มูซาเฟอร์ เชอริฟ: The Robbers Cave Experiment กับคำถามถึงจริยธรรมการทดลอง

มูซาเฟอร์ เชอริฟ: The Robbers Cave Experiment กับคำถามถึงจริยธรรมการทดลอง
บ่อยครั้งที่การทดลองทางจิตวิทยาช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ‘การทดลองกับมนุษย์’ ก็มีความเสี่ยงในเรื่องจริยธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการทดลองได้เช่นกัน หนึ่งในกรณีศึกษาที่เราอยากชวนมาถอดบทเรียนครั้งนี้คือการทดลอง ‘The Robbers Cave Experiment’ โดย ‘มูซาเฟอร์ เชอริฟ’ (Muzafer Sherif) นักจิตวิทยาสังคมสัญชาติตุรกี-อเมริกัน ที่ทดลอง ‘สร้างความขัดแย้ง’ ให้กับเด็ก ๆ วัย 11 ขวบ เพื่อสนับสนุน ทฤษฎี Realistic Conflict Theory หรือ Realistic Group Conflict Theory ที่กล่าวถึงการเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มจะเกิดขึ้นจากการแข่งขันเมื่อทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด   'The Robbers Cave Experiment' การทดลองสร้างความขัดแย้ง  ในปี ค.ศ. 1954 เชอริฟคัดเลือกเด็กผู้ชาย 22 คน อายุเฉลี่ยประมาณ 11-12 ปี ที่มีพื้นเพใกล้เคียงกัน ไม่รู้จักกันมาก่อน และได้รับการทดสอบว่าพวกเขาเป็นคนที่ปรับตัวได้ดี เข้ามายังค่ายฤดูร้อนใน Robbers Cave State Park รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา โดยที่ไม่รู้ว่านี่คือการทดลองทางจิตวิทยา จากนั้นพวกเขาจะถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนกอินทรี (the Eagles) กลุ่มที่สองคือกลุ่มงูหางกระดิ่ง (the Rattlers) เชอริฟเริ่มจากการให้กลุ่มเดียวกันสร้างความสัมพันธ์และใช้เวลาด้วยกัน โดยไม่รู้ว่ามีอีกกลุ่มอยู่ในค่ายฤดูร้อนแห่งนี้ด้วย เมื่อเด็ก ๆ เริ่มทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มแล้ว เชอริฟจะพาสมาชิกทั้งสองกลุ่มมาเจอกันพร้อมสร้างบรรยากาศการแข่งขัน เช่น เบสบอล ชักเย่อ และการแข่งขันอื่น ๆ โดยผู้ชนะจะได้รางวัลและถ้วยรางวัล เมื่อการแข่งขันเริ่มเข้มข้นขึ้น จากการเหน็บแนมฝ่ายตรงข้ามด้วยวาจา เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นการบุกค้นที่พักของอีกฝ่าย ขโมยสิ่งของ ไปจนถึงการเผาธงของฝ่ายตรงข้าม เชอริฟได้พยายามลดความขัดแย้งนี้ลง ด้วยการพาเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมพักผ่อนร่วมกัน เช่น การกินข้าว ดูหนัง แต่ผลปรากฏว่าเด็ก ๆ แย่งอาหารและทะเลาะกันตรงนั้นแทน เชอริฟจึงใช้วิธีใหม่ด้วยการสร้างสถานการณ์ให้ทั้งสองกลุ่ม ‘มีเป้าหมายร่วมกัน’ เช่น การทำให้ระบบน้ำในค่ายมีปัญหา หรือรถขนอาหารสตาร์ทไม่ติด โดยสถานการณ์เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มนกอินทรีและกลุ่มงูหางกระดิ่งเท่านั้น โชคดีที่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พวกเขามีความขัดแย้งลดน้อยลง การรับรู้เกี่ยวกับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น (จากแบบสำรวจของผู้ทำการทดลอง) และเริ่มมีมิตรภาพระหว่างสมาชิกต่างกลุ่ม อย่างวันสุดท้ายในค่าย เด็กบางคนขอให้เพื่อน ๆ นั่งรถบัสกลับบ้านด้วยกันทั้งหมด เรื่องราวคล้ายจะจบลงด้วยดี และแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีการจัดกลุ่มสังคม (social categorization) ของตัวเอง เพื่อให้แยกแยะได้ว่าใครเป็นพวกเดียวกับตัวเอง (ingroup) หรือใครที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน (outgroup) ทั้งยังเป็นไปตามทฤษฎี Realistic Conflic Theory ที่มนุษย์เกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกันเมื่ออยู่ท่ามกลางการแข่งขันและทรัพยากรจำกัด ซึ่งการมีเป้าหมายที่ ‘ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพัง’ จะช่วยเชื่อมประสานทั้งสองกลุ่มให้กลับมาปรองดองกันอีกครั้ง เรื่องราวเหล่านี้นับเป็นกรณีศึกษาอันเลื่องชื่อในแวดวงจิตวิทยา ทั้งยังถูกบรรจุลงในตำราเรียนหลายแห่ง แต่นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดที่พิสูจน์ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงจริยธรรมการทดลอง และช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจนอาจไม่สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมในชีวิตจริงของมนุษย์   ช่องว่างของการทดลอง ข้อจำกัดของการทดลองนี้มีตั้งแต่เพศ ช่วงวัย และจำนวนของผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นเด็กชายอายุใกล้เคียงกันในอเมริกา และมีเพียง 22 คนเท่านั้น ทั้งยังแบ่งกลุ่มด้วยวิธีการสุ่ม ต่างจากชีวิตจริงมนุษย์มักจะแบ่งกลุ่มตามความสนใจหรือความสมัครใจมากกว่า เช่น ทีมฟุตบอล สมาชิกในชมรม องค์กร โรงเรียนต่าง ๆ แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือจริยธรรมของการทดลองนี้ โดยในปี 2018 เว็บไซต์ของ The Guardian ได้เผยแพร่บทความที่พูดคุยกับจีนา เพอร์รี่ (Gina Perry) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ ‘The Lost Boys’ เล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการทดลอง ‘The Robbers Cave Experiment’  เพอร์รี่กล่าวว่าจริงๆ  แล้ว เชอริฟสนใจเรื่องพฤติกรรมมนุษย์โดยเฉพาะการรวมกลุ่มและพฤติกรรมของกลุ่มมาตั้งแต่ต้น จากนั้นในปี ค.ศ. 1953 เขาได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (the Rockefeller Foundation) เพื่อทำการวิจัย แต่ผลการทดลองที่ได้กลับไม่สนับสนุนทฤษฎี Realistic Conflict Theory และสมมติฐานของเขา เพราะเด็ก ๆ กลับสามัคคีกัน แถมยังจับได้ว่าเป็นฝีมือการยุยงและการสร้างสถานการณ์ ไม่ใช่ฝีมือของฝ่ายตรงข้าม แต่ไหน ๆ ก็ได้ทุนมาแล้ว เชอริฟไม่อยากจะกลับไปมือเปล่า เขาจึงล้มเลิกการทดลองนี้ และแทบไม่ได้พูดถึงมันอีก ก่อนจะเริ่มการทดลองใหม่ในปีถัดมา กลายเป็น ‘The Robbers Cave Experiment’ ซึ่งมีบางส่วนที่ต่างไปจากการทดลองก่อนหน้า เช่น การทดลองครั้งแรก เด็กทุกคนจะรู้จักกันก่อนแบ่งเป็นสองกลุ่ม แต่ The Robbers Cave Experiment เด็ก ๆ จะถูกแบ่งกลุ่มและเพิ่งมารู้ว่ามีอีกกลุ่มหนึ่งหลังผ่านไปหลายวัน แต่สิ่งที่สองการทดลองนี้มีเหมือนกันคือ เด็ก ๆ ไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง จนกระทั่งเพอร์รี่ได้ไปพูดคุยกับพวกเขาหลังจากผ่านไปนานหลายปี นี่จึงเป็นเหตุผลให้เธอตั้งชื่อหนังสือว่า The Lost Boys Doug Griset อดีตเด็ก ๆ ในค่ายฤดูร้อนครั้งนั้นกล่าวว่า “ผมไม่ได้รับบาดแผลอะไรจากการทดลองนั้นหรอก แต่ผมไม่ชอบทะเลสาบ แคมป์ กระท่อมหรือเต็นท์ที่นั่นเลย” Griset เล่าว่าเขาประหลาดใจที่จดหมายถึงพ่อแม่เมื่อ 50 ปีก่อนกลับบอกในทำนองที่ว่า ผู้อำนวยการค่ายมีความสนใจที่จะค้นหาว่าอะไรจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดีและสามารถเป็นผู้นำได้ในอนาคต (แต่ใครจะรู้ว่าความจริงคือพวกเขาจะได้ส่งลูกชายไปทะเลาะกับเด็กคนอื่น ๆ ในค่าย) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่รู้สึกไม่สบายใจเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง   #บทเรียนจากการทดลอง เพอร์รี่กล่าวว่า การทดลองเหล่านี้อาจมีผลมาจากประสบการณ์ในวัยเยาว์ของเชอริฟที่เคยพบเจอความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติ เขาจึงพยายามทำความเข้าใจทั้งสาเหตุและวิธีการแก้ไข เพียงแต่วิธีการของเชอริฟยังยึดติดกับการทดลองในยุคหนึ่งที่มีไว้เพื่ออธิบายหรือยืนยันทฤษฎี เขาจึงทิ้งการทดลองครั้งแรกไป ไม่ได้อธิบายหรือศึกษาต่อถึงสาเหตุที่ผลการทดลองไม่เป็นไปตามที่คิด  ทั้งที่จริงผลการทดลองที่ต่างออกไปอาจจะนำไปสู่หนทางใหม่ ๆ หรือการค้นพบอะไรที่น่าสนใจก็เป็นได้  นอกจากนี้ ประสบการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในค่ายอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจหรือเป็นประสบการณ์ทางลบที่ติดตัวเด็กบางคนไปจนกระทั่งเติบใหญ่ ทั้งยังมีความเสี่ยงในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความรุนแรงหรือสร้างความปรองดองได้  ดังนั้น บทเรียนจากการทดลองครั้งนี้ ในมุมของผู้ทดลองคือ จริยธรรมการทดลองที่ต้องคำนึงถึงและ ‘รับผิดชอบ’ ต่อคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในการทดลองนั้น หรือคนที่ได้รับรู้ และเรียนรู้จากผลการทดลองดังกล่าว ส่วนอีกบทเรียนสำคัญ คือ การกระตุ้นเตือนให้เราตระหนักว่า การทดลองทางจิตวิทยาเป็นเพียงการหา ‘แนวโน้ม’ ของพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้เรามีหลักฐานที่มาสนับสนุนหรือโต้แย้งแนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งทุกการทดลองล้วนมีเงื่อนไข มีข้อจำกัดเสมอ ผลการทดลองแต่ละครั้งจึงอาจจะ ‘เป็นจริงในบางเงื่อนไข’ และอนาคตอาจจะมีข้อมูลใหม่ ๆ ที่แตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็เป็นได้   ที่มา https://www.thoughtco.com/robbers-cave-experiment-4774987 https://www.age-of-the-sage.org/psychology/social/sherif_robbers_cave_experiment.html https://www.simplypsychology.org/robbers-cave.html https://study.com/academy/lesson/muzafer-sherif-robbers-cave-experiment-autokinetic-effect.html https://www.theguardian.com/science/2018/apr/16/a-real-life-lord-of-the-flies-the-troubling-legacy-of-the-robbers-cave-experiment  https://www.apa.org/ed/precollege/psychology-teacher-network/activities-books/lost-boys   ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=8PRuxMprSDQ&t=208s