลักของ เดอะซิมป์สันส์ แต่นอกจากนั้นก็ยังมีตัวละครเสริมเป็นเครือญาติหรือตัวละครรับเชิญหมุนเวียนมาโผล่ในหลาย ๆ โอกาสพิเศษ เดอะซิมป์สันส์โด่งดังในด้านการเขียนบทล้อเลียน เสียดสี และจิกกัดวิถีชีวิตของชาวอเมริกันชนชั้นกลาง ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และวงการโทรทัศน์ของอเมริกา ช่วงแรกที่เริ่มฉาย เดอะซิมป์สันส์ต้องเผชิญความท้าทายจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเหล่าผู้ปกครอง และพวกหัวอนุรักษนิยมที่มองว่าความคิดและการกระทำของตัวละครนั้นไม่เหมาะสม และอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็ก ๆ เพราะมุกตลกในเรื่องนี้บางทีก็แอบหยาบคาย หรือบางครั้งตัวละครก็ทำอะไรไม่ค่อยเข้าท่า แต่ใครว่าเดอะซิมป์สันส์เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กกันล่ะ? ทั้งแนวคิดการออกแบบตัวละครและประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงในแต่ละตอน ล้วนไม่เคยพยายามจะนำเสนอสังคมอันงดงาม แต่สะท้อนภาพความเป็นจริงในสายตาของคนทั่วไป ทั้งยังพยายามสอดแทรกแนวคิดสมัยใหม่ไปในบทพูดของตัวละคร อย่างตอนที่โฮเมอร์พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ตัวเองทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือคำพูดแก่แดดแก่ลมของ ลิซ่า ลูกสาวหัวขบถวัย 8 ขวบ ก็สามารถตอกกลับความเชื่อโบราณคร่ำครึที่มองว่าการ์ตูนเป็นเพียงสื่อสำหรับเด็กได้เป็นอย่างดี แมตต์ เกรนิง: ผู้ให้กำเนิด 'เดอะซิมป์สันส์' ซิตคอมเสียดสี ที่มีต้นแบบจากครอบครัวตัวเอง แนวคิดที่นำเสนอผ่านเดอะซิมป์สันส์ มีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยม มากกว่าจะพยายามรักษาคุณค่าเก่าที่สังคมเคยยึดถือ เบื้องหลังมุกตลกต่าง ๆ มาจากทีมเขียนบทหลายคน (ช่วงยุคทองเคยมีทีมเขียนบทมากที่สุด 20 คน) ที่จะเข้ามาถกประเด็นและวางแผนพัฒนาสคริปต์กันก่อนแอนิเมชันจะฉาย คงไม่แปลกอะไร ถ้าครอบครัวนี้จะถูกมองว่า 'เอียงซ้าย' เพราะการเขียนให้รัฐบาลเป็นตัวร้าย ที่พยายามหากินกับประชาชน รวมถึงคนในหน่วยงานรัฐที่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีความสามารถ ก็เคยทำให้ จอร์จ ดับเบิลยู. บุชประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาพูดว่า "เราต้องทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันแข็งแรงกว่านี้ ให้เหมือนกับครอบครัววอลตัน และไม่ให้เหมือนกับเดอะซิมป์สันส์" สำหรับเดอะซิมป์สันส์ ด้วยรูปแบบการนำเสนอแบบแอนิเมชันซิตคอม ทำให้ทีมผู้สร้างไม่จำเป็นต้องกังวลกับกรอบเวลา และความสมเหตุสมผลมากนัก เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ครอบครัวซิมป์สันส์ก็จะยังอยู่ในช่วงวัยเดิม เมืองสปริงฟิลด์จะเป็นเหมือนภาพจำลองสังคมอเมริกันขนาดย่อมที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ตัวละครจึงสามารถค้นพบและเผชิญกับเรื่องราวปัญหาใหม่ ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดมาขวางกั้น เดอะซิมป์สันส์ กลายเป็นตำนานรายการทีวีที่มีสถิติออกอากาศยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตลอดมาก็มีรางวัลมาการันตีจากหลายเวทีคุณภาพ แม้มันจะมีที่มาจาก แมตต์ เกรนิง ผู้ทำให้ครอบครัวนี้ถือกำเนิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ครอบครัวนี้ 'เกิด' มาจากไอเดียของเหล่านักเขียนบทหน้าใหม่ที่ใช้เดอะซิมป์สันส์เป็นเหมือนโรงเรียนอนุบาล เพราะโทนการนำเสนอที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การใส่ตัวละครรักเพศเดียวกัน รวมถึงประกาศเลิกใช้นักแสดงผิวขาวมาพากย์เสียงตัวการ์ตูนผิวสี ทำให้มีนักวิจารณ์รายการโทรทัศน์หลายคนกล่าวชมว่า เดอะซิมป์สันส์เป็นโชว์ที่นำเสนอออกมาได้อย่าง 'สมจริง' และ 'เฉลียวฉลาด' ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเหตุผลที่เรื่องราวสุดวุ่นวายของครอบครัวนี้ยังคงเป็นที่รัก และไม่เคย 'เก่า' เลยในสายตาของผู้ชม   ที่มา