‘ไมเคิล บลูมเบิร์ก’ จากเด็กดูแลลานจอดรถ สู่ผู้ทรงอิทธิพลหลากหลายวงการ ‘เจ้าพ่ออาณาจักรสื่อ - ผู้ให้บริการระบบการเงิน - ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก’

‘ไมเคิล บลูมเบิร์ก’ จากเด็กดูแลลานจอดรถ สู่ผู้ทรงอิทธิพลหลากหลายวงการ ‘เจ้าพ่ออาณาจักรสื่อ - ผู้ให้บริการระบบการเงิน - ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก’
‘มหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินกว่า 2.8 ล้านล้านบาท’, ‘ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 3 สมัย’, ‘ผู้บริจาคเงินมากที่สุดอันดับ 2 ในอเมริกาปี 2021’ ดูเหมือน 3 เหตุการณ์นี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย แต่ทั้งหมดเป็นชีวิตจริงของชายคนเดียวกันที่ชื่อ “ไมเคิล บลูมเบิร์ก” (Michael Bloomberg) เรื่องราวของเขาน่าสนใจไม่น้อยเลย ตามไปดูกัน ฉายแววมาตั้งแต่เด็ก ว่ากันว่า ชาวยิวเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมซึ่งมักฉายแววมาตั้งแต่เด็ก และไมเคิล บลูมเบิร์กคือหนึ่งในนั้น ตระกูลของเขามีพื้นเพเดิมเป็นผู้อพยพชาวยิวที่มาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา เกิดที่เมืองบอสตันในปี 1942 ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เส้นทางการเรียนของเขานั้นทำได้ดีเยี่ยมมาตลอด หลังจบ ม.ปลายในปี 1960 เขาไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ และไปเรียนต่อทันทีด้าน MBA ที่โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ก่อนจบออกมาในปี 1966 อย่างไรก็ตาม เขาต่างจากเศรษฐีคนอื่นตรงที่ชีวิตไม่ได้สวยงามราบรื่นแต่เด็ก ไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้…เพราะไม่มีเงิน สถานะการเงินนี้เองที่ทำให้เขารู้จัก ‘คุณค่าของเงิน’ รู้จักความลำบากตั้งแต่วัยเรียน เพราะเงินที่ใช้จ่ายค่าเทอมมหาวิทยาลัยของเขา ส่วนใหญ่มาจากการทำงานเป็นเด็กดูแลประจำลานจอดรถ รวมถึงเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งเขาต้องทำงานใช้หนี้หลังเรียนจบไม่ต่างจากเด็กอเมริกันอีกหลายล้านคน แต่ทักษะความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและการบริหารธุรกิจที่ร่ำเรียนมา กลับเป็นวัตถุดิบแปลกใหม่ที่ช่วยเพิ่มมุมมองการทำงานในด้าน ‘การเงิน’ ซึ่งเป็นสาขาอาชีพแรกที่เขาเริ่มต้นทำงาน และเป็นสาขาอาชีพที่ทำให้เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมา อาชีพแรกสู่วงการการเงินโลก ไมเคิล บลูมเบิร์กเริ่มต้นทำงานแรกในสายการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบริษัทวาณิชธนกิจ Salomon Brothers ในตำแหน่งระดับปฏิบัติการสำหรับเด็กจบใหม่ เรื่องน่าสนใจคือ ความเก่งในวัยเรียนของเขาถูกส่งต่อมาในวัยทำงานเช่นกัน ด้วยระยะเวลาแค่ 15 ปี เขาไต่ระดับจนได้ขึ้นเป็นพาร์ทเนอร์หุ้นส่วนของบริษัท (ได้รับส่วนแบ่งหุ้น) เป็นระดับตำแหน่งที่สูงและมีอำนาจตัดสินใจ โอกาสใหม่ที่ไม่ได้เรียกร้อง แต่แล้วในปี 1979 เกิดการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรขึ้น ทำให้เขาถูกโยกย้ายไปทำตำแหน่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีด้าน ‘คอมพิวเตอร์’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มากในยุคนั้น และเขาเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ จุดพลิกผันเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1981 Salomon Brothers ถูกเข้าซื้อกิจการโดยบริษัท Phibro Corporation เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างบริหารองค์กรขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นเขาเองที่ ‘ถูกไล่ออก’ บลูมเบิร์กในวัย 38 ปีกลายเป็นคนตกงานทันที แต่โชคยังดีที่ความเป็นหุ้นส่วนบริษัท ทำให้เขาถูกออกมาด้วยเงินชดเชยติดตัวราว 300 ล้านบาท เมื่อชีวิตเจอทางแยก ดูเหมือนว่า ณ ตอนนี้เขามี 2 ทางเลือก คือ
