ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
“เมื่อข้าพเจ้าเห็นเข้า ข้าพเจ้าทราบทันทีว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สามารถบอกได้เพราะข้าพเจ้าเคยผลิตหนังสือกรมศิลปากร ซึ่งมีการตีพิมพ์ภาพทับหลังชิ้นนี้ในหนังสือมาก่อน และข้าพเจ้าเป็นคนตรวจปรู๊ฟเอง จึงจำได้อย่างแม่นยำ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือรายงานไปที่อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเพื่อขอทับหลังคืน ซึ่งต้องใช้เวลาติดต่อนานถึงกว่า 10 ปี จึงได้กลับคืนมา” ถ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย” ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งเป็นพระโอรส ก็ถือว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะไม่เพียงเชี่ยวชาญด้านโบราณคดี แต่ ม.จ.สุภัทรดิศ ยังแตกแขนงไปบุกเบิกความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในเมืองไทยอีกด้วย ทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อ 30 กว่าปีก่อน กลับคืนสู่ที่ที่จากมาได้สำเร็จ   ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น “ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาก ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด อาจเป็นเพราะว่าข้าพเจ้าได้ยินกิตติศัพท์ว่าพระบิดาของข้าพเจ้าทรงเชี่ยวชาญในวิชาประวัติศาสตร์ไทยมาก หรือข้าพเจ้าอาจมีเลือดของพระองค์อยู่ในตัวบ้างโดยไม่รู้ตัวก็ได้” ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงเล่าไว้ ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงเล่าพระประวัติของพระองค์ไว้ว่า เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เป็นบุตรคนที่ 6 ของหม่อมเจ้าเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิมสนธิรัตน) เป็นทายาทลำดับที่ 31 ในจำนวนโอรสและธิดาทั้งหมด 32 องค์ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ม.จ.สุภัทรดิศ แทบจะไม่เคยได้ใกล้ชิดเสด็จพ่อเลยด้วยซ้ำ เพราะเมื่อทรงคลอดได้เพียง 1 เดือน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอภันตรีปชา เสด็จอาของ ม.จ.สุภัทรดิศ ก็ทรงรับไปเลี้ยงดู จนพระชันษาได้ 11 พรรษา เสด็จอาสิ้นพระชนม์ ม.จ.สุภัทรดิศ จึงย้ายกลับไปอยู่กับพระมารดาที่วังวรดิศ แต่ตอนนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ต้องไปประทับอยู่ปีนัง ด้วยเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงแม้ช่วงท้ายพระชนม์ชีพของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้เสด็จกลับมาประทับที่วังวรดิศ และ ม.จ.สุภัทรดิศ ได้เฝ้าถวายงานในช่วงนั้น แต่ก็เพียงไม่กี่ปี ด้วยความที่ไม่ได้ใกล้ชิดกันนัก ม.จ.สุภัทรดิศ จึงตรัสว่า ทรงระลึกถึงเสด็จพ่อในฐานะนักปราชญ์มากกว่าในฐานะที่เป็นพ่อ อย่างไรก็ตาม การถวายงานในช่วงสั้น ๆ ก็ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นแววพระโอรส ตอนนั้นพระองค์โปรดให้ ม.จ.สุภัทรดิศ เขียนประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าจอมรุ่นแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่างานเขียนนี้เป็นที่โปรดปรานอย่างมาก ถึงขั้นตรัสกับหม่อมเจิมว่า ...ฉันเสียดายที่ลูกคนนี้เกิดมาช้าไป ถ้าฉันยังอยู่กระทรวงมหาดไทยฉันจะฝึกเอง แต่ ม.จ.สุภัทรดิศ กลับมีคำตอบให้ตัวเองว่า ผมนั่งฟังอยู่ยังนึกเลย โอย ดีแล้วละเกิดช้าไป เพราะผมไม่เคยคิดจะทำงานกระทรวงมหาดไทยเลย อยากทำงานเป็นครูบาอาจารย์มากกว่า แม้ไม่ได้ใกล้ชิดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มากนัก แต่ ม.จ.สุภัทรดิศ ก็สนพระทัยศึกษางานด้านประวัติศาสตร์มาตลอด ในระดับปริญญาตรี ทรงศึกษาวิชาเอกด้านประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงไปต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่โรงเรียนลูฟร์ (Ecole Du Louvre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ความที่เรียนภาษาฝรั่งเศสจากเมืองไทยไปไม่มาก ทั้งยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ทำให้สมัยอยู่ปี 1 ม.