Milli Vanilli นักร้องดูโอที่ไม่ได้ร้องเพลงเอง แต่คว้า Grammy

Milli Vanilli นักร้องดูโอที่ไม่ได้ร้องเพลงเอง แต่คว้า Grammy
"ผมไม่เคยเห็นนักร้องที่ไหนจะแย่ได้ขนาดนี้ พวกเขาอยากร้องและอยากเขียนเพลง แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขาเอาแต่อยู่ดิสโกจนถึงตี 4 แล้วนอนทั้งวัน สิ่งที่พวกเขาได้ทำจริง ๆ คือการปาร์ตี คนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นทำเพลงดี ๆ ไม่ได้หรอก"  แฟรงก์ ฟาเรียน (Frank Farian) โปรดิวเซอร์มากความสามารถกล่าวถึงความสามารถของสองนักร้องแห่ง Milli Vanilli วงดูโอชื่อดังที่เขาปั้นมากับมือจนคว้ารางวัล Grammy ก่อนที่ความลับและการหลอกลวงจะเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ (LA Times) Milli Vanilli ในเบื้องหน้านั้นเป็นนักร้องป๊อปผิวดำสองคน คือ ร็อบ พิเลทัส (Rob Pilatus) และ ฟาบ มอร์แวน (Fab Morvan) สองศิลปินจากเยอรมนีและฝรั่งเศสตามลำดับ พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ในอัลบัมเปิดตัวปี 1988, All or Nothing ในฝั่งยุโรป ซึ่งถูกนำมาจัดหีบห่อใหม่ (repackaging) เพื่อจัดจำหน่ายในสหรัฐฯ ในปีต่อมา (1989) ภายใต้ชื่อ Girl You Know It's True ชื่อเดียวกับเพลงฮิตของพวกเขา  อัลบัมนี้มีเพลงติดชาร์ตอันดับ 1 ของบิลบอร์ดถึงสามเพลงคือ Girl You Know It's True, Baby Don't Forget My Number และ Blame It on the Rain ได้รับการรับรองว่าเป็นอัลบัมแพลตินัม 6 เท่า (คือขายได้มากกว่า 6 ล้านอัลบัม) จากสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของสหรัฐฯ  และยังมียอดจำหน่ายอีกหลายล้านอัลบัมทั่วโลก  ความสำเร็จของ Milli Vanilli ทำให้เขาเป็นวงดูโอที่โด่งดังที่สุดแห่งปี และได้รับรางวัล Grammy สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 1989 ไป แต่ความสำเร็จของ Milli Vanilli เป็นแค่ภาพลวงตา และการหลอกลวง เพราะความจริงทั้งร็อบและฟาบต่างมิได้มีส่วนกับการ "ร้องเพลง" ในอัลบัมของพวกเขาแม้แต่น้อย  ร็อบ เป็นลูกทหารอเมริกันผิวดำกับแม่ชาวเยอรมันผิวขาว เขาเติบโตในบ้านพักเด็กกำพร้า ก่อนมีครอบครัวบุญธรรมมารับไปอุปถัมภ์และเติบโตขึ้นมาในมิวนิก ซึ่งวัยเด็กเขาเคยถูกรังแกจากการเป็นเด็กผิวดำที่พบได้ยากในสังคม แต่เมื่อโตขึ้นวัฒนธรรมป๊อปของคนดำกลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เขาเลยกลายเป็นที่ยอมรับ ส่วนฟาบนั้นโตมาในปารีสโดยพ่อแม่มีรากเหง้าเดิมจากหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งได้มีโอกาสไปเจอกับร็อบในมิวนิกแล้วเกิดถูกชะตากัน จึงจับคู่กันทำการแสดงเต้นคัฟเวอร์ ถ่ายแบบ และร้องเพลง เมื่อ แฟรงก์ (ฟาเรียน) เห็นทั้งคู่เข้าก็ชวนให้มาทำอัลบัม และจับเซ็นสัญญาทำเพลงร่วมกันในปี 1988 อย่างไรก็ดี สิ่งที่แฟรงก์เห็นในตัวทั้งคู่ไม่ใช่ความสามารถในการร้องเพลง แต่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่สามารถนำมาขายได้ แฟรงก์นั้นเป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดังที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากกับ Boney M วงดิสโกที่โด่งดังมาก่อนหน้าในทศวรรษที่ 70s กับเพลงฮิตอย่าง Rasputin, Gotta