ไมลีย์ ไซรัส ผู้ทำให้การ ‘Twerk’ เป็นที่แพร่หลาย

ไมลีย์ ไซรัส ผู้ทำให้การ ‘Twerk’ เป็นที่แพร่หลาย
ไมลีย์ ไซรัส อดีตดาราวัยรุ่นได้เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเกิดในครอบครัวนักร้องนักแสดง เดิมเธอชื่อว่า เดสตินี โฮป ไซรัส (Destiny Hope Cyrus) และมีชื่อเล่นว่า สไมลีย์ เพราะเธอเป็นทารกที่ยิ้มเก่ง ก่อนตัดชื่อให้สั้นลงเหลือแค่ ‘ไมลีย์’ และกลายเป็นชื่อจริงในเวลาต่อมา  ช่วงวัยรุ่นภาพลักษณ์ของไซรัสติดตาผู้ชมจากการรับบท ‘ไมลีย์ สจ๊วต’ ในละครชุด Hannah Montana ของดิสนีย์ ซึ่งตัวละครตัวนี้มีสองภาค คือการเป็นนักเรียนมัธยมฯ ‘ไมลีย์ สจ๊วต’ ในเวลากลางวัน และกลายเป็น ‘ฮันนาห์ มอนทานา’ นักร้องป็อปสตาร์ในยามค่ำ โดยปกปิดไม่ให้คนทั่วไปรู้ ซึ่งถือเป็นซีรีส์ของดิสนีย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้น (2006-2011) แต่ยิ่งโตขึ้น ไซรัสก็ยิ่งรังเกียจการรับบทดาราวัยรุ่นตัวอย่างของเด็ก ๆ ทั้งในละครโทรทัศน์และในชีวิตจริง ผ่านการแสดงออกทั้งการใช้ยาเสพติด และการแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะการแสดงบนเวที MTV Video Music Awards ปี 2013 ที่ทำให้คนที่ไม่รู้จักกับคำว่า ‘ทเวิร์ก’ (twerk) ก็ได้รู้จักมันเป็นครั้งแรก และคำนี้ก็กลายมาเป็นคำที่ถูกค้นหาใน Google มากเป็นอันดับ 1 ของปีไปด้วย ทเวิร์ก คืออะไร? พจนานุกรมของ Oxford ให้ความหมายของคำว่า twerk เอาไว้ว่าเป็น ‘การเต้นของเพลงป็อปในท่วงท่าปลุกเร้าทางเพศด้วยการขย่มบั้นเอวผสมกับการย่อตัวต่ำ’ ส่วนต้นกำเนิดของคำนี้นั้น พจนานุกรมของ Oxford กล่าวไว้ว่า ในต้นศตวรรษที่ 19 คำนี้เป็นคำนาม หมายถึงการเคลื่อนไหวสะบัดหรือชักกระตุก โดยน่าจะเป็นการผสมรวมของคำว่า twitch (กระตุก) หรือ twist (หมุน, บิด) กับคำว่า jerk (การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว) และน่าจะได้อิทธิพลจากคำว่า ‘work’ ด้วย  ใน Blog ของพจนานุกรมของ Oxford ได้อภิปรายความเป็นมาของคำนี้เพิ่มเติมว่า “การใช้คำว่า ทเวิร์ก เพื่อระบุถึงการเต้นที่เน้นบั้นท้ายของผู้เต้นนั้นมีต้นกำเนิดในช่วงต้นทศวรรษ 1990s ในแวดวงดนตรีนิวออร์ลีนส์ ‘เบาซ์’ (bounce) แต่คำนี้มีมานานกว่า 170 ปีแล้ว มันถูกใช้เป็นคำนามในอังกฤษตั้งแต่ปี 1820 (เดิมสะกดว่า twirk) หมายถึงการเคลื่อนไหวแบบหมุนวนหรือสะบัดอย่างรวดเร็ว”  อย่างที่พจนานุกรมของ Oxford กล่าวว่า คำนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานนับร้อยปี แต่ความสนใจของมันในคำนี้กว่าจะมาถึงก็เข้ายุค 2000 ไปแล้ว โดยเบื้องต้นเป็นที่นิยมในกลุ่มแร็ปเปอร์ผิวดำ แล้วค่อย ๆ กระจายไปสู่ไนต์คลับ ปาร์ตี้ต่าง ๆ ซึ่งจากข้อมูลของ Google Trends ซึ่งเก็บสถิติการค้นหาคำต่าง ๆ พบว่า ทเวิร์กถูกค้นหามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปลายปี 2011 ก่อนพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนกันยายน 2013  หรือหนึ่งเดือนหลังการแสดงของ ไมลีย์ ไซรัส บนเวทีของ MTV ในปีเดียวกันนั่นเอง  ไซรัสขึ้นเวที MTV ด้วยเพลง We Can’t Stop จากอัลบั้มใหม่หลังห่างหายจากงานเพลงไประยะหนึ่ง เพื่อมุ่งเป้าหมายไปที่งานแสดง ซึ่งเธอบอกว่า We Can’t Stop เป็นเพลงที่บ่งบอกตัวตนของเธอ ณ เวลานั้นได้ดีที่สุดกับเนื้อหาที่ล่อแหลมในเรื่องเพศและการใช้ยาเสพติด หลังเธอขึ้นร้องเพลงของตัวเองไปก่อน โรบิน ธิก (Robin Thicke) ก็ขึ้นร่วมแสดงพร้อมกับเสนอเพลงฮิตของตัวเอง ‘Blurred Line’ ซึ่งไซรัสร่วมร้องด้วย โดยได้ฉีกชุดชั้นนอกของเธอออกให้เหลือเพียงชุดรัดรูปวาบหวิวกับการแสดงที่เข้าข่ายปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ เมื่อเธอใช้ถุงมือขนาดใหญ่ลูบเป้าของธิก กับการใช้ท่า ‘ทเวิร์ก’ ที่บริเวณอวัยวะเพศของธิก การแสดงของไซรัสและธิก เรียกได้ว่าแย่งซีนทั้งหมดของงานไป แทบไม่มีใครพูดถึงว่าใครวงไหนได้รับรางวัลอะไรบ้าง มีแต่ว่าคืนวันนั้น ไซรัสทำอะไรลงไป การแสดงของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะรายการของ MTV ถูกจัดเรตติ้งไว้ว่าเป็นรายการที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป แต่การแสดงของไซรัส (รวมถึงเลดี้กาก้าที่แต่งชุดวาบหวิวขึ้นเวทีเดียวกัน) ไม่น่าจะเหมาะสำหรับเด็กวัยนี้ “เป็นความสำเร็จอีกครั้งของ MTV ในการโฆษณาเนื้อหาทางเพศต่อเด็กโดยใช้อดีตดาราเด็ก และโฆษณาถุงยางอนามัย ขณะเดียวกันก็ปลอมเรตติ้งของรายการ อ้างว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเพียง 14 ปี นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้” แดน ไอเซ็ตต์ (Dan Isett) จาก Parents Television Council องค์กรผู้ปกครองที่คอยเฝ้าระวังรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมกล่าว (Hollywood Reporter) อย่างไรก็ดี การแสดงคราวนี้ถือว่าไซรัสทำได้ดีมากในแง่ของการเรียกร้องความสนใจ เพราะมันทำให้โซเชียลมีเดียถูกฟลัดไปด้วยเรื่องราวของเธอ เครือข่ายแฟนของเธอเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว งานเพลงชุดใหม่ของเธอก็ขายดิบขายดี และเป็นการสลัดภาพดาราเด็กวัยรุ่นตัวอย่างสมัยอยู่ดิสนีย์ได้สำเร็จ  ขณะเดียวกัน ‘การทเวิร์ก’ ที่แม้ตอนแรกจะถูกมองว่าเป็นท่าเต้นที่น่ารังเกียจก็ค่อย ๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ศิลปินหลายคนนิยมนำท่านี้มาปรับใช้ในงานแสดงของตนเอง ไม่ว่าหญิงหรือชาย และไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ศิลปินทั่วโลกล้วนปรับใช้ท่าเต้นนี้ (แม้ว่าในเมืองไทยเมื่อศิลปินชายเต้นท่านี้ในมิวสิกวิดีโอแล้วจะถูกมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศก็ตาม)