ชนชั้นกลางอเมริกันอยู่กันอย่างไรในช่วง 10 ปีที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

ชนชั้นกลางอเมริกันอยู่กันอย่างไรในช่วง 10 ปีที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ The Great Depression ในช่วงปี 1929-1939 กินระยะเวลาราว 10 ปี เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงเพื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในวันนี้ หากเราย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องเล่าไปถึงอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่จบลงในปี 1918 ช่วงเวลานั้นอเมริกันชนอยู่แบบมีความสุข เฉลิมฉลองและปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง บรรยากาศกำลังฟู่ฟ่า หรูหรา เซเลบริตีเกิดขึ้นมากมาย มีความสนุกสนานดังที่เห็นกันในวิดีโอเก่า ๆ ยุค 1920s ที่คนแต่งตัวเก๋ ๆ เต้นรำด้วยเพลงแจ๊ซ ซึ่งหากใครเคยดูภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือ The Great Gatsby จากปลายปากกาของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนชาวอเมริกัน จะเห็นการบรรยายความรุ่มรวยของคนอเมริกันยุคนั้น(ช่วงปี 1922) ได้เห็นภาพชัดเจน นอกจากนั้น ด้วยความเบ่งบานทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการผลิตในปริมาณมาก (mass production) ก็ทำให้เกิดการผลิตสินค้าและการจ้างงานมากมาย เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างบริษัท Ford, Chrysler และ General Motors และแม้ในภาคการเกษตรก็มีการใช้เครื่องจักรที่ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก  ด้วยการพัฒนาทางสังคมและการบริโภคที่มากขึ้น เศรษฐกิจก็เฟื่องฟู เกิดเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ และคนอเมริกันก็ไม่ได้แค่ใช้จ่ายด้วยเงินสด แต่รู้จักการใช้จ่ายระบบเครดิตในการซื้อของมากขึ้น ลามไปถึงการใช้เครดิตเพื่อลงทุนในหุ้น พอเห็นภาพกันแล้วว่า เวลาที่เกิดเหตุการณ์ประมาณนี้ขึ้น เมื่อคนใช้ชีวิตดี ๆ ธุรกิจก็ผลิตกันมาก ๆ มีการใช้เครดิตซื้อของกันมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การลงทุนก็จะเริ่มชะงัก บริษัทเริ่มหยุดผลิต สินค้าเกษตรที่ล้นหลามก็จะมีราคาตกต่ำลง คนจะเริ่มตกงาน แถมเป็นหนี้ ตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของวิกฤต Great Depression ในปี 1929   คนชั้นกลางกับ Great Depression คนที่เกิดและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสมัยนั้น ใครจะไปนึกไปฝันว่า อยู่ ๆ จะเห็นเหตุการณ์ตลาดหุ้นตกแบบพังพินาศจากการเทขายหุ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 1929 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ Great Depression ที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม จู่ ๆ ก็ตกงานเพราะบริษัทปิดตัว รายได้หดหาย บางคนตกงานแบบไม่ต้องเตรียมตัว work from home ใด ๆ    อย่างตัวเลขความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 1929-1932 ในอเมริกามีดังนี้ -การผลิตภาคอุตสาหกรรม −46% -ราคาขายส่ง −32% -การค้ากับต่างประเทศ −70% -การว่างงาน +607%   ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือคนใช้แรงงานของอเมริกาตกงานเพิ่มจาก 3% เป็น 25% คนที่ทำงานได้ก็อาจจะถูกลดค่าแรง ไม่ก็ลดชั่วโมงในการทำงานหรือทำงานพาร์ทไทม์ แม้อาชีพของคนชั้นกลางระดับบนอย่างแพทย์หรือทนายความ รายได้ก็หายกันไปถึง 40% คิดเล่น ๆ หากเป็นคนไทย ถ้าเรามีเงินเดือน 50,000 บาท ก็รับเงินเดือน 30,000 บาทในช่วงวิกฤตนี้ ต้องกลับมานั่งรีวิวกันเลยว่าจะใช้จ่ายและผ่อนภาระหนี้พอกันหรือเปล่า   “กินให้หมด ใส่จนเปื่อย ทำให้ได้หรือทำโดยไม่ต้องใช้มัน” motto หนึ่งที่คนอเมริกันพูดคุยกันในช่วง Great Depression คือ “Eat it up, wear it out, make it do, or do without.” (“กินให้หมด ใส่จนเปื่อย ทำให้ได้หรือทำโดยไม่ต้องใช้มัน”) ก็เหมือนพวกเราในวันนี้ ที่เตือน ๆ กันว่าต้องประหยัดกันนะ  คนอเมริกันจำนวนมากในเวลานั้นลำบากมาก ต้องตระเวนหางาน ยืนรอคิวหน้าสำนักงานจัดหางานกันว่าจะมีงานอะไรให้ทำได้บ้าง บางทีก็เขียนป้ายประกาศเดินหางานกันตามท้องถนน ขนาดลดค่าแรงตัวเองเหลือ 1 ดอลลาห์ต่อสัปดาห์ก็เอา  เรื่องของกิน ก็จะกินกันแบบง่าย ๆ เช่น ทำอาหารจานเดียว ปรุงในหม้ออบ หม้อต้ม อย่างมักกะโรนีใส่ชีส สลัดเนื้อบด มันฝรั่งกับหอมทอด ซุปแบบง่าย ๆ ขนมปังอบกับเนื้อชิ้นเล็ก ๆ พวกนี้เป็นอาหารที่เรียกกันอย่างน่ารักว่า S.O.S. ซึ่งย่อมาจาก “Save Our Stomachs” (ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องใส่แฮชแท็ก #saveourstomachs) นอกจากนี้ ถ้าเป็นการจัดเลี้ยงกันในโบสถ์ ก็จะทำอาหารราคาประหยัดใส่ถาดมาแชร์กัน  เวลานั้นแม้ในทำเนียบขาว ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ก็ต้องรับประทานอาหารง่าย ๆ อย่าง ไข่ต้มราดซอสมะเขือเทศพร้อมมันฝรั่งบด และมีของว่างเป็นพุดดิง ส่วน เอลีนอร์ โรสเวลต์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ก็มาช่วยโปรโมทวิธีการทำอาหารแบบประหยัด ด้วยเมนูสปาเก็ตตีกับแครอทต้ม ราดด้วยซอสขาวที่ทำจาก นม แป้ง เกลือและเนย ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกของผู้นำที่ช่วยให้คนกำลังเดือดร้อนได้เห็นว่าทุกคนต้องร่วมกันฝ่าฟันเหตุการณ์นี้ด้วยกัน   กิจกรรมยามว่างทำอะไรกันดี? จริง ๆ สมัยนั้นและสมัยนี้ก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจก็จะออกไปปาร์ตี้ ไปพักผ่อน ดูภาพยนตร์นอกบ้าน แต่พอเกิดวิกฤตก็จะเหลือคนจำนวนหนึ่งที่ยังใช้ชีวิตแบบหรูหราได้ แต่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะปิดกิจการ วิธีการที่คนจะใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็คือการเล่นเกม ตัวอย่างเช่น บอร์ดเกม การ์ดเกม เกมเศรษฐี อยู่บ้านฟังวิทยุ เล่นมินิ-กอล์ฟกับคนในครอบครัว กว่าจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้รัฐบาลก็ต้องออกมาตรการเยอะมาก เช่น การออกนโยบาย New Deal เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งภาคธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร เศรษฐกิจก็ค่อย ๆ ฟื้นตามลำดับ แต่ที่สุดเหตุการณ์นี้ก็กินเวลาไปถึง 10 ปี จะเห็นได้ว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่วิกฤตต่าง ๆ ก็สามารถกลับมาให้เราพบเจอได้ตลอด หลังจากเกิด Great Depression แล้ว โลกยังเจอวิกฤตอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตซับไพรม์ และปัจจุบันที่เราเจอคือวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ว่าเราจะเผชิญสถานการณ์ยากลำบากขนาดไหน ชีวิตของเราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์แบบนี้ให้ได้ในที่สุด    ที่มา: https://www.history.com/news/life-for-the-average-family-during-the-great-depression https://www.offthegridnews.com/how-to-2/use-it-up-wear-it-out-make-it-do-or-do-without/ https://www.ranker.com/list/food-during-the-great-depression/kellen-perry https://www.mentalfloss.com/article/85597/8-curious-recipes-depression-era   เรื่อง: กวิน สุวรรณตระกูล