มิคาอิล กอร์บาชอฟ: ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของโซเวียต ผู้นำ ‘สันติ’ มาสู่โลก

มิคาอิล กอร์บาชอฟ: ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของโซเวียต ผู้นำ ‘สันติ’ มาสู่โลก
“ผมเดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลเพื่อพูดคุยกับพวกเขา แต่มีเพียงเรื่องเดียว เรื่องเดียวเท่านั้นที่ทุกคนพูดกับผมคือ ‘พอแล้วกับสงคราม’ พวกเราเหนื่อยเต็มทีแล้วกับมัน “ผมตกตะลึงไปชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นพวกเขาก็พูดเรื่องที่ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนตัวเองอย่างหนัก เขาบอกว่า มิคาอิล เซอร์เกเยวิช ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ คุณไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มีข้าวกิน ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มีที่คุ้มหัวนอน คุณไม่ต้องกังวลอะไรทั้งนั้น เราจะหว่านเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เราจะสร้างมันขึ้นมา เราจัดการกันเองได้ “แต่คุณให้สัญญากับเราอย่างหนึ่งได้มั้ยว่าจะไม่มีสงคราม เราพอแล้วกับสงคราม” มิคาอิล กอร์บาชอฟ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในปี 2019 ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ แต่แววตาของเขายังคงเต็มไปด้วยประกายแสงแห่งความหวัง เมื่อรำลึกถึงเรื่องราวครั้งอดีต ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (The Communist Party of the Soviet Union - CPSU) ตั้งแต่ปี 1985 - 1991 แม้กอร์บาชอฟจะได้รับความชิงชังจากคนในชาติ ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทำให้ประเทศชาติล่มสลาย แต่เขากลับเป็นผู้นำที่ซีกโลกตะวันตกให้การยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง นี่คือเรื่องราวของเขา ชายผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย และพยายามกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง จนนำไปสู่การปิดฉากประเทศหลังม่านเหล็ก และนำ ‘สันติ’ คืนสู่โลกได้อีกครั้ง   ชีวิตที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) เกิดวันที่ 2 มีนาคม 1931 ในหมู่บ้าน Privolnoye ทางตอนใต้ของรัสเซีย เขาเกิดมาในครอบครัวชาวนายากจน พ่อเป็นชาวรัสเซีย แม่เป็นชาวยูเครน แต่เพราะทั้งพ่อและแม่ต้องไปทำงานในระบบนารวมเสียส่วนใหญ่ ทำให้กอร์บาชอฟถูกเลี้ยงดูมาโดยตาและยายที่รักและทะนุถนอมเขาไม่ต่างจากลูกในไส้ แม้จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เพราะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองที่โหดร้ายของ ‘โจเซฟ สตาลิน’ (Joseph Stalin) ผู้นำที่พรากชีวิตของผู้เห็นต่างไปราวใบไม้ร่วง ครอบครัวกอร์บาชอฟต้องทนอยู่กับระบอบที่มีแต่การกดขี่ขูดรีด ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสรเสรี ไม่เข้าใจว่าโลกที่ปราศจากการสู้รบหน้าตาเป็นแบบไหน ชาวโซเวียตไม่เคยเข้าใจเรื่องเหล่านี้เลยสักนิด การปกครองอันโหดร้ายของสตาลินกลับยิ่งยกระดับความรุนแรงยิ่งขึ้น ครอบครัวของเขาต้องประสบกับเหตุการณ์การกวาดล้างครั้งใหญ่ (The Great Purge) ในช่วงปี 1936 - 1938 ซึ่งเป็นนโยบายทางการเมืองที่มีขึ้นเพื่อกำจัดผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้นำจอมเผด็จการ ในปี 1937 Pantelei Gopkalo ตาของกอร์บาชอฟถูกจับคุมขังในข้อหาเป็นสมาชิกขององค์กรต่อต้านการปฏิวัติของเลออน ทรอตสกี้ (Leon Trotsky) นานถึง 14 เดือน ทั้งถูกซ้อม ทรมาน และทุบตีอย่างหนัก เมื่อไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สมาชิกพรรคจึงมอบโทษประหารชีวิตให้แก่ตาของเขา แต่ภายใต้ความโหดร้ายทารุณ ครอบครัวกอร์บาชอฟยังมีมิตรสหายที่ดีคอยให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด ตาของเขาจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาในอีกหนึ่งปีให้หลัง ขณะที่ อังเดร กอร์บาชอฟ (Andrei Gorbachev) ปู่ของเขา กลับประสบปัญหาที่หนักกว่า ปู่ไม่ต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนารวม จึงเลี่ยงมาทำนาในผืนดินของตัวเอง แต่ในปี 1933 ทางตอนใต้ของโซเวียตเกิดภัยแล้งอย่างหนัก ขาดทั้งน้ำและอาหาร สมาชิกภายในครอบครัวทยอยล้มตายทีละคนสองคน โชคดีที่พ่อของกอร์บาชอฟสามารถมีชีวิตรอดจากความอดอยากหิวโหยครั้งอดีตได้ เมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 1934 มาเยือน ครอบครัวกอร์บาชอฟไม่สามารถมอบผลผลิตไปให้ส่วนกลางได้ทันเวลา อังเดรถูกจับกุมทันทีโทษฐานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพรรค และนำไปเป็นแรงงานในค่ายกักกัน (Gulag) เขตอีร์คุตสค์ ไซบีเรีย เป็นเวลา 2 ปีเต็ม หลังจากถูกปล่อยตัว เขากลับมาทำหน้าที่ ‘สหาย’ ผู้ซื่อสัตย์ ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่ขูดรีด ก้มหน้าก้มตาทำงานในนารวม จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ในเดือนมิถุนายน 1941 นาซีเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียต พ่อของเขาถูกเกณฑ์เข้าร่วมสมรภูมิรบอย่างเลี่ยงไม่ได้ กอร์บาชอฟในวัย 10 ขวบ ต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางภัยสงคราม เขาไม่มีวัยเด็กแสนสุข มีแต่ภาพของความอดอยากหิวโหย แร้นแค้น และพื้นดินที่นองเลือด เขาทำได้เพียงมองการจากไปของผู้คนรอบตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และแล้วข่าวร้ายก็ได้มาเยือนครอบครัวกอร์บาชอฟ ในปลายเดือนพฤษภาคม 1944 ทางการแจ้งว่าพ่อของเขาจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เขาใช้เวลาทำใจนานถึง 3 วันกว่าจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่แล้วเหมือนสวรรค์เมตตา ทางการส่งข้อความมาใหม่โดยระบุว่า พ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ขา พ่อของกอร์บาชอฟกลับบ้านมาพร้อมกับเหรียญกล้าหาญ และใช้ชีวิตในฐานะชาวนาอีกครั้ง เขาเริ่มสอนให้ลูกชายหยิบจับเครื่องมือทางการเกษตร “พ่อรู้วิธีในงานเครื่องจักรพวกนี้เป็นอย่างดี เขาสอนให้ผมทำทุกอย่างเป็น หลังจากปีหรือสองปีนี่แหละ ผมก็สามารถใช้เครื่องมือพวกนี้ได้คล่องมือ แต่สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจมากที่สุดคงเป็นเรื่องการหาข้อผิดพลาดของเครื่องจักร โดยแค่ฟังเสียงของมัน” กอร์บาชอฟในวัย 17 ปีทำงานร่วมกับพ่อ ลงแรงเก็บเกี่ยวพืชผลในนารวม จนได้รับเหรียญเกียรติยศจากทางการมาครอง นับว่าเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา กอร์บาชอฟในวัยเด็กไม่เคยละความพยายามที่จะดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อจะมีชีวิตในแต่ละวัน ประจวบกับเขาเป็นเด็กหัวดีที่ชื่นชอบการเรียนหนังสือ อีกทั้งยังชื่นชอบการแสดงละครเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เขาสามารถหาเงินจากการแสดงบนเวที จนนำเงินจำนวนนี้มาซื้อรองเท้าให้แก่เด็กในครอบครัวยากจนได้ถึง 35 คู่ ในปี 1950 กอร์บาชอฟสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยเหรียญเงิน และได้รับเชิญให้เข้าเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลโมโนซอฟในมอสโก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหภาพโซเวียต ที่นั่นเขาได้พบกับ ‘ไรซา มักซีมอฟนา’ (Raisa Maksimovna) รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย จากคณะปรัชญา และแต่งงานกันในปี 1953 “ช่วงเวลาที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัย ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้ว่าผมจะต้องทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อที่จะเรียนตามเพื่อนให้ทัน เพราะโรงเรียนที่ผมจบมา ต้องยอมรับว่ามันมี ‘ช่องว่าง’ ทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท”   ก้าวสู่เส้นทางการเมือง กอร์บาชอฟเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตอนอายุ 21 ปี เมื่ออายุ 35 ปี เขาจบการศึกษาด้านธุรกิจการเกษตร จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรคนแรก จากนั้นได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคในปีต่อมา เขาทำงานด้วยความมุ่งมั่นมาโดยตลอด ความพยายามของเขาได้รับการยอมรับจากสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเบลเยียม เยอรมนีตะวันตก แคนาดา และสหราชอาณาจักร ต่อมาในช่วงการปกครองของ ‘เลโอนิด เบรจเนฟ’ (Leonid Brezhnev) ระหว่างปี 1964 - 1982 เขาได้นำโซเวียตหวนคืนสู่การปกครองคล้ายกับสตาลิน โดยเฉพาะในด้านนโยบายต่างประเทศ เบรจเนฟนำโซเวียตเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ‘อัฟกานิสถาน’ ด้วยการนำกองกำลังทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในปี 1979 แต่ในช่วงปลายการปกครอง เบรจเนฟปรับนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดลง ทำให้เกิดการประนีประนอมกับสหรัฐฯ มากขึ้น และเริ่มเอนเอียงเข้าหาโลกตะวันตก ซึ่งต่อมาในสมัยการปกครองของกอร์บาชอฟ เขาได้รื้อฟื้นระบอบการปกครองที่เบรจเนฟปูทางไว้ขึ้นมาใหม่ กอร์บาชอฟในวัย 54 ปี ขึ้นรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคฯ และประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ในวันที่ 11 มีนาคม 1985 เขาได้ทำการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองให้ขยับเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยตามโลกตะวันตกมากขึ้น เริ่มจากนำแนวคิดกลาสนอสต์ (Glasnost) หรือการเปิดกว้างทางความคิด ให้ประชาชนสามารถมีสิทธิมีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับบทลงโทษ และเปเรสทรอยกา (Perestroika) หรือการปรับ ซึ่งครอบคลุมในแทบทุกมิติ ตั้งแต่การเมือง ไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงทำการปฏิรูประบบเกษตร อุตสาหกรรม ระบบการถือครองทรัพย์สิน ระบบการซื้อขายสินค้า ให้เป็นไปตามกลไกตลาด และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กอร์บาชอฟผลักดันให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำแนวคิดเดโมคราติยา (Demokratiya) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและรัฐต่าง ๆ  เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย มาเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินนโยบาย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างตกตะลึง เพราะคงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชน จะพยายามปรับเปลี่ยนให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย “ผมพยายามอย่างเต็มที่ในการนำทั้งคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มาใช้ในการปกครองประชาชน นี่คือเรื่องหลักที่ผมนำมาปรับใช้ในการทำงาน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติความบาดหมางที่เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่เราได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ และกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่” แต่ความพยายามของเขากลับถึงทางตัน สหภาพโซเวียตถึงจุดสุกงอมเต็มที และไม่สามารถที่จะพัฒนาได้อีกต่อไป วันที่ 1 ธันวาคม 1991 ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลกต้องล่มสลายลงไปต่อหน้าต่อหน้า ภายใต้การปกครองของกอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ถึงจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้นำที่ทำชาติพัง แต่ตะวันตกกลับยกย่องเขาในฐานะผู้นำ ‘สันติ’ คืนสู่โลก โดยมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 1990 เป็นเครื่องยืนยันว่าครั้งหนึ่ง กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำรัสเซียได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยุติสงครามเย็นระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออก แม้ว่าประเทศที่กอร์บาชอฟใฝ่ฝันจะไม่สามารถประกอบขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างภายใต้การปกครองของเขา แต่เขาได้พิสูจน์ให้ประชาคมโลกเห็นแล้วว่า การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ย่อมทำให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงจะสร้างความผิดหวังให้คนในชาติ แต่เขาได้มอบสิ่งที่สำคัญที่สุดให้แก่คนทั้งโลก นั่นคือ ‘ความสงบสุข’   ปัจจุบันกอร์บาชอฟในวัย 91 ปี ยังคงออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดเมื่อต้นปี 2021 เขาได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียและสหรัฐฯ ผลักดันให้มีการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศเพื่อนบ้าน  พร้อมทั้งเตือนชาติตะวันตกให้ลดการยั่วยุรัสเซียลง โดยเฉพาะการขยายเขตอิทธิพลเข้ามายังตะวันออก เพราะนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อยุโรปแล้ว ยังเป็นการปลุกเร้าให้ปูตินกระทำการโดยมิชอบ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่ยุโรปพยายามชักนำรัสเซียให้เข้าสู่โหมดพร้อมรบ   ภาพ: Getty Images   อ้างอิง: