ไมเคิล บลูมเบิร์ก: นายกฯ นิวยอร์กผู้ปฏิเสธเงินเดือน แถมควัก 21,000 ล้านบาท รับใช้ประชาชน

ไมเคิล บลูมเบิร์ก: นายกฯ นิวยอร์กผู้ปฏิเสธเงินเดือน แถมควัก 21,000 ล้านบาท รับใช้ประชาชน
การปฏิเสธรับเงินเดือนของนักการเมืองและบุคคลสาธารณะทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องใหม่หากมองไปในหลายประเทศทั่วโลก แต่สำหรับอดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์กอย่าง ไมเคิล บลูมเบิร์ก นอกจากเขาจะไม่รับเงินเดือนรวมแล้วกว่า 88 ล้านบาท เขายังควักเงินส่วนตัวอีกอย่างน้อย 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (21,000 ล้านบาท) เพื่อทำงานรับใช้ชาวนิวยอร์กตลอดระยะเวลา 12 ปีที่อยู่ในอำนาจ ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) คือหนึ่งในนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ รวม 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2002 - 2013 เขาทำหน้าที่ดูแลนครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากรประมาณ 19 ล้านคน ฝ่าวิกฤตใหญ่ได้ถึง 2 ครั้ง นั่นคือ การฟื้นฟูเมืองหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 และวิกฤตเศรษฐกิจ ‘แฮมเบอร์เกอร์’ ในปี 2008 หากเทียบตัวเลขงบประมาณประจำปีที่นายกเล็กนิวยอร์กต้องรับผิดชอบ เรียกว่าไม่ต่างจากงบประมาณของประเทศไทยทั้งประเทศ โดยในปี 2021 นครนิวยอร์ก หรือนิวยอร์กซิตี้ มีงบอยู่ที่ 98,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.2 ล้านล้านบาท) ขณะที่งบประมาณของไทยอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ด้วยความที่บลูมเบิร์กเริ่มรับตำแหน่งหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 หมาด ๆ นครนิวยอร์กยังอยู่ในภาวะวิกฤตจากความหวาดกลัวภัยก่อการร้าย ทำให้เขาตัดสินใจประกาศไม่รับเงินเดือน โดยรับเงินประจำตำแหน่งเพียงปีละ 1 เหรียญสหรัฐฯ ตามข้อบังคับของกฎหมาย เนื่องจากสหรัฐฯ กำหนดให้ลูกจ้างของรัฐบาลทุกคนต้องรับค่าตอบแทนเพื่อให้เข้าเงื่อนไขภาระผูกพันตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำสหรัฐฯ หลายคนก่อนหน้านี้ก็เคยประกาศไม่รับเงินประจำตำแหน่งมาแล้ว โดยรับเพียงปีละ 1 เหรียญสหรัฐฯ ตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยเฉพาะในยามที่ประเทศเผชิญภาวะวิกฤตตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ในรายของไมเคิล บลูมเบิร์ก ความตั้งใจทำงานเพื่อสังคมของเขาไปไกลกว่าแค่ไม่รับเงินเดือน โดยหลังหมดวาระดำรงตำแหน่งครบ 3 สมัย มีการสรุปตัวเลขค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส และพบว่า เขาใช้เงินส่วนตัวเพื่อให้การทำงานรับใช้ชาวนิวยอร์กเป็นไปอย่างราบรื่นมากถึงอย่างน้อย 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นิวยอร์กไทมส์แจกแจงการใช้เงินส่วนตัวดังกล่าวว่า นอกจากค่าหาเสียงเลือกตั้งทั้ง 3 สมัยรวมกันอย่างน้อย 268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บลูมเบิร์กยังบริจาคเพื่อสนับสนุนองค์กรศิลปวัฒนธรรมและสาธารณสุขต่าง ๆ 263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ออกค่าเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพื่อไปติดต่องานทั้งในและนอกประเทศเอง 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เฉพาะทริปเยือนประเทศจีน จ่ายค่าจ้างลูกน้องและหน่วยรักษาความปลอดภัยรวม 500,000 เหรียญสหรัฐฯ) นอกจากนี้ เขายังตกแต่งบ้านพักประจำตำแหน่งที่ตนเองไม่เคยเข้าอยู่เป็นเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนตัวเองเลือกพักแมนชั่นด้านข้างเพื่อความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ออกค่าก่อสร้างและดูแลทำความสะอาดตู้ปลาขนาดใหญ่ 2 ตู้ในศาลาว่าการคิดเป็นเงินรวมกัน 12 ปี 62,400 เหรียญสหรัฐฯ และจ่ายค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวันเป็นขวัญกำลังใจให้ลูกน้องทุกวันรวมกันประมาณ 890,000 เหรียญสหรัฐฯ แน่นอนเงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้คงไม่มีนักการเมืองมากนักที่สามารถออกเองได้ถ้าไม่ใช่มหาเศรษฐีและมีจิตใจทำงานเพื่อสาธารณะจริง โดยไมเคิล บลูมเบิร์ก ก่อนจะมาทำงานการเมือง เขาประสบความสำเร็จในอาชีพสายการเงินการลงทุนจนติดอันดับมหาเศรษฐีเบอร์ต้น ๆ ของโลก ไมเคิล บลูมเบิร์ก เกิดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ที่นครบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชีวิตการทำงานเริ่มจากการเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ก่อนตั้งบริษัทเทคโนโลยีการเงินและสำนักข่าวด้านการเงินการลงทุนของตนเองชื่อ บลูมเบิร์ก แอลพี ในปี 1981 เขารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัท และนิตยสารฟอร์บส จัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดอันดับ 8 ของโลกในปี 2020 มีทรัพย์สินสุทธิมูลค่า 60,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เส้นทางการเมืองของไมเคิล บลูมเบิร์ก เขาเริ่มจากการลงสมัครนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กในนามพรรครีพับลิกัน เมื่อปี 2001 แต่ต่อมาหลังเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว เขาออกมาประกาศเป็นนักการเมืองอิสระที่ไม่สังกัดพรรคใด จากนั้นในปี 2020 เขาลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และชูนโยบายไม่รับเงินเดือนเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ผลงานโดดเด่นของบลูมเบิร์กในฐานะนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก นอกจากการพาเมืองศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวจากวิกฤต 9/11 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้แล้ว เขายังได้รับการยกย่องเรื่องการปรับผังเมืองของนิวยอร์กให้สวยงามน่าอยู่ ให้ความสำคัญกับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนงบด้านการศึกษา และส่งเสริมวงการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ ประสบการณ์ในฐานะนักบริหารของเขายังสามารถช่วยพลิกฟื้นตัวเลขงบประมาณของนครนิวยอร์ก จากที่เคยขาดดุล 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กลับมาเกินดุลได้ถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การปฏิเสธเงินเดือนทั้งหมด 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไม่รับเงินบริจาคทางการเมือง นอกจากจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้แล้ว ยังทำให้เขาทำงานได้อย่างมีอิสระ ไม่ต้องผูกมัดหรือออกนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริจาครายใด อย่างไรก็ตาม นโยบายหนึ่งของบลูมเบิร์กที่ทำให้เขามักถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกมาโจมตี คือ การเพิ่มอำนาจให้ตำรวจทำงานเชิงรุกด้วยการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เรียกตรวจค้นผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาล (stop-and-frisk) ซึ่งมักนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ตกเป็นเป้าการใช้อำนาจของตำรวจมักเป็นคนผิวดำ หรือกลุ่มคนบางเชื้อชาติเท่านั้น แม้นโยบาย stop-and-frisk อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ผลของการใช้นโยบายดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องปรามการกระทำผิดในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ดีและทำให้มีสถิติการเกิดอาชญากรรมลดลงอย่างชัดเจน ผลงานทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ ไมเคิล บลูมเบิร์ก ซึ่งก่อนเข้ารับตำแหน่งเคยมีผู้ปรามาสว่า เขาอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำนิวยอร์กหลังวิกฤต 9/11 เพราะไร้ประสบการณ์ทางการเมือง สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ก่อนอำลาตำแหน่ง ไมเคิล บลูมเบิร์ก เผยคติประจำใจที่ใช้ในการทำงานการเมืองตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาว่า เขาให้คุณค่ากับการสร้างอนาคตที่ดีเพื่อคนรุ่นหลังเป็นอันดับแรก “หากเราให้เกียรติพวกเขา และทำงานเพื่อพวกเขา ปกป้องพวกเขาจากการถูกทำร้าย ถ้าเราทุกคนร่วมมือกันและยืนหยัดเพื่อกันและกัน เราจะยังคงเป็นเราในวันนี้ เป็นนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก “นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อหลานชายตัวน้อยของผม และเพื่อเด็กรุ่นต่อไปทุกคนในอนาคต” ข้อมูลอ้างอิง: https://www.washingtonpost.com/news/post-politics/wp/2013/12/30/report-bloomberg-spent-650-million-of-his-fortune-on-being-mayor/ https://www.nytimes.com/2013/12/30/nyregion/cost-of-being-mayor-650-million-if-hes-rich.html?fbclid=IwAR09OcFa9gsbzZDBQgVnY9c0QNsyz1Spp6-DIlL8gOXcvyAvjYEyjHOSGxg https://www.nytimes.com/2013/12/06/nyregion/as-bloomberg-begins-goodbyes-a-rare-display-of-public-emotion.html เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล ภาพ: Joe Raedle/Getty Images