ไมเคิล ออร์: เด็กไร้บ้านสู่แชมป์ซูเปอร์โบวล์ และชีวิตดรามาที่กลายเป็นหนังออสการ์ The Blind Side

ไมเคิล ออร์: เด็กไร้บ้านสู่แชมป์ซูเปอร์โบวล์ และชีวิตดรามาที่กลายเป็นหนังออสการ์ The Blind Side
“ตอนผมยังเล็ก เมื่อมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้น แม่จะบอกให้ผมหลับตา เธอพยายามไม่ให้ผมเห็นเธอตอนเสพยา หรือเกิดเรื่องไม่ดีอื่น ๆ จากนั้นเมื่อเธอเสร็จกิจ หรือเรื่องแย่ ๆ จบลง เธอจะบอกว่า ‘คราวนี้เมื่อแม่นับถึงสาม ลูกจงลืมตาและอดีตจะหายไป โลกเป็นสิ่งสวยงาม และทุกอย่างจะจบลงด้วยดี” เด็กผู้ชายแอฟริกัน-อเมริกัน พูดน้อย รูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กวัยเดียวกันทั่วไปที่ใคร ๆ เรียกว่า “บิ๊กไมค์” เล่าปูมหลังที่ทำให้เขาไม่ถลำสู่วงจรชีวิตที่ผิดพลาด แม้จะเกิดมามีมารดาติดยาเสพติด และต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอบายมุขรอบตัว นี่คือฉากหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Blind Side (แม่ผู้นี้มีแต่รักแท้) ที่บอกเล่าเส้นทางชีวิตในวัยเด็กของ “บิ๊กไมค์” หรือชื่อจริงไมเคิล ออร์ (Michael Oher) นักอเมริกันฟุตบอล NFL ชื่อดัง เจ้าของแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในปี 2012 ก่อนคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์กับทีมบัลติมอร์ เรเวนส์ ชีวิตของ “บิ๊กไมค์” พลิกผันจากเด็กบ้านแตก ไร้ที่ซุกหัวนอน กลายเป็นนักกีฬาชื่อดัง เพราะได้รับอุปการะจากครอบครัวเศรษฐีผิวขาวชาวอเมริกัน เรื่องราวดังกล่าวอ้างอิงจากเรื่องจริงในหนังสือ The Blind Side: Evolution of a Game (2006) ของไมเคิล ลูอิส โดยจอห์น ลี แฮนค็อก ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน นำมาเขียนเป็นบทหนัง และกำกับการถ่ายทำด้วยตนเอง ก่อนนำออกฉายในปี 2009 The Blind Side เน้นบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไมเคิล ออร์ ในวัยเด็ก (รับบทโดยควินตัน แอรอน) กับครอบครัวของลีห์ แอน ทูฮี เศรษฐินีใจดีซึ่งมีอาชีพเป็นสถาปนิกออกแบบภายใน รับบทโดยแซนดรา บุลล็อก ด้วยเนื้อหาอันซาบซึ้งกินใจ และให้แรงบันดาลใจ บวกกับลีลาการแสดงที่เข้าถึงบทบาทของดาราสาวมากความสามารถอย่างแซนดรา บุลล็อก ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากทั้งเวทีออสการ์ และลูกโลกทองคำในการรับบทนำในหนังเรื่องดังกล่าว / เนื้อหาที่จะเล่าต่อจากนี้อาจเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดบางฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ / The Blind Side เปิดเรื่องด้วยการบอกเล่าที่มาของชื่อหนังด้วยการฉายภาพเหตุการณ์ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการอเมริกันฟุตบอลในปี 1985 เมื่อโจ ไธส์แมนน์ ควอเตอร์แบ็กชื่อดังของทีมวอชิงตัน เรดสกินส์ (ปัจจุบัน-วอชิงตันฟุตบอลทีม) โดนผู้เล่นทีมนิวยอร์ก ไจแอนส์ พุ่ง tackle จนได้รับบาดเจ็บและต้องปิดฉากอาชีพนักกีฬาไปก่อนวัยอันควร เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ NFL หันมาให้ความสำคัญกับผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle หรือตัวชนฝั่งซ้ายในทีมบุก ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันควอเตอร์แบ็กที่เปรียบเสมือนหัวใจของทีม ไม่ให้ถูกโจมตีในด้านที่เป็นจุดบอด หรือ The Blind Side ซึ่งควอเตอร์แบ็กมักมองไม่เห็น คุณสมบัติของผู้เล่น left tackle ที่หลายทีมมองหา คือ นักกีฬารูปร่างสูงใหญ่ มีความว่องไว และพละกำลังสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหายาก แต่ไมเคิล ออร์ มีทั้งหมดที่ว่ามา ยกเว้นสิ่งเดียวที่ขาดไป นั่นคือ โอกาส   ชีวิตรันทดในวัยเด็ก ไมเคิล ออร์ เกิดที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1986 ในครอบครัวที่แม่ติดยาเสพติด ส่วนพ่อก็แยกทางกันตั้งแต่เขาเกิดมา ก่อนจะไปเสียชีวิตในเรือนจำ ระหว่างที่ลูกชายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ไมเคิลมีพี่น้องทั้งหมด 12 คน แต่ละคนล้วนกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง เพราะมารดาติดยาเสพติดจนไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ทำให้ไมเคิล ต้องเดินเข้าออกสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และต้องไปอาศัยหลับนอนบนโซฟาตามบ้านคนรู้จักตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ การเร่ร่อนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล ทำให้ไมเคิล แทบไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนจริงจัง เขาย้ายโรงเรียนถึง 11 ครั้งในในช่วงประถม-มัธยมต้น และเรียนซ้ำชั้นอยู่หลายหน จนกระทั่งอายุ 15 ปี พ่อของเพื่อนสนิทได้พาไปฝากเข้าโรงเรียนไฮสกูลคริสเตียนชื่อดังในย่านคนผิวขาว นั่นคือจุดเริ่มต้นของโอกาสที่ขาดหายไปในชีวิตของไมเคิล ซึ่งหนัง The Blind Side เริ่มเล่าเกี่ยวกับชีวิตอันพลิกผันของเขาจากจุดนี้   จุดพลิกผันแรก “ไม่ได้ล็อกด้วย” เพื่อนของไมเคิล เดินไปยังถังเก็บลูกบาสเกตบอลในโรงยิมของโรงเรียน พร้อมพูดกับไมเคิลด้วยความประหลาดใจ ขณะที่พ่อของพวกเขาเข้าไปคุยกับโค้ชทีมกีฬาประจำโรงเรียน เพื่อฝากฝังเด็กทั้งสองให้เข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว “คนพวกนี้ต้องบ้ากันแน่ ๆ” ไมเคิลตอบพร้อมหยิบลูกบาสไปชูตเล่นกับเพื่อนตัวจิ๋วของเขา บทสนทนาสั้น ๆ แค่นั้นสะท้อนได้ดีถึงภาพความแตกต่างทางสังคม ระหว่างเด็กผิวดำที่มาจากสภาพสังคมเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยอาชญากรรมและการลักขโมย กับชุมชนคนผิวขาวที่สวยงามปลอดภัย แม้แต่ถังเก็บลูกบาสในโรงเรียนยังเปิดอ้าไว้ให้ใครมาหยิบไปเล่นได้ทุกเวลา ทันทีที่โค้ชเห็นรูปร่างและทักษะด้านกีฬาของไมเคิล เขารีบเกลี้ยกล่อมผู้บริหารให้รับไมเคิลเข้าเป็นนักเรียนทุนด้านกีฬา แม้ความรู้ และประวัติการศึกษาที่ผ่านมายังไม่เข้าเกณฑ์ของสถานศึกษาแห่งนี้ก็ตาม การได้รับโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังซึ่งเต็มไปด้วยเด็กผิวขาวจากครอบครัวฐานะดี แม้จะทำให้ไมเคิล เหมือนเป็นแกะดำ แต่ที่นั่นก็ทำให้เขาได้พบโอกาสพลิกชีวิตครั้งที่สองตามมาทันที   พบผู้อุปการะ ที่โรงเรียนแห่งนี้ ไมเคิลได้พบกับครอบครัวของลีห์ แอน ทูฮี เศรษฐินีใจบุญซึ่งต่อมาเป็นผู้รับอุปการะเลี้ยงดูเขา และพาไปอยู่ร่วมกันเป็นสมาชิกในครอบครัว “มันเป็นของผมเหรอครับ” ไมเคิลถามลีห์ แอน ขณะเธอพาเขาขึ้นไปดูห้องนอนที่จัดเตรียมไว้ให้ “ใช่แล้วค่ะ อะไรเหรอ? เธอไม่เคยมีมาก่อนเหรอ?” ลีห์ แอน ถามซ้ำด้วยความสงสัย “อะไรเหรอ? หมายถึงห้องนอนของตัวเองใช่มั้ย?” “เตียงนอนครับ” ไมเคิลตอบสั้น ๆ แม้ภายในใจจะสุดแสนดีใจที่ได้มีเตียงนอนของตนเองเป็นครั้งแรก การได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีความมั่นคงในชีวิต เหมือนเป็นการชุบชีวิตของไมเคิล และเปิดโอกาสให้เขาได้มีตัวตนบนโลกนี้อีกครั้ง “ทำไมถึงอยากได้ใบขับขี่เหรอ?” ลีห์ แอน ถามไมเคิล หลังจากเขาเดินมาขอให้เธอพาไปทำใบขับขี่ “มันเป็นสิ่งที่ผมสามารถพกติดตัวได้และมีชื่อผมอยู่ในนั้น” เด็กกำพร้าร่างใหญ่ตอบถึงเหตุผลของสิ่งแรกที่อยากได้จากการเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว   มั่นใจในสิ่งที่ทำ แม้การรับไมเคิล ออร์ มาอยู่ใต้หลังคาเดียวกันของครอบครัวทูฮี จะถูกสังคมตั้งคำถามในช่วงแรก เพราะความแตกต่างกันทั้งทางฐานะ ประสบการณ์ และสีผิว แต่ลีห์ แอน ก็เชื่อเสมอในสิ่งที่เธอตัดสินใจ และสุดท้ายก็ได้รับการยกย่องจากสังคม โอกาสที่เธอหยิบยื่นให้เด็กน้อยร่างใหญ่ผู้มีพรสวรรค์ ทำให้ไมเคิลสามารถเรียนจบไฮสกูล และเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนไต่เต้าไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพที่ประสบความสำเร็จในที่สุด แม้หนัง The Blind Side จะจบตอนสุดท้ายแค่ความสำเร็จในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่หลังจากไมเคิลได้เรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับครอบครัวทูฮีเป็นศิษย์เก่า ไมเคิลก็ถูกดราฟต์เข้าไปเล่นอเมริกันฟุตบอลในลีกอาชีพสูงสุดทันที ปี 2009 เขาถูกดราฟต์ในลำดับที่ 23 ของรอบแรกเข้าสู่ทีมบัลติมอร์ เรเวนส์ ในตำแหน่ง left tackle และมีส่วนสำคัญในการปิดจุดบอดของควอเตอร์แบ็ก จนพาทีมคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้สำเร็จในเวลาต่อมา แม้ไมเคิล ออร์ ตัวจริง อาจไม่ค่อยปลื้มกับความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง The Blind Side มากนัก เพราะมันทำให้ใครต่อใครพากันหันมาโฟกัสตัวเขาจากเรื่องราวในหนังมากกว่าผลงานในสนาม นอกจากนี้ภาพที่ถ่ายทอดออกมายังอาจมีการดัดแปลงเพื่อเพิ่มอรรถรส และดรามาในบางฉากบางตอน ไมเคิลยกตัวอย่างฉากที่ไม่ตรงกับชีวิตจริง อย่างการพบกับครอบครัวทูฮีครั้งแรก เขาไม่ได้เป็นคนไร้บ้านแบบภาพที่ออกมา เพียงแต่มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ต้องไปอาศัยหลับนอนตามบ้านคนรู้จักในเวลานั้น นอกจากนี้ ไมเคิลยังเผยว่า ฉากที่เขาเริ่มเรียนรู้การเล่นอเมริกันฟุตบอลจากครอบครัวทูฮี ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เพราะความจริงแล้วเขารู้จักอเมริกันฟุตบอล และเคยเล่นกีฬาชนิดนี้มาก่อน   คุณค่าของโอกาส อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลักในหนังล้วนอ้างอิงจากชีวิตจริงของเขา มันเป็นเรื่องราวที่บอกให้ผู้คนรู้ว่า เราสามารถเลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้ แม้จะตกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบใดก็ตาม “ผมมีภูมิหลังที่ย่ำแย่ หลายคนบอกว่าผมไม่สามารถทำได้ แต่คุณสามารถทำอะไรก็ได้ หากคุณใส่หัวใจเข้าไปในนั้น” ไมเคิลกล่าวถึงบทเรียนจากชีวิตของตนเอง เรื่องราวชีวิตของไมเคิล ออร์ และหนัง The Blind Side นอกจากจะสอนถึงคุณค่าของครอบครัว และบอกกับเราว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ มันยังสอนถึงความสำคัญของการได้รับโอกาส และมอบโอกาสให้กับผู้อื่น “เธอเปลี่ยนชีวิตเด็กผู้ชายคนนั้นอย่างไร?” เพื่อนของลีห์ แอน ถามเธอถึงความสำเร็จในการรับอุปการะไมเคิล ออร์ “ผิดแล้วล่ะ เขาต่างหากที่เปลี่ยนชีวิตฉัน” ลีห์ แอน ตอบกลับไปพร้อมรอยยิ้ม นั่นคือรอยยิ้มแห่งความสุขใจของผู้ให้โอกาส และเป็นรอยยิ้มแทนทุกชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งผู้ให้และผู้รับ   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.biography.com/.../the-blind-side-true-story... https://abcnews.go.com/.../real-life-story-blind.../story... https://www.tiebreaker.com/the-real-story-behind-the.../ https://www.azquotes.com/quotes/topics/blind-side.html https://www.espn.com/.../michael-oher-carolina-panthers..