มิเชลล์ โอบามา: Becoming กว่าจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา

มิเชลล์ โอบามา: Becoming กว่าจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา
หากการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่ละครั้งคือการก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้มีหน้าที่กำหนดทิศทางประเทศในอีกยุคสมัย การก้าวขึ้นมาเคียงคู่ของภรรยาประธานาธิบดีในตำแหน่ง ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง’ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน  ตำแหน่งที่ไม่มีข้อระบุหน้าที่ความรับผิดชอบนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง? บุคคลที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกาอย่าง มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) ที่เข้าไปอยู่ในใจชาวอเมริกันด้วยตัวตนส่วนหนึ่งที่เปิดเผยสู่สาธารณชนผ่านหนังสืออัตชีวประวัติของเธอที่มีชื่อว่า Becoming (ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Amarin HOW-TO) และสารคดีชื่อเดียวกันที่เผยแพร่ใน Netflix แม้จะไม่ใช่สตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกในทำเนียบขาว แต่ความเป็นมาของมิเชลล์ก็น่าสนใจมาก ด้วยเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่ทำให้เธอแตกต่างจากอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่น เธอใช้เวลาร่วม 2 ปีหลังก้าวออกจากทำเนียบขาวในปี 2016 เขียนเล่ามุมมองที่ไม่ได้มีแต่ความสำเร็จ แต่เป็นการเติบโตผ่านความเจ็บปวดมามากมาย ก่อนจะยืนหยัดเคียงข้าง บารัค โอบามา สามีและอดีตประธานาธิบดีของเหล่าอเมริกันชน ลงในหนังสือ ‘Becoming’ จุดเริ่มต้นของเด็กหญิงมิเชลล์ มิเชลล์เริ่มต้นชีวิตวัยเด็กในอพาร์ตเมนต์ 2 ชั้นขนาดเล็กในย่านเซาท์ไซด์เมืองชิคาโก ย่านที่มักถูกคนผิวขาวนิยามว่าเป็น ‘สลัม’  โดยมีพ่อเป็นคนงานเทศบาล แม่เป็นแม่บ้าน และพี่ชายอีก 1 คน แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของเธอจะไม่ได้ดีมาก ทว่าสภาพแวดล้อมเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต เพราะพ่อแม่ของเธอมักสั่งสอนให้เธอเข้าใจว่า ความลำบากที่ครอบครัวเจอไม่ใช่เพราะความผิดจากการเกิดเป็นคนผิวสี แต่เป็นเพราะอำนาจของคนขาวที่ชักจูงให้คนมีเงินย้ายออก แปะป้ายว่าย่านนี้ไม่เจริญ เริ่มจำกัดโอกาสและรายได้ในการทำงาน รวมไปถึงกดทับความฝันของคนละแวกนั้น ซึ่งกลายมาเป็นแรงผลักดันให้เธอดิ้นรน “พ่อแม่บอกเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรม แต่โชคร้ายที่มันเป็นเรื่องซึ่งพบเจอได้บ่อยเสียด้วย สีผิวทำให้เราถูกรังแก เราต้องหาทางจัดการเรื่องนี้เสมอ” สภาพสังคมรอบข้างทำให้เธอเติบโตขึ้นมาพร้อมคำถามว่า ‘ฉันดีพอไหม ฉันเก่งพอไหม’ ตลอดทุกช่วงของชีวิต หากแต่นิสัยทะเยอทะยาน ชอบแข่งขัน และพุ่งไปข้างหน้า