“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการประพันธ์ดนตรีตะวันตก และผู้ที่เชื่อว่าดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล แต่ทุกเพลงมีเรื่องราวของตัวเอง

KEY

POINTS

  • ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร คือ อาจารย์สายดนตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักแต่งเพลงมากความสามารถ
  • ชีวิตเขาขับเคลื่อนด้วยดนตรี และเสียงเพลง และมองว่าดนตรีเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีอะไรแบบไหนก็เท่าเทียมกัน
  • เขาจึงเห็นต่างกับคำกล่าว “ดนตรีเป็นภาษาสากล” เพราะหากไม่เปิดใจเรียนรู้ ดนตรีหลากหลายรูปแบบอาจเป็นเสียงแปลกแปร่งที่คุณไม่มีวันเข้าใจได้เลย

จากแผ่นเสียงไวนิลไม่กี่แผ่นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล หล่อหลอมให้เกิดความรักความหลงใหลในความงดงามของดนตรีคลาสสิกที่ดิ่งลึกลงไปในจิตวิญญาณ กระทั่งเคยยกย่องเชิดชูนักแต่งเพลงระดับโลก อย่าง โมสาร์ต และ เบโธเฟน ว่าไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นเสมือนเทพ จึงมีพลังอำนาจมากพอที่จะสร้างนฤมิตกรรมชั้นดี และนั่นเป็นแรงผลักสำคัญให้เด็กน้อยชาวไทยในเวลานั้น ตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นว่าจะทำงานเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกในอนาคต ดนตรีได้สร้างตัวตน ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ขึ้นมา

ในวันนี้ เขาคืออาจารย์ของอาจารย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการประพันธ์ดนตรีตะวันตกในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นผู้มีผลงานการประพันธ์ดนตรีอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นบทเพลงคลาสสิกขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ความสามารถขั้นสูงในการประพันธ์ อาทิ ‘ซินโฟเนียจักรี’ (Sinfonia Chakri) ; ‘คอนแชร์โตมหาราชา’ (Concerto Maharaja) ; ‘คอนแชร์โตสังคีตมงคล สำหรับไวโอลินและวงออร์เคสตรา’ (Concerto Sankitamankala for Violin and Orchestra) ; ‘ซิมโฟนีปิยสยามินทร์’ (Symphony Piyasayamintra) ;  ‘ซิมโฟนีประสานเสียงสำเนียงระฆัง’ (The Harmony of Chimes) ฯ เป็นต้น จนคว้ารางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลศิลปินศิลปาธร ปี พ.ศ. 2551

เส้นทางดนตรีของเขาอาจจะไม่โลดโผนเหมือนศิลปินเพลงบางคน แต่มีรายละเอียดที่สำคัญแก่การเรียนรู้และทำความเข้าใจ นับจากวันที่หัวใจสั่งให้เขาเดินท่องไปตามความใฝ่ฝัน จากความรู้พื้นฐานที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปสู่การศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการแสดงเปียโน มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Piano Performance, Northwestern University, USA) และ สาขาการประพันธ์เพลง มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สเตท (Music Composition, Michigan State University, USA) กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการประพันธ์เพลง จากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สเตท สหรัฐอเมริกา ด้วยองค์ความรู้ทางด้านดนตรีที่มีความลึกซึ้งถึงแก่น

วันนี้ ณรงค์ฤทธิ์ ยืนยันกับ The People ว่า ถึงที่สุดแล้ว ดนตรีทุกอย่างล้วนเท่าเทียมกัน และเหนืออื่นใด เขาเห็นต่างกับคำกล่าวที่ว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากล” เพราะหากไม่เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ ดนตรีหลากหลายรูปแบบในโลกนี้ อาจจะเป็นเสียงแปลกแปร่งที่คุณไม่มีวันเข้าใจได้เลย

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย

The People: สาเหตุที่คุณตัดสินใจทุ่มเทชีวิตให้กับดนตรี

ณรงค์ฤทธิ์: ตอนเด็ก ๆ ผมฟังเพลงแล้วรู้สึกว่า ดนตรีทำให้เราแตกต่างจากเวลาที่เราไม่ได้ฟัง ผมฟังเพลงป๊อป ฟัง ดิ อิมพอสซิเบิลส์ ฟังอะไรต่อมิอะไร ฟังแล้วก็ชอบ เผอิญว่าคุณป้าผมมี LP (แผ่นเสียงไวนิล) อยู่จำนวนหนึ่ง แล้วยกให้ผมเป็นมรดก พอผมเปิดฟังปั๊บ ผมจำได้เลยว่าเพลงชุดนั้นมีอะไรบ้าง Beethoven ‘Emperor Concerto’ (Concerto No.5) ; Beethoven ‘Pastoral Symphony’ (The Symphony No.6) ผมฟังแล้วมีความสุข โอ้โห ! เพลงเหล่านี้เพราะมาก ๆ ผมติดใจ รู้สึกอยากฟัง ก็เลยศึกษา พบว่าก็มีคนอื่น ๆ มี Mozart ; Tchaikovsky ผมก็ขวนขวายไปหาเพลงเหล่านี้มาฟัง อายุสัก 5-6 ขวบได้กระมัง ตอนนั้น มันไม่ค่อยมีคอนเสิร์ต ไม่มีอะไรให้ฟัง ผมก็ไม่มีตังค์จะซื้อ LP เพิ่มเติม แต่พอดีมีรายการทีวีของอาจารย์ชูชาติ พิทักษากร ชื่อ “ดนตรีวิจารณ์” ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้เลย บ่าย 2 วันอาทิตย์ จะต้องดูรายการห้ามพลาด ช่อง 5 นี่แหละ ดูอาจารย์พูดอธิบายเพลงคลาสสิก พวกเครื่องดนตรีต่าง ๆ ดูแล้วก็สนุกมากเลย สมัยก่อนเป็นรายการสด ปกติ อาจารย์ชูชาติจะมาถึงสถานีประมาณสักเที่ยงครึ่งบ่ายโมง จะ rehearse กับวง  แล้วเดี๋ยวก็เล่นเป็นรายการสด ประมาณชั่วโมงหนึ่ง มีอยู่วันหนึ่งรถติด แกมาถึงบ่าย 2 แกบอก “เอ้า ! วันนี้ไม่ได้ซ้อม เอาอย่างนี้ดีกว่า เป็นรายการพิเศษ ซ้อมให้ดูเลย”

คือตอนแรกผมฟังมา ก็เหมือน ๆ เราเสพกาแฟเขา แต่วันนั้นเหมือนพาเข้าไปดูว่า เขาชงกันยังไง เมล็ดกาแฟทำอย่างไร ก่อนที่จะเป็นกาแฟให้เรากินอร่อย ๆ ผมติดใจมาก คอนดักเตอร์ rehearse วงกันแบบนี้เอง เขาคุมวงสัก 20 คน ซ้อมให้เราดู โอ้โห ! ตื่นเต้นนะ คือเราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีกระบวนการ ตอนนั้นเป็นเด็ก ก็นึกว่าวางโน้ตไปก็เล่น ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น มีการปรับให้นักดนตรี “ตรงนี้ 2 คู่นี้ ต้องพร้อมกัน, ตรงนี้ intonation ไม่ได้, ตรงนี้เปลี่ยนคันชักได้ไหม, ตรงนี้ต้องฟังดี ๆ นะ ตรงนี้ dynamic ต้องเขียน mezzo forte แต่ว่าต้องลดลงมาหน่อย...” เราก็รู้สึกว่าดนตรีมีกระบวนการมากกว่านั้น วันนั้น ผมประทับใจมาก มีความตั้งใจว่าผมจะต้องเป็น classical composer ให้ได้ ตอนนั้นอายุประมาณ 7-8 ขวบ แรก ๆ ผมเรียนเอง มาดีดเปียโนตอนโตแล้ว อายุสัก 13 แล้ว ตอนเด็ก ผมเรียนโน้ตเอง แล้วเผอิญมันมี Score (ชุดโน้ตเพลง) เพลงคลาสสิก ผมไปขวนขวายหา Score คือไอ้โน้ตฉบับรวมเรื่อง หายากอยู่ ห้องสมุดไม่มี เคยมีที่ร้านดวงกมล สยามสแควร์ อุตส่าห์สั่งเป็น pocket score มา ผมมาเปิดโน้ตเพลงที่ชอบ ๆ  ผมถึงกับตะลึงพรึงเพริด

The People: คราวนี้ ได้ฟังไปด้วย ดูโน้ตไปด้วย พร้อม ๆ กัน?