จ.สุภัทรดิศ สอบตกวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ในความลำบาก พระองค์ก็ได้รู้จัก ชอง บวสเซอลีเย่ร์ (ต่อมาคือ ศาสตราจารย์ ชอง บวสเซอลีเย่ร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เพื่อนร่วมชั้นซึ่งช่วยเหลือพระองค์มาตลอดชั้นปี 1 จากนั้นเมื่อปรับตัวได้ ผลการเรียนก็ไต่ไปอยู่ในเกณฑ์ดี และเสด็จกลับไทยใน พ.ศ. 2496 งานแรกของ ม.จ.สุภัทรดิศ คือภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ท่านและศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี นักวิชาการด้านโบราณคดี ก็เดินหน้าจัดตั้งแผนกเตรียมคณะโบราณคดีขึ้นในโรงเรียนศิลปศึกษา โดยจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ซึ่งเวลานั้นมีอาจารย์แค่ ม.จ.สุภัทรดิศ, ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี, อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ และอาจารย์จิรา จงกล กระทั่งปี 2498 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ถือกำเนิดขึ้น และต่อจากนั้นอีกเกือบสิบปี ม.จ.สุภัทรดิศ ก็ย้ายจากกรมศิลปากร มารับผิดชอบงานที่คณะโบราณคดีอย่างเต็มตัว กลายเป็น “ท่านอาจารย์” ของลูกศิษย์ลูกหามากมายมานับแต่นั้น ม.จ.สุภัทรดิศ  ขึ้นชื่อเรื่องการอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย อย่างศิลปะแต่ละยุคสมัยจะมีรูปแบบของตนเองและค่อนข้างจำยาก ท่านก็จะมีคำเฉพาะที่สื่อให้เห็นภาพศิลปะยุคนั้นและทำให้นักศึกษาจำได้แม่น เช่น พระพุทธรูปศิลปะคุปตะในอินเดียจะต้อง “หน้ากลม อมยิ้ม บ่าใหญ่ เอวเล็ก” หรืองานแกะสลักในศิลปะอมราวดีที่แสดง “ความอ่อนนุ่มที่ค่อนข้างตื่นเต้น”   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกับ ม.จ.สุภัทรดิศ และทรงนำคำศัพท์ที่ท่านอาจารย์สอนถวายมาใช้ในงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ด้วย ตามที่ ม.จ.สุภัทรดิศ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าอ่านในชมช่อมาลตี ในนั้นมีคำว่า ท่านสุภัทรหลายแห่ง....ในหนังสือเล่มนั้น ตอนหนึ่งท่านเล่าว่า รูปนี้ต้องถ่าย เพราะท่านอาจารย์เคยสอนว่า เคลื่อนไหวอย่างหยุดนิ่ง ความจริงผมเคยสอนถวายว่า อ่อนช้อยอย่างแข็งกระด้างด้วย เรียกว่าเป็นท่านอาจารย์ขาลุยก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะต้องไปสำรวจและขุดค้นที่ไหน ม.จ.สุภัทรดิศ จะทรงนำนักศึกษาทุกรุ่นออกพื้นที่ภาคสนามเองทุกครั้ง ทั้งยังช่วยดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษาด้วย นายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี เขียนเล่าไว้ว่า สมัยยังเป็นนักศึกษา ครั้งหนึ่งเขาและเพื่อน ๆ ไปขุดแต่งวัดเจ้าปราบ ท่านอาจารย์ได้เสด็จไปเยี่ยมเขาและเพื่อน ๆ นักศึกษาที่กำลังทำงานอยู่ “ปกติเรามักป้ายสีให้ท่านขี้เหนียว โดยยังไม่เข้าใจว่ารสชาติประหยัดไม่ฟุ้งเฟ้อเป็นฉันใด จะทูลขอสตางค์ดื้อ ๆ ก็ไม่ได้ เสียทั้งเชิงปลากราย เสียทั้งชายโสร่ง เลยต้องเล่นบทซื่อ ๆ ว่า มาขุดค้นเที่ยวนี้เหมือนบุเรงนองตกยากเหลือกำลัง มือจับอีเตอร์จนแตกราวกรรมกรไม่ใช่นักเรียนมหาวิทยาลัย ข้าวปลาอาหาร ส้มสูกลูกไม้ แม้กระทั่งกระดาษชำระและไม้จิ้มฟัน บูดแล้วบูดอีก ใช้แล้วใช้อีกไม่มีใครเหลียวแล ท่านอาจารย์คงรำคาญ ตัดบทว่า เย็นนี้ฉันมีงานที่กรุงเทพฯ กินข้าวเย็นกับพวกเธอไม่ได้ แล้วก็ควักสตางค์ให้ 170 บาท พร้อมรับสั่งว่า ฉันมีมา 200 บาท อย่าไปใช้กันให้เปลืองนัก เสด็จกลับแล้ว 170 บาทของท่านอาจารย์ ยังความสุขให้ลูกศิษย์ได้ทั้งคืน”   [caption id="attachment_14389" align="aligncenter" width="640"] ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงเรียกร้องให้นำกลับคืนมายังปราสาทหินพนมรุ้ง[/caption]   ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตลอดชีวิตของ ม.จ.สุภัทรดิศ สิ่งทื่พระองค์ภูมิใจมากที่สุดมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเป็นบุคคลแรกที่เปิดสอนวิชาดังกล่าวในไทย ส่วนเรื่องที่สองคือ การทวงคืนทับหลังศิลารูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทพนมรุ้ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กลับคืนมาได้สำเร็จ ม.จ.สุภัทรดิศ เล่าว่า มีการนำโบราณวัตถุประเทศไทยไปจัดแสดงที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2515 ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ท่านได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ชาวอเมริกาได้รู้จักศิลปะไทย กระทั่งได้ไปบรรยายที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก พอบรรยายเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ถามว่าอยากดูโบราณวัตถุเอเชียของสถาบันฯ ไหม ท่านก็ตกลงใจไปดู ปรากฏว่าพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งคนไทยหลายคนที่ไปที่นั่นเคยเห็นมาแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้งในไทย เมื่อ ม.จ.สุภัทรดิศ เห็นเข้า ก็ทราบทันทีว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้ง เพราะเคยผลิตหนังสือกรมศิลปากร ซึ่งมีการตีพิมพ์ภาพทับหลังชิ้นนี้ในหนังสือมาก่อน และท่านเป็นคนตรวจความเรียบร้อยของเนื้อหาเอง เมื่อกลับเมืองไทย ม.จ.สุภัทรดิศ จึงทำหนังสือรายงานไปที่อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเพื่อขอทับหลังคืน “ตอนนั้นปรากฎว่ากรมศิลปากรได้มีจดหมายไปถึงสถาบันแห่งศิลปะแห่งเมืองชิคาโก ทางสถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโกตอบกลับมาว่า ทับหลังชิ้นนี้เป็นของเอกชนแห่งหนึ่งให้ยืมมา ทางกรมศิลปากรจึงมีหนังสือไปถึงเอกชนผู้นั้น แต่เขาไม่ตอบมาเรื่องจึงเงียบอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งข้าพเจ้าไปประเทศอินเดีย เพื่อบรรยายเรื่องเมืองศรีเทพ จึงได้เล่าเรื่องโบราณวัตถุของไทยที่ถูกขโมยไปด้วย “ในวันนั้นมีภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่นิวเดลี เป็นประธานในการบรรยายครั้งนั้น ได้พูดกับข้าพเจ้าว่า ทราบหรือไม่ว่าพระอิศวรฟ้อนรำของอินเดียที่หายไปได้คืนมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามว่าใช้วิธีการอย่างไร เขาบอกว่า “พับลิคโอพิเนียน” เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทยข้าพเจ้าจึงได้เขียนจดหมายถึงอธิการบดีกรมศิลปากรอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นคือคุณทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องนี้ให้ท่านอธิบดีกรมศิลปากรฟัง และเน้นว่าอย่าให้สัมภาษณ์เฉพาะหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ต้องให้สัมภาษณ์หนังสืออเมริกันที่สำคัญ ๆ เช่น นิวยอร์กไทม์ และหนังสือไทม์วีกลี่ ฯลฯ ด้วย ท่านอธิบดีก็ทำตาม ข่าวดังกล่าวจึงทำให้แพร่สะพัดไปทั่วอเมริกา ในครั้งนั้นต้องขอชมเชยคนไทยในเมืองชิคาโกที่เห็นความสำคัญของสมบัติแห่งชาติ ได้รวมตัวกันประท้วงเดินขบวนที่หน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะดังกล่าว ข้าพเจ้าเองได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเดินทางไปเจรจา จนท้ายสุดทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ คืนกลับมายังประเทศไทยในที่สุด” หลังทีมงานไทยใช้เวลาประสานงานกว่าสิบปี ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์ที่ว่ากันว่างดงามที่สุดเท่าที่หลงเหลืออยู่ ก็เดินทางถึงเมืองไทยในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปี 2531 และนำไปติดตั้งไว้ที่เดิมคือ ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ได้ในที่สุด กลายเป็นสิ่งที่ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงภาคภูมิใจอย่างถึงที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต   ที่มา พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2537 เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 72 พรรษา ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, หนังสือจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ, 2547.   เรื่อง: อชิรัชญ์-สุทธาสินี ภาพ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร