“ทีวี ธันเดอร์” เปิดพื้นที่ให้เด็กพอกะเทินลูกอีสานเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ใน “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์”

“ทีวี ธันเดอร์” เปิดพื้นที่ให้เด็กพอกะเทินลูกอีสานเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ใน “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์”
“เฮาบ่เก่งหยังเลยนอกจากเต้นหน่าฮ่าน” ประโยคบอกเล่าจาก “ยุพิน” นางเอกจาก AIS PLAY ORIGINAL “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์” ที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมไม่น้อยจนโด่งดังไปทั่วสังคมโซเชียลมีเดียติดท็อป 3 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทย เป็นซีรีส์แนวโรแมนติคคอมเมดี้ Coming of Age ที่เล่าเรื่องวัยรุ่น ครอบครัว การเติบโต ความฝันและชีวิตในยามเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ภายใต้แสงสีของเวทีหมอลำ และเสียงดังกระหึ่มของลำโพงข้างเวที จากผลงานการผลิตร่วมกันระหว่าง AIS PLAY และทีวี ธันเดอร์ ที่มีความตั้งใจเสนอเรื่องเล่าหลากหลายแง่มุมที่นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมกระแสหลักที่ยึดครองพื้นที่สื่อในไทยมาโดยตลอด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ตลาดซีรีส์และอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยกำลังขยายตัวไปไกลในระดับโลก   ฉากที่ถูกฉายในภาพยนตร์ ถูกต่อยอดเป็นภาพสะท้อนวัยรุ่นพอกะเทินที่ชัดเจนในซีรีส์ ภาพยนตร์หน่าฮ่านที่ออกฉายไปเมื่อปี พ.ศ. 2562  โดยผู้กำกับ ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับสาวชาวอีสาน เขียนบทร่วมกับ อ้วน-นคร  โพธิ์ไพโรจน์ ผู้หยิบยกเรื่องราวสมัยเป็นเด็กเข้ามาสอดแทรกได้อย่างน่าสน ทำให้ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของอีสานได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ด้วยการถ่ายทอดความจริงใจของเนื้อเรื่องทำให้ ทีวี ธันเดอร์ มองเห็นเสน่ห์แห่งความแตกต่าง จึงหยิบยกคอนเทนท์ธรรมดาเรื่องนี้มาทำให้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เพราะหากมองดูตลาดซีรีส์ในปัจจุบันเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นของคนเมือง สถาบันการศึกษาที่ใช้ดำเนินเรื่องราวมักเป็นโรงเรียนเอกชนหรือแม้แต่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องราวทีเข้าถึงได้จริงๆ เป็นเพียงมายาคติที่คนดูส่วนใหญ่วาดภาพขึ้นเอง หากความตั้งใจคือการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยให้โกอินเตอร์ได้ อีสานน่าจะเป็นตัวแทนทีมชาติได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเสน่ห์ของดนตรีอีสานที่สนุก เข้าถึงง่าย และมีอัตลักษณ์ คนฟังดนตรีจะรู้ว่าดนตรีอีสานถูกเบลนด์เข้ากับดนตรีทั่วโลกได้ ทำให้หน่าฮ่านในฉบับซีรีส์ ได้มีการแทรกประเด็นเพิ่มเติมจากต้นฉบับภาพยนตร์ ทั้งประเด็นของวิถีชีวิตวัยรุ่น การวิพากษ์ระบบการศึกษาของไทยที่มักให้ความสำคัญแต่กับเกรดและคาดหวังให้เด็กทุกคนในระบบเป็น “เด็กเรียนดี” จนละเลย “เด็กกลางๆ” หรือ “เด็กพอกะเทิน” ไป จนสุดท้ายเด็กกลุ่มนี้ก็ต้องหลุดไปจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งที่หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กกลุ่มนี้อาจจะไปได้ไกลกว่าที่สังคมเคยมองหรือตีตราไว้ก็เป็นได้ “ทีวี ธันเดอร์” เปิดพื้นที่ให้เด็กพอกะเทินลูกอีสานเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ใน “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์” “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์” บอกเล่าเรื่องราวของเด็ก “พอกะเทิน” กลุ่มเด็กกลางๆ ที่ไม่ได้เรียนเก่งแต่ก็ไม่ใช่เด็กเกเรเหลวแหลก เด็กวัยรุ่นที่รักการไปเต้นหน่าฮ่าน ตัวละครหลักอย่าง ยุพิน’ (กุ๊งกิ๊ง-ปฏิมา) เป็นเด็กสาวที่กำลังจะขึ้นม.6 ผู้รักการเต้นหน่าฮ่านเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็กสืบทอดมาจากแม่ที่เป็นอดีตหมอลำเก่า ยุพินไปบังเอิญเจอกับ สิงโต’ (พร้อม-ราชภัทร) เด็กหนุ่มนักดนตรีที่พยายามหาเงินด้วยลำแข้งตัวเองที่หน้าเวทีหมอลำ ตอนไปเต้นหน่าฮ่านกับแก๊งเพื่อนและเริ่มสปาร์คกันตั้งแต่วันนั้น แต่เรื่องความรักก็ซับซ้อนกว่าเดิมเมื่อ สวรรค์’ (พันเตอร์เดชพิสิษฐ์) เด็กนักเรียนดีเด่นที่กำลังจะลงชิงตำแหน่งประธานนักเรียนก็แอบชอบยุพิน  อยู่เช่นกัน หนำซ้ำ โยเย’ (มายด์- ศิริกาญจน์) ลูกสาวผู้อำนวยการโรงเรียนสุดแซ่บก็ดันมาชอบพออยู่กับสวรรค์เสียอีก ความซับซ้อนของความสัมพันธ์จึงโยงใยขึ้นจากนั้น ส่วนเหล่าแก๊งเพื่อนๆ อย่าง เติ้ลไม้’ (แฟรงค์-ธนัตถ์ศรันย์), ‘แคลเซียม’ (พิมพิมพ์พิสุทธิ์, ‘เป็กกี้’ (ติวเตอร์เจษฎา) และ หอยกี้’ (ปุยฝ้าย อัจฉราภรณ์) เองก็มีเรื่องยุ่งๆ ให้ปวดหัวอยู่ไม่น้อย ทั้งเติ้ลไม้ที่ต้องแอบคบกับแคลเซียมเพื่อนสนิทบังหน้าเพื่อปกปิดความจริงที่ตัวเองเป็นเกย์ หรือหอยกี้ที่เกิดตั้งท้องในวัยเรียน   ความเจ็บปวดจาก ‘มาตรฐานสังคม’ นอกเหนือจากเรื่องราววุ่น ๆ ของวัยรุ่นพอกะเทินที่นำเสนอออกมาแล้ว ในซีรีส์ยังนำเสนอประเด็นเรื่องความฝันที่หลากหลายรูปแบบผ่านมุมมองที่แตกต่างกันของตัวละครยุพิน และสวรรค์ ยุพินเชื่อว่าคนทุกคนย่อมต้องมีฝัน หากไม่มีฝันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ในขณะที่สวรรค์ ตอบโต้กลับไปว่าตัวเขาเองก็ไม่เคยมีความฝัน แต่เขายังมีชีวิตอยู่ดี ยังไม่ล้มหายตายจาก เพียงทำตามสิ่งที่ถูกบอกไว้ว่าเป็น “หน้าที่” ของเด็กนักเรียนชั้นม.6 เพียงเท่านั้น ตัวละครอย่างสิงโต ที่ถูกตั้งคำถามจากเด็กนักเรียนดีเด่นอย่างสวรรค์ว่า “รู้ไหมว่าหน้าที่ของเด็กนักเรียนม.6 คืออะไร” ซึ่งคำตอบที่สวรรค์คิดก็คงเป็น “การเรียน” คำถามนี้เกิดขึ้นเพราะสิงโตดูเป็นตัวละครที่แปลกแยกไปจากนักเรียนคนอื่นๆ สิงโตเป็นตัวละครหลักเพียงตัวเดียวในเรื่องที่ไม่เคยใส่ชุดนักเรียนและเลือกที่จะไม่เรียนหนังสือตามค่านิยมที่สังคมเห็นดีงามว่าเด็กทุกคน “ต้องเรียน” แต่สิงโตเลือกที่จะทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จและสร้างอนาคตตัวเองได้ในบ้านเกิดโดยไม่ต้องตะเกียกตะกายไปทำงานในเมืองกรุง สิงโตไม่ใช่เด็ก “กบฎ” เพียงเป็นเด็กวัยรุ่นที่คิดว่าหนทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้มีแค่ทางเดียว ในภาพใหญ่กว่านั้นสิงโตยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายความเจริญและงานต่างๆ ที่มักจะกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่จุดเดียว  ความแตกต่างทางความคิด ค่านิยม หรือการปลูกฝังจากครอบครัวจะถูกสะท้อนผ่านการตัดสินใจและการกระทำต่างๆ ของตัวละครในเรื่อง จะเห็นว่าหอยกี้ พร้อมที่จะโอบรับการเป็นแม่วัยเรียนได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจนัก แม้ในห้วงแรกจะกังวลเล็กน้อยว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร แต่ด้วยความสนับสนุนของเป๊กกี้ น้องชายฝาแฝดผู้เป็นเพศหลากหลาย มองว่าการที่เธอหอยกี้ตั้งครรภ์ในวัยเรียนไม่ใช่ความผิดพลาด หรือเรื่องน่าอาย หรือการที่เติ้ลไม้ พยายามจะปิดบังเพศสภาพของตัวเองเพราะกลัวว่าแม่จะเสียใจ หรือแม้แต่การที่ต้องโกหกว่าตัวเองสอบได้ที่หนึ่งทั้งที่ในความเป็นจริงสอบได้ที่โหล่และต้องซ้ำชั้น การตัดสินใจของเติ้ลไม้เกิดขึ้นเพราะอุปนิสัยของผู้เป็นแม่ที่เป็นคนเข้มงวดและตั้งความหวังไว้กับลูกชายว่าจะต้องมีการมีงานทำที่ดี มีภาพลักษณ์ที่ดีโดยที่ละเลยความต้องการและตัวตนที่แท้จริงของลูก “ทีวี ธันเดอร์” เปิดพื้นที่ให้เด็กพอกะเทินลูกอีสานเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ใน “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์” อะไรคือเสน่ห์ของซอฟต์พาวเวอร์ลูกอีสานที่คนภาคอื่นๆ ต้องดู ในส่วนของการผลิต ทีมงานกองถ่ายทั้งหมดไปถ่ายที่โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวลาเดือนกว่าตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเพื่อให้ได้บรรยากาศความเป็นท้องถิ่นอีสานที่สมจริงมากที่สุด ทั้งทุ่งนา ผา ภูเขา โรงเรียน ลานเต้นหน่าฮ่าน ดังนั้นซีรีส์เรื่องนี้จึงจะสะท้อนทั้งภาพทิวทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่อีสาน รวมไปถึงวัฒนธรรมอาหาร และวิถีชีวิตของคนอีสานที่ถูกสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น การนั่งรถแห่ การเก็บเห็ดในป่ามาทำอาหาร การกินหมูกระทะฉลองที่ลูกชายสอบได้ที่หนึ่ง หรือวัฒนธรรมการไปเต้นหน่าฮ่านที่เป็นจุดเด่นของเรื่อง ทำให้ผู้ที่ได้ชมซีรีส์เรื่องนี้ จะได้เห็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในสื่อกระแสหลัก แต่ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของความเป็นลูกอีสาน “หน่าฮ่านเดอะซีรีส์” จะแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของภาคอีสานที่น่าสนใจและแตกต่างออกไปจากมุมอื่นๆ ที่เคยได้เห็นกัน ติดตาม AIS PLAY Original เรื่อง หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ ผลิตโดย TV Thunder ทุกวันจันทร์ทาง AIS PLAY เวลา 22.00 น. และดูพร้อมกันอีกครั้งได้ทาง ช่อง 3 (33) เวลา 23.00 น. EP สุดท้ายวันจันทร์ที่ 11 เมษายนนี้