นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย

นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย
“นี่ไม่ใช่เมืองไทยในจินตนาการของผม” เมื่อพูดถึงประเทศไทย คุณนึกถึงอะไร? ประโยคหนึ่งในวิดีโอไวรัลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของชายหญิงต่างแดนคู่หนึ่ง ที่เมืองไทยได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาคนต่างประเทศที่มีภาพจำว่า เมืองไทยมีชายหาดที่สวย มีอาหารที่อร่อย และมีคนที่ใจดี กลายเป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่มีศักยภาพทันสมัย เทียบเท่าหรืออาจจะเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ผู้ที่มีส่วนอยู่เบื้องหลังในการเปิดภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในครั้งนี้ คือ นภัส เปาโรหิตย์ Chief Marketing Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นักการตลาดที่มีประสบการณ์ในแวดวงการตลาด และการสร้างแบรนด์มานานกว่า 28 ปี โดยครั้งนี้เธอได้นำเสนอทำการตลาดให้โรงพยาบาลในมุมมองใหม่ ผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด Local HERO จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นกระแสที่ได้รับการส่งต่อในวงกว้าง และมีส่วนช่วยเปิดศักยภาพใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของ medical tourism ซึ่งจะมีส่วนสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปในอนาคต ติดตามแนวคิดการตลาดที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์โฆษณาซึ่งจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ประเทศไทยไปตลอดกาลผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ นภัส เปาโรหิตย์ ไปพร้อมกัน นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย The People: ความท้าทายของการทำการตลาดให้โรงพยาบาลในมุมมองของนักการตลาดมืออาชีพ นภัส: การจะทำการตลาดให้โรงพยาบาล สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือการที่เราจะต้องทำความเข้าใจ product ก่อนที่จะทำการสื่อสารการตลาดไป หรือจะคิดแคมเปญอะไร ต้องทำความความเข้าใจแพทย์ที่ทำการรักษาคนไข้ ทำให้เราจะต้องเปิดรับข้อมูลเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ตรงของแพทย์จากการพูดคุย หารีเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบกับทางโรงพยาบาลที่เราคิดว่าเป็นต้นแบบทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป แล้วมาประมวลผลทำความเข้าใจกับเรื่องราวของการรักษา จากนั้นแปลออกมาให้เป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย และที่สำคัญต้องสนุกสนานและน่าติดตาม อันนี้ก็เป็นเสน่ห์ของการทำงานโรงพยาบาล เรื่องของโรงพยาบาลถ้าพูดกันแบบการรักษาเพียว ๆ จะดูเป็นวิชาการเกินไป ในปัจจุบันการทำการตลาดของธุรกิจโรงพยาบาลเลยมองโรงพยาบาลให้เป็นแบรนด์ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของชื่อเสียงโรงพยาบาล ซึ่งเรามองว่าหัวใจของธุรกิจโรงพยาบาลคือคำว่า trust หรือคำว่าน่าเชื่อถือ โจทย์ที่ยากสำหรับโรงพยาบาล คือการเล่นกับตัวแบรนด์นี้ให้มีความรู้สึก ทั้งในเชิงของการใช้งาน ของสินค้า หรือบริการของโรงพยาบาลเอง ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกที่เรียกว่า emotional attachment ความรู้สึกผูกพันกับคนไข้ ความรู้สึกผูกพันกับสังคม ความรู้สึกผูกพันกับชุมชน ไม่ใช่แค่ทำการรักษาเก่ง แต่ต้องมีการดูแลเอาใส่ใจด้วย นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมา เราคิดว่าในทุกสถานการณ์มันมี 2 ด้านเสมอ ด้านหนึ่งเราอาจจะมองว่าโควิด-19 โหดร้ายมาก เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก แต่ว่าในอีกแง่หนึ่งสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลดีเพราะคนหันมาติดตามข่าวสารของโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยอด subscribers ของ YouTube บำรุงราษฎร์ ทะลุ 100,000 ไปเรียบร้อยแล้ว ยอดผู้ติดตามของ Facebook มี followers ประมาณ 1 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจโรงพยาบาลทั่วโลก ตรงนี้เราเริ่มเห็นว่าคนให้สนใจเรื่องราวธุรกิจโรงพยาบาลแล้ว จากเมื่อก่อนที่อาจจะมองว่าน่าเบื่อ ศัพท์ทางการแพทย์ฟังเข้าใจยาก พอมีคนสนใจเราก็ทำการสร้างแบรนด์ต่อยอด ปกติบำรุงราษฎร์เป็นแบรนด์ที่มีคุณลักษณะพิเศษของตัวเอง คือมีการบริบาลที่ดี เรามีการส่งมอบการรักษาที่มีคุณภาพสูง มีคนไข้ต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการกันเยอะ แต่จริง ๆ เราไม่ได้ออกไปโฆษณา หรือได้เล่าเรื่องราวของให้คนอื่นฟังว่าเราเป็นใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยอาจยังไม่ค่อยรู้จักโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราค่อนข้างจะเป็น unsung hero หรือว่าฮีโร่นิรนาม พอเกิดโควิด-19 ที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องระบบการแพทย์มากขึ้น เราน่าจะหาโอกาสนี้อธิบายตัวตนจุดยืนของเรา ซึ่งเราเลือกจะอธิบายให้คนสนใจ ดูแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจหรือประทับใจ ผ่านการทำภาพยนตร์โฆษณา เลยเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง Local HERO The People: ทำไมถึงเลือกสื่อสารการตลาดผ่านภาพยนตร์ Local HERO นภัส: เร็ว ๆ นี้มีโอกาสศึกษาบทความชิ้นหนึ่งของ Baker McKenzie เรื่องการทำ hospital marketing เขาบอกว่าตอนนี้จะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำ ๆ ที่จะทำให้คนรู้สึกเฝือ อย่างเช่น คำว่า ‘We care’ แต่เราต้องสื่อสารเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างการรักษาที่มีผลกับชีวิตคนไข้ การพลิกสถานการณ์ในเรื่องความเป็นความตาย หรืออยู่ระหว่างเส้นบาง ๆ ของการรอดชีวิตกับการสูญเสีย เรื่องนี้ต่างหากที่ควรจะพูดให้มันยิ่งใหญ่ว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพด้านนี้ ไม่เฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เท่านั้น การที่บำรุงราษฎร์ได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลแถวหน้าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นตัวแทนในระดับภูมิภาคเอเชีย ทำให้เราเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ป่วย หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพจากทั่วโลก ปีหนึ่งมีคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งระหว่างที่เดินทางเข้ามาไม่ได้เราต้องสื่อสารเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งผู้ป่วย สำนักงานตัวแทนที่อยู่ในต่างประเทศ สถานทูต ไปจนถึงบริษัท third party ต่าง ๆ อย่างสายการบินที่นำพาผู้ป่วยเข้ามารักษา โดยสิ่งที่จะอธิบายได้ดีคือหนังสักเรื่องหนึ่งที่เล่าภาพความสวยงามต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจ หนังเรื่องนี้เลยถูกทำออกมาเพื่อจุดประสงค์นี้ด้วย ขณะเดียวกันเราก็จำเป็นที่ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปยังผู้ป่วยทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยของบำรุงราษฎร์หรือไม่ก็ตาม เพราะว่าไม่ใช่ชื่อเสียงของบำรุงราษฎร์อย่างเดียว แต่เป็นชื่อเสียงของประเทศไทยและคนไทยทุกคน หนังเรื่องนี้พยายามสะท้อนเรื่องความสามารถทางการแพทย์ของไทยที่ช่วยพลิกสถานการณ์ของคนซึ่งกำลังหมดหวังไม่มีทางออก ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะขนาดแพทย์ในประเทศเขาเองยังแนะนำว่าเขามาถึงระยะสุดท้ายแล้วไม่ต้องเข้ารับการรักษาหรอก แต่แพทย์ของเรารักษาเขาทั้งในเรื่องระบบการหายใจที่ไม่สะดวก ทำการผ่าตัดระบายเอาเลือดที่คั่งค้างอยู่ออกไป ช่วยเขาพลิกสถานการณ์จากที่หดหู่สิ้นหวัง แล้วได้รับความทรมานจากอาการเจ็บปวดให้กลับมาดีขึ้นได้ การทำการตลาดของโรงพยาบาลในตอนนี้เลยต้องพยายามเล่าให้ใหญ่ เพื่อในที่สุดจะสื่อสารไปถึงคนไข้ระดับคุณภาพ หรือนักท่องเที่ยวที่เป็นระดับ high value เข้ามาประเทศเราได้ The People: กลัวกระแสตีกลับเรื่องนำคนไข้ต่างชาติเข้าประเทศไหม นภัส: ตอนแรกเราอยากจะเผยแพร่หนังเรื่องนี้ในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะเรากังวลทุกประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยง ทีมงานเลยยังไม่ตัดสินใจจนนาทีสุดท้ายว่าเราจะเผยแพร่หนังเรื่องนี้ในประเทศไทยหรือไม่ แต่ภายหลังเราดู double head เพื่อตัดสินใจในนาทีสุดท้าย พอหนังจบก็สรุปได้เลยว่าเราจะเผยแพร่ในประเทศไทยเพราะไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน แม้ในหนังจะมีฉากที่คนไข้ถามว่าถ้าต้องเป็นโควิด-19 คุณหมอไม่กลัวโควิด-19 เหรอ หมอก็ตอบว่าก็กลัว แต่มันเป็นหน้าที่ของหมอที่จะต้องให้การดูแลอย่างดีที่สุดแก่คนไข้ ไม่ว่าคนไข้นั้นจะเป็นโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม และในความคิดของตัวเอกตอนท้ายเรื่อง เขาพูดขึ้นมาบอกว่า “ขอบคุณ นี่ไม่ใช่เมืองไทยในจินตนาการของผม เมืองไทยไม่ได้มีแค่ชายหาดสวย ๆ ไม่ได้มีแค่อาหารอร่อย แต่มีคนไทยเป็นคนใจดี และเป็นคนที่พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะมีอุปสรรคสักแค่ไหน ขอบคุณ Thailand ขอบคุณแพทย์” เราได้คิดว่าหนังได้เล่าประเด็นที่ใหญ่เกินกว่าการที่คนไทยด้วยกันจะมามองเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้แล้ว เราคิดว่าเป็นการดีเสียอีกว่า เป็นการกระตุ้นให้เห็นว่า ถ้าเรามีความระมัดระวังรอบคอบ และได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างเข้มงวด การนำเอาคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศ ที่สุดแล้วจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงผลดีในด้านอื่น ๆ ขณะเดียวกันตรงนี้เป็นบทพิสูจน์ฝีมือว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางการแพทย์ที่ดีมากด้วย เรื่องนี้ทำให้เรากลัวประเด็นนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าหนังเรื่องนี้ถ้าฉายไปแล้วจะทำให้คนในประเทศเราเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกอิ่มเอมใจในความสามารถของคุณหมอ ความสามารถของบุคลากรของเรา นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย The People: ภาพลักษณ์ที่ไปไกลกว่าแค่ทำการตลาดให้บำรุงราษฎร์ นภัส: อย่าลืมว่าอันนี้จะไม่ใช่แค่หนัง แต่ว่ามันส่งผลต่อวิธีคิดและความรู้สึกของคน ขอยกตัวอย่างตอนที่ท่านมุ้ย-มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ท่านทำหนังเรื่อง “สุริโยทัย” เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ปรากฏว่ามีคนทัวร์ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรเยอะมาก และทำให้เด็กไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาเยอะขึ้น หรือหนังเกาหลีอย่าง “แดจังกึม” ทำให้การท่องเที่ยวของเกาหลีบูมในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้อาหารเกาหลีดังไปเลย ทั้งที่อาหารไทยเราก็ไม่แพ้อาหารเกาหลี หรืออาจจะอร่อยกว่าด้วยซ้ำไป เราจะเห็นถึง impact ของภาพยนตร์ที่มันมีต่อวิถีชีวิตและผู้คน บำรุงราษฎร์ที่ให้บริการทั้งคนไทยและคนไข้ต่างชาติจำนวนมาก สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเท่านั้น รอบโรงพยาบาล ตั้งแต่แม่ค้าที่เขาขายผลไม้รถเข็น แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ร้านค้ารายย่อยก็ได้รับอานิสงส์จากการที่มีคนไข้ต่างชาติเข้ามาที่โรงพยาบาล เราเลยคิดถ้าหนังเรื่องนี้เผยแพร่ไปแล้ว จะช่วยในการนำเอาคนต่างชาติเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบที่เรียกว่า economic multipliers หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจในเชิงบวกไปถึงรากหญ้าเลยทีเดียว แต่เทคนิคสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการพูดถึง อยู่ที่การทำหนังแบบ emotional marketing แล้วไปได้สุดหรือว่าไปได้ถึงหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัย 2 ประการด้วยกัน คือปัจจัยที่ 1 เราจะต้องจริงใจต่อตัวเราเองก่อน และสิ่งที่เราจะต้องเล่ามันจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เราทำได้จริง ที่เรียกว่า promise ที่เราให้ไว้ หรือว่าพันธสัญญาของแบรนด์ที่ให้ไว้ก็เท่ากับ promise delivery คือต้องส่งมอบพันธสัญญาที่สัญญาไว้แบบนั้นจริง ๆ เราบอกว่าเรามีบริการขั้นสูงที่มีคุณภาพ ระบบมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก เรามีสิ่งที่เรียกว่าบริบาลด้วยความเอื้ออาทร เราต้องส่งมอบให้ได้ตามที่เราให้พันธสัญญาไว้ ในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกันการทำ emotional campaign ต่าง ๆ เราต้องมั่นใจว่าตัวเรามีรากฐานที่ดี หรือพูดอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง แน่นอนบำรุงราษฎร์เราดูแลในเรื่องของคนไข้ทุกคนเป็นอย่างดีและเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นการบริการที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ถ้าคนบำรุงราษฎร์ทั้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แบบในหนังเรื่องนี้จริง ๆ ที่มีความรับผิดชอบ หรือไม่ได้เป็นคนที่สะท้อนถึง value ในประโยคที่ตัวเอกเขาพูดว่า ‘คนไทยเป็นคนที่มีจิตใจดี แล้วก็พยายามจะทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าอุปสรรคจะเยอะแค่ไหนก็ตาม’ คือมีหลายกรณีที่คนไข้ต่างชาติมีปัญหาในการที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ถ้าไม่ติดเรื่องโควิด-19 ก็มีปัญหาอย่างอื่น เรามีทีม Medical coordination ที่มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับต่างประเทศในการนำคนไข้เข้ามา เขาจะทำงานอย่างทุ่มเทจนดึกดื่นเที่ยงคืน ทั้งติดต่อและพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้อย่างที่เห็นในหนัง เพื่อที่จะให้คนไข้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วจุดนี้ก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรของบำรุงราษฎร์ ที่มีความเชื่อว่าเราจำเป็นจะต้องให้การบริบาลอย่างดีที่สุดกับคนไข้ ให้การบริบาลด้วยความเอื้ออาทร และก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้คนไข้เราหายดีหรือว่ามีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเรื่องราวที่เรานำเสนออยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เราถึงจะถ่ายทอดเรื่องนั้นมาแล้วดูไม่มีความเสแสร้งว่าเป็นเรื่องที่เชื่อได้จริง ๆ ส่วนที่ 2 เรียกว่าเวลาเอาไปปฏิบัติในเชิง execution ของการทำแคมเปญนั้น ๆ ต้องทำและไปให้ถึง หนังเรื่องนี้คิดว่าเราคิดจบหมด คิดจบตั้งแต่บทภาพยนตร์ การเลือกเรื่องราวที่จะเข้ามาทำบทภาพยนตร์ ทั้งสถานการณ์ของโควิด-19 ที่คนกำลังสนใจ แล้วเอาเข้ามาผูกโยงกับเรื่องราวที่เห็นเส้นเรื่องต่าง ๆ การถ่ายทำ การเลือกตัวแสดงที่มีความสมจริงที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การตัดต่อ การใช้เพลงประกอบ การร้อยเรียงเรื่องเข้าด้วยกันทั้งหมด ตลอดจนเวลาที่ออกฉาย คือทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ถ้าคิดอะไรผิดไปแม้แต่นิดเดียวหนังจะไม่เป็นอย่างนี้ และจะกลายเป็นการยัดเยียด หรือเป็นความพยายามที่จะสร้างอารมณ์ไปสู่อะไรบางอย่างแทน แต่หนังเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่าวิธีการคิดธีมอะไรมันจบหมด เลยเป็นสาเหตุที่ว่าทำให้ดูแล้วเกิดความซาบซึ้งประทับใจ หลายคนน่าจะคิดมานานแล้วว่าเราควรพูดเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยในทำนองแบบนี้บ้าง แต่สมมติว่าไม่ได้มาพร้อมด้วย execution ที่มันจบสมบูรณ์แบบในตัวเอง หรืออย่างที่บอกทำอะไรผิดพลาดไปนิดเดียว ก็อาจจะไม่ได้เอามาเป็นผลลัพธ์แบบนี้ นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย The People: วัฒนธรรมคนไทยและวัฒนธรรมบำรุงราษฎร์มีส่วนทำให้ต่างชาติประทับใจ? นภัส: แน่นอนที่สุด เพียงแต่บางทีเราอาจจะยังอธิบายไม่ถูกจุด หรือสื่อสารตรงนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ หรือบางทีเพราะความโชคดี หรือความโชคร้าย ที่ประเทศเราพอดีมีชายหาดที่สวยเกินไป หรือมีอาหารที่อร่อยเกินไปหรือเปล่า จนกลบพวกสิ่งที่เราเรียกว่า soft culture หรือวัฒนธรรมอ่อนของเราที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว วัฒนธรรมที่คนใจดี แล้วยังมีความรับผิดชอบสูง และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น มีสิ่งที่เรียกว่า compassionate caring ต่อคนอื่นสูง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมธุรกิจการรักษาพยาบาล หรือการดูแลเรื่องของ medical tourism ของประเทศไทยได้รับความนิยม เรียกว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของโลกเลย เพราะเรามีลักษณะคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาติ ที่เลียนแบบไม่ได้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เราต้องรักษา และนำไปต่อยอดกันต่อไป ตอนแรกที่ตัดสินใจฉายหนังเรื่องนี้ในประเทศ เราอยากจะทำให้คนไทยด้วยกันเกิดความภาคภูมิใจ โดยอาศัยกระแสของโควิด-19 สร้างความรู้สึกมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศเรา รู้สึกชอบมากหลังจากเผยแพร่ภาพยนตร์ชุดนี้ แล้วมีคนเอาภาพยนตร์ไปแปะใน LINE ของเขา และเขียนแคปชันว่า “ได้เวลาปลดแอกภาพลักษณ์เมืองไทยสักที ไม่งั้นคนก็จะคิดแค่ว่าเมืองไทยมีหาดทรายสวย มีอาหารอร่อย” อันนี้ทำให้ทราบถึงความสามารถที่แท้จริง หรือว่า value ที่แท้จริงของประเทศไทย เราทำให้คนไทยรู้สึกภูมิใจ เราทำสำเร็จในการที่มีคนออกมาพูดแทนและเขียนแทนเราแบบนี้ แปลว่าเขารู้สึกภูมิใจจากกระแสที่มีการแชร์หนังเรื่องนี้ออกไป โดยที่เราใช้เงินลงทุนในแง่มีเดียน้อยมาก ๆ เพราะเรามั่นใจว่าหนังที่เราทำค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในที่สุดมันไปต่อยอดขยับฐานะของเราไปอีกระดับหนึ่ง ในการนำเอานักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพสูงเข้ามาในประเทศได้ หรือว่าที่เรียกว่า high value tourist หรือ high value patients เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยภายหลังที่เราเปิดประเทศได้แล้วอย่างแน่นอน นภัส เปาโรหิตย์: นักการตลาดที่ใช้ความจริงเปลี่ยนภาพจำประเทศไทย The People: ศักยภาพทางการแพทย์ของไทยในสายตาชาวโลก นภัส: ประเทศเรานั้นเป็นประเทศที่โชคดีมาก ๆ เราเป็นประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถ้าดูอย่างผิวเผินแล้วก็เหมือนตัวเอกในหนังเขาคิด เขาบอกเขาเคยได้ยินแต่ว่าเมืองไทยมีชายหาดสวย ๆ แล้วก็มีคนใจดี แล้วก็มีอาหารอร่อย แต่ถ้าคุณจะบอกว่าเมืองไทยมีการรักษาที่ดี ๆ และมีหมอที่เก่ง เขาไม่อยากจะเชื่อ ซึ่งเราเชื่อว่าคนต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ถึงศักยภาพอันนี้ของประเทศไทย หนังเรื่องนี้พูดชัดเจนว่าหน้าที่ของหมอ หน้าที่ของโรงพยาบาล มีหน้าที่จะต้องให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน หนังเรื่องนี้พูดชัดเจนมากว่าเป็นความรับผิดชอบของหมอ ที่จะต้องให้การรักษาเพื่อทำให้การรักษาสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราจะต้องปรับใช้ แต่คีย์เวิร์ดที่สำคัญในการปรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ คือเราจำเป็นต้องคัดเลือกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในเวลาที่เหมาะสม ในบางอย่างเราปล่อยให้ทดลองกันมาก ๆ ไปจนถึงระดับหนึ่งเทคโนโลยีล้าสมัยไปแล้วกว่าจะตัดสินใจมาใช้ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจแบบนี้ จะเลือกเทคโนโลยีตัวไหนเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่คนตัดสินใจต้องมีประสบการณ์ และต้องอ่านเกมขาดหมดว่าจะเอาอะไรเข้ามา ต้องบอกว่าเรามีการวางรากฐานทางการแพทย์เอาไว้ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พอดีพระองค์ท่านได้เห็นแล้วว่าบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์ท่านหลาย ๆ พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรจากอาการบาดเจ็บ ป่วยไข้ พระองค์ท่านก็เลยมองว่าถ้าขนาดลูกหลานของพระองค์ท่านเองยังสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แล้วประชาชนธรรมดาจะว่าอย่างไร ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้ต่อไปนี้คนไทยทุกหมู่เหล่าจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี แล้วจากนั้นพระองค์ท่านก็เพียรพยายามที่จะลงทุนและสละเวลาของพระองค์ท่านในการดูแลและสร้างระบบสาธารณสุขของประเทศไทย การที่เรามีโรงเรียนแพทย์ที่เรียกว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำหลายแห่งในประเทศ ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีโรงพยาบาลของรัฐอย่างครอบคลุม คนไทยสามารถจะใช้สิทธิ์ในการเข้าหาเข้าถึงบริการทางการรักษาพยาบาลได้อย่างถ้วนหน้ากัน และในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนก็ได้เชื่อว่าเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับ แบ่งเบาภาระจากภาครัฐบาล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของการรักษาของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี แต่บางทีพวกเราอาจจะยังอ่อนในการอธิบายตรงนี้ให้กับทั่วโลกได้เห็น คือเรายังมีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกมาก เราเลยต้องทำอะไรบางอย่าง และพยายามสื่อสารออกไป โดยเอาเรื่องที่ดี ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์การรักษา ไม่ต้องเป็นบำรุงราษฎร์ แต่เป็นโรงพยาบาลที่อื่นก็ได้ เพื่อนำออกไปสู่สายตาชาวโลกให้มากยิ่งขึ้น อย่างคนอาหรับเวลาเดินทางมารักษาที่ประเทศไทย พอกลับไปเขาก็เล่าให้คนทั้งหมู่บ้านฟัง จากนั้นคนทั้งหมู่บ้านก็จะมาหาเราอีก คำถามคือประเทศตะวันตกที่เรียกว่าเจริญแล้ว ทำไมเขาต้องมารักษาในประเทศไทย สถานการณ์โควิด-19 น่าจะอธิบายได้ดีการที่ประเทศไทยคุมเกมโควิด-19 ได้อยู่หมัด ในขณะที่หลายประเทศที่น่าจะเป็นประเทศที่มีพื้นฐานสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างสาธารณสุขที่แข็งแกร่งกลับประสบปัญหา อันนี้ยิ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของประเทศไทยให้กับคนต่างชาติ แล้วสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมหาศาลจากเรื่องความสามารถตรงนี้ ในต่างประเทศการจะเข้าพบหมอแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องยากมาก ค่ารักษาพยาบาลก็แพง เข้าคิวก็รอนาน ต่อให้มีเงินก็อาจจะทำการผ่าตัดไม่ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเดินทางมาประเทศไทย คิดบวกลบคูณหารแล้วค่ารักษาพยาบาล รวมค่าตั๋วเครื่องบิน รวมค่าอะไรด้วย แถมยังได้ไปเที่ยวด้วย ก็น่าจะถูกกว่าเสียอีก อีกอย่างหนึ่งการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) ที่ให้การบริบาลทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนอย่างมากด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล โดยมีทีมดูแลผู้ป่วยวิกฤติ (Critical Care Team) บำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญมากในการรักษาโรคยากหรือโรคซับซ้อน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่เราทั้งหลายคนต้องช่วยกันในการที่จะหาทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกไป ทำยังไงจะได้เห็นความสามารถที่แท้จริงของคนไทย ของหมอไทยและของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย