สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

ถ้าไม่สำเร็จก็ทำต่อไปไง เพราะกูยังต้องอยู่กับมันตลอดชีวิตอยู่แล้ว

จากคำตอบที่เคยบอกกับเพื่อนในวัยที่รู้ว่าตัวเองฝันอยากเป็นศิลปิน  บัณฑิต แซ่โง้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'หมู Muzu' ก็ยังคงยึดประโยคนั้นมาเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตบนเส้นทางดนตรีเสมอมา

เพราะชีวิตวัยเด็กได้อยู่กับแม่ผู้รักการร้องเพลง จึงหล่อหลอมให้หมูทำในสิ่งที่เกินเด็กด้วยการอัดเสียงร้องของตัวเองอย่างไม่เขินอาย ก่อนที่หลายปีถัดมาเขาจะมีโอกาสส่งผ่านความพยายามและความตั้งใจจนได้มีพื้นที่แสดงฝีมือของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในเพลงเข้ากันไม่ได้ซึ่งดังจนติดลมบนเมื่อหลายปีมาแล้ว ก่อนจะตามมาด้วยเพลงไม่เคยและแน่นอนว่าเพลงนี้ก็ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอีกเช่นกัน

ถึงอย่างนั้นความฝันในการทำวงของตัวเองอย่างจริงจังก็ยังไม่ปรากฏขึ้นชัดเจนนัก เขาจึงสั่งสมประการณ์พร้อมขัดเกลาตัวเองผ่านงานเบื้องหลัง ด้วยการเป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวในบทเพลงให้ศิลปินดังในค่าย White Music อยู่หลายครั้ง รวมถึงเป็นผู้สร้างเพลงอยู่คนเดียวให้ศิลปินเบอร์ใหญ่ของ GMM Grammy อย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ถ่ายทอดด้วย

ผ่านมาจนถึงวันนี้ หมู ได้มีโอกาสกลับมาทำผลงานภายใต้ชื่อของตัวเองอีกครั้งในรักด้วยชีวิตที่เขายังคงทุ่มเทความฝันและความหวังในการทำวงดนตรีลงในบทเพลงนี้ The People จึงขอให้เขาเล่าย้อนความทรงจำถึงจุดเริ่มต้นของความรักที่มีต่อดนตรี เบื้องหลังชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ รวมถึงเส้นทางในวันพรุ่งนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

The People: ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

บัณฑิต: เป็นเด็กที่เรียกว่ามีความสุขตามอัตภาพ เป็นเด็กที่มีความสุขดีคนหนึ่งโดยที่ไม่มากไม่น้อยไป เป็นเด็กชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่กับแม่

 

The People: จำได้ไหมว่าเสียงเพลงเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร

บัณฑิต: ชัดเจนที่สุด อันนี้ถ้ารวบยอดเป็นประเด็นเดียวคือแม่คำเดียวเลย แม่ผมเป็นคนชอบร้องเพลงมาก ชอบร้องเพลงในระดับที่ถ้าเทียบกับคนธรรมดาทั่วไปถือว่าก็คงอยากเป็นนักร้อง หรือว่าเป็นนักร้องได้เลย แต่แม่ไม่ได้มีอาชีพเป็นนักร้องนะ เป็นผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่กับอาก๋ง ซึ่งก็คือคุณพ่อของแม่ผม เป็นคนจีนสมัยเก่า ขายผลไม้ดองแบบโบราณ สมัยนั้นก็ 40 กว่าปีแล้ว

จำได้ว่าปอกผลไม้ตอนเช้า นั่งปอกกันอยู่ตรงนั้นกับพื้น เขาทำงานก็จะมีเพลงเปิดจากวิทยุ หรือไม่บางทีเขาก็จะร้องเพลงออกมา แล้วไม่ใช่ร้องแบบดาษดื่นนะ ร้องแบบเพราะ  คือผมเองก็ไม่รู้ว่าบ้านอื่นเป็นไหม หรือว่าการร้องเพลงแบบนี้ที่แม่ทำคือร้องดีหรือไม่ดีกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า

แต่ว่าพอมารู้อีกที รู้สึกว่า อ๋อ แม่เป็นคนชอบร้องเพลงมาก แล้วก็เป็นคนที่ร้องเพลงดี ตัวแม่เองก็ยังมีความฝันความหวังอะไรเล็ก ในความรู้สึกผมนะ คือเขาไม่ได้คิดว่าต้องเป็นนักร้อง แต่ก็สอนให้ผมอัดเสียงลงในเทป กดเทปแล้วก็อัดเสียง โดยที่แม่เขาชอบทำแบบนั้นกับตัวเองเหมือนกัน  ตอนอัดเทปนี่คือช่วงที่แอดวานซ์ขึ้นมาหน่อยแล้ว

ตอนแรก ผมได้ฟังศิลปินคนแรกที่ผมชอบมาก เลยคือพี่แจ้ (ดนุพล แก้วกาญจน์) จากแม่นี่แหละ แม่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องหล่อหลอมให้ลูกเป็นอะไร แต่ความชอบของเขา "เนี่ย คนนี้ชื่อแจ้นะ" คนนั้นชื่ออะไรในทีวี ในเสียงที่ออกมาจากเทปม้วนนั้น  นอกนั้นจากการที่แม่ปฏิสัมพันธ์กับผมเรื่องเพลง เกิดจากการที่ผมก็ได้ดูแม่เองโดยที่แม่เขาเป็นธรรมชาติของเขาไป เขาไม่ได้มาบอกต้องชอบฟังเพลงนั้นเพลงนี้ ได้ฟังทั้งหมด

สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

The People: แล้วอะไรเป็นจุดสำคัญที่บอกว่าชีวิตเราจะต้องเลือกเส้นทางนี้

บัณฑิต: มันอยู่กับเรามาตลอด เหมือนชาวบ้านทั่วไปที่รู้ว่าตัวเองไม่ใช่นักร้องแน่ แล้วก็ไม่ได้จะมีอาชีพนักร้องแน่ เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ชอบ  แต่ไม่เคยคิดเลยนะ ไม่เคยคิดจนกระทั่งวันหนึ่งที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นวัยรุ่นอายุสิบกว่า หัวเลี้ยวหัวต่อตั้งแต่ 15-16-17 แล้ว ที่ค้นหาว่าตัวเองอยากจะทำงานอะไร อยากจะใช้ชีวิตด้วยอาชีพอะไรต่อไป ปรากฏว่าผมไปเรียนอะไรต่อมิอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ทุกคนเขาบอกว่าไปเรียนพาณิชย์สิหมู อาเจ้ก็บอกให้เรียนพาณิชย์ ผมตกพิมพ์ดีด ตกวิชาที่เขาบอกว่าง่าย เขาบอกบัญชีง่ายมากเลย

หรือหลังจากนั้น เอ๊ะ เราไปเรียนศิลปะไหม ทีแรกก็ชอบ วาดภาพดี วาดภาพเป็น พอผ่านไปนาน  เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เราแล้ว เราก็ไม่ส่งการบ้านอาจารย์อยู่ดี มันก็สะสม คะแนนตกอะไรอย่างนี้ จนมามองอีกทีว่า เฮ้ย หรือว่าไอ้การที่เราร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ร้องโดยไม่มีเหตุผลเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้เป็นนักร้องหรือเปล่าด้วย มันคือทางของเรา เพราะตอนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรานึกถึงมันหลาย ครั้ง อย่างเช่นครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่เริ่มอัดเสียงไปแล้วอายุ 11-12 ประมาณนี้ อัดเทปลงไป overdub 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งเราก็ร้อง...วู้วู้วูหวู่วู ปีดู้ เพลงของนูโว เพลงเก็บไว้ให้เธอซึ่งเราไม่รู้หรอกประสานเสียงเขาประสานยังไง แต่ด้วยสัญชาตญาณของคนชอบ ทำเสียงเลียนแบบ overdub ข้ามไปข้ามมาเป็น 3 เสียง เราก็ไม่รู้มันเพี้ยนหรือเปล่า พยายามเต็มที่ สิ่งที่สำคัญคือภาพวันนั้นที่อัด overdub แบบนี้กับในห้องอัด วันนี้ มันเหมือนกันตรงที่ความตั้งใจมันเท่ากันเลย เพราะว่า วันนั้นมันไม่ได้คิด ไม่ได้อายใครที่จะผ่านมาในบ้าน

ผมอยู่บ้านนอกแล้วชาวบ้านเดินมา ชื่อป้าป้อม เราเรียกเจ๊ป้อมตามแม่ คือแถวนั้นบ้านเขาจะเดินเข้าออกกันได้ บางคนที่รู้จักกันเขาก็จะมาหายายผม ป้าป้อมเดินเข้ามาหัวหยิก ผมกำลังอัดอยู่มุมนั้น...วู้วู้วูหวู่วู ปีดู้ แล้วก็เปิดเสียงนูโวเทียบไปด้วย เขาเดินมาหยุดมองผม "ทำอะไรหนู อัดให้ตายเอ็งก็ไม่มีวันเหมือนหรอก" แล้วก็เดินไป (หัวเราะ) เป็นการให้กำลังใจที่ดีมาก ก็เป็นเรื่องขำ ระหว่างช่วงวัยนั้นทำถึงขนาดนั้น แล้วทำอะไรประมาณนี้หลาย ครั้ง โดยที่ช่วงอายุตอนนั้นไม่รู้ตัวหรอกว่าเราทำมันโอเวอร์กว่าเด็กคนอื่นที่จะเล่นเกี่ยวกับเรื่องเสียงเพลง

แต่พอย้อนกลับมาช่วงที่คิดไม่ออกว่าจะมีอาชีพอะไร เราก็นึกถึงวันเวลา เรานึกถึงตัวเราว่าเราร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก 2-3 ขวบเพื่ออะไร จนเราพบว่าเอาล่ะวะ มันคงต้องเป็นอาชีพของเราแล้ว เพราะอย่างอื่นไม่รุ่ง พอหาเหตุผลให้กับมัน ก็มีคำตอบมาเลยว่า เฮ้ย หนึ่ง เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก เรายังไม่เบื่อเลย แปลว่าถ้าเราทำอาชีพนี้เราจะไม่เบื่อและทำได้ดี และไอ้ข้อที่เราทำได้ดี ข้อสองก็คือมันเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น รอบข้างเราใช่ไหม ปรากฏว่าใช่ทั้ง 2 ข้อ เราก็เลยเอาเลย อาชีพนี้แหละน่าจะใช่แล้ว เพราะว่าเราจะหลีกหนีไปทำไมในเมื่อมันอยู่กับตัวเรา หัวใจเรา

แต่เหตุผลที่จะไม่มีอาชีพนี้ในทีแรกก็คือเหมือนคนอื่น ชาวบ้านที่รู้ต่อ กันมาว่าอาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพสำหรับคนทั่วไป สมัยนั้นเอาแค่ว่าเต้นกินรำกินก็อาจจะเป็นคำโบราณอีกคำหนึ่ง ตอนผมเด็ก คิดง่าย ว่านักร้องไม่ใช่อาชีพเราแน่ เราไม่ใช่คนที่จะไปอยู่ในทีวี หรือว่าเสียงเราไม่ใช่เสียงที่จะไปอยู่ในวิทยุแน่ สรุปว่าช่วง 16-17 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มหัดกีตาร์มาสัก 1-2 ปี แล้วผมเริ่มไปหารายได้พิเศษตอนกลางคืน ปิดเทอมก็ลองไปเล่นกับเพื่อน ชวนกันไป หัดกีตาร์ได้ปีเดียว นั่นแหละเป็นช่วงที่โดยรวมแล้วคิดตกตะกอนว่าผมตัดสินใจแล้ว ผมจะเป็นศิลปิน

 

The People: เริ่มอาชีพศิลปินอย่างเป็นทางการด้วยการยื่นเดโมมาที่ค่ายเพลง?

บัณฑิต: ใช่ครับ แต่อันดับแรกอย่างเป็นทางการคือขอแม่ก่อน (หัวเราะ) ซึ่งบ้านเราก็ไม่ได้รวยอะไร ค่อนข้างจน อาจจะไม่ได้จนแบบไม่มีอะไรกินขนาดนั้น แต่ว่าก็ไม่ได้สะดวกนักที่จะทำทุกอย่างได้ราบรื่น แม่ก็คิดหนัก ที่เล่าเรื่องนี้เพราะมันเกี่ยวกับการตัดสินใจ ผู้ใหญ่เขายิ่งคิดมากกว่าเราอีก จะทำอาชีพนี้จริงเหรอ มันจะได้ไหม มันจะไม่ได้ไหม

 

The People: แม้ว่าคุณแม่ของคุณก็ชอบเสียงเพลงเหมือนกัน?

บัณฑิต: ใช่ คือมันขัดแย้งกันครับ ที่เล่ามาทั้งหมดแล้วเกี่ยวกับแม่ตัวเอง โลกเรามันก็แปลกนะ ปัจจุบันก็ยังมีความคิดแบบนี้ ทั้ง ที่รู้ว่าไม่น่าจะเป็นอาชีพของตัวเอง แต่ก็ทำมัน ซึ่งในข้อเดียวกันผมว่าก็แสดงให้เห็นว่าใครที่เกิดมาเพื่อร้องเพลง หรือว่าเกิดมามีแรงผลักดันในทางเสียงเพลงมาก มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม่ผมที่จริงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โอ้โห เขาทำได้ไง เขาทำไม่เป็น ไม่ได้เป็นนักร้อง ไม่ได้เป็นอะไร ซึ่งแม่ผมร้องเพลงเป็นทางการมากคนหนึ่ง มีความพยายามคล้าย กับผม ร้องเพื่อจะให้มันออกมาดีขนาดนั้น

 

The People: คุณแม่ไม่ได้มองการร้องเพลงเป็นอาชีพ?

บัณฑิต: คือเหมือนตอนที่ร้องอยู่ หรือว่าตอนทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสียงเพลง ตั้งใจเต็มที่เลย จดเนื้อเพลง จำ ต้องทำให้ได้เลย แต่มันเหมือนแยกกันกับคำว่าชีวิตจริงแบบคนทั่วไป  ชีวิตจริงก็คือไอ้ตรงนั้นด้วยแหละ ตรงที่ร้องเพลงด้วยแหละ แต่เขาแยกมันออกมา ชาวบ้านทั่วไปแยกเสียงเพลงจากคำว่าชีวิตจริง คิดว่าเสียงเพลงคือความไร้สาระ เป็นอย่างอื่นไป

สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

The People: ถึงคนอื่นจะแยกเพลงออกจากชีวิตจริง แต่คุณก็เลือกที่จะให้ 2 สิ่งนี้อยู่ด้วยกัน?

บัณฑิต: ใช่ จุดแรกคือขอแม่ พอขอแม่แล้ว แม่บอกขอเรียนให้จบสัก ปวช. ก็ยังดี ผมก็ตกลง ไอ้ที่ตก อยู่เดี๋ยวทำดีที่สุดเลย คิดดูสิมีแรงกระตุ้นขึ้นมา ผมตกแบบที่ไม่น่าจะจบได้ คือไม่ใช่เพราะขยันเรียนคิดดู แต่เป็นเพราะความฝันที่เราหวังอีกเรื่องหนึ่งเลยเป็นเรื่องเสียงเพลง ตอนนั้นมีเงื่อนไขนะ บ้านผมก็ไม่ค่อยจะมีตังค์แล้วตกขนาดนี้ ข้อแม้ผมหลายข้อมาก ข้อแรก ถ้าเขาให้ซ่อมจริง จะเอาเงินจากไหนไปให้ซ่อม ผมก็ขอพี่ป้าน้าอา จะมีอาเจ็กของผมคนหนึ่งที่ใจดีมาก ผมก็ดั้นด้นไปขอเขาเลย ขอได้ไหม 10,000 นะสำหรับตอนนั้น

ข้อสองคือ ผมเดินเข้าไปคุยกับอาจารย์ใหญ่ว่าอาจารย์ครับ ผมมีเรื่องให้ช่วยครับ คือผมตกเยอะมากครับ ตอนนั้นเป็นโรงเรียนศิลปะ น่าจะเอกชน แล้วก็เล่าให้ (เขา) ฟัง ผมไม่ได้เล่าเรื่องดนตรีแต่บอกว่าถ้าผมรอให้ตกถึงปีหน้า ปีหน้าผมก็คงไม่จบ เพราะผมคงไม่มีเงินเรียนอยู่ดี แต่ว่าถ้าเกิดผมจบภายในปีนี้ได้ ตั้งใจทำให้จบเขาเลยเปิดคอร์สซ่อมเพื่อผม (หัวเราะ) แต่ไม่ได้เชื่อผมหรอก เขาบอกประมวลแล้วมีนักเรียนไม่กล้ามาบอกเยอะ มันมีปัญหาอาจจะเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนช่วงนั้น ที่ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนเป็นอย่างนี้ กลายเป็นว่าผมมีความพยายามเกี่ยวกับเรื่องดนตรีไปขอ ผอ. ของโรงเรียนให้เปิดคอร์ส (หัวเราะ) แล้วข้อสาม ที่ต้องตั้งใจเรื่องการเรียนตอนนั้น เพื่อให้ไปเข้าดนตรีได้ก็คือที่ลงไปเป็นสิบวิชา ผมต้องทำให้ผ่านด้วย ผมก็ทำงานส่งภายในเวลาไม่นาน พอหลังจบแล้วก็ดั้นด้นต่อไป   

ข้อแรกที่เป็นสัญญาณชัดเจนคือผมเสพเกี่ยวกับเพลงที่เท่ สำหรับพวกเราตอนนั้นก็คือเพลงเพื่อชีวิต ร็อกแบบ ดิ โอฬาร โปรเจกต์ (The Olarn Project) แต่มันก็ใกล้ตัวนะ เพลงเพื่อชีวิตยังพอเล่นได้บ้าง เผอิญมีงานบันเทิงคดี’ 37 ซึ่งตอนนั้นพี่โอ้-โอฬาร (พรหมใจ) ออกมาโปรโมตงานนี้ บังเอิญเขาพูดถึงวงเขาว่าเขากำลังหานักร้อง เขาก็บอกสมัครมาได้ที่นี่ ส่งเทปมาได้ที่นี่ ผมก็เลยส่งเทปไป

ปรากฏว่าผ่านไปนานพอสมควร สมัยนั้นยังเป็นโทรศัพท์บ้าน ให้เบอร์โทรศัพท์บ้านป้าไว้ มีคนโทรมาเขาบอกว่าชื่อโอฬาร แล้วก็สนใจคนที่ชื่อหมูอะไรอย่างนี้ เพราะผมเขียนชื่อในเทปไว้ ซึ่งเป็นการติดต่อที่มันมีความเลื่อนลอยอยู่มาก เทปอาจจะส่งไม่ถึงเขาก็ได้ แล้วฝากไว้ที่ร้านเครื่องดนตรีร้านหนึ่งที่พี่โอ้-โอฬารสนิท เป็นวิธีสื่อสารที่...นะ ปรากฏว่าพี่โอ้ตอบรับแล้วกัน จนถึงทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เป็นนักร้องพี่โอ้นะ (หัวเราะ) แต่พี่โอ้เห็นแววไง แล้วพี่โอ้ก็โทรมาหลายครั้งมากว่า "อย่าทิ้งนะ" แน่นอนเลย ใจผมไม่ทิ้ง ผมรอพี่อยู่ เมื่อไหร่จะเรียกผม (หัวเราะ)

แต่ว่าความเป็นเด็กกับการร้องจริง มันก็ต้องเชี่ยวกว่านี้เยอะ ผมไปร้องออดิชั่น เขาก็เรียกผมไปร้องในห้องอัดทีหนึ่ง จังหวะผมยังไม่รู้เลย คือร้องน่ะร้องดี แต่การนับห้องผมไม่รู้โน้ตดนตรี เสียงไม่รู้ คิดว่าร้องดี คาแรคเตอร์ดี เขาสนใจ แต่เอาเข้าจริง โดยรวมแล้ว ความแข็งแรงเขาอาจจะไม่มั่นใจเรา เราอาจจะยังไม่พอ แต่ถามว่าสัญญาณแรกที่จะเป็นตัวแปรที่ว่าเรามั่นใจได้ยังไงว่าเราเข้าสู่เส้นทางดนตรีแล้ว คือคำตอบจากพี่โอ้-โอฬารเนี่ยแหละ เขาเป็นคนในเทปคนนี้ คนในซีดี ในทีวีคนนี้ มาตอบเรากับตัวเองเป็นคนแรก

 

The People: ความรู้สึกเกี่ยวกับเพลงแรกที่แต่ง และเพลงแรกที่เปลี่ยนชีวิต?

บัณฑิต: หัดแต่งเพลงช่วงแรก มีเพลงแรกในช่วงนั้น แล้วก็เริ่มฝึกฝนไปเรื่อย ๆ จนหลายปีผ่านมา ผ่านอะไรมาอีกเยอะ เพลงแรกที่เป็นทางการของความนิยม หรือได้รับการตอบรับว่าเป็นเพลงที่ได้ออกไปจริง ของผม ที่เห็นเป็นรูปธรรมและเป็นเพลงฮิตด้วยก็คือเพลงเข้ากันไม่ได้' อันนั้นผ่านมาไม่รู้ถึง 10 ปีหรือเปล่า เราไปเจอพี่ปุ้ม-พรพรหม สนิทวงศ์ อยุธยา เขากำลังจะทำโปรเจกต์หนึ่งชื่อ Gen-X (Academy) แล้วก็ชวนผมเข้าไปเป็น Lyric producer ซึ่งทีนี้อีกเหมือนกันที่ไม่รู้คำนี้คืออะไร เขาก็บอกก็ง่าย  ดูความเรียบร้อยของเนื้อทั้งหมด เขาเห็นเซนส์ผมนะ แต่เขาก็ไม่มานั่งบอกว่าโห คุณดีคุณเก่งตรงไหน คุณอะไร เขามีความเป็นอาจารย์สูงและการให้โอกาสคนสูงมาก ผมก็ได้รับโอกาสตรงนี้ด้วยที่เป็น Lyric producer เขาสอนเราว่า Lyric producer ทำยังไง

ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ได้เพลงเข้ากันไม่ได้มาด้วย ไปช่วยทำชุดนั้น ผมต้องซ่อมเพลงทุกเพลงใช่ไหม แล้วมันมีอยู่เพลงหนึ่ง คือเขามีเนื้อร้อง ทำนอง กับดนตรี เจ้าของเนื้อร้อง-ทำนองอีกคนหนึ่ง เจ้าของดนตรีอีกคน อยู่ดี เจ้าของเนื้อร้อง-ทำนอง เขาไม่อยากทำกับคนนี้ หนึ่งเพลงในนั้นเขาขอไปเหลือแต่ดนตรี หน้าที่ของผมก็คือช่วยเขา แต่เขาไม่มีใครเลย ผมก็เลยแต่งเนื้อร้องทำนองไป อยากให้แต่งใช่ไหม โอเค เอากลับมาบ้าน  เพลงอื่นอาจจะแค่ขัดเกลา เปลี่ยนคำนี้ไหม เนื้อมันน่าจะอย่างนี้ ท่อนนี้น่าจะเป็นแบบนี้ แต่เพลงนี้แต่งใหม่หมดเลย สวมไปในเพลงที่มีคนเคยแต่ง  แล้วพอส่งเดโม พี่ปุ้มฟัง ทุกคนฟังบอกเรียบร้อยแล้วเพลงนี้ เอาเลย แล้วก็มาร้องเองด้วยไหม (หัวเราะ) ก็เลยเป็นเพลงแรกที่เป็นเพลงฮิต

สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

The People : ปรากฎการณ์เข้ากันไม่ได้ที่อยู่บนชาร์ตแฟต เรดิโอ เป็นสิ่งที่คาดฝันไว้ไหม

บัณฑิต : ตอนนั้นดีใจมาก ไม่ได้คาดฝันว่าถึงขนาดนี้ แต่รู้สึกว่ามันแจ๋วนะ แต่ความรู้สึกว่ามันแจ๋วต่างจากวันนี้นะ วันนี้พอผ่านอะไรมาเยอะ มันเริ่มมีความไม่มั่นใจเข้ามาในชีวิตเยอะขึ้น แต่ตอนนั้นมีความเฟรชของคนที่มีไฟ แต่งเพลงแล้วรู้สึก... ทุกคนในทีมงานก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันว่าเฮ้ย มันเท่ มันไม่เหมือนใคร ต้องชมดนตรีของ Synkornize เขาด้วย Synkornize ก็คือเพื่อนผมคนหนึ่งมา featuring กับ Muzu ปรากฏว่ามันไปอยู่ในชาร์ตแฟตฯ 4 สัปดาห์ เดือนหนึ่งอย่างน้อยเลย ผมก็นั่งลุ้น โอ้โห สุดยอดเลย

พอมันสำเร็จเป็นเพลงที่ฮิต ผมเองก็ไม่ได้รับรู้ถึงความสำเร็จเท่าไหร่นัก รู้ความสำเร็จตรงที่ว่ามันติดชาร์ต มันฮิต คนชอบ แต่ไม่ได้เป็นในทางรูปธรรมที่มันเป็นทางธุรกิจ ผมไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ได้อะไร ไม่ใช่ว่าทางค่ายเขาไม่ได้ให้อะไรนะ เป็นเหมือนงานนักเรียน ไม่ได้ follow อะไรต่อมากมาย ผมจึงไม่เคยรู้ระบบ เหมือนทุกวันนี้ที่มาอยู่กับ Grammy ว่าเพลงฮิตแล้ว เราจะได้ไปทัวร์ หรือจะทำวงขึ้นมาแล้วขายคอนเสิร์ต ไม่มีอะไรเลย  เราไม่รู้ เขาก็ปล่อยให้มันได้ชื่อว่าเพลงฮิตตอนนั้น

 

The People : อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นศิลปินเต็มตัว

บัณฑิต : ตอนนั้นเรียกว่าได้ไปโชว์บ้างก็คือตามงานแฟตฯ นี่แหละ ตามนู่นนี่นั่น ถัดมาจากเพลงนั้นก็คือที่เด่น อีกเพลงคือเพลง 'ไม่เคย'

ช่วงนั้นผมไปช่วยงานคนอื่นเรื่อยมาจนเกือบอีก 10 ปี ก็มีงานเก็บสะสมจนมาเจอพี่อาร์ม (รัฐการ น้อยประสิทธิ์) ผู้บริหาร White Music เขาเจอผมเดินในตึกช่วยงานคนนู้นคนนี้ เขาก็รู้นะว่าผมเป็นเจ้าของเพลงเข้ากันไม่ได้ซึ่งพี่อาร์มเป็นคนที่เปิดกว้าง แล้วก็ชอบอะไรที่มันเป็นอินดี้อยู่แล้ว แบบที่มันเป็นส่วนตัว ไม่เหมือนใคร เขาก็เลยทักทำอะไรอยู่ครับ เดินทางผ่านกันไปผ่านกันมาอยู่นี่แหละ เข้ามาคุยกันหน่อยได้ไหม มีอะไรมาให้ดู มาให้ฟัง

พอเข้ามาใน Grammy ไล่ฟังเพลงเหมือนกับคนอื่น ปรากฏว่า (เขา) ชอบเพลง 'อยู่คนเดียว' แล้วก็เปิดฟังหลายรอบมาก เปิดย้อน ผมก็นั่งอยู่  ซึ่งสำหรับผม เพลงอยู่คนเดียวตอนนั้น ผมคิดว่าจะทำมันให้ตัวเอง ถัดจากไม่เคยกับเข้ากันไม่ได้ ผมวิเคราะห์ว่าผมน่าจะโตไปทางนี้ ร้องแบบอาร์แอนด์บี 

แล้วอาร์แอนด์บีแบบไหนที่เป็นเพลงที่ 3 เพราะว่าทั้งสองเพลงมันก็เป็น medium ออกช้า เป็นเพลงซึ้ง เราคงจะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้แล้ว ก็เลยมาเป็นอยู่คนเดียวผมนึกถึง Beyoncé น่าจะเป็นการร้องกระชากดุดันแบบนี้ เพราะผมฟังหลาย คนมา ผมรู้สึกว่าผมถูกใจผู้หญิงคนนี้ ซึ่งเฮ้ย มันก็จะแปลกไปอีกถ้าผมเป็นผู้ชาย คือไม่มีใครรู้หรอกว่ามันถูกผสมมาแบบนี้ แล้วเพลงนี้ก็เข้ากับลีลาของมัน

ซึ่งขั้นตอนการทำ จุดประสงค์อย่างหนึ่งที่ถูกใส่ลงไปคือทำยังไงก็ได้ ผมไม่มีค่ายของตัวเอง ไม่มีสังกัด ไม่มีใครสนับสนุน ถ้าเราเป็นตัวคนเดียวเราไปส่งวิทยุ อันนั้นคิดเองเออเองนะ มันต้องเด้งออกมาให้ได้ มันต้องสะกิดหู แล้วดีไม่ดีไม่รู้ด้วยนะ ถ้าเขาบอกว่ามันไม่ดี แต่เขาวิจารณ์แล้วเขาพูดถึงมัน ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ตอนนั้นเรียกว่าแปลกนะครับอยู่คนเดียวกับตอนเย็นเย็นมันเป็นอะไรที่แปลกมาก ซึ่งพี่อาร์มบอกขอให้พี่เบิร์ด ผมนึกในใจไม่ได้แน่  พี่เขาไม่เอาอะไรแปลก ขนาดนี้หรอก นึกในใจนะ แต่ปากก็บอกว่าเอาเลยครับ ก็ลองดู เพราะว่าในใจผมคิดว่าไม่ได้หรอก นี่เพลงของผม 

ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเลย บอก โห ชอบกันมากเลย พี่เล็ก-บุษบา (ดาวเรือง) ชอบ อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ชอบ ที่ประชุมก็เอา เอาไงดีวะชีวิต ที่สำคัญมันคือเพลงของเราด้วย (หัวเราะ) แต่สิ่งที่พี่อาร์มพูดมันดูใหญ่กว่าที่เราคิดมั้ง ก็ตอบตกลงเขาไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า งั้นโอเคครับพี่ (หัวเราะ)

 

The People : ตอนนั้นยังรู้สึกหวงเพลงอยู่ แม้จะให้พี่เบิร์ดร้อง?

บัณฑิต : (หัวเราะ) นิดหนึ่ง แต่ว่าตัดสินใจได้ไม่ยากเลย เพราะว่าสำหรับผมมันไกลจากตัว เปรียบเทียบการเดินทางทางดนตรีในวันนั้น เหมือนผมเดินอยู่ริมถนนข้างทาง เพื่อนอาจจะชวนให้ไปทำค่ายของเขา เพลงไม่เคย แต่ผมปฏิเสธเพราะผมอยากมีทางของตัวเอง เปรียบเป็นคนก็เหมือนคนที่อยากมีชีวิตของตัวเอง เดินอยู่ริมข้างทางมันสะเปะสะปะ นอกจากถ้าเกิดวันหนึ่งไปเจอสังกัดไหนที่เขาเข้าใจเรา เราก็จะมีบ้านที่อยู่เป็นทางการ

แล้ววันนั้นบ้าน White Music (ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อ White Music) เรียกเข้ามาปุ๊บ แล้วอยู่ดี บอกว่าไม่ใช่แค่ White Music ไม่ใช่แค่กลุ่มคนทำงานกลุ่มนั้น คนที่เหมือนเป็นศิลปินใหญ่ที่สุดของบ้านหลังใหญ่อีกทีหนึ่ง ที่คุมบ้านหลังนี้อยู่ เขาจะต้องร้องเพลงนี้ แล้วหมายถึงคนที่คุมทั้งตึก อากู๋อะไรเขาบอกชอบหมดเลย ผมก็เฮ้ย จริงเหรอ ก็คงต้องไม่ปฏิเสธ (หัวเราะ) ไอ้ความที่เป็นเพลงของเรามันแพ้ไปโดยปริยายเลย

แล้วไอ้ (ความรู้สึก) ที่ติดว่าจะเป็นเพลงของเรา หลังจากวันนั้นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา โปรดิวเซอร์ที่เป็นคู่กับเราที่ผ่านมา ทีแรกภรรยาของโปรดิวเซอร์คนนี้ เขาเป็นรุ่นน้องนะ เขาฟังแล้วบอก โหพี่ ฟังยากนะพี่หมู เพลงมันไม่เหมือนใครเลย นึกถึงตอนนั้นที่ยังไม่มีเพลงหลากหลายมาก ฟังยากในที่นี้ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว เขาไม่รู้จะเอาไปเทียบกับ reference ไหนดี เพราะคนไทยต้องมีว่า เออ เหมือนเพลงนั้นเลย หรือนี่เป็นเพลงช้า แบบเพื่อชีวิต แต่นั่นไม่ได้จัดอยู่ในหมวดอะไรเลย ฟังยากมากพี่หมู แต่พอเป็นเดโมพี่เบิร์ด โคตรเหมาะมากเลยพี่ (หัวเราะ)

แต่พูดจริง เพราะว่าทุกอย่างมันคือพี่เบิร์ด ซึ่งผมยิ่งนึกถึงวันที่ผมรับปากตอบตกลงกับพี่อาร์มว่า อ๋อ เขามองผ่านตัวเจ้าของเพลง เนื้อหามันใช่เขา เนื้อหามันใช่เขายิ่งกว่าตัวผม ผมแต่งกลอนอยู่คนเดียวกับตอนเย็นเย็น และก็ไม่เห็นว่าจะต้องมีใครใครมาเคียงข้างเพลงนี้มันไม่ได้มาจากโห ชีวิตที่เราต้องอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่  มันเป็นมุมของนักแต่งเพลงที่มอง

วันนั้นผมอยู่บนดาดฟ้าตึกในกรุงเทพฯ บริเวณดาดฟ้าใกล้ นั้นมันเงียบมาก ไม่มีอะไรเลย มันเวิ้งว้างแล้วมีแดดรำไรตอนเย็นเหมือนในเพลงแดดอ่อน ตอนเย็น  แต่ผมได้ยินเสียงข้างล่าง เสียงหวอเสียงอะไรเต็มเลย คือมันเป็นเมืองที่มีคนเต็มเลย แต่เป็นเมืองที่เหงามากกับคนที่เหงาคนนี้ แล้วคำตอบของวันนั้นก็ออกมาในใจ เฮ้ย แต่อยู่คนเดียวก็มีความสุขดี ก็อยู่คนเดียวก็ได้วะ

บรรยากาศวันนั้นมันก็เลยเป็นอยู่คนเดียว ซึ่งเหมือนบรรยากาศพาไป แล้วก็เป็นกลอนพาไปด้วย เราดัดคำดัดอะไรให้มันสวยงาม มันไม่ได้ออกมาจากว่าชีวิตฉันเป็นอย่างนี้ แต่พอไปอยู่กับพี่เบิร์ด อยู่ดี เหมือนเราแต่งให้พี่เบิร์ด ก็เลยต้องยอมรับแบบเต็ม  เวลาทบทวนอีกทีก็ยังนึกถึงอยู่เลยว่า อ๋อ ใช่แล้ว น้องเขาพูดถูก เขาไม่ได้กลับกลอก (หัวเราะ) ที่ทีแรกเขาบอกไม่เหมาะกับเรา

 

The People : ตอนนี้การแต่งเพลงให้เข้าถึงคนฟังยากขึ้นกว่าเมื่อก่อน อาจจะเพราะมีเพลงให้ผู้บริโภคเลือกมากขึ้น?

บัณฑิต : เห็นด้วยครับ ตอบคำเดียวว่ายาก ผมคิดว่ายังไงคนเรามันมีทางออกเสมอในทุก อาชีพ ในทุก เรื่อง ถ้าเรายังเป็นคนที่ตั้งใจกับมันอยู่ มี passion กับมันอยู่ ถึง passion ของหลาย คนอาจจะถดถอยลงไป ก็ยังไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรักในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่  คนที่ไม่ได้เลือกอาชีพของตัวเองด้วยความฝืนใจ ถ้าคุณเป็นคนที่เริ่มอาชีพนี้ด้วยความรัก อย่างน้อยถ้าคุณมีความพยายาม มีอะไรดี เกี่ยวกับมัน ขยัน พยายามอะไรเหล่านี้ ผมว่ายังไงมันก็ไปได้ 

เอาง่าย อย่างทุกวันนี้มันก็มีทางของมัน ทั้งที่จริง แล้วสิ่งที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าวงการจะล่มด้วยซ้ำ (หัวเราะ) คิดว่ามันจะอยู่ไม่ได้ ตึก Grammy อาจจะอยู่ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หรือว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่ วันนี้ก็อยู่ได้ ก็ยังอยู่ด้วยรอยยิ้มในเสียงเพลง ในอาชีพของตัวเองอยู่

ตอนเด็ก ผมเคยคิดอย่างหนึ่ง ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อน มอเตอร์ไซค์แม่บ้านต๊อก ๆๆ ขี่เล่นกันในตำบล เป็นช่วงที่เพื่อนรู้เป็นช่วงแรก ว่าผมกำลังคิดว่าจะเป็นนักร้อง เป็นศิลปิน "เฮ้ยหมู แล้วถ้าเอ็งไม่สำเร็จ เอ็งทำยังไงวะ" เป็นคำถามที่ยากมากนะสำหรับคนที่ตอนนั้นอายุ 10 กว่า ก็ไปนั่งคิดอยู่ดี อีกหลายวันผมก็ตอบ "เฮ้ยรู้แล้ว ถ้าไม่สำเร็จก็ทำต่อไปไง เพราะกูยังต้องอยู่กับมันตลอดชีวิตอยู่แล้ว"

มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าเป็นอาชีพที่เราอยู่กับมันได้ตลอดเวลาเช้าจรดเย็น เกิดจากวันที่ผมนอนกอดกีต้าร์แล้วตื่นมาปรากฏ เฮ้ย ผมยังกอดมันอยู่ แล้วมันไม่ใช่แค่วันที่ผมนอนหลับ มัน 2 ปี 3 ปีที่แล้วที่ผมผ่านมา ผมยังไม่เบื่อกีต้าร์เลย แปลว่าผมไม่เบื่อเท่าไอ้บัญชีที่ผมเคยทำตก หรือเคยสอบไม่ได้มา แปลว่าในอนาคตที่คาดการณ์ได้ ผมคงจะอยู่กับมันไปได้เป็น 10 ปี แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง  เหมือนกับวงการดนตรีครับ  ยังไงมันก็ต้องอยู่ได้ ถ้าไม่สำเร็จก็ทำต่อไปไง เพราะว่าสิ่งที่คุณจะเลิกสิ่งนี้ วันที่คุณเลิกทำก็คือวันที่คุณไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เพราะคุณคือดนตรีและดนตรีคือชีวิตของคุณ

สัมภาษณ์ “หมู Muzu” ศิลปินผู้ทำให้ฝันของแม่ ดนตรี และชีวิตจริงเป็นส่วนผสมที่ ‘เข้ากันได้’

The People : ส่วนตัวแล้วคิดว่าดนตรีให้อะไรกับชีวิตเราบ้าง

บัณฑิต : ดนตรีให้ทุกอย่างสำหรับผม มันให้โลกใหม่ทั้งใบของผมเลย สิ่งแรกที่เห็นในชาร์ตตอนนู้นมันให้ความกล้าผม ผมเคยเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ได้กล้าแสดงออก แล้วพอเล่นดนตรีได้ ผมก็อยากแสดงออก (หัวเราะ) ทั้งเศรษฐกิจทำให้ผมอยู่ได้ มีเงินใช้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราทำมานานปีและตั้งใจทำ มันต้องผลิดอกออกผลอยู่แล้ว และให้ผมได้ซาบซึ้งกับสิ่งที่หลายคนไม่ได้ซาบซึ้ง 

เอาเป็นว่าดนตรีเปิดโลกทั้งใบอีกใบหนึ่งให้ผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต การงาน ความรู้สึกนึกคิด แม้แต่ประสบการณ์ภูมิหลังที่เรามองเปลี่ยนไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติ แล้วก็เรื่องความฝัน ความหวัง ดนตรีคือทั้งหมดตรงนั้นเลย

 

The People : ทุกวันนี้ถือว่าเป็นการทำความฝันแทนคุณแม่ไหม

บัณฑิต : ใช่เลยครับ

 

The People : แล้วเคยคุยกับคุณแม่เรื่องนี้ไหม

บัณฑิต : ไม่ได้คุยกันเป็นคำแบบลักษณะตรง หรือเป็นคำสั้น แบบนี้คงจะไม่มี แต่ว่าลักษณะของการอยู่ด้วยกันแบบแม่ลูก มันคงค่อย ผลิดอกออกผลไปเรื่อย  อยู่ในการพูดคุยแบบธรรมดา แม่เดี๋ยวหมูจะไปนั่นนะ เดี๋ยวจะทำไอ้นี่นะ เออ ด้วยน้ำเสียงของเขาที่มีความมั่นใจมากขึ้นในแต่ละปี ผมเปรียบเทียบกับสมัยแรก ที่เขาไม่มั่นใจ โห บางปีอาจจะกลุ้มใจแบบน้ำเสียง... เขาไม่ได้ร้องไห้ แต่น้ำเสียงอาจจะร้องไห้อยู่ก็ได้ว่าจะไหวเหรอ

ชีวิตของผมอยู่กับแม่ 2 คน ผมก็คือแม่คนเดียว แม่ก็คือผมคนเดียว มันค่อนข้างจะเสี่ยงกับอาชีพแบบนี้สำหรับเขา ถามชาวบ้าน แม่ก็รับฟังคนอื่นมา (หัวเราะ) จะได้เหรอ จะนู่นจะนี่ไหม ส่วนเราก็ไม่หวั่นกลัวอะไรเลย ก็คือภูมิใจขึ้นมา แล้วก็เห็นได้ชัดตามปฏิกิริยาของแม่ในทุก ปีที่ผ่านไป โดยเฉพาะปัจจุบันมันชัดเจนขึ้นมาก เลยที่เขามีความสุข 

ถ้าจะตอบแบบเท่ แต่ก็เป็นความจริงนะว่าเห็นความภูมิใจของแม่ได้ชัดเจนจากอะไร คือจากความสุขของแม่ที่มีต่อเรา เวลาเขามองเราในแต่ละย่างก้าวทางดนตรี ในทางอาชีพนี้ เพราะว่าความสุขเหล่านั้นแสดงว่าเขาไม่มีความกังวลเหลืออยู่แล้ว ความกังวลออกไปแล้ว คนเราสามารถสร้างความสุขได้แล้ว

 

The People : ผลงานเพลงต่อไปภายใต้ชื่อหมู Muzu?

บัณฑิต : เพลงล่าสุดคือเพลงรักด้วยชีวิต’ เป็นเพลงที่ผมภูมิใจมากอีกเพลงหนึ่ง มันมีความกลมกล่อมระหว่างเพลงป๊อปฮิตที่มีประโยคโดนใจ แต่ในนั้นผมใส่ความเป็นดนตรีและความเนี้ยบ ความเป็นศิลปะเข้าไปเยอะด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำหรับผมทำมาตลอดอยู่แล้ว 

แต่ว่าเพลงนี้พอถึงปีล่าสุด แน่นอนมันน่าจะลงตัวที่สุด เพราะมีประสบการณ์ดนตรีมากขึ้น แถมยังมีพี่บอล อพาร์ตเมนต์คุณป้า (กันต์ รุจิณรงค์) มาช่วย ซึ่งการทำงานหลายคนมันดีกว่าอยู่แล้ว ทัศนคติค่อนข้างใกล้เคียงกันในเรื่องดนตรี ได้เพลงป๊อปที่สวยงามออกมาเพลงหนึ่ง แล้วก็ฟังง่าย ฟังสบาย เป็นดนตรีที่เราชอบ

ส่วนเพลงต่อไป ผมมีเพลงอยู่เยอะมากครับ หลาย แนวที่คนไม่ได้คาดคิดว่าผมน่าจะมีเพลงแบบนี้ ซึ่งอยากจะออกไปเหมือนกันในอนาคต อยากมีอะไรที่เป็นโปรเจกต์พิเศษที่สามารถถ่ายทอดเพลงที่แปลกออกไป ที่คนไม่รู้ว่าผมชอบแนวพวกนี้ด้วยออกไปเหมือนกัน หวังว่าวันหนึ่งคงได้เข็นเพลงพวกนั้นออกไป

 

The People : “เพลงที่คนอื่นคาดไม่ถึงคือเพลงแบบไหน

บัณฑิต : มันเป็นงานทดลอง แต่ว่าพอผ่านประสบการณ์ไป มันเป็นเพลงที่ผมชอบอีกประเภทหนึ่งด้วย เช่น ผมมีเพลงเพลงหนึ่งที่คล้ายวง Queen เพราะว่าในความคิดแรกผมอยากแต่งเพลงแบบวง Queen สักเพลง แล้วก็ออกมาเป็นเพลงนี้ คนก็จะตกใจว่ามันยังไม่ได้ แต่ทุกเพลงของผมก็เป็นป๊อปอยู่ดี

เพลงนี้จะเป็นร็อกมาก เลย ร็อกที่คนคิดภาพไม่ทันว่าผมจะเป็นอย่างนั้นได้ มันถูกจำกัดด้วยข้อพวกนี้ เลยไม่ได้ออก แต่โดยรวมแล้วผมมีทั้งเพลงป๊อปมาก ป๊อปน้อย แต่ส่วนใหญ่ในนี้เป็นเพลงที่ผมชอบหมดเลย เพราะว่าเกิดจากแรงบันดาลใจ แบบขี่มอเตอร์ไซค์ต๊อก ๆๆ แล้วก็ได้ไอเดียแล้วก็จอดอัดเสียงไว้ แล้วก็ไปทำเดโมซึ่งเป็นเพลงที่ดี เพราะว่าเกิดมาจากอะไรแบบนี้ ความเป็นธรรมชาติของการแต่งเพลง ไม่ได้นั่งแล้วมีคนมาบอกว่าอยากให้เป็นแบบไหน หวังว่าสักวันคงจะได้ออก (หัวเราะ)

 

เรียบเรียงโดย ศุภจิต ภัทรจิรากุล