Go Home หรือ Rivers of Babylon  แฟรงก์เป็นเยอรมันผิวขาวที่ชอบเพลงของคนดำ เติบโตมาในเมืองบริเวณชายแดนระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสใกล้กับค่ายทหารสหรัฐฯ และหากินด้วยการร้องเพลงในไนต์คลับให้กับทหารอเมริกันที่คิดถึงบ้าน เขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าทหารอเมริกันและไนต์คลับ แต่ไม่สามารถหากลุ่มคนฟังที่กว้างกว่านั้นได้ ค่ายเพลงท้องถิ่นก็ไม่ต้องการเพลงของเขา เมื่อวัยขึ้นเลขสามก็หันมาทำงานโปรดิวเซอร์ โดยยังคงไว้ซึ่งความชอบในดนตรีของคนดำ และได้ตั้งวง Boney M ขึ้นมา โดยฉากหน้ามีนักร้องนำเป็นคนผิวดำ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในช่วงทศวรรษที่ 70s สามารถทำยอดขายได้กว่า 50 ล้านชุด อัลบัมส่วนใหญ่แฟรงก์มีเครดิตเป็นเพียงนักร้องสมทบ บ้างก็ไม่มีชื่อเลย แต่ในความเป็นจริง แฟรงก์คือเสียงร้องนำ (ชาย) ของ Boney M และเขาก็ไม่ยอมให้อดีตสมาชิกวงเอาชื่อนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ๆ  และแฟรงก์ก็ได้นำสูตรสำเร็จของ Boney M กลับมาใช้อีกครั้งกับ Milli Vanilli แฟรงก์ทำเพลงของ Milli Vanilli เสร็จก่อนหน้าที่เขาจะได้เจอกับร็อบและฟาบ ฟาบกล่าวกับ Vlad TV ในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2017 ว่า การเดินเข้าไปหาแฟรงก์ พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะเจออะไร รู้แต่ว่าต้องการประสบความสำเร็จ ซึ่งเหมือนกับการเดินเข้าไปสู่กับดัก เพราะแฟรงก์ไม่ได้ต้องการนักร้องจริง ๆ แค่ใครสักคนที่จะมาเป็นฉากหน้าให้เหมือนกับที่เขาเคยทำมาก่อนกับ Boney M  เมื่อเริ่มออกทัวร์ ด้วยภาพลักษณ์ที่มีเสน่ห์สะดุดตากับทรงผมถักเดรดล็อกยาวเป็นเอกลักษณ์ เพลงที่ติดหู และความสามารถในการแสดงของทั้งคู่ ทำให้ Milli Vanilli ประสบความสำเร็จอย่างที่แฟรงก์เองก็คาดไม่ถึง  แต่แล้วความผิดพลาดเนื่องจากอาการแผ่นเสียงตกร่อง ก็เริ่มทำให้เกิดข้อสงสัยว่า Milli Vanilli ร้องเพลงเองหรือไม่ การขยับปากตามเสียงเพลงโดยไม่ได้เปล่งเสียงร้อง (lip-syncing) เป็นที่รู้ว่ามีการปฏิบัติกันอยู่มากมายอยู่แล้วในวงการ แต่ Milli Vanilli ไปไกลกว่านั้น เพราะศิลปินไม่ได้ออกเสียงร้องเลยแม้แต่ตอนบันทึกเสียง ซึ่งข้อสงสัยนี้ก็เริ่มมีมาตั้งแต่การที่เพลงของพวกเขาไม่มีสำเนียงแปร่งแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่ร็อบเป็นเยอรมัน และฟาบเป็นฝรั่งเศส และในคราวออกทัวร์กับ Club MTV ที่ บริสตอล คอนเนกติกัต สหรัฐฯ เมื่อ 21 กรกฎาคม 1989 ระหว่างการแสดง แผ่นบันทึกเสียงร้องของทั้งคู่เกิดตกร่องเล่นซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ร็อบตกใจจนเดินลงจากเวที แม้ว่ามันจะยังไม่มีผลต่อเส้นทางอาชีพในทันที แต่มันก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ (Mental Floss) ความกดดันที่ต้องเก็บงำความลับทำให้ทั้งคู่เรียกร้องขอร้องเพลงเองในอัลบัมต่อไป แต่แฟรงก์ไม่ยอม และตั้งโต๊ะแถลงข่าว ยอมรับว่า ทั้งคู่ไม่ใช่เจ้าของเสียงร้องที่แท้จริงของ Milli Vanilli โดยไม่คิดว่า สิ่งที่เขาทำไปเป็นเรื่องที่ผิดแม้แต่น้อย แฟรงก์บอกว่า Milli Vanilli คือ "โครงการหนึ่งที่มีคนสองคนทำงานในสตูดิโอ อีกสองคนอยู่บนเวที ภาคหนึ่งทำหน้าที่แสดงให้เห็น อีกภาคหนึ่งทำหน้าที่บันทึกเสียง โครงการแบบนี้เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งในตัวมันเอง และแฟน ๆ ต่างก็มีความสุขกับดนตรีของพวกเขา" (Washington Post) และในการให้สัมภาษณ์กับ LA Times แฟรงก์กล่าวว่า "แน่นอนสำหรับเด็ก ๆ มันเป็นเรื่องหนักทีเดียวที่ได้รู้ว่าฮีโรของพวกเขาไม่ได้อยู่บนเวที แต่อยู่ในห้องอัด ขณะเดียวกัน เด็ก ๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเบิ่งตาดู เราขายสิ่งที่เป็นภาพจินตนาการไม่ใช่ความเป็นจริง มันเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ที่จะต้องเรียนรู้" การหลอกลวงดังกล่าว ทำให้ Grammy ตัดสินใจยกเลิกรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมที่มอบให้กับ Milli Vanilli แม้ว่า แฟรงก์จะไม่เห็นด้วย เพราะเขาเชื่อว่า “เรา” (แฟรงก์และทีมงาน) สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว หรืออย่างน้อยศิลปินเจ้าของเสียงตัวจริงก็ควรได้รางวัลนั้นไป ขณะที่ฟาบบอกว่า พวกเขาอยากจะคืนรางวัลนี้ก่อนที่ทาง Grammy จะเรียกคืนเสียอีก ฝ่ายร็อบและฟาบออกมาแถลงว่า พวกเขาเองยังเป็นวัยรุ่นที่โหยหาชื่อเสียงความสำเร็จ เมื่อโปรดิวเซอร์เบอร์ใหญ่ยื่นโอกาสให้ก็ไม่รีรอรีบคว้าเอาไว้ โดยไม่รู้ว่าตัวเองจะถูกใช้งานอย่างไร แต่พวกเขาต่างก็มีแรงผลักดันที่จะเป็นนักร้องจริง ๆ ไม่ใช่แค่นักแสดง และเสียใจที่มีส่วนทำให้แฟน ๆ เข้าใจผิด "เราดีใจที่มันจบสักที" ร็อบกล่าว (The New York Times) ก่อนเสริมว่า "เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ จากเยอรมนีที่ตกเป็นเหยื่อ โดยต้องมารับบทเป็นนักต้มตุ๋น" หลังเรื่องฉาวเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ แฟรงก์พยายามใช้ชื่อของ Milli Vanilli ต่อไป โดยแปลงมาเป็น The Real Milli Vanilli เอานักร้องตัวจริงในชุดเดิม (Charles Shaw, John Davis และ Brad Howell ซึ่งแฟรงก์เห็นว่าเป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ที่ขาดภาพลักษณ์ที่เหมาะสำหรับการตลาด) มาทำอัลบัมใหม่ เสริมด้วยนักร้องหน้าใหม่อีก 2 คน เป็นหญิงหนึ่งชายหนึ่ง จัดบุคลิกให้คล้าย ๆ กับร็อบและฟาบมาถ่ายรูปขึ้นปก แต่มันถูกทำตลาดในวงแคบ ๆ ห่างไกลจากความสำเร็จของ Milli Vanilli ดั้งเดิม ฝ่ายร็อบและฟาบพยายามจะดิ้นรนอยู่ในเส้นทางดนตรีต่อไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาโดนดูถูกเย้ยหยัน ร็อบตกอยู่กับความเศร้าและผิดหวัง เขาพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง และจมอยู่กับยาเสพติด เคยต้องคดีทำร้ายร่างกาย ขณะที่ฟาบหลังผ่านการบำบัดแล้วก็เริ่มปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่หรือนิวนอร์มัลได้สำเร็จ ก่อนที่ แฟรงก์ ฟาบ และร็อบ จะกลับมาจับมือกันอีกครั้งในนาม Milli Vanilli ในปี 1997  แต่ระหว่างที่พวกเขาเตรียมตัวที่จะออกทัวร์โปรโมตอัลบัมใหม่ ร็อบก็เสียชีวิตลงในวัยเพียง 32 ปี (1998) เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาด ทำให้ต้องพับโครงการไป ส่วนฟาบยังคงทำงานดนตรีต่อไปในฐานะศิลปินเดี่ยว และนักพูดเล่าประสบการณ์ชีวิตที่หลายคนไม่เคยเผชิญ