ณรงค์ฤทธิ์: ใช่ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ตอนนั้นผมมีนิสัยแบบหนึ่ง คือผมฟังเพลงแล้วในใจชอบคิดว่า ถ้าเพลงไม่เป็นแบบนี้ แล้วจะเป็นอย่างไร คือเราแก้ในหัว สมมติเราฟัง Mozart Symphony เบอร์นี้ เพราะดีนะ แต่ถ้ามันไม่เป็นอย่างนี้ล่ะ ถ้ามันเป็นแบบนั้นจะเป็นไปได้รึเปล่า ถ้ามันไม่เป็นแบบนี้ มันจะเป็นอย่างไรได้อีก หรือถ้ามันไม่ orchestrated (การเขียนสำหรับวงออร์เคสตรา) แบบนี้ มันไม่ใช้ไวโอลินเล่น สมมติว่าเป็นทรัมเป็ตเล่น แล้วจะเป็นอย่างไร คือเหมือนกับนึกในใจ เหมือนคิดทางเลือกให้เพลงที่เราชอบ ผมคิดว่าอันนี้เป็นการแต่ง (เพลง) ครั้งแรกนะ เสนอทางเลือกให้เพลงต่าง ๆ ที่เราชอบ แต่ตอนหลังก็รู้สึกว่า เราลองสร้างทางเลือกใหม่ทั้งหมดดีไหม ผมเลยเริ่มต้นแต่งเพลงเอง ไม่มีใครสอน ไม่มีอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นเลย

ตอนนั้นเหมือนผมค้นพบอะไรต่อมิอะไรเอง โดยไม่ได้มีใครบอกให้ทำ ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเหมือนเราได้ค้นพบเอง โดยยังไม่มีใครเอาอะไรมาใส่ในหัว ผมไม่รู้มันถูกหรือมันผิดนะ แต่ตอนหลังก็มาคิดว่า โลกเราก็ไม่มีอะไรถูกไม่มีอะไรผิดอยู่แล้ว บางสิ่งบางอย่าง เราค้นพบเอง ผมว่าก็เป็นข้อดี เหมือนถูกปล่อยเข้าไปในสวน เราก็ลองไปขยี้ใบไม้มาดม นี่หอมดี นี่ใบเลี้ยงเดี่ยว นี่ใบเลี้ยงคู่ เหมือนเราได้ค้นพบสิ่งต่าง ๆ ด้วยการสังเกตของเราเอง ตอนนั้นไม่มีโรงเรียนดนตรีอย่างนี้ ที่มหาวิทยาลัย มีที่เดียว คือ คณะครุศาสตร์ (จุฬาฯ) ผมก็ไปเรียนเปียโน แต่ว่าใจจริงผมอยากแต่งเพลง แต่นี่เป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะได้เรียนดนตรีในระดับอุดมศึกษา มันต้องเรียนวิชาครูด้วย ต้องเรียนจิตวิทยา not so bad นะ  แต่ที่สำคัญคือทำให้เราได้เรียนดนตรีในมหาวิทยาลัย  

The People: ครอบครัวสนับสนุนหรือไม่กับการเลือกเรียนดนตรีในสมัยนั้น ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน

ณรงค์ฤทธิ์: ที่บ้านก็โอเคนะ แต่ก็มีครับ มีญาติพี่น้องที่เขางง ๆ  คือเขาบอกว่าเราไม่ได้อยู่ในศตวรรษที่ 19 แล้วนะ เราเป็นคนไทย ปัจจุบันไม่ใช่จะทำอะไรได้แบบนั้น ผมก็ไม่เชื่อเขา (ตัวเลือกอื่น ๆ อย่าง) ทนายความไม่มี แต่ว่าผมมีสถาปัตย์อยู่ในหัว ผมเป็นคนชอบดูโมเดลตึก สนใจเครื่องบิน สนใจรถยนต์ ดูตึกแล้วก็ชอบคิดชอบจินตนาการตึกของเราเอง คือผมเป็นคนชอบงานสถาปัตย์อยู่แล้ว พี่ชายผมก็เป็นสถาปนิก จริง ๆ ผมว่ามันเกี่ยวข้องกัน เราก็ดีไซน์เสียง สถาปัตย์ก็ดีไซน์สิ่งก่อสร้าง

จริง ๆ คือหลักการดีไซน์ ผมมาอยู่ที่ครุศาสตร์ เรียนจบ 4 ปี เอกดนตรีนี่แบ่งกันตลก ๆ สมัยก่อน ไทย 10 (คน) สากล 10 แล้วในสากล 10 คน ต้องแบ่งหญิง 5 ชาย 5 เขาคิดว่ามันจะยุติธรรมไง แต่ผมว่าแปลก ๆ คือจริง ๆ ใครเข้าได้ก็เข้า จะเป็นผู้หญิงหมดเป็นผู้ชายหมดก็ได้ ทำไมจะต้องแบ่ง 5-5  เพราะฉะนั้น เราเลยมีเพื่อนแบบครึ่ง ๆ  เมื่อก่อนนี้ ผมมีความรู้สึกว่า Beethoven ; Mozart ไม่ใช่มนุษย์ เป็นเทพ เพราะว่าแต่งเพลงได้เพราะมาก เราฟังแล้วชุ่มฉ่ำหัวใจ ต้องไม่ใช่คนแน่เลย มันมีความรู้สึกแบบนั้น ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจดนตรีไทยเลยนะ  จนกระทั่งเข้ามาในคณะครุศาสตร์ เราก็มีเพื่อนครึ่งหนึ่งเล่นดนตรีไทย แล้วสมัยก่อน ห้องซ้อมไม่มีแอร์ โหลยโท่ยมากเลย แย่มากเลย เวลาเราซ้อม ไอ้ข้าง ๆ มันก็ตีระนาด เราเล่นเปียโน ไม่ได้ยินตัวเองเล่น ได้ยินเสียงระนาด ทำให้ต้องตกลงกัน เอาอย่างนี้ มึงซ้อม 15 นาที เดี๋ยวกูซ้อม 15 นาที ต้องแบ่งกัน ไม่อย่างนั้น ซ้อมไม่ได้

ตอนที่เราไม่เล่น เขาเล่น มันก็พอได้ยิน ก็มีความรู้สึกว่าเพราะดีนะ ไป ๆ มา ๆ เฮ้ย ! เมื่อกี้เล่นเพลงอะไร อ๋อ ! เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ไหนเล่นให้ฟังหน่อยสิ เฮ้ย ! เพราะดีอะไรอย่างนี้ ไหนสอนกูหน่อย เราก็ตีระนาดพอได้ แต่ตอนนี้ลืมแล้ว เลยทำให้รู้สึกว่าสำเนียงไทยบางอย่างเข้าไปอยู่ในตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น เวลาผมเขียนงานดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยที่มีสำเนียงไทย คนถามว่าจงใจหรือเปล่า ก็ไม่ได้จงใจนะ บางทีเรานึกเมโลดี้ออกมา อาจจะมีบางอย่างที่มาจาก Western แต่บางอย่างนี่ มาจากช่วงที่เราอยู่มหาวิทยาลัย 4 ปี เราได้ยินทุกวัน แล้วก็วันละมาก ๆ ด้วย

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย

The People: จากโลกดนตรีตะวันตก สู่โลกดนตรีไทย คุณมีปัญหาบ้างไหม อย่างเรื่องระดับเสียง (Pitch) ไม่ตรงกัน 

ณรงค์ฤทธิ์: แรก ๆ ก็มี ก็จะงง ๆ ตอนหลังชินแล้ว แรกก็งงเหมือนกัน มันตีกัน แต่ว่าดนตรีไทย ธรรมชาติเขาอย่างนี้อยู่แล้ว คือไม่ได้คิดแบบตะวันตก ตะวันตก ต้องเป๊ะ ดนตรีไทยบอกไม่เป็นไรหรอก นิดหน่อยก็เล่นไป เขาไม่ได้ซีเรียส  

The People: จากครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนส่วนตัว?

ณรงค์ฤทธิ์: ผมไปทุนส่วนตัว ที่บ้านสนับสนุน พอไปอเมริกา มันก็เปิดโลกให้เราเยอะเลย สมัยก่อน ที่คณะครุศาสตร์ สถานทูตอเมริกันยกโน้ตมาให้ ผมเปิดดูด้วยความสนใจ (George) Gershwin ตอนนั้นไม่รู้จัก ใครวะ Gershwin ก็งง ๆ พอเปิดโน้ตดู ลองเล่นดู มันมีสำเนียงอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากที่เรารู้จัก เอ๊ะ ! major กับ minor มันผสมได้เหรอ

โอ้โห ถ้าอย่างนั้น แสดงว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงแบบ Beethoven ; Mozart แล้ว ตอนนั้น มี ‘Rhapsody in Blue’ มี ‘Three Preludes’ ของ Gershwin แล้วก็มีเสียงแบบบลูส์ เราไม่เคยได้ยินเสียงแบบนี้มาก่อนเลย เสร็จแล้ว score ที่เขาให้มา จะมี Ravel ด้วย พอเปิดดู เฮ้ย เสียงแบบนี้แต่งกันได้อย่างไร ผมเลยคิดเลยว่าโลกต้องมี composer อีกเยอะ ไม่ใช่มีแค่นี้แน่นอน  เปิดดูต่อไป มี (Samuel) Barber ใครวะ ตอนนั้นไม่มียูทูบ ไม่มีอะไรเลย เราก็ได้ยิน เห็นแต่ชื่อ เห็นแต่เพลง แต่รู้สึกว่า มันก็มีเสียงอะไรที่ทำได้อีก

พอไปอเมริกา นี่เปลี่ยนโลกเลย อเมริกาช่วง 1980s มหาวิทยาลัยติดป้ายว่า มี Philip Glass มาพูด เราก็ ใครวะ ? เพื่อนที่อเมริกาบอกว่า ยูต้องมานะ เพราะ Philip Glass เป็น composer ใหญ่มาก เราก็แสดงความเฉิ่ม “ผมมาจากเมืองไทย ผมไม่รู้จักเขา” เพื่อนเขาก็ลากมาบอก ยูมาฟังเถอะ นี่มัน big name พอไปฟังปั๊บ Philip Glass ก็โชว์เพลงของเขา ยิ่งแปลกประหลาดเข้าไปอีก ทำให้เรารู้สึกว่า โลกดนตรีนี่เยอะนะ  ดนตรีของ Philip Glass เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย  

The People: การได้พบดนตรีคลาสสิกรูปแบบใหม่ ๆ ขัดแย้งกับความรู้สึกของคุณไหม

ณรงค์ฤทธิ์: เผอิญผมอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อย judge อะไรดีหรือไม่ดี ผมมีความรู้สึกว่า แค่ชอบหรือไม่ชอบ ผมมีความเชื่อว่าอะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน ของที่เราบอกว่าไม่ชอบ บางทีผ่านมาสัก 2-3 ปี เฮ้ย ! ชอบว่ะ หรือของที่เราบอกว่าชอบ ตอนนี้ขี้เกียจฟังแล้ว ก็มีเยอะ ผมเชื่อว่า อะไรในโลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น พอไปฟัง Philip Glass ปั๊บ เราก็มีความรู้สึกว่า เป็นดนตรีที่เราไม่เคยฟังมาก่อน ตื่นเต้นมากเลย แต่ตอนนั้นบอกไม่ถูกว่า ชอบหรือไม่ชอบ มีความรู้สึกว่ามันมีดนตรีเยอะแล้ว

ตอนหลังมาอยู่ Michigan (State) แล้วผมก็จบ ป.เอก เผอิญครูที่เขาสอนผม เป็นครูประเภทที่ชอบแบบไหน ก็ชอบให้เด็กแต่งแบบนั้น เขาชอบ Schoenberg เขาให้ผมดูบทเพลงเหล่านั้น ผมดูแล้ว ไม่ได้ชอบอะไรนะ แต่เราก็ได้ความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเรื่อง structure เกี่ยวกับเรื่องความละเอียด เกี่ยวกับเรื