มิวเซีย ปราด้า: ทายาทรุ่นที่ 3 ของ Prada ผู้แหกขนบตระกูลด้วยผ้าไนลอน

มิวเซีย ปราด้า: ทายาทรุ่นที่ 3 ของ Prada ผู้แหกขนบตระกูลด้วยผ้าไนลอน
“สำหรับฉัน ไนลอนดูน่าสนใจมากกว่าผ้ากูตูร์” คำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดของมิวเซีย ปราด้า (Miuccia Prada) CEO และดีไซเนอร์หญิงผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่น และสามารถพาแบรนด์ Prada ไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น จากเดิมที่เป็นเพียงแบรนด์เครื่องหนังทั่วไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมิวเซียจะดำรงตำแหน่งเป็น CEO และดีไซเนอร์ของแบรนด์ Prada แต่เธอก็ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งโดยแท้จริง แต่เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่เกือบจะไม่ได้สืบทอดธุรกิจต่อจากตระกูล Prada  ผู้หญิงก็ทำธุรกิจได้ ในช่วงเริ่มแรก Prada ไม่ใช่แบรนด์เสื้อผ้าร่วมสมัยอย่างที่เราเข้าใจ เพราะมันถูกเปิดตัวในปี 1917 ด้วยฐานะของร้านขายเครื่องหนัง ที่ถึงแม้ว่าจะมีเสื้อผ้าของผู้หญิงวางขาย แต่ก็เต็มไปด้วยกลิ่นอายของผู้ชายอย่างเข้มข้น  เนื่องจากมาริโอ ปราด้า (Mario Prada) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของเธอที่เป็นคนก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมีความเชื่ออย่างสุดโต่งว่า ‘ผู้หญิงไม่ควรยุ่งกับธุรกิจ’ ดังนั้นในการดำเนินการทุกอย่างจึงเป็นการตัดสินใจระหว่างมาริโอและน้องชายอีกคนเท่านั้น รวมไปถึงการวาดฝันให้ลูกชายของตัวเองรับช่วงต่อทางธุรกิจ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อให้กิจการสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ด้วยการส่งไม้ต่อให้กลับลุยซา ปราด้า (Luisa Prada) ที่เป็นลูกสาว แทนที่จะเป็นลูกชายอย่างที่ตั้งใจ เนื่องจากลูกชายเพียงคนเดียวนั้นไม่มีความสนใจในธุรกิจเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งในปี 1978 กิจการ Prada ก็ถูกส่งต่อมายังมือของมิวเซีย ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล และเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ในเส้นทางแฟชั่นของ Prada มิวเซีย เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1949 เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ในครอบครัวที่ทำธุรกิจเครื่องหนังมาตั้งแต่เด็ก แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอให้ความสนใจกับเรื่องธุรกิจจนกระทั่งสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อในตอนแรก เพราะเมื่อเธอโตขึ้น เธอได้เลือกเรียนต่อปริญญาเอกในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิลาน แทนการเรียนบริหารอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนสังคมในเรื่องของสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการเป็นนักแสดงละครใบ้ที่ Piccolo Teatro นานถึง 5 ปี  ก่อนที่จะกลับมาดูแลกิจการครอบครัวในขณะที่กิจการเริ่มซบเซาลง จนกระทั่งในปี 1978 เธอก็พบกับ ปาตรีซิโอ เบอร์เตร์รี่ (Patrizio Bertelli) เจ้าของโรงงานผลิตหนัง หุ้นส่วนคนสำคัญของ Prada ที่ในท้ายที่สุดได้กลายเป็นหุ้นส่วนชีวิตคู่ของเธอที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันทำให้เธอประสบความสำเร็จในเวลาถัดมา   ไนลอน ทางเลือกใหม่ของแบรนด์เครื่องหนัง ในช่วงแรกของการรับช่วงต่อกิจการ มิวเซียยังคงเดินทางในเส้นทางของเครื่องหนังตามเดิม จนกระทั่งในปี 1979 ที่เธอเริ่มมองหาอะไรใหม่ ๆ ที่เธอสนใจ รวมไปถึงสิ่งที่จะสามารถกอบกู้ธุรกิจขึ้นมาได้ และเธอก็พบเข้ากับ ไนลอน (Nylon) เส้นใยพอลิเมอร์สังเคราะห์ ที่ให้ความแข็งแรงทนทานกว่าผ้าชนิดอื่น ๆ ในระหว่างการเยี่ยมชมโรงงานผลิตเต็นท์และร่มชูชีพของทหารแห่งหนึ่ง การเยี่ยมชมในวันนั้นทำให้มิวเซียเกิดความหลงใหลในเส้นใยไนลอนมากกว่าการใช้ผ้าในรูปแบบเดิม ๆ จนกระทั่งตัดสินใจใช้มันเพื่อเป็นวัสดุในการผลิตกระเป๋า Pocono หรือที่รู้จักกันในนาม Nylon Bags ที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน เรียบง่าย และใช้ได้จริง ไม่หวือหวาเหมือนแฟชั่นในช่วงนั้น ด้วยไนลอนเกรดทหารชั้นดี แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกคนทั่วไปยังไม่ให้ความสนใจ Nylon Bags ที่มิวเซียนำเสนอมากนัก  แต่ความกล้าที่จะแตกต่าง และการยืนหยัดที่จะใช้ไนลอนของเธอก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เธอตัดสินใจใช้ไนลอนต่อมาเรื่อย ๆ จนปี 1985 นี้เองที่ทำให้ Prada ก้าวขึ้นสู่ความสนใจของผู้คน จนกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกได้ในที่สุด เธอเริ่มนำไนลอนมาใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หมวก หรือแม้กระทั่งรองเท้า จนกลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของแบรนด์ที่ยากจะมีใครเหมือน พา Prada ก้าวขึ้นสู่แบรนด์ระดับโลกได้ในปี 1992 และคงความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน   รี(ไซเคิล)ไนลอน รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม เป็นเวลากว่า 42 ปีแล้วที่ Prada สร้างชื่อเสียงจากการใช้ไนลอนในการผลิต แต่ในปัจจุบันที่โลกของเราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มจึงเริ่มมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถส่งเสริมสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการใช้เส้นใยสังเคราะห์อย่างไนลอน ไม่เพียงแต่ผู้บริโภค แต่ทาง Prada เองก็ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เช่นนั้น จึงเกิดเป็นคอลเลกชัน Prada Re-Nylon ในปี 2019 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Prada และผู้ผลิตเส้นด้ายสิ่งทอ Aquafil บริษัทสัญชาติอิตาลีที่มีความเชี่ยวชาญกว่าครึ่งศตวรรษในการสร้างเส้นใยสังเคราะห์  ด้วยการวิจัยและพัฒนาไนลอนในรูปแบบใหม่ อย่าง ECONYL® จากการรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งจากแหล่งฝังกลบและมหาสมุทรทั่วโลก รวมไปถึงสามารถรีไซเคิลใหม่ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพของวัสดุ และที่มีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนได้มากถึง 90% เมื่อเทียบกับการใช้เส้นด้ายไนลอนแบบเดิม  โดยความตั้งใจของ Prada และมิวเซียคือการเปลี่ยนไนลอนที่ใช้ทั้งหมด จากแบบเดิมให้กลายเป็น ECONYL® ทั้งหมดภายในปี 2021 นี้ ความกล้าที่จะแตกต่าง และความมุ่งมั่นในการปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงของ Prada นี่เองที่ทำให้แบรนด์ยังสามารถครองใจผู้คนไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม   ภาพ: https://www.pradagroup.com/en/group/history.html    อ้างอิง: https://www.prada.com/at/en/pradasphere/special-projects/2020/prada-re-nylon.html https://www.pradagroup.com/en/sustainability/environment-csr/prada-re-nylon.html https://www.pradagroup.com/en/perspectives/stories/sezione-know-how/prada-nylon.html https://www.minniemuse.com/articles/musings/pradas-first-nylon-backpack https://www.biography.com/fashion-designer/miuccia-prada