“สักวาลาจาก” ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

“สักวาลาจาก” ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
ผู้ที่มีอายุช่วงวัยกลางคนขึ้นไป เติบโตมาพร้อม ๆ กับการงานของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หรือที่คนทั่วไปเรียกขานกันติดปากว่า “อาหม่อม” สมัยเป็นเด็กนักเรียน เชื่อว่าหลายคนเคยเป็นแฟนรายการโทรทัศน์ “การบินไทยไขจักรวาล” ซึ่งเป็นรายการ “ควิซโชว์” แรก ๆ ของประเทศไทย ที่นำเด็กนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนทั่วประเทศมาแข่งขันจับซองคำถามตามหมวดหมู่ โดยมีคุณชายถนัดศรีเป็นพิธีกร ผู้อ่านคำถาม เฉลยคำตอบ นักเรียนบางคนเรียนจบชั้นมัธยมเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ได้กลับมาชิงชนะเลิศในรอบปีก็หลายคน คำถามในรายการล้วนเป็นความรู้ที่ดูแล้วสนุกและได้ประโยชน์ ผู้ใหญ่หลายคน เป็นแฟนรายการวิทยุ “ครอบจักรวาล” ที่ออกอากาศไปทั่วประเทศ คุณชายถนัดศรีนำเรื่องราวรอบตัวและทั่วโลกมาเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่ฟังแล้วชวนติดตาม เพราะลีลาการพูดของท่านไม่ใช่การนำบทความมากางอ่าน แต่พูดจากความเข้าใจและประสบการณ์ของท่าน สลับกับการเปิดเพลงที่ท่านได้ขับร้องไว้ “ครอบจักรวาล” เป็นรายการวิทยุที่เราอยากฟังคนจัดรายการพูด ยิ่งพูดมาก ๆ ยิ่งชอบฟัง ท่านเคยกล่าวไว้ว่าเป็นนักจัดรายการวิทยุ ถ้าคนฟังบอกว่าอยากฟังเพลงแต่ไม่อยากฟังคนจัดรายการพูด นั่นหมายถึงจุดจบของอาชีพนี้ นอกจากการเป็นนักเขียน นักแสดง นักชิม พิธีกร ฯลฯ แล้ว ท่านยังมีความสามารถอีกหลายด้าน จนได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) เมื่อปี  2551 คุณชายได้เล่าบนเวทีคอนเสิร์ตหนึ่งว่า สมัยที่ท่านเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยต้องปิดเพราะสงครามโลก ท่านเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับภรรยาของครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงได้เป็น “เด็กฝาก” ไปอยู่ในวงสุนทราภรณ์ ฝีมือการขับร้องของท่านไม่ธรรมดา นับได้เป็นมืออาชีพจริง ๆ พิสูจน์ได้จากเพลงที่ท่านบันทึกเสียงไว้มากมายหลายร้อยเพลง แต่คุณชายไม่ได้เป็นนักร้องที่เดินสายกับวงดนตรี หากเลือกจะอยู่เบื้องหลังตลอด นอกจากนี้ท่านยังมีความจำที่ยอดเยี่ยม สามารถจดจำบทเพลงในวงสุนทราภรณ์ได้มากมาย ไม่เฉพาะเพลงที่ท่านร้องเท่านั้น บางเพลงนักร้องต้นฉบับจำเนื้อไม่ได้ แต่อาหม่อมสามารถบอกเนื้อร้องหรือร้องแทนได้ เคยร้องเพลงแทนครูเอื้ออยู่บ่อย ๆ เมื่อหัวหน้าวงไม่สามารถมาขับร้องเพลงได้ บทเพลงที่คุณชายขับร้องกับวงสุนทราภรณ์จนโด่งดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางคือเพลง ‘ยามรัก’ ประพันธ์โดย ครูสุรพล โทณะวณิก มีเนื้อเพลงที่งดงามมาก ได้รับการบันทึกเสียงหลังจากคุณชายกลับจากเรียนที่ประเทศอังกฤษ “ยามเช้าพี่ก็เฝ้าคิดถึงน้อง ยามสายพี่หมายจ้อง เที่ยวมองหา ยามบ่ายพี่วุ่นวายถึงกานดา ยามเย็นไม่เห็นหน้าผวาทรวง...” แต่บทเพลงที่คนรุ่นหลังจะนึกถึงเป็นเพลงแรก ๆ ในฐานะนักร้อง คือ เพลง ‘หวงรัก’ ที่ขึ้นต้นว่า “ของของใครของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง ห่วงใยรักใคร่ถนอม...” มีศิลปินนำมาขับร้องใหม่หลายคน และเพลงต้นฉบับก็มียอดวิวหลักล้านในช่องยูทูบ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ที่มีลีลาการร้องแบบเฉพาะตัว มีการเอื้อนที่หวานไพเราะ เสียงนาสิกที่มีเสน่ห์ ยกตัวอย่างเพลง ‘สายสร้อยร้อยใจ’ ‘ดอกไม้เมืองกรุง’ ที่เพียงแค่ช่วงคำขึ้นต้นเพลง ก็สามารถสะกดให้ฟังจนจบเพลง บางเพลงชวนให้น้ำตาไหลตามเพลงโดยไม่รู้ตัวก็มี คุณชายเป็นนักร้องที่ร้องเพลงได้หลายจังหวะ เพลงยากเสียงสูงสุดต่ำสุดก็ไม่มีจุดบอด เพลงที่ว่ายาก ๆ อาทิ ‘ผีเสื้อกับดอกไม้’ ของครูล้วน ควันธรรม คุณชายบันทึกเสียงร้องแบบฟังกันสบาย ๆ มาแล้ว ส่วนเพลงจังหวะสนุก ๆ ก็มีมากมาย ทั้งรำวงอย่าง ‘สาวตางาม’ ‘ขุ่นลำโขง’ ‘แล้งในอก’ ‘เว้าสาวอีสาน’ ที่คุณชายร้องและมีสำเนียงถิ่น เพลงจังหวะตลุง อย่าง ‘ตลุงเข้ากรุง’ หรือ ‘กลัวจะรักไม่จริง’ ในจังหวะออฟบิต ก็เป็นเพลงที่วงลีลาศขาดกันไม่ได้เลยทีเดียว เพลงเกี่ยวกับสถานที่ที่เราอาจไม่เคยรู้จัก แต่ฟังเพลงของที่คุณชายขับร้องแล้ว ทำให้อำเภอหรือสถานที่นั้น ๆ โดดเด่นอยู่ในความทรงจำ อาทิ เพลง ‘สาวบ้านบึง’ ‘ทุ่งบางพลี’ และเพลง ‘สีชัง’ ที่ขึ้นต้นว่า “สีชัง...ชังแต่ชื่อ เกาะนั้นหรือจะชังใคร ขอแต่แม่ดวงใจ อย่าชังชิงพี่จริงจัง....” คำร้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2457 ทำนองโดยครูสง่า อารัมภีร เพลง ‘สีชัง’ นี้เองที่ทำให้คุณชายได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ นักร้องชายรองชนะเลิศ งานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 พ.ศ.2507 นอกจากนี้ยังมีเพลงขับร้องคู่ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่างานแต่งงานหรือร้านคาราโอเกะเป็นต้องได้ยินกัน ต้นฉบับก็เป็นคุณชายถนัดศรีขับร้องคู่กับนักร้องหญิงหลายคน ได้แก่เพลง ‘รัก’ ท่านร้องคู่กับพิทยา บุณยรัตพันธุ์ ที่ขึ้นต้นว่า “แสงจันทร์นวลผ่อง นภาพราวพร่างดังทองยิ่งมองแล้วสุขอุรา...” ท่อนแยกเปลี่ยนจังหวะเป็นสนุก ๆ ว่า “คำก็รักสองคำก็รัก น้องใคร่ทราบนัก รักมากเท่าไหร่...” ส่วนเพลงที่คุณชายร้องคู่กับรวงทอง ทองลั่นทม อีก 2 เพลง กลายเป็นเพลงอมตะ คือเพลง ‘วนาสวาท’ ที่ว่า“ฉันคิดถึงเธอ ตั้งแต่หัวค่ำ จนอุษาสาง...” เพลง ‘รักเธอเสมอ’ ที่ร้องว่า“ดวงฤดีของพี่นี่หนอ  ถูกใครฉ้อช่วงชิงไป...”   คุณชายมีผลงานเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นต้นฉบับให้นักร้องรุ่นหลังนำมาร้องมามาย อาทิ ‘ทะเลระทม’ ‘ธาราระทม’ ‘ตราบสิ้นลม’ ที่ฟังแล้วระทมจนน้ำตาจะไหล เพลง ‘พรานเบ็ด’ (“ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง...”) ‘ขอโทษ’ ‘พนันรัก’ ‘สายสร้อยร้อยใจ’ ‘เที่ยงคืน’ ‘กุหลาบในมือเธอ’ ฯลฯ ที่ควรหาจะลองฟังกัน และยังมีอีกหลายเพลงที่เป็นเพลงดี แต่ไม่ดัง ก็ล้วนแต่มีความไพเราะเฉพาะตัวในแต่ละเพลงไม่ซ้ำกัน   นอกจากคุณชายจะให้ความรู้ ความสุขในด้านภาพและเสียงแล้ว ยังให้ “ชีวิต” กับธุรกิจมากมาย ผ่านเครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” ที่เปรียบดังมิชลินไกด์ของไทย แนะนำอาหารอร่อยมีคุณภาพทั่วประเทศ ร้านใดได้เครื่องหมายและรักษาคุณภาพให้คงที่ ก็มีแนวโน้มขายดีไปชั่วลูกชั่วหลาน ด้านอาหารนี้เองที่ลูกชายของท่านคือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือ “หมึกแดง” และ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือ “ปิ่นโตเถาเล็ก” ได้เดินตามรอยท่าน พาชิมอาหารเด็ด พาชมร้านอร่อย ทั่วเมืองไทยและต่างประเทศ ผลงานของคุณชายถนัดศรียังปรากฏเป็นข้อเขียนตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกมายมาย กลายเป็นคลังความรู้สู่คนรุ่นหลัง ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสามารถรอบด้านอย่างแท้จริง เข้าถึงทั้งชาวบ้านร้านช่องไปจนถึงสังคมระดับสูง และสิ่งที่ประทับใจคนไทยเสมอมาคือท่านเป็นคนที่วางตัวสบาย ๆ มีอารมณ์ขัน หลายคนที่ใกล้ชิดจะได้ยินเรื่องสัปดนที่ท่านเล่าได้อย่างสนุกไม่น่าเกลียด  เมื่อทราบข่าวการจากไป หลายคนนึกถึงเพลง ‘สักวาลาจาก’ ที่คุณชายขับร้องไว้ เป็นเพลงที่ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม ลาวดำเนินทราย ซึ่งต่อแต่นี้ไปคงเหลือเพียงแต่เสียงไว้เป็นอนุสรณ์             “เอ๋ยสักวา ฟังเพราะเสนาะเหลือ  มิรู้เบื่อบทกลอนอาวรณ์หวัง อันวาจาลาไปแต่ใจยัง เป็นห่วงหลัง   เป็นห่วงหลังจำลาสุดอาลัย             เสียดาย  เสียดายแสงเดือน เสียดายว่าจะเลื่อนลาลับแล้ว ในใจมัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ในใจนั้นไม่แคล้วครรไลลา เจียวหนา ในใจเอย             เห็นว่าดึก เห็นดึกเห็นดื่น คิดคิด จะคืน คืนคิดครรไล จำจิตจำใจ จำจากกันไกล ไปเอย...”   เรื่อง: เคน สองแคว ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=OejrdVKf748