ทำให้มิเชลล์โดดเด่นออกมาจากเพื่อน ๆ จนได้โอกาสย้ายไปเรียนในโรงเรียนมัธยมฯ ที่มีคุณภาพ และพิสูจน์ความสามารถ ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยในไอวีลีกอย่าง พรินซ์ตัน (Princeton University) ตามพี่ชายของเธอ แม้จะโดนครูแนะแนวสบประมาทว่า เธอไม่เหมาะกับพรินซ์ตันก็ตาม แต่ชีวิตในมหา’ลัยชั้นนำของเธอไม่ได้สดใสนัก เพราะการเป็นนักศึกษาผิวสีในพื้นที่ที่มีแต่คนขาว ทำให้เธอเป็นชนกลุ่มน้อยที่รู้สึกแปลกแยกในสังคมกว้างของพรินซ์ตัน จนถึงขั้นที่รูมเมทของเธอตัดสินใจย้ายห้องหนีด้วยเหตุผลว่า พ่อแม่ของเขากลัวว่าลูกจะเป็นอันตรายจากการอยู่ร่วมห้องกับคนผิวดำอย่างเธอ เมื่อเป็นเช่นนั้น มิเชลล์จึงมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญในการพิสูจน์ตัวเองให้คนยอมรับ ตั้งใจทำเกรด ก้าวกระโดดสู่เส้นทางการเป็นทนายในรั้วมหาวิทยาลัยกฎหมายอันดับโลกอย่าง ฮาร์วาร์ด (Harvard University) และเข้าทำงานที่บริษัทกฎหมายชั้นนำอย่าง Sidley Austin มองเผิน ๆ การจบจากมหา’ลัยในกลุ่มไอวีลีกถึง 2 ที่และเข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายชื่อดัง ฟังดูเป็นชีวิตที่เพียงพอสำหรับหลาย ๆ คน แต่สำหรับมิเชลล์แล้ว การได้พบกับบารัค โอบามา ผู้รับบทบาทนักศึกษาฝึกงานในความดูแลของเธอ และความสนิทสนมใกล้ชิดจนกลายเป็นความรัก ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริง ๆ แล้ว งานที่มีความหมายสำหรับเธอคืออะไรกันแน่ เมื่อเห็นภาพบารัคที่เรียนต่อกฎหมายด้วยเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากนโยบายที่ก้าวหน้าและการทำงานภาครัฐ ที่สร้างผลกระทบมากกว่าการทำงานพัฒนาชุมชนรากหญ้า “สำหรับฉันแล้ว การอยู่ร่วมกับสำนึกเรื่องจุดมุ่งหมายอันแรงกล้าของบารัค นอนร่วมเตียงกับมัน เป็นสิ่งที่ฉันต้องปรับตัว ไม่ใช่เพราะเขาโอ้อวดความคิด แต่เพราะมันเป็นชีวิตจริงเหลือเกิน เมื่อเห็นบารัคมั่นใจขนาดนี้ เมื่อความคิดของเขาที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าเดิม ฉันก็อดรู้สึกเคว้ง ๆ ไม่ได้เมื่อเทียบกับตัวเอง” เปลี่ยนทิศสู่เส้นทางใหม่ นับเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสูญเสียพ่อจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) จนหัวใจวายในเวลาต่อมา และการสูญเสียเพื่อนสนิทไปจากโรคมะเร็ง ซึ่งกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เธอหยุดลังเลเปลี่ยนงาน และมุ่งหางานที่ตรงกับคุณค่าของเธอ “การสูญเสียพ่อตอกย้ำให้ฉันสำนึกว่าไม่มีเวลามัวนั่งคิดคำนึงแล้วว่าตัวเองควรเดินต่อไปอย่างไร พ่อตายตอนอายุเพิ่ง 55 ซูซานน์แค่ 26 บทเรียนตรงนั้นช่างเรียบง่าย คือการสอนว่าชีวิตแสนสั้น อย่าเสียเวลาเปล่า ๆ” เธอตัดสินใจทิ้งห้องทำงานบนตึกหรูที่ซิดลีย์ไปสู่ห้องไร้หน้าต่างที่เทศบาลเมือง ซึ่งทำให้เธอได้เห็นชิคาโกในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผ่านงานลงพื้นที่ท้องถิ่นแก้ปัญหาในชุมชน ก่อนจะเข้าทำงานในองค์กร Public Allies ในปี 1993 เพื่อช่วยให้เยาวชนที่ขาดโอกาสได้ค้นพบทางเข้าสู่อาชีพต่าง ๆ ในวงงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงกำไร ในขณะที่บารัคเริ่มตัดสินใจสมัครสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นครั้งแรก และเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว แน่นอนว่ามิเชลล์ไม่เห็นด้วย เพราะการเมืองในสายตาของเธอเวลานั้นแย่เกินไปสำหรับคนอย่างบารัค และการเมืองแบบเดิม ๆ ก็ถูกใช้เพื่อกีดกั้นคนผิวดำ แต่เพราะความรักที่มากพอและความเชื่อว่าบารัคจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ทำให้เธอผลักดัน ยอมเป็นตัวแทนผู้สมัครช่วยหาเสียง จนเขาเริ่มเข้าใกล้สภาคองเกรสในเวลาต่อมา การพยายามประคองชีวิตคู่ไปพร้อมกับการเข้าสู่โลกการเมืองของบารัค ทำให้มิเชลล์เจ็บปวดในหลายครา โดยเฉพาะเมื่อเธอแท้งลูก จนต้องทำเด็กหลอดแก้วในภายหลัง และต้องรับภาระหนักในการดูแลลูก รวมถึงการขยับตัวสู่สาธารณะเข้าไปช่วยสามี ซึ่งเปิดทางให้สื่อเริ่มโจมตี ไม่ว่าจะเป็นการแปะป้ายให้เธอเป็น ‘หญิงผิวดำผู้กราดเกรี้ยว’ เหมารวมว่าเธอชิงชังอเมริกา ตัดต่อภาพให้เธอกลายเป็นคนแบ่งแยกสีผิว จนต้องตอบคำถามคนสนิทที่ไม่มั่นใจในตัวเธอนับไม่ถ้วน มิเชลล์ โอบามา: Becoming กว่าจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา ยิ่งได้รับความนิยมมากเท่าไร ก็ยิ่งมีคนเกลียดมากเท่านั้น มิเชลล์ยอมทิ้งงานประจำที่เธอรัก เสียสละความทะเยอทะยานและความฝัน เพื่อใช้เวลาสร้างสมดุลครอบครัวที่พร่าเลือนไปกับเรื่องการเมือง จนกระทั่งความพยายามสำเร็จผลในวันประกาศชัยชนะของบารัค ในการเลือกตั้งปี 2008  ชีวิตครอบครัวของเธอต้องย้ายถิ่นจากบ้านเล็ก ๆ ในชิคาโกสู่บ้านอันโด่งดังอย่างทำเนียบขาว ซึ่งมีความสะดวกสบายรออยู่ แลกกับการต้องย้ายลูกออกจากโรงเรียนกลางคัน และการโดนชาวอเมริกันตัดสินด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งเชื้อสายแอฟริกันเพียงคนเดียวที่ย่างเข้าทำเนียบขาว จากการครองตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ “ถ้าไม่ออกไปนิยามตัวเองให้ชัด คุณก็จะถูกคนอื่นชิงนิยามให้อย่างไม่ตรงตามความจริงด้วย ฉันไม่สนใจจะบีบกดตัวเองไว้ในบทบาทตั้งรับ รอให้ทีมงานบารัคชี้แนะบอกทาง ฉันจะไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองโดนทำร้ายบาดเจ็บอย่างนั้นอีก” เธอริเริ่มโปรเจกต์ทำสวนในทำเนียบขาว ด้วยแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่ลูกของเธอตรวจพบความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เพราะกินอาหารนอกบ้านและอาหารสำเร็จรูปมากเกินไป ในขณะที่ครอบครัวเดินทางหาเสียงหลายเดือน เธอใช้ประโยชน์จากฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งเพื่อจุดประกายให้คนสนใจเรื่องโภชนาการ และผลักดันจนเกิดเป็นโครงการ Let’s Move! ที่มีเป้าหมายคือการหยุดโรคอ้วนในเด็กให้ได้ภายใน 1 ชั่วอายุคน ผลลัพธ์ของโครงการที่ท้าทายเหล่านายทุนในอุตสาหกรรมอาหาร คือเด็กจำนวน 45 ล้านคนที่ได้กินอาหารเช้าและมื้อกลางวันที่ดีต่อสุขภาพ นักเรียน 11 ล้านคนได้ออกกำลังกายวันละ 60 นาที อัตราโรคอ้วนในวัยเด็กที่ลดลง และความร่วมมือจากหลายบริษัทอาหารเพื่อลดน้ำตาล ปริมาณแคลอรี ร่วมสร้างวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 8 ปี ทุกความสนใจของมิเชลล์ตลอดการทำหน้าที่ในทำเนียบถูกแปรเปลี่ยนเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างแท้จริง ตั้งแต่โครงการ Joining Forces ที่ร่วมมือกับจิลล์ ไบเดน สนับสนุนและเชิดชูทหารในกองทัพในทุก ๆ ด้าน, โครงการ Reach Higher ที่ส่งเสริมเยาวชนให้ได้รับการศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดงานทั่วประเทศ และโครงการ Let Girls Learn ที่เข้ามาแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงโอกาสในการศึกษาของเด็กสาววัยรุ่นทั่วโลก โดยมีกระบวนการสำคัญร่วมกันอย่างการลงพื้นที่ เข้าไปสื่อสารกับผู้คน และหาทางแก้ปัญหาสังคมไปพร้อม ๆ กับการดำเนินนโยบายเพื่อประชาชนของสามี ก้าวสู่ชีวิตใหม่ แม้จะก้าวขาออกจากทำเนียบขาว กลับสู่ชีวิตปกติในปัจจุบันแล้ว แต่มิเชลล์ก็ยังคงเดินหน้าค้นหาตัวตนต่อไป คล้ายกับตัวเธอในวันที่เริ่มทำงานเพื่อคนอื่น เธอเดินสายถึง 34 เมืองเพื่อพูดคุยกับนักอ่านหนังสือ ‘Becoming’ พร้อมกับภาพเบื้องหลังการเดินสายตลอด 2 ปีที่ถูกถ่ายทอดในสารคดี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “เราไม่อาจรอให้โลกเกิดความเท่าเทียมแล้วค่อยรู้สึกว่าเรามีตัวตน มันยังอีกไกล ประธานาธิบดีคนเดียวหรือการลงคะแนนครั้งเดียวไม่อาจทำได้ ดังนั้นเราต้องลงมือจากตัวเราเพื่อให้มีตัวตน ให้มีคนรับฟัง และใช้เสียงของตัวเอง” เธอกล่าวกับกลุ่มวัยรุ่นชาวแอฟริกัน-อเมริกันในวงสนทนาระหว่างการเดินสาย มาถึงตอนนี้ ภาพจำของสตรีหมายเลขหนึ่งเป็นอย่างไร คำตอบอาจจะไม่เหมือนกัน แต่เราเชื่อว่าบทเรียนชีวิตของมิเชลล์ น่าจะครองใจใครหลาย ๆ คนให้จดจำไปอีกนาน ด้วยตัวตนที่จริงใจของเธอ “เรากำลังอยู่ที่ทางแยก ที่ที่เราต้องคิดว่าอะไรคือตัวตนของประเทศชาติเรา ฉันยังคงมีหวังว่าผู้คนต้องการสิ่งที่ดีขึ้น ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเองก็เพื่อคนรุ่นหลัง นั่นคือเรื่องพื้นฐานที่ทำให้ฉันปีติ มันย้อนกลับมาที่การให้คำปรึกษาคนอื่น และฉันจะทำแบบนี้ต่อไปจนกว่าคนจะพูดว่า ‘พอได้แล้วคุณยาย’”  และสุดท้ายนี้ “ฉันอยากเป็นยายวัย 90 ที่คุณยอมทนฟัง” เธอตอบกลับพิธีกรบนเวทีในการเดินสายครั้งที่ 34 . ที่มา: หนังสือ ‘Becoming’ เขียนโดย มิเชลล์ โอบามา, สำนักพิมพ์: Amarin HOW-TO และภาพยนตร์สารคดี Becoming (2020)