มิยุ โคจิมะ: คนทำความสะอาดห้อง ‘โคโดกูฉิ’ ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านความตายอย่างโดดเดี่ยว

มิยุ โคจิมะ: คนทำความสะอาดห้อง ‘โคโดกูฉิ’ ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านความตายอย่างโดดเดี่ยว
“แต่ละห้องมีเรื่องราวของมันเอง”   โคโดกูฉิ ‘โคโดกูฉิ’ หรือ ‘การเสียชีวิตคนเดียว’ (lonely death) เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่กล่าวถึงปรากฏการณ์การเสียชีวิตของคนญี่ปุ่นภายในที่พักของตนเองโดยไม่มีใครทราบว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้ว และใช้เวลานาน อาจเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี กว่าจะมีคนทราบถึงการเสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งนอกจากคำว่าโคโดกูฉิ ยังมีคำอื่น ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน อย่าง ‘โคริตสึฉิ’ ที่แปลว่าการแยกตัวเสียชีวิต (isolation death) และ ‘ดกเกียวฉิ’ ที่แปลว่าการเสียชีวิตเพียงลำพัง (live alone death) เงื่อนไขสำคัญของการเสียชีวิตคนเดียวแบบโคโดกูฉิคือ ผู้เสียชีวิตจะต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังภายใต้ภาวะโดดเดี่ยวจากสังคม และขาดการติดต่อทางสังคมรูปแบบอื่น ๆ ที่มิได้เกิดจากการถูกบังคับให้โดดเดี่ยวหรือถูกจับกุมคุมขัง โดยการเสียชีวิตจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ หรือจากโรคประจำตัว หรืออุบัติเหตุก็ได้ แต่จะไม่นับรวมการฆ่าตัวตายในบ้านหรือห้องพักว่าเป็นการเสียชีวิตในลักษณะนี้ (Nakazawa et al., 2021) ประเทศญี่ปุ่นออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเสียชีวิตคนเดียวครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 2000 และให้ความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อพบอัตราการเสียชีวิตคนเดียวโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราผู้อยู่อาศัยคนเดียวในญี่ปุ่นตามสถิติปี ค.ศ. 2010 - 2015 ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน จนรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2040 จะมีประชากรที่อาศัยคนเดียวคิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง โอกาสที่จะเกิดการเสียชีวิตคนเดียวก็จะเพิ่มตามไปด้วย สำหรับสังคมญี่ปุ่น การเสียชีวิตคนเดียวถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสลดใจ และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างชีวิตกับความตายที่ไม่มีเกียรติ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของสังคมรอบตัวผู้เสียชีวิต ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชนอีกด้วย ขณะเดียวกัน การเน่าเปื่อยของร่างผู้เสียชีวิตภายในที่พักอาศัยเพราะไม่ถูกค้นพบเป็นเวลานาน ก็ส่งผลกระทบด้านสุขอนามัยและธุรกิจของที่อยู่อาศัยในละแวกนั้น รวมถึงทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าจดจำและสร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้แก่ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือผู้เป็นที่รักของผู้เสียชีวิตด้วย เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ พยายามผสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิการท้องถิ่น และหน่วยงานจัดหาสาธารณูปโภค ในการจัดโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนในการดูแลและติดตามกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตคนเดียวอย่างใกล้ชิด แต่มาตรการนี้ใช้ได้ผลแค่ในเขตชนบทที่คนในชุมชนเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเท่านั้น แต่ให้ผลตรงข้ามในเขตเมืองที่ระยะห่างทางสังคมสูง ปรากฏการณ์การเสียชีวิตคนเดียวทำให้เกิดบริษัทรับจ้างทำความสะอาดที่พักของผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และนำพาเราไปพบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ตั้งใจเลือกทางเดินในสายงานนี้เพื่อช่วยให้สังคมญี่ปุ่นตระหนักในการเสียชีวิตคนเดียว และให้ความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์กับคนที่รักมากขึ้น   จากความตายของพ่อสู่ความฝันที่จะช่วยผู้เสียชีวิตคนเดียว หญิงสาวคนนี้คือ มิยุ โคจิมะ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1992 ในจังหวัดไซตามะ เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อติดสุราอย่างหนัก ว่างงาน และมักจะพึ่งพิงเงินของแม่เธอเสมอ วันหนึ่ง เธอในวัย 17 ปีจับได้ว่าพ่อพยายามขโมยเงินแม่ เธอจึงเข้าขัดขวางจนเกิดการทำร้ายร่างกายกัน เหตุการณ์นั้นกลายเป็นจุดแตกหักให้แม่และโคจิมะย้ายไปอาศัยกับยาย และปล่อยให้พ่อของเธออยู่คนเดียว ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา พ่อของเธอเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก แม่ของเธอที่กลับไปหาพ่อเพื่อตกลงการหย่าในวันนั้นพอดี ได้พบร่างของพ่อของเธอที่นอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นและนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่ก็สายเกินไป เขาเสียชีวิตในวันเดียวกัน ก่อนที่จะสิ้นลม โคจิมะทันได้ไปเยี่ยมพ่อที่อยู่ในอาการโคม่าที่โรงพยาบาล เธอกับแม่ได้พูดคุยกับพ่อและพบว่าพ่อน้ำตาไหลออกมาทั้งที่ไม่รู้สึกตัว นั่นทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามต่อเธอว่า น้ำตานั้นมันมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ รวมถึงคำถามอื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมายที่เธอไม่สามารถหาคำตอบร่วมกันกับพ่อได้อีกต่อไป หลังพ่อจากไป โคจิมะจมอยู่กับความเสียใจที่ทำไม่ดีและเย็นชากับพ่อ และความเสียดายที่ครอบครัวของเธอสื่อสารและทำความเข้าใจกันน้อยเกินไป ที่สำคัญ ความตายของพ่อทำให้โคจิมะเข้าใจความรู้สึกของครอบครัวที่มีผู้ที่รักจากไปอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะหากวันนั้นแม่ของเธอไม่กลับไปหาพ่อ พ่อของเธอก็อาจเป็นอีกรายที่เสียชีวิตคนเดียวโดยไม่มีใครทราบ และใช้เวลานานกว่าจะพบศพก็เป็นได้ เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธออยากลุกขึ้นมาช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน หลังเรียนจบ โคจิมะทำงานในที่ทำการไปรษณีย์ในไซตามะระยะสั้น ก่อนตัดสินใจลาออกและมุ่งหน้าสู่กรุงโตเกียวเพื่อเริ่มงานนักทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียว ในช่วงแรก โคจิมะถูกแม่และคู่รักคัดค้านอย่างหนัก โดยแม่ของเธอไม่ต้องการให้เธอยุ่งเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวข้องกับความตาย/คนตาย และอยากให้ทำงานที่ผู้หญิง ‘ธรรมดา ๆ’ เขาทำกัน ส่วนคู่รักของเธอก็กลัวว่าเธอจะต้องคำสาปหรือถูกวิญญาณหลอกหลอนจากการทำงานนี้ แต่เธอก็อธิบายให้ทั้งสองเข้าใจและยอมรับว่างานนี้เป็นเพียงงานอีกประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เลวร้ายหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด และเธอก็พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนี้ด้วยตัวเธอแต่เพียงผู้เดียว มิยุ โคจิมะ: คนทำความสะอาดห้อง ‘โคโดกูฉิ’ ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านความตายอย่างโดดเดี่ยว บริษัททูดู กรุงโตเกียว และการเสียชีวิตคนเดียวในเมืองหลวง ปี ค.ศ. 2012 โคจิมะได้เริ่มงานใหม่ตามที่เธอตั้งใจไว้กับบริษัททูดู (ToDo Company) ด้วยวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถือเป็นน้องเล็กสุด และเป็นผู้หญิงคนเดียวในบรรดาสมาชิก 10 คนของบริษัทในตอนนั้น สำหรับบริษัททูดู ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 บริหารงานโดย ยูจิ มาซูดะ ตั้งอยู่ในโกดังแคบ ๆ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ที่อัดแน่นไปด้วยรถตู้ 2 คันกับบรรดากล่องเครื่องมือทำความสะอาด งานหลักของบริษัทนี้คือรับจ้างทำความสะอาดที่พักของผู้เสียชีวิตในกรณีต่าง ๆ ทั้งเสียชีวิตคนเดียว เสียชีวิตในโรงพยาบาล และเสียชีวิตจากการฆาตกรรมหรือการฆ่าตัวตาย ติดต่อประสานงานกับครอบครัวหรือญาติของผู้เสียชีวิต รวมถึงเก็บสิ่งของเหลือใช้ของผู้เสียชีวิตมาทำพิธี รอส่งรีไซเคิล หรือขายต่อ ลูกค้าส่วนใหญ่ของทูดูคือเจ้าของที่อยู่อาศัยและญาติของผู้เสียชีวิต ที่บางรายอยู่ไกลเกินจะเดินทางมาทำความสะอาดได้ด้วยตัวเอง หรืออยากมาแต่ร่างกายและจิตใจไม่เอื้ออำนวย แต่ก็มีอีกหลายรายที่ไม่ขอมายุ่งเกี่ยวกับห้องเหล่านี้แต่แรกเพราะความทรงจำที่มีต่อผู้ตาย จึงจ้างทูดูให้ช่วยจัดการแทน เหตุที่มาซูดะหันมาจับงานนี้ มาจากการเสียชีวิตของหญิงชราเพื่อนบ้านที่สนิทกันแล้วไม่มีใครมาจัดการข้าวของในบ้านให้ ทำให้เขาต้องอาสาเข้าไปเก็บของและทำความสะอาดบ้านหลังนั้นด้วยตัวเอง ชื่อบริษัท ‘ทูดู’ ของเขาที่มาจากภาษาอังกฤษว่า ‘to do’ ก็มาจากการที่เขามองว่า งานทำความสะอาดบ้านผู้เสียชีวิตคนเดียวคืองานที่ต้องมีใครสักคนเข้าไปทำให้เสร็จ ช่วงที่มาซูดะก่อตั้งบริษัท กิจการทำความสะอาดที่พักของผู้เสียชีวิตคนเดียวยังมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่รับหน้าที่นี้เป็นหลัก ผิดกับปัจจุบันที่บริษัทประเภทนี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อรองรับกรณีการเสียชีวิตคนเดียวที่เพิ่มขึ้น โดยฮิเดโตะ โคเนะ รองนายกสมาคมการจัดการทรัพย์สินผู้เสียชีวิต (Association of Dispositions Memento) ประมาณการไว้ในปี ค.ศ. 2017 ว่ามีจำนวนประมาณ 4,000 บริษัทด้วยกัน สำหรับมาซูดะ งานนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่ทำงานเพื่อตนเองเป็นหลัก “ถ้าคุณจะลองงานนี้เพื่อตัวคุณเอง คุณจะลาออกภายในวันสองวัน 99 คนจาก 100 คนจะลาออก นั่นคือความเป็นจริง...สำหรับโคจิมะ เธอไม่ลาออก เพราะสำหรับเธอ นี่คือภารกิจเพื่อคนอื่น” เมื่อโคจิมะย้ายมาอยู่โตเกียว มาซูดะก็มาช่วยเธอตระเวนหาอะพาร์ตเมนต์ให้พักอาศัย และนั่นคือช่วงเวลาที่ทำให้เธอรู้สึกได้ว่า สถานการณ์การเสียชีวิตคนเดียวในโตเกียวนั้นหนักหนาแค่ไหน เธอเล่าให้แอนเนตต์ เอคิน จากสำนักข่าวอัลจาซีราฟังว่า อะพาร์ตเมนต์แรก ๆ ที่เธอไปดู เธอพบกับคราบที่เป็นรูปร่างมนุษย์อยู่บนพื้น ซึ่งเดาได้ว่ามีการเสียชีวิตในห้องนั้นแน่ ๆ เธอจึงเอาเรื่องนี้ไปถามนายหน้า “เขาแค่ยิ้มค่ะ แล้วก็บอกว่า ‘เปล่านี่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นซะหน่อย’ “เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรู้ว่า ‘โอเค ที่โตเกียวนี่มีคนตายคนเดียวเยอะมาก ๆ แล้วคนที่นี่ก็ไม่อยากให้รู้ด้วย’” โคจิมะกล่าว สำหรับกรุงโตเกียว ตามสถิติปี ค.ศ. 2003 พบประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเสียชีวิตคนเดียว 1,451 คน ส่วนในปี ค.ศ. 2017 และ 2018 สำนักงานสังคมสงเคราะห์และสาธารณสุขประจำมหานครโตเกียวรายงานว่า มีประชากรที่เสียชีวิตคนเดียว 4,777 คน และ 3,882 คนตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2003 ประมาณ 3 เท่าตัว (Nakazawa et al., 2021; Michael & Tanaka, 2019) หลายฝ่ายมองว่า การเสียชีวิตคนเดียวในญี่ปุ่นมาจากอัตราการแยกตัวตัดขาดจากสังคมที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยเพียงลำพัง ในประเด็นนี้ มาซูดะมองว่าสาเหตุสำคัญมาจากภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น ที่ทำให้สามีภรรยาหลายคู่แยกบ้านมาใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่มีลูกมากขึ้น และให้ผู้สูงอายุในครอบครัวอยู่คนเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุก็ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเพียงกลุ่มเดียว เพราะปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ไม่สู้ดีนัก รวมถึงคนที่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างคอยจับสัญญาณอันตรายถึงชีวิต และพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติ   นักทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียว การทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียวจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ร่างถูกนำออกไปจากห้องเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้รับงานและพิกัดที่ชัดเจน โคจิมะกับทีมงานจะประชุมแบ่งงานกันในช่วงเช้า แล้วจึงขึ้นรถตู้สำนักงาน ซึ่งบางครั้งเธอก็ทำหน้าที่เป็นพลขับ เดินทางไปสำรวจพื้นที่พร้อมถ่ายรูปมุมต่าง ๆ ของห้องเพื่อนำกลับมาวางแผนการทำงานที่สำนักงานและเก็บไว้เผื่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องการดู ในวันต่อมา เธอและทีมงานจะเดินทางกลับไปยังห้องนั้นอีกครั้ง และเริ่มลงมือเก็บข้าวของของผู้เสียชีวิต และทำความสะอาดห้องอย่างเข้มข้นเพื่อขจัดกลิ่นและคราบฝังแน่นต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการเน่าของศพ โดยงานหนึ่งจะใช้ทีมงานประมาณ 6 คน ใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงต่อห้อง รายได้ของแต่ละคนจะอยู่ประมาณ 3 - 5 แสนเยน โคจิมะเล่าว่าก่อนเข้าห้องเพื่อทำความสะอาด เธอจะสวดมนต์ก่อนเสมอ “เหตุผลก็คือ ฉันรู้ว่าเจ้าของห้องบางคนอาจจะจากไปพร้อมกับความเศร้าโศกเสียใจบางอย่าง ฉันจึงสวดมนต์ขอพรให้เขาได้ไปสู่สุคติ ไม่ต้องเป็นห่วงใด ๆ อีก” การทำความสะอาดห้องที่มีศพเน่าเปื่อยถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน ถือเป็นงานที่ส่งผลกระทบต่อกายและใจของผู้ทำความสะอาดเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาจะพบทั้งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ชิ้นส่วนบางอย่างของผู้เสียชีวิต อาทิ เส้นผม ผิวหนัง หรือคราบของเหลวจากร่างกายที่ฝังแน่นอยู่บริเวณที่เสียชีวิต รวมถึงกลิ่นอาหารบูดเน่าและอากาศในห้องที่ร้อนอบอ้าว ผสมโรงกับการต้องใส่ชุดพีพีอีทำงานตลอดเวลา แต่ไม่ว่าสภาวะเช่นนี้จะหนักหนาเท่าใด โคจิมะก็ไม่สามารถยุติงานกลางคันได้ เพราะจะถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตรวมถึงครอบครัวของพวกเขา และเธอเองได้ฝึกฝนจิตใจมาแล้วในระดับหนึ่งด้วยการไล่ดูรูปต่าง ๆ เพื่อให้เธอคุ้นชินและอดกลั้นต่อบรรยากาศหน้างานให้ได้มากที่สุด โคจิมะเล่าให้ฟังว่าห้องที่ทำความสะอาดยากกลับไม่ใช่ห้องของผู้เสียชีวิตตามธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ แต่เป็นห้องของผู้ที่ถูกฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย เพราะเธอรู้สึกว่าอากาศในห้องเหล่านั้นมักจะหนักกว่า ทำให้เธออึดอัดเวลาทำงาน อีกกรณีคือ การทำงานช่วงฤดูร้อนในห้องที่ศพไม่ถูกพบเป็นเวลานานเพราะศพจะเน่าอย่างรวดเร็วและมีกลิ่นที่รุนแรงเป็นพิเศษ ซึ่งงานแรกที่เธอได้ไปลงพื้นที่ ก็ตรงกับเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประเทศญี่ปุ่นพอดี เธอจึงถูก ‘รับน้อง’ ไปเต็ม ๆ “ฉันได้กลิ่นตั้งแต่เหยียบบนบันไดทางขึ้น และเมื่อไปถึงหน้าห้อง ฉันก็เห็นแมลงสาบหลายตัวนอนดิ้นอยู่ใต้ประตู” เธอเล่าบรรยากาศในวันนั้นให้ฟัง “แน่นอนค่ะ กลิ่นแรงมาก แต่ก็ไม่เท่าที่คิดไว้แต่แรก” อย่างไรก็ตาม การทำงานนี้อย่างต่อเนื่องหลายปี ตกปีละประมาณ 300 แห่ง ทำให้โคจิมะมีทักษะเพิ่มขึ้น บวกกับกรณีการเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อที่ยังคงอยู่ในสำนึกของเธอมาจนถึงทุกวันนี้ เธอจึงมองผู้เสียชีวิตในห้องแต่ละรายเป็นดังคนในครอบครัวของเธอ ทำให้เธอไม่รังเกียจและทุ่มเททำความสะอาดอย่างเต็มที่ ขั้นตอนการทำงานสำคัญอีกอย่าง คือการเก็บและจัดการของใช้ส่วนตัวของผู้เสียชีวิต ด้วยการนำของทุกอย่าง ไม่ว่าจะโต๊ะ เตียง เอกสารสำคัญ ไปจนถึงขยะมูลฝอยใส่ถุงพลาสติกหรือลังกระดาษ หากเป็นของชิ้นใหญ่โดยเฉพาะที่มีร่องรอยการเสียชีวิต อย่างฝาตู้ที่แตกเพราะถูกร่างล้มกระแทก หรือเสื่อทาทามิที่มีน้ำเหลืองซึมผ่าน ก็จะถูกรื้อถอนหรือแยกชิ้นส่วนแล้วห่อปิดผนึกในถุงพลาสติกอย่างดี ของที่เก็บมาได้ทั้งหมดส่วนหนึ่งจะนำไปทิ้งหรือรีไซเคิล และอีกส่วนที่เป็นเอกสารสำคัญหรือของพิเศษอย่างรูปถ่ายหรือของสะสมต่าง ๆ ก็จะเก็บไว้ให้ครอบครัวหรือญาติมาพิจารณาว่าจะเก็บไว้หรือไม่ หากพวกเขาไม่เก็บไว้ ทางบริษัทก็จะนำไปให้วัดทำพิธีเผา โคจิมะเล่าให้รายการ Face to Face ของสำนักข่าว NHK ฟังว่า สิ่งของที่เธอพบในห้อง นอกจากจะทำให้เธอจินตนาการถึงชีวิตของผู้เสียชีวิตแล้ว ยังสามารถระบุสถานะความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตกับสังคมรอบตัวของเขาได้อีกด้วย ผู้เสียชีวิตหลายคนมีรูปภาพหรือของสะสมที่ทำให้เห็นว่า ชีวิตของเขาไม่ใกล้เคียงกับคำว่าโดดเดี่ยวเลย เขายังสนุกกับการใช้ชีวิต มีงานอดิเรก และความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ญาติ และครอบครัว แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่พบในบางห้อง อย่างกองขวดพลาสติกที่เต็มไปด้วยปัสสาวะ หรือน้ำ/ไฟในห้องที่ถูกตัดเป็นเวลานาน ก็แสดงให้เห็นถึงการตัดขาดจากสังคมอย่างชัดเจนเช่นกัน มิยุ โคจิมะ: คนทำความสะอาดห้อง ‘โคโดกูฉิ’ ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านความตายอย่างโดดเดี่ยว เมื่อทำความสะอาดและเก็บกวาดห้องเรียบร้อยแล้ว โคจิมะหรือทีมงานคนอื่นจะตั้งแท่นพิธีเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยช่อดอกไม้และธูปเทียน รวมถึงรูปภาพผู้เสียชีวิตที่พบในห้อง วางไว้บนเฟอร์นิเจอร์หรือพื้นห้อง เพื่อทำพิธีกล่าวลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งบางครั้งจะนิมนต์พระหรือเชิญครอบครัวผู้เสียชีวิตมาร่วมพิธีนี้ด้วย “เมื่อทุกคนออกไปจากห้องและเหลือฉันคนเดียวแล้ว ฉันจะสวดมนต์สั้น ๆ เพื่อขอพรให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตขึ้นสวรรค์ ในช่วงขณะนั้น ฉันมักจะรู้สึกว่ามีบางอย่างมาสัมผัสที่ต้นคอฉันอย่างแผ่วเบา ซึ่งฉันถือเป็นสัญญาณว่ามีคนได้ยินพรของฉันแล้ว” สำหรับโคจิมะ ขั้นตอนการทำงานที่ยากที่สุดคือการพูดคุยและส่งมอบของใช้ส่วนตัวหรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของผู้เสียชีวิตให้แก่ญาติหรือครอบครัวของพวกเขา ซึ่งหลายครอบครัวมักปฏิเสธสิ่งของเหล่านั้น บางครอบครัวรับเฉพาะเงินที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้เท่านั้น  “ฉันไม่รู้ว่าจะพูดหรือถามพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน และฉันจะเสียใจเสมอเมื่อเห็นว่าพวกเขาไม่รับของสำคัญเหล่านั้นกลับไป เพราะนั่นคือสิ่งสุดท้ายที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้ และเป็นสิ่งที่จะทำให้คนอื่นจดจำเขาได้” เธอเล่าว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า 80% มักแสดงออกอย่างเย็นชาต่อเธอในขั้นตอนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงไปจนขั้นบาดหมางต่อผู้เสียชีวิต “คนกลุ่มนี้ไม่ได้แคร์กับความตายของผู้เป็นพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเท่าไรนัก บางคนไม่แม้แต่จะมองของใช้ส่วนตัวของพวกเขาด้วยซ้ำ” โคจิมะกล่าวว่า การเสียชีวิตคนเดียวหลายกรณีเกิดขึ้นกับคนที่มีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับครอบครัว ประกอบกับไม่มีใครให้ร้องขอความช่วยเหลือได้ กรณีหนึ่งที่เธอยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือกรณีของหญิงสาวอายุประมาณ 20 ปีที่เสียชีวิตคนเดียวในอะพาร์ตเมนต์พร้อมกับสุนัขอีกหนึ่งตัว เธอได้คุยกับพ่อของเจ้าของห้องและทำให้รู้ว่า เจ้าของห้องแยกตัวมาอยู่คนเดียวเพราะความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับตัวเขา “เขาบอกกับฉันว่า เขาเป็นคนที่ทำให้เธอลำบากใจ เขาเข้มงวดกับเธอมากเกินไป และเขาเสียใจที่เป็นต้นเหตุของทุกอย่าง” อย่างไรก็ตาม โคจิมะเล่าว่าการได้พูดคุยกับหลายครอบครัว ที่ถึงแม้เธอจะช่วยอะไรไม่ได้และได้แต่ฟัง ก็ช่วยให้ความเขม็งเกลียวทางจิตใจที่พวกเขามีต่อผู้เสียชีวิตคลายตัวลง จนบางรายก็ระเบิดน้ำตาออกมาแล้วทำให้เธอร้องไห้ตามไปด้วย สำหรับเธองานจะเสร็จสมบูรณ์ได้ไม่ใช่ตอนที่ห้องถูกเก็บกวาดจนสะอาดเรียบร้อย แต่เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตยอมรับการจากไปของเจ้าของห้องในฐานะสมาชิกของครอบครัวที่อยู่และตายเพียงลำพัง โดยที่พวกเขาสามารถก้าวข้ามความโศกเศร้าและใช้ชีวิตต่อไปได้ “เมื่อฉันได้เห็นช่วงเวลานั้น ฉันจะรู้สึกว่างานฉันเสร็จแล้ว ฉันคิดเสมอว่าบทบาทของฉันคือการได้อยู่เคียงข้างและช่วยผู้คนที่สูญเสียได้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้คนบนโลกใบนี้ห่วงใยกันและกันมากขึ้น”   แบบจำลองของ ‘ห้องที่เวลาหยุดเดิน’ หลังจากทำงานเป็นนักทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียวมาเกือบทศวรรษ โคจิมะได้นำห้องของผู้เสียชีวิตคนเดียวรูปแบบต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นแบบจำลองสามมิติขนาดเล็ก จุดเริ่มต้นมาจากการที่เธอและบริษัททูดูได้ไปร่วมจัดบูธในมหกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ด้านงานศพของญี่ปุ่น ทางบริษัทได้นำรูปห้องของผู้เสียชีวิตไปจัดแสดงให้คนได้ชมเพื่อประชาสัมพันธ์บริษัท ซึ่งเธอมองว่าวิธีนี้ดูไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เพราะแต่ละภาพค่อนข้างรุนแรง น่ากลัว และถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตและครอบครัวของพวกเขา ที่สำคัญคือ ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจความเศร้าที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ได้ จากวันนั้นเธอจึงไปหาซื้อกาว แผ่นโฟม มีด และอุปกรณ์ต่าง ๆ มาสร้างแบบจำลองย่อส่วนห้องผู้เสียชีวิตคนเดียวด้วยตัวเอง โดยลดความน่ากลัวและไม่น่าดูลง แต่ยังคงเก็บรายละเอียดรวมถึงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเอาไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ฉันทำงานที่นี่มาตั้งแต่งานนี้ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก เมื่อฉันจะอธิบายให้คนอื่นฟังว่าพวกเราทำอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ฉันพูด ฉันเลยหาวิธีทำให้ทุกคนตระหนักว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็มีโอกาสพบจุดจบในลักษณะนี้ได้ ฉันคิดจะใช้รูปภาพในการสื่อสาร แต่รูปมันก็มีความรุนแรงเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ มันเป็นภาพติดตาที่ยากจะลืม บางคนก็เก็บไปฝันร้าย ฉันเลยหันมาทำแบบจำลองจากห้องจริง แต่ก็ผสมกับเรื่องแต่งที่มาจากจินตนาการของฉันเองด้วย” โคจิมะเรียนรู้การสร้างแบบจำลองเหล่านี้ด้วยตัวเอง ผ่านการศึกษาคลิปต่าง ๆ ในยูทูบและการลองผิดลองถูก เธอใช้เวลาสร้างงานแต่ละชิ้นประมาณ 1 เดือน ด้วยต้นทุนชิ้นละประมาณ 55,000 เยน (ประมาณ 17,000 บาท) โดยเธอลงทุนเองทั้งหมดเพราะถือเป็นงานส่วนตัว อย่างไรก็ตาม มาซูดะผู้เป็นนายจ้างก็อนุญาตให้เธอนำมันมาสร้างที่สำนักงานได้ โดยมีเพื่อนพนักงานอีก 13 ชีวิตมาช่วยเธอด้วย แบบจำลองแต่ละห้องไม่มีร่างของผู้เสียชีวิต มีเพียงสิ่งของและหลักฐานต่าง ๆ ที่ทำให้รู้ว่าห้องดังกล่าวเคยมีผู้เสียชีวิตคนเดียว โคจิมะสามารถจำลองสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างสมจริง ทั้งตำราชีวเคมีหรือนวนิยายแฮร์รี พอตเตอร์ ที่เรียงบนชั้นหนังสือ ภาพบรรพบุรุษและประกาศนียบัตรบนฝาผนัง รวมถึงเศษขยะและคราบต่าง ๆ จากศพ เธอพยายามคุมโทนเพื่อไม่ให้เกิดภาพที่สมจริงและรุนแรงเกินไป เพื่อให้คนดูได้ใช้เวลาเพ่งพิจารณาและทำความเข้าใจผู้เสียชีวิตผ่านแบบจำลองอย่างเต็มที่แทนที่จะเบือนหน้าหนี งานชิ้นแรกที่เธอสร้างคือห้องของชายวัยกลางคนปูด้วยเสื่อทาทามิ กลางห้องมีโต๊ะไม้หน้าทรงกลม เต็มไปด้วยขวดสาเกเปล่า ตั๋วม้าแข่ง และข้าวกล่องที่ยังกินไม่หมด ใกล้กับโต๊ะมีฟูกนอนเปื้อนคราบของเหลวจากศพ “ตอนที่ฉันสร้างห้องนี้ ฉันนึกถึงชายวัย 50 หรือ 60 ปี ที่หลังจากสูญเสียพ่อกับแม่ไป เขาก็กลับบ้าน ตัดขาดจากสังคม ไม่ทักทายใคร ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใด เขาแสร้งว่าเขาไม่อยู่บ้านเวลามีคนมาติดต่อ และใช้ชีวิตลำพังจนเสียชีวิต” แบบจำลองที่โดดเด่นอีกห้อง เป็นห้องที่มีแมวที่ถูกทิ้งไว้หลังเจ้าของห้องเสียชีวิตแล้ว ซึ่งโคจิมะเล่าว่า มีอยู่หลายกรณีที่ผู้เสียชีวิตเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อหนีจากความรู้สึกโดดเดี่ยวของตัวเอง แต่ไม่ได้ทิ้งคำสั่งเสียไว้ว่าหากเขาเสียชีวิตไปใครจะรับผิดชอบดูแลสัตว์เลี้ยงต่อ ผลก็คือสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นมักจะถูกขังและใช้ชีวิตเพียงลำพังในห้องโดยปราศจากอาหาร ซึ่งหากศพของเจ้าของห้องไม่มีใครมาพบเป็นเวลานาน สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในห้องก็อาจจะไม่รอด ดังที่เธอได้พบในกรณีห้องของหญิงสาวช่วงวัย 20 ปีที่สุนัขของเธอเสียชีวิตอยู่หน้าห้องดังที่กล่าวไปแล้ว เธอจึงสร้างแบบจำลองนี้เพื่อจำลองภาพของสัตว์เลี้ยงหลังจากที่เจ้าของต้องจากไปอย่างกะทันหันโดยไม่มีการเตรียมการใด ๆ ไว้ก่อน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวางแผนเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบ และสามารถส่งต่อสัตว์เลี้ยงให้แก่ผู้อื่นได้หากไม่สามารถเลี้ยงต่อ นอกจากห้องของผู้เสียชีวิตคนเดียวแล้ว เธอยังจำลองห้องของผู้เสียชีวิตในกรณีอื่น อย่างห้องนอนของคนที่ฆ่าตัวตาย ที่เธอสมมติให้เป็นห้องของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบแต่ตกงานจนตัดสินใจจบชีวิตโดยการแขวนคอ ลักษณะเด่นของห้องนี้คือความสะอาด ทุกอย่างถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ มีเพียงจดหมายลาตายวางอยู่บนโต๊ะขนาดเล็ก เชือกแขวนคอที่ผูกกับบันไดสีขาว และเทปกาวสีเขียวบนผนังที่ติดเป็นคำว่า ‘โกเม็ง’ หรือ ‘ขอโทษ’ ในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นหลักฐานของการเสียชีวิต โคจิมะเล่าว่า เธอจำลองห้องนี้จากสถานที่จริงที่เธอเคยไปทำความสะอาด ผู้เสียชีวิตติดคำว่า ‘ขอโทษ’ เอาไว้เพื่อขอโทษพ่อแม่ที่ตนต้องจากไปก่อน และทำให้ต้องมารับมือกับการเสียชีวิตของเขา เธอยังกล่าวว่าห้องของคนอายุน้อยที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักจะมีระเบียบและสะอาด สะท้อนให้เห็นการเตรียมตัวและวางแผนการตายของตนเองเป็นอย่างดี และอีกห้องคือห้องของนักสะสมขยะหรือ ‘โกมิยาชิกิ’ ที่ทั้งห้องเต็มไปด้วยถุงขยะกองพะเนิน โคจิมะกล่าวว่าคนที่เป็นโกมิยาชิกิส่วนใหญ่มีอาชีพที่มีเกียรติ แต่มักจะมีชั่วโมงทำงานไม่แน่นอน สาเหตุที่ทำให้พวกเขาสะสมขยะจำนวนมหาศาลในห้องมักเกิดจากปัญหาชีวิต อย่างการสูญเสียคู่ชีวิต ตกงาน หย่าร้าง เป็นเหยื่อของสตอล์กเกอร์จนไม่กล้าเอาขยะออกไปทิ้งนอกบ้าน หรือแค่ไม่รู้ว่าจะทำความสะอาดห้องอย่างไร สำหรับโคจิมะ แบบจำลองเหล่านี้เป็นเหมือนงานบำบัดด้วยศิลปะที่ผสมกับงานบริการสาธารณะ โดยจุดประสงค์ของเธอก็เพื่อให้ผู้ที่มารับชมเข้าใจถึงความเศร้าที่แท้จริงของคนที่จากไปอย่างโดดเดี่ยว และต้องการให้ผู้คนหันมาใส่ใจและติดต่อกับพวกเขาขณะที่เขายังมีชีวิต รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม โคจิมะได้นำแบบจำลองเหล่านี้ไปเปิดตัวในมหกรรมผลิตภัณฑ์งานศพในนามของบริษัททูดูอีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจและทึ่งในรายละเอียดของชิ้นงานเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ จนในเดือนสิงหาคม 2019 ภาพแบบจำลองต่าง ๆ ของโคจิมะ รวมถึงความเรียงสะท้อนความรู้สึกของเธอต่อการเสียชีวิตคนเดียว ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพชื่อ ‘โทกิกะโทมัตตะเฮยะ’ หรือ ‘ห้องที่เวลาหยุดเดิน’ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดจนต้องพิมพ์ซ้ำถึงสามครั้งภายในปีเดียว และยังถูกแปลเป็นภาษาเกาหลีและไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตคนเดียวสูงขึ้นพอ ๆ กับญี่ปุ่นด้วย โคจิมะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งหันมาจริงจังกับประเด็นการเสียชีวิตคนเดียวมากขึ้น บางคนเขียนมาเล่าให้เธอฟังว่า มันทำให้พวกเขาอยากอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากกว่าเดิม ซึ่งเธอประทับใจมาก และดีใจที่ข้อความของเธอถูกส่งไปถึงผู้คนและนำมาสู่การปฏิบัติจริง ในอนาคต โคจิมะมีแผนจะสร้างวิดีโอสามมิติที่นำเสนอชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตคนเดียวในบ้าน เพื่อฉลองให้แก่ทุกชีวิตที่จากไปอย่างเดียวดายในห้องที่เธอเคยไปทำความสะอาดให้ และแสดงให้เห็นว่าถึงพวกเขาจะเสียชีวิตคนเดียว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าชีวิตของเขาจะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวไปด้วย มิยุ โคจิมะ: คนทำความสะอาดห้อง ‘โคโดกูฉิ’ ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านความตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่ใช่แค่งานทำความสะอาด ปัจจุบัน ปรากฏการณ์การเสียชีวิตคนเดียวในญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไป ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐต้องออกมาตรการที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม จำกัดการออกจากบ้านและให้ทำงานที่บ้าน รวมถึงลดการติดต่อทางกายภาพ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้การเสียชีวิตคนเดียวเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มเสี่ยงจะไม่ถูกติดตาม ป้องกัน รักษาได้อย่างทันท่วงที ขณะที่สภาพจิตใจของกลุ่มเสี่ยงอาจได้รับผลกระทบจากการต้องอยู่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรู้สึกล้มเหลวในการใช้ชีวิต (self-neglect) ที่นำไปสู่การเสียชีวิตคนเดียว โดยที่ครอบครัวไม่สามารถเยี่ยมเยียนหรือเข้าถึงหากเกิดภาวะวิกฤตได้ ผลของมันปรากฏอย่างเด่นชัดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมา ที่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตคนเดียวของผู้ป่วยโควิด-19 และจำนวนศพที่ไม่มีญาติมารับเพิ่มขึ้น ในทัศนะของโคจิมะ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์การเสียชีวิตคนเดียวยังดำรงอยู่ และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้น คือการที่ผู้คนในสังคมญี่ปุ่นติดต่อสื่อสารกันน้อยลง และความถี่ในการติดต่อกันแต่ละครั้งก็น้อยมาก ประกอบกับค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่มองว่า ‘ไม่มีข่าว คือข่าวดี’ หรือพูดให้เจาะจงก็คือ ไม่มีข่าวว่าคนที่เรารักตายก็แสดงว่าเขาไม่ตาย ทำให้หลายคนไม่ใส่ใจที่จะติดตามความเป็นอยู่ สูญเสียปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และลงเอยด้วยการเสียชีวิตคนเดียวอันน่าเศร้าและยากที่จะรับได้ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียวอย่างโคจิมะ คือการทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้เสียชีวิตถูกค้นพบให้เร็วที่สุด หรือดีกว่านั้นคือการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตในที่พักลำพัง วิธีหนึ่งที่เธอเสนอคือการนำบริการและเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวมาติดตั้งไว้ในจุดเสี่ยงภายในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ฯลฯ เพื่อตรวจสอบและติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ที่อาศัยคนเดียว ที่หากพบการเคลื่อนไหวที่ไม่ชอบมาพากลอย่างการหกล้ม ก็จะมีการแจ้งเตือนสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนให้มาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที บริการประเภทนี้ถึงแม้จะมีราคาสูง แต่คุ้มค่าในการรักษาชีวิตคนคนหนึ่ง สิ่งที่โคจิมะเน้นย้ำในหนังสือของเธอ คือการเสียชีวิตคนเดียวไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง เพราะความตายเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและไม่มีใครคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือระยะเวลาก่อนพบศพ เพราะยิ่งนานก็ยิ่งสะท้อนถึงความโดดเดี่ยวของคนคนหนึ่งที่ถูกตัดขาดจากครอบครัวและสังคม ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งน่าเศร้ามากเท่านั้น ชีวิตและงานทำความสะอาดห้องผู้เสียชีวิตคนเดียวของโคจิมะ ทำให้เราได้เห็นมิติที่หลากหลายของสังคมญี่ปุ่น ตั้งแต่หน้าตาของปรากฏการณ์ ‘โคโดกูฉิ’ ที่นอกจากจะน่าหดหู่แล้ว ยังเตือนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไปจนถึงพลวัตของสังคม ค่านิยม และโครงสร้างของเมืองในญี่ปุ่นที่ยังคงหล่อเลี้ยงให้เกิดปรากฏการณ์นี้ และส่งผลให้เกิดแรงงานแบบโคจิมะขึ้นมา สำหรับโคจิมะ งานของเธอไม่ใช่แค่งานทำความสะอาด แต่คือการส่งสารไปยังผู้คน (อย่างน้อยในสังคมญี่ปุ่นหรือในสังคมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน) ว่า ‘ปัจจุบัน’ คือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะได้สื่อสารและพัฒนาความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้คนรอบกาย เธอไม่อยากให้ทุกคนรอจนเวลาหยุดเดินดังชื่อหนังสือของเธอ เพื่อมาพบกับความรู้สึกผิดและเสียใจดังที่เธอได้ประสบมาแล้ว เธอเพียงอยากให้ทุกคนใช้เวลาที่กำลังเดินอยู่แสดงความห่วงใยและสื่อสารกับคนที่ตนรักอย่างคุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้   เรื่อง: พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล ภาพ: shorturl.at/asQSV อ้างอิง: Ahlmark, N. (2017, August 4). Undercover Asia: Lonely Deaths. YouTube. Retrieved September 20, 2021, from https://youtu.be/TKNnUu1sFdk Ekin, A. (2017, October 14). The woman who cleans up after ‘lonely deaths’ in Japan. Al Jazeera. Retrieved September 20, 2021, from https://www.aljazeera.com/features/2017/10/14/the-woman-who-cleans-up-after-lonely-deaths-in-japan Face To Face. (2020, October 25). Kojima Miyu: Bringing to Life the Final Days of the Forgotten. NHK World-Japan. Retrieved September 20, 2021, from https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/2043062 Johnny. (2018, October 3). Miyu Kojima Creates Miniature Replicas of Lonely Deaths. Spoon & Tomato. Retrieved September 20, 2021, from https://www.spoon-tamago.com/2018/10/03/miyu-kojima-miniature-kodokushi Johnny. (2019, September 24). Rooms Where Time Stops: Miyu Kojima’s Miniature Replicas of Lonely Deaths. Spoon & Tomato. Retrieved September 20, 2021, from https://www.spoon-tamago.com/2019/09/24/miyu-kojima-kodokushi-book Martin, A. (2019, November 25). One diorama at a time, miniaturist reconstructs aftermaths of ‘lonely deaths’. The Japan Times. Retrieved September 9, 2021, from https://www.japantimes.co.jp/life/2019/11/25/lifestyle/lonely-death-reconstructions Memon, A. G. (2017, December 22). Kodokushi - One of the Saddest Ways to Die. Paper Crush. Retrieved September 20, 2021, from https://papercrush.pk/kodokushi-one-saddest-ways-die Michael, C., & Tanaka, K. (2019, June 10). Dioramas of death: cleaner recreates rooms where people died alone. The Guardian. Retrieved September 20, 2021, from https://www.theguardian.com/cities/2019/jun/10/dioramas-of-death-tokyo-cleaner-recreates-rooms-where-people-died-alone Nakazawa, E., Yamamoto, K., London, A. J., & Akabayashi, A. (2021, July 10). Solitary death and new lifestyles during and after COVID‑19: wearable devices and public health ethics. BMC Medical Ethics, 22(89). https://doi.org/10.1186/s12910-021-00657-9