มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด

มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด
“ตอนเด็ก ๆ เราไม่ค่อยพูด แม็กซ์เย็บเข้าไปในเนื้อตัวเองก็ไม่มีใครช่วย ทำแผลตัวเอง ทุกวันนี้แม่กับพ่อก็ยังไม่รู้เลย แล้วพอไปเรียนที่อเมริกา อเมริกาเปลี่ยนคน” ‘มิน - พีชญา วัฒนามนตรี’ เล่าถึงวัยเด็กอย่างสดใส ถึงแม้ในคราวนั้นนิ้วของเธอจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และชีวิตในวัยเด็กต้องตอกบัตรเข้าทำงาน ไม่เหมือนเพื่อนในวัยเดียวกันที่ได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน แต่จากคำสอนของพ่อ ‘สุพัฒน์ วัฒนามนตรี’ ที่ไม่ให้ลูกสาวยอมแพ้อะไรโดยง่าย ประกอบกับการสอนหลักธุรกิจที่มินจำฝังใจว่า หาก ‘หยุด’ เพียงหนึ่งวัน คู่แข่งก็จะก้าวนำเราไปข้างหน้า ทำให้มินเลือกที่จะไขว่คว้าทุกโอกาสและทำทุกงานที่ได้รับมาอย่างเต็มที่ The People สัมภาษณ์มิน - พีชญา วัฒนามนตรี เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโลกที่ไม่มีวันหยุด รวมถึงการไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนเด็กขี้อายให้เข้าสู่วงการบันเทิง และกลายเป็นผู้ที่พร้อมช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวและสังคมอย่างเต็มกำลัง มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด ชีวิตในวัยเด็กที่ต้องคลุกคลีกับธุรกิจที่บ้าน เท่าที่มินจำความได้ 7 ขวบในขณะที่เพื่อนโดดยาง เล่นหมากเก็บ ทุกซัมเมอร์ มินจะต้องถูกสั่งให้ตื่นเช้า ตอกบัตร แล้วก็เข้างานที่บริษัทตัวเอง เพื่อที่จะเรียนรู้งานทั้งหมดในบริษัทที่ทุกคนทำได้ ป๊าจะสอนแล้วเราก็ร้องไห้ เราไม่เข้าใจว่า ทำไมฉัน 7 ขวบ ตัวเตี้ยแค่นี้เอง ทำไมฉันจะต้องตื่นมาตอกบัตรทำงาน เราไม่เข้าใจ เราก็งอแงมาก ความรู้สึกตอนนั้นคือเกลียดห้องเย็น คือเวลาป๊าเรียกคุย มินจะเรียกว่าห้องเย็น เราก็จะนั่งนิ่ง ๆ แล้วน้ำตาไหล ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง แล้วก็รู้สึกโดนพ่อว่าตลอดเวลาว่าไม่ดีพอ ต้องฝึกตัวเอง ต้องขยันกว่านี้ ถ้าเราหยุดขยันคนอื่นจะแซงเรา คือการทำธุรกิจ เราหยุดหนึ่งวัน คู่แข่งก็พัฒนาไปแล้ว นั่นทำให้ชีวิตของมินไม่มีวันหยุดตั้งแต่สมัยเด็ก? ในโลกของมินคือไม่ได้มีวันหยุด อยากทำก็ทำ อยากหยุดก็หยุด แล้วการเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องทำได้ทุก ๆ อย่าง เพื่อที่จะเข้าใจคนทำงานได้ว่า เขาผ่านอะไร เขาติดปัญหาอะไร แล้วลงไปช่วยแก้ไขได้อย่างแท้จริง ก็เลยเป็นที่มาว่า ตั้งแต่ 7 ขวบ ต้องตอกบัตรทำงานแล้ว แล้วก็ไปทำทุกแผนก ตั้งแต่แยกตะปู กี่หุน น็อตกี่ คือบ้านมินขายวัสดุก่อสร้าง แล้วก็เป็นห้าง ก็จะมีกรอกแล้วก็ติดบาร์โค้ด จัดชั้นวางของ อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวัยเด็กที่ไม่มีวันหยุด? แม็กซ์เย็บเข้าไปในเนื้อตัวเอง ก็ไม่มีใครช่วยด้วย เพราะอยู่ต่อหน้าพี่ ๆ พนักงานที่บริษัทเราก็จะแบบ เดี๋ยวมินขอไปห้องน้ำก่อน แล้วเราก็ อุ้ย แม็กซ์เย็บเข้าไป ตกใจมาก ก็ทำแผลตัวเอง ทุกวันนี้แม่กับพ่อก็ยังไม่รู้เลย เพราะว่ามันเป็นความจำวัยเด็กที่เราผ่านมันมาได้ตลอด ก็คิดว่า ตรงนั้นมันทำให้เราได้รับคำสอนจากคุณพ่อมาโดยปริยาย ในเรื่องของการเป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วก็เอามาใช้ในชีวิตประจำวันว่า อย่ากลัวที่จะทำ แต่จงกลัวที่จะไม่ทำอะไรมากกว่า การที่เราอยู่ใน comfort zone (พื้นที่ที่อยู่แล้วสบายใจ) แล้วไม่ทำอะไรเลยอย่างนี้ อันนั้นน่ะน่ากลัว ทำไมบาดเจ็บแต่ไม่ยอมบอกพ่อแม่? เราจะเป็นเด็กขี้อายมาก ตอนเด็ก ๆ คือ introvert (บุคลิกเก็บตัว มีโลกส่วนตัวสูง) อย่ามาคุยกับฉัน หลบตาคน อยู่โรงเรียนก็นั่งหลังห้อง อย่าคุยกับฉัน อย่ามาใกล้ฉัน กลัวคนตลอดเวลา แต่ก่อนขึ้นเวทีพูดหน้าชั้นเป็นลม โรคที่เขาเรียก มือจีบ ออกซิเจนในเลือดมันเยอะเกินไป เราหายใจเร็ว แล้วก็ช็อกไปเลย วันนึงกลายมาเป็นนางเอก พ่อแม่ก็งง แต่คิดว่าน่าจะเกิดจากการที่ไปเรียนอเมริกา มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด อเมริกาเปลี่ยนชีวิตอย่างไรบ้าง? พอมีพ่อแม่คอยดูแลตลอด บางทีเราไม่สามารถที่จะค้นหาตัวเองได้ เพราะเราอยู่ใน comfort zone ตลอด ทำไมเราต้องพยายาม ในเมื่อเรามีพ่อแม่คอยดูแลทุกอย่างอยู่แล้ว เราก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร มีแก๊งเพื่อนสนิทอยู่ประมาณ 10 คน เพื่อนทุกคนรู้เกือบหมดเลยว่าตัวเองอยากเป็นอะไร มีคนนึงอยากเป็นทนายความ มีคนนึงอยากเป็นผู้พิพากษา คนนึงอยากเป็นหมอ แล้วเขาก็ได้เป็นจริง ๆ ในขณะที่พอเราจะเอนทรานซ์ เราไม่รู้เลยว่าเราอยากเป็นอะไร แต่โชคดีที่ตัดสินใจไปเรียนที่อเมริกา  พอไปเรียนที่อเมริกา มันเหมือนเราอยู่คนเดียว ไม่มีพ่อแม่ แล้วอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ด้วย เราต้องพึ่งพาตัวเองครั้งแรกในชีวิต ทำความสะอาดห้อง ซักผ้าเอง เรากลายเป็นอีกคนเลย เรากลายเป็นคนที่เข้าใจอะไรมากขึ้น เข้าใจผู้คน เข้าใจตัวเอง  การไปเรียนอเมริกาของมินคือเปิดโลกครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต แล้วก็เป็นครั้งแรกด้วย มันกระหายที่จะเรียนรู้ กลับมามินเป็นอีกคน ไม่มีมินที่ขี้อาย เรียบร้อยอีกแล้ว กลายเป็นคนช่างถาม กลายเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบฟัง  สมมติขึ้นเครื่องสมัยก่อนก็จะนั่งนิ่ง ๆ ไม่คุยกับใคร แต่พอกลับมาจากอเมริกา เราไม่รู้เรานั่งกับใคร เราก็หันไปถามว่า ทำงานอะไรคะ เขาก็ อ๋อ เป็นหมอฟัน โอ้ หมอฟันหรอ แล้วหมอฟันมันทำเงินยังไง เราก็เริ่มกลายเป็นคนที่มนุษย์สัมพันธ์ดีขึ้น ไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ แล้ว ความแตกต่างระหว่างชีวิตในอเมริกาและประเทศไทย สิ่งที่มินคิดว่าต่างคือ ตอนที่อยู่ High School เราเห็นเรื่องความแตกต่างของระบบการศึกษา จำได้ว่า ถ้ากริ่งแรกดัง เด็กอเมริกันก็จะลุกออกจากห้องทันที โดยที่ไม่สนใจใยดีครูบาอาจารย์ ไม่เหมือนประเทศไทย ครูต้องบอกว่าเออเลิกเรียนนะ แล้วก็ขอบคุณค่ะคุณครูแล้วก็ออก แต่ว่าที่นู่นก็คือ พอกริ่งดั’ ทุกคนเดินออกเลย มันไม่ได้มีศักดิ์อะไรเยอะ เสร็จแล้วก็ภายใน 5 นาที จะต้องเข้าคลาสอีกคลาสนึง เราจะต้องเอาหนังสือ ซึ่งหนังสืออเมริกาคือหนามาก แต่ละวิชาไม่ต้องซื้อ เขามีให้เลย คลาสนึงมีคนน้อยแค่ 10 คน 12 คนเอง แล้วต่างมากตรงไหนรู้ไหม อยู่ประเทศไทย เวลาครูบอกมีคำถามไหม นักเรียนทุกคนก็จะหลบตา แบบว่าอย่าถามฉัน ครูอย่าสบตาฉัน แต่อยู่อเมริกา มินเห็นวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างนึงก็คือ เด็กแย่งกันพูด วันแรกที่ไปคือนั่งตัวแข็ง ครูถาม any questions, anybody? ทุกคนก็บอกอาจารย์ผมไม่เข้าใจว่าทำไมงี้ คือเหมือนมหาวิทยาลัยในคราบเด็กมัธยม ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนถาม ทุกคนมีปัญหาเยอะ ตอนหลัง ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องถาม เพราะว่าแปลกแยก เหมือนกับว่าวัฒนธรรมมันพาเราไปโดยปริยาย ทุกคนยกมือถามหมด แล้วอาจารย์ก็ถามว่า พีชญาคุณมีคำถามไหม แรก ๆ เราก็ไม่มี หลัง ๆ เราก็ถาม  เราเริ่มที่จะนอกกรอบมากขึ้น มินว่ามันเหมือนกับอนุญาตให้คนสร้างสรรค์ แล้วอาจารย์ก็ไม่มีสิทธิ์บอกว่า เด็กผิดด้วย ทุกคนอยากจะพูด อยากจะถามอะไร อาจารย์ก็อธิบาย มีหน้าที่อธิบายก็อธิบาย มันก็เลยเกิดความสร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ บางทีเราเจอคำถามเพื่อน เราเซอร์ไพรส์มากเลยนะว่าเขาคิดได้ยังไง  จากที่อเมริกา เราก็รู้สึกว่าเราเริ่มค้นพบตัวเองว่า 1. เราชอบภาษา 2. เราชอบวัฒนธรรม 3. เราชอบธุรกิจ มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด พอกลับมาที่ไทยจึงรู้ว่าอยากเดินไปทางไหนต่อ?  พอกลับมาก็เป็นจุดนึงที่ค่อนข้างเข้าใจแล้วว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ฉันอยากมีเงิน มันก็จะไปลงที่การเป็นเจ้าของธุรกิจ เราก็เลยเข้า ABAC เป็น Business College ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยตรง แล้วพอเข้าประมาณปีหนึ่งก็เล่นละครเรื่องแรก โชคดีที่มันดังขึ้นมา จากจะทำธุรกิจก็เลยเริ่มทำงานในวงการก่อน  เรามีความคิดที่ว่าอยากได้ตังค์ คือสำหรับพีชญาอะไรที่ได้ตังค์ ได้หมด ตอนแรกจะประกวด Miss Teen เพราะว่าได้ตังค์ แต่รู้สึกว่าอีกทาง เราได้ช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ด้วย โลกธุรกิจและโลกบันเทิงถูกเชื่อมต่อในตัวของมิน มินคิดว่าการเป็นนักแสดงจะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ การเป็นนักธุรกิจก็ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการพลิกแพลงแก้ปัญหาในแต่ละวัน แล้วก็กล้าที่จะเติบโตพัฒนาในการทั้งบริหารคน พัฒนาคน รับข้อผิดพลาดของคน ให้อภัยคน ถ้าวันนึงย้อนกลับไปแล้วถามตัวเองว่า ถ้าไม่ได้มาเป็นนักแสดงที่อยู่ในวงการ ฉันจะพลาดอะไรบ้าง สิ่งที่ได้ก็คือพลาดเยอะมากนะ พลาดการเรียนรู้ในเรื่องคน คือผู้คนน่ะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราจะรักความไม่สมบูรณ์แบบของคนได้ยังไง เราไม่รู้ว่า ถ้าเราเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว เราจะได้ความสวยงามด้านนี้มาไหม หรือว่าความสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่วงการเรามี  ธุรกิจมันนับวัด KPI แต่ในวงการ บางทีเราก็นับวัดยากเหมือนกัน เพราะจริง ๆ เป้าหมายเราคือสร้างความสุขให้คน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ละครเรื่องนี้จะดังรึเปล่า แต่สุดท้ายมันเกิดจากที่เราสร้างด้วยหัวใจที่อยากจะทำให้คนมีความสุขก่อน แล้วถ้ามันดัง อันนั้นเป็นของแถมแล้ว มินอยากให้คนจดจำในฐานะนักแสดงหรือนักธุรกิจ? มินทำธุรกิจที่บ้านมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ช่วงตั้งแต่โควิด-19 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ทำมากขึ้น จนมีโอกาสได้เปิดบริษัทของตัวเอง ตอนนี้ก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ศึกษาการลงทุนทุกรูปแบบ ศึกษาพวกนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ Bitcoin ลงทุนในหุ้น มินจะไม่ใช่สายเล่นหุ้นแบบเล่นเร็ว มินจะเป็นหุ้นแบบวางยาว ๆ เหมือนใช้คำว่า ออมเงินในหุ้นมากกว่า แล้วก็ซื้อที่ดินบริหาร ซื้อคอนโดมาแต่งแล้วขาย คนจะชอบมองภาพว่าบ้านมินทำธุรกิจอยู่แล้ว เราก็เลยอยากให้คน จำเราว่าเราเป็นนักแสดงมากกว่า มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด โควิด-19 แพร่ระบาดที่ผ่านมา มินได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้าง? ก่อนอื่นต้องให้เครดิตทีมก่อน เพราะบ้านมินจะทำงานเป็นทีม ทุกอย่าจะทำงานแบบระดมสมอง นั่งคุยกัน ผู้จัดการมินเก่งมาก เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มันเริ่มจากเราบริจาคเงินก่อน แล้วเราเริ่มมีคำถามว่า เงินไปถึงคนลำบากจริงไหม ถ้างั้นเราลองนอกกรอบ สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น เราซื้อของแล้วเอาไปแจก แล้วพอเราซื้อของไปแจก เราก็พบอีกว่า แม่ค้าเองก็ลำบาก ไม่มีคนไปซื้อ เราก็เลยเริ่มซื้อและเอาไปแจก คือใช้เงินของเราให้เกิดประโยชน์ ได้ช่วยทั้งแม่ค้า ได้ช่วยทั้งคนลำบาก  พอเราได้อย่างงี้ก็จะมีเสียงตอบรับมาว่า แต่บ้านเรามีคนแก่ เราต้องการแพมเพิร์ส หรือบ้านที่มีเด็กก็จะต้องการนม บางทีเราเอาของที่มันเจาะจงไปให้เขา แล้วเขาไม่ได้ใช้ เราก็เลยค้นพบว่า เราจะเกิดเป็น Minimart เป็นรถที่ทุกคนมาหยิบฟรี หยิบได้คนละกี่ชิ้นก็ว่าไป ตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงคนอายุสูงวัย เราจะเริ่มทำก่อน คือมินชอบที่ทีมเราพูดอะไรกันก็ได้ แล้วก็มาดูกันอีกทีว่าเป็นยังไง เราจะไม่รอพร้อม เราจะชอบทำก่อน แล้วพอเจออะไรเราก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ สนุกดี ในยุคใหม่ที่ผู้หญิงยืนหยัดทำงานด้วยตัวเองได้ มินคิดว่าอะไรคือ 3 สิ่งที่ผู้หญิงยุคใหม่ควรมี สิ่งแรกที่ต้องมีคือความกล้าหาญ ความกล้าหาญที่จะพึ่งพาตัวเอง แล้วก็ยืนบนขาตัวเองได้ มินจะไม่ค่อยชอบตอนที่ผู้หญิงบางคนบอกว่า งานนี้ต้องเป็นผู้ชายทำ ถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์ที่เหมือนผู้ชาย บางทีคุณจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่ผู้ชายทำได้เช่นกัน โดยที่ไม่มีกรอบความคิดว่า เพราะฉันเป็นผู้หญิงฉันทำอย่างนั้นไม่ได้ ผู้หญิงก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะออกจาก comfort zone ข้องสองที่มินว่าผู้หญิงต้องมีคือความมั่นใจ ความมั่นใจว่าเราสวย เราเก่ง ไม่ว่าเราจะผิวดำ ผิวขาว มีสิว อ้วน ผอม สวย เราคือเราในแบบที่เราอยากจะเป็น คุณอยากศัลยกรรมแล้วคุณชอบหน้าคุณแบบนั้น ก็ทำสิ  มินว่าความมั่นใจมันเป็นสิ่งที่หายากนะทุกวันนี้ บางคนพูดเหมือนมั่น แต่จริง ๆ ข้างในคือไม่มั่นใจ จะต้องคอยเสิร์ฟคนอื่นตลอด คอยพิสูจน์ตัวเองตลอดว่าฉันดีพอ มินจะบอกเลย คุณสวยแล้ว คุณเก่งแล้ว คุณดีแล้ว ทำอะไรที่คุณมีความสุข อย่าไปเสียเวลาชีวิตอันเลอค่าของคุณในการพิสูจน์ตัวเองกับใครก็ไม่รู้ที่ไม่ได้รักคุณเลย  สุดท้ายมินว่าสิ่งที่ผู้หญิงต้องมีในยุคนี้คือ ความเข้มแข็ง ผู้หญิงขึ้นชื่อว่าเป็นเพศที่อดทนอยู่แล้ว แต่ความเข้มแข็งต่างกับความอดทน ความเข้มแข็งมันคือการที่เราสามารถผ่านเรื่องร้าย ๆ ไปได้ และให้อภัยคนอื่นได้ เพราะว่าอย่าลืมว่า การที่เราอยู่ในสังคม ผู้คนพร้อมที่จะผิดพลาด แต่การที่เราเข้มแข็ง เราจะลุกขึ้นยืน แล้วสู้กับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเราได้ มินอยากให้เราเป็นคนที่ดีที่สุดในแบบของเรา เขาเรียกว่า “The best version of you” การช่วยเหลือสังคมคือคำขอบคุณจากใจ หลักการคือขอบคุณทุกอย่างที่เข้ามา แล้วก็พอเราพัฒนาทั้งธุรกิจ ทั้งการเป็นนักแสดง สุดท้ายพอเราจะรู้สึกขอบคุณกับชีวิตที่เราได้ เรามีผู้คนมากมายในประเทศที่รักเรา เรามีงาน เรามีเงิน ในขณะที่คนไม่มีข้าวจะกิน มันกลายเป็นความรู้สึกที่เราอยากตอบแทนโดยที่เราไม่ได้อยากได้อะไร พอเรารู้สึกขอบคุณ มินคิดว่าทุกอย่างจะออกมาโดยธรรมชาติ มิน - พีชญา วัฒนามนตรี: จากเด็กหญิงขี้อาย สู่นักแสดงและนักธุรกิจที่โลกของเธอแทบจะไม่มีวันหยุด เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม