โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี : ผู้ต้องสงสัยเหตุการณ์ 911 ที่ถูกขัง 14 ปี 2 เดือน โดยปราศจากการตั้งข้อกล่าวหา

โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี : ผู้ต้องสงสัยเหตุการณ์ 911 ที่ถูกขัง 14 ปี 2 เดือน โดยปราศจากการตั้งข้อกล่าวหา
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ The Mauritanian  
“ผมเป็นผู้บริสุทธิ์” 
  ชายคนหนึ่งกล่าวถ้อยคำนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ไม่มีการพิจารณาคดี แต่ประตูสู่อิสรภาพกลับยังคงปิดสนิท ซ้ำร้าย การสอบสวนยิ่งเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นถึงขนาดที่มนุษย์คนหนึ่งอาจสิ้นสติหรือเสียชีวิตได้  14 ปี 2 เดือน คือเวลาที่เขาถูกริบอิสรภาพทางร่างกาย ซาลาฮีเคยถูกทารุณ ทำร้าย และทรมานด้วยวิธีที่ก้าวล้ำสิทธิมนุษยชนและผิดต่อข้อตกลงเจนีวา เพื่อเค้นเอาคำสารภาพในสิ่งที่เขาไม่ได้ลงมือทำ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขายังคงมีความหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปเพื่อรอวันที่ความยุติธรรมจะมาถึง ชายคนนี้คือ ‘โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี’ (Mohamedou Ould Slahi) ชาวมอริเตเนียที่ถูกคุมขังในคุกกวนตานาโม (Guantánamo) ด้วยข้อสงสัยว่าเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2001    กรงขังและโซ่ตรวนในกวนตานาโม โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี เกิดในเมืองรอสโซ (Rosso) มอริเตเนีย (Mauritania) ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศโมร็อกโกและแอลจีเรียในแอฟริกา ซาลาฮีเป็นคนฉลาดและเปี่ยมอารมณ์ขัน เมื่อเติบใหญ่เขาได้รับทุนการศึกษาจาก Carl Duisberg Society เมื่อปี 1988 สำหรับเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยดุยส์บูร์ก ประเทศเยอรมนี (Germany’s University of Duisburg) ในปี 1991 เขาเดินทางไปยังอัฟกานิสถาน ต่อสู้ร่วมกับกลุ่มมูจาฮิดีน (Mujahideen) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านรัฐบาลกลางคอมมิวนิสต์และโซเวียต  หลังจากนั้นได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มมูจาฮิดีน ซึ่งกลุ่มอัลกออิดะห์เป็นหนึ่งในกลุ่มมูจาฮิดีนระหว่างสงครามกลางเมืองดังกล่าว ส่วนซาลาฮีได้ร่วมการฝึกฝนกับกลุ่มมูจาฮิดีนจนถึงเดือนมีนาคม 1991 หากเขาไม่ได้เข้าร่วมสงครามในครั้งนั้น แต่เดินทางกลับเยอรมนีแทน นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกตั้งข้อสงสัยหลายต่อหลายครั้ง เพราะหลังจากนั้น ซาลาฮีถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายและถูกจับตัวไปสอบสวน แต่กลับไม่มีหลักฐานใดให้ตัั้งข้อกล่าวหา เขาจึงถูกปล่อยตัวไปทุกครั้ง จนกระทั่งเหตุการณ์ 911 ซาลาฮีถูกจับกุมและนำตัวไปยังคุกกวนตานาโม  เขาถูกคุมขังอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายปี
“มอริเตเนียที่ผมจากมา เราไม่ไว้ใจพวกตำรวจ ผมไม่อยากเชื่อว่าสหรัฐฯ จะใช้ความกลัวเพื่อควบคุมผม”
ซาลาฮีพูดขณะอยู่บนชั้นศาล หลังจากที่เขาผ่านการสอบสวนในคุกกวนตานาโมซึ่งการยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองในครั้งนั้น ไม่เป็นผลให้เรื่องราวดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนจากการสอบสวนอย่างสันติ มาเป็น ‘มาตรการพิเศษ’ ที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งการทุบตี การรบกวนด้วยแสง เสียงและอุณหภูมิหนาวจัดอย่างต่อเนื่อง การบังคับให้กินอาหาร บังคับให้อดอาหารและอดนอน การคุกคามทางเพศ แม้แต่การถูกข่มขู่ว่าจะจับตัวแม่ของซาลาฮีมาทำร้าย จนท้ายที่สุด การทรมานจนแทบสิ้นสติทำให้เขาต้องสารภาพในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ทำ เพื่อรักษาชีวิตและลมหายใจต่อไป    'Guantánamo Diary' ประตูสู่อิสรภาพ หลังการทรมานผ่านพ้นไป เรื่องราวทั้งหมดยังคงถูกปิดเงียบอยู่ในกวนตานาโม แม้แต่ตอนที่แนนซี่ ฮอลแลนเดอร์ ทนายความด้านการป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้เข้ามาทำคดีนี้ให้กับเขา เรื่องราวดังกล่าวก็ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึง จนแนนซี่ได้พบกับหลักฐานคำสารภาพของซาลาฮี และขอให้เขาเล่าความจริงทั้งหมดเพื่อนำไปเป็นหลักฐานบนชั้นศาล  ระหว่างการสนทนาครั้งนั้น ภาพการทรมานได้หวนกลับมาหลอกหลอนเขาอีกครั้ง จนซาลาฮีตอบกลับแนนซี่ไปว่า
“คุณกำลังขอให้ผมเผาที่นี่ ทั้ง ๆ ที่ผมยังติดอยู่ในนี้”
การพูดคุยระหว่างซาลาฮีและทนายความเป็นไปอย่างตึงเครียด แต่พวกเขาเองไม่มีทางเลือกอื่น หากซาลาฮีไม่ลุกขึ้นสู้ เขาก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกต่อไป  ท้ายที่สุดซาลาฮีอาศัยความกล้าหาญ ความหวัง และความศรัทธา จรดปากกาเขียนเล่าความปวดร้าวจากเหตุการณ์ในกวนตานาโมออกมา ซึ่งกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ใช้ต่อสู้ในชั้นศาลจนสามารถชนะคดีครั้งนี้ได้ แต่แล้วสหรัฐอเมริกากลับยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในคุกกวนตานาโมต่อไปอีก 7 ปี  ในปี 2015 ระหว่างที่เขาอยู่ในคุก เรื่องราวจากปลายปากกาของซาลาฮีถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า ‘Guantánamo Diary’ ก่อนจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Mauritanian’ โดยหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า “เจมี่ เพื่อนรักของพวกเรา ได้ชวนให้เบเนดิกต์เข้าร่วมในงานเปิดตัวหนังสือ ‘Guantánamo Diary’ หลังจากเบเนดิกต์ได้อ่านบางส่วนจากหนังสือที่ยอดเยี่ยมเล่มนี้ เขาก็ตกหลุมรักมัน และเขาพูดว่า “เราต้องสร้างหนังจากหนังสือเล่มนี้ เราต้องหาว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์” เบเนดิกต์กล่าวว่าเขายังจำความรู้สึกแรกขณะไล่สายตาอ่านเรื่องราวของซาลาฮีได้ดี “ผมหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ และรู้สึกประทับใจกับโมฮัมมาดูจากความเป็นมนุษย์และอารมณ์ขันของเขา ความอดทนที่ไม่ธรรมดาของเขากับความจริงที่ว่าเขาผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาทั้งหมด เรื่องนี้เกิดขึ้นเพื่อสอนเราทุกคนเกี่ยวกับจิตวิญญาณมนุษย์ที่เอาตัวรอดได้ทุกเรื่อง ผมหลงเสน่ห์เขาอย่างที่สุด และเรื่องราวของเขาก็สะเทือนใจ และหนักอึ้งด้วย” ภาพยนตร์ The Mauritanian ถูกสร้างขึ้นทันทีที่ซาลาฮีได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 17 ตุลาคม 2016 พร้อม ๆ กับการที่ซาลาฮีได้กลับไปใช้ทุกวินาทีอย่างมีคุณค่าในมอริเตเนีย แต่งงานกับนักกฎหมายชาวอเมริกัน และถ่ายทอดเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย แม้เหตุการณ์ในกวนตานาโมครั้งนั้น จะทำให้ร่างกายของเขาบาดเจ็บสาหัส หากจิตใจของเขายังเปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็ง ความหวัง และความเชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรมในที่สุด ซาลาฮีไม่เคยถือโทษโกรธใคร ใช่ว่าเห็นด้วยกับการกระทำที่โหดร้าย เพียงแต่การกระทำป่าเถื่อนต่อร่างกายไม่อาจกลืนกินหัวใจที่บริสุทธิ์ได้  
“ในภาษาอาหรับ คำว่า ‘อิสระ’ กับคำว่า ‘ให้อภัย’ คือคำเดียวกัน และผมต้องการที่จะให้อภัย”
นั่นทำให้เรื่องราวในไดอารีของซาลาฮีไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงที่เคียดแค้นหรือเกลียดชัง แต่เป็นน้ำเสียงของผู้ที่มีความหวังและหัวใจที่เป็นอิสระ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่กำลังเผชิญห้วงเวลาอันโหดร้ายและแสนมืดมน แต่ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างคงจะดีกว่านี้...ถ้าเขาไม่ต้องใช้เวลาถึง 14 ปี เพื่อต่อสู้ในเรื่องที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์   ที่มา https://www.esquire.com/uk/culture/film/a35988928/the-mauritanian-true-story-mohamedou-ould-slahi/ https://en.wikipedia.org/wiki/Mohamedou_Ould_Slahi#1988%E2%80%931999   ที่มาภาพ https://www.instagram.com/mohamedououldsalahi/?hl=en