  1. ใช้ชีวิตที่เหลือด้วยเงินกว่า 300 ล้านบาทที่มี (และอาจไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิตก็ยังได้)
  2. กล้าเสี่ยงนำไปต่อยอดสร้างธุรกิจ (เพราะเชื่อในศักยภาพตัวเองว่าไปได้มากกว่านี้)
เขาเลือกเส้นทางที่ 2 โดยได้ก่อตั้งบริษัท Innovative Market Systems ในปี 1982 เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านข้อมูลการเงิน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bloomberg L.P.) ใครจะไปรู้ว่า มันได้เปลี่ยนจาก 300 ล้านบาท ให้เป็นเกือบ 3 ล้านล้านบาทเมื่อถึงบั้นปลายชีวิตของเขา หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10,000 เท่าตัว บริษัทใหม่ที่เขาเปิดตั้งมาจากฐานความคิดว่า คุณต้อง ‘จ่าย’ เงิน เพื่อแลกกับข้อมูลเชิงลึก เขามองว่า ‘ข้อมูล’ ก็ไม่ต่างจากความรู้ มันมีมูลค่า มันมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย เพราะคุณเอาไปต่อยอดเสริมศักยภาพให้ธุรกิจของคุณต่อได้ และจากประสบการณ์ทำงานที่ Salomon Brothers เขารู้ดีว่าข้อมูลด้านการเงินนั้นสำคัญมาก ๆ มันกระทบกับแทบทุกอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นข้อมูลที่ซับซ้อนเข้าใจยาก…ถ้ามีใครมาจัดระเบียบทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้น ต้องมีลูกค้ายอมจ่ายแน่ ๆ ซึ่งภายหลังเป็นที่มาโมเดลธุรกิจแบบเก็บเงินค่าบริการเป็นรายปี (Subscription Model) ทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง  กำเนิด Bloomberg Terminal โดยระบบซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนามีชื่อว่า ‘Bloomberg Terminal’ เป็นระบบที่ให้ข้อมูลด้านการเงิน - การลงทุนแบบเรียลไทม์ ผู้ใช้งานสามารถกดซื้อขายและมอนิเตอร์ตลาดหุ้นได้แบบเรียลไทม์ ในปี 1982 บริษัท Merrill Lynch ที่บลูมเบิร์กไปตามจีบเวลาพักเที่ยงถึงออฟฟิศอยู่บ่อยครั้ง ก็ได้กลายเป็นลูกค้ารายแรกที่ติดตั้งระบบ และ Merrill Lynch ซื้อมาใช้ไม่พอ ยังลงทุนในบริษัทอีกกว่า 1,000 ล้านบาทด้วย กลายเป็นบริษัทรายใหญ่ที่รับรองความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์นี้ (Testimonial) จนสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน ฯลฯ ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ Bloomberg Terminal มาช่วยตัดสินใจในเรื่องการเงิน ของมันต้องมี เรื่องนี้จึงเกิด ‘แรงกระเพื่อม’ ในวงการ เมื่อสถาบันการเงิน A ซื้อมาใช้แล้วผลประกอบการดีขึ้น สถาบัน B จะแพ้ในเกมการเงินไม่ได้ จึงซื้อมาใช้ด้วยเช่นกัน เป็นแบบนี้เรื่อย ๆ C-D-E… กลายเป็นมาตรฐานที่ ‘ของมันต้องมี’ ไปแล้ว ในเวลาต่อมา Bloomberg Terminal ได้ถูกติดตั้งอยู่ในสถาบันการเงินสำคัญ ๆ แทบทั่วโลกกว่า 325,000 เครื่อง น้อยคนที่ทำงานด้านการเงินการลงทุนจะไม่รู้จักผลิตภัณฑ์นี้ แม้มีค่าบริการที่สูง สถาบันการเงินไหนอยากได้ไปใช้ ต้องควักกระเป๋าจ่ายเฉลี่ยปีละ 800,000 บาทเลยทีเดียว ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้นับแสนล้านบาทต่อปี พนักงานกว่า 20,000 คน ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ไมเคิล บลูมเบิร์กที่ถือหุ้นอยู่กว่า 88% ในบริษัท กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก และทำให้เขามีเม็ดเงินต่อยอดธุรกิจไปยังสื่อแขนงต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เช่น Bloomberg Business News / สถานีวิทยุ WBBR ในนิวยอร์ก / สถานีโทรทัศน์ Bloomberg Television ก่อนจะพลิกผันกระโดดเข้าสู่เวที ‘นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก’ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ด้วยความที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในเมืองนิวยอร์ก และลูกค้าใหญ่หลายเจ้าก็อยู่ในเมืองนี้ บลูมเบิร์กจึงคุ้นเคยกับนิวยอร์กเป็นอย่างดี และนั่นน่าจะทำให้เขาริเริ่มคิดอยากมีส่วนพัฒนาเมืองนี้ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ด้วยการกระโดดเข้าสู่บทบาทนักการเมืองสู่ ‘นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก’ (Mayor of New York City) ไมเคิล บลูมเบิร์กชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กอยู่นานถึง 3 สมัยระหว่างปี 2002 - 2013  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีพัฒนาการหลายอย่างเกิดขึ้นในเมือง อาทิเช่น ออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะของเมือง, แบนการใช้ไขมันทรานส์ในอาหาร, เก็บค่าธรรมเนียมถนน ผู้ขับรถเข้าใจกลางเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน, ที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย, ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ จนไปถึงด้านการท่องเที่ยว เช่น การรีโนเวตย่านไทม์สแควร์ โดยลดเลนถนนเพื่อสร้างเป็นทางคนเดินแบบถาวร รองรับนักท่องเที่ยวและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในย่านนี้ให้ดีขึ้น ด้วยประวัติการทำงานสายการเงินในบริษัทเอกชนระดับโลก เขายังมีส่วนปรับปรุงผังองค์กรและระบบบริหารจัดการของข้าราชการในเมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต้องมีประวัติการทำงานและความรู้ความสามารถด้านนั้นโดยเฉพาะ ถ้าใครจะมาเป็นผู้รับผิดชอบด้านระบบขนส่งมวลชนในนิวยอร์ก ต้องมีความรอบรู้ด้านวิศวกรรมโครงสร้างและผังเมือง จากพัฒนาการโดยรวมที่ดีขึ้น ยังทำให้อายุขัยเฉลี่ยของชาวนิวยอร์กเพิ่มขึ้นถึง 3 ปีเลยทีเดียวระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง นักธุรกิจหรือนักบุญกันแน่ ชายคนนี้สร้างเรื่องน่าสนใจให้เราได้อีก จากนักธุรกิจมาสู่นักการเมือง บัดนี้ เขาขอเป็น ‘นักการกุศล’ บ้าง โดยบลูมเบิร์กมีวิธีคิดที่น่าชื่นชมต่อเรื่องนี้มาก เขาแนะนำว่า เวลาทำอะไรให้ ‘คิดถึงคนรุ่นหลังเสมอ’ ลูกหลานของเขาและลูกหลานคนอื่นยังต้องมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ต่อไป มนุษย์ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำให้ตัวเองสุขสบายนั้นไม่พอ แต่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้มีชีวิตดีขึ้นด้วย  ปี 2006 เขาก่อตั้ง ‘Bloomberg Philanthropies’ มูลนิธิเพื่อการกุศล ที่โฟกัสการช่วยเหลือ 5 ด้าน ได้แก่ การศึกษา / สิ่งแวดล้อม / สาธารณสุข / ศิลปะ / นวัตกรรมจากภาครัฐ ถึงปัจจุบัน มูลนิธินี้บริจาคเงินไปกว่า 350,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว (เป็นมูลนิธิที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ในอเมริกา) ปี 2022 นิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลกอย่างฟอร์บส์ จัดอันดับให้ไมเคิล บลูมเบิร์กเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกอันดับที่ 16 ด้วยทรัพย์สินกว่า 2.8 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน ไมเคิล บลูมเบิร์กวัยเข้าเลข 8 ไปแล้ว แต่ยังบาลานซ์การทำงานและการกุศลได้เป็นอย่างดี  เรื่องราวของชายคนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้หลายคน ถึงการสวมหมวกหลายใบ มีบทบาทที่หลากหลายในชีวิต การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคเมื่อโดนออกจากงาน แต่เชื่อมั่นในตัวเองก่อนสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีความห่วงใยบ้านเมือง อยากมีส่วนร่วมพัฒนา และสุดท้าย เมื่อสำเร็จถึงจุดสูงสุด ก็แค่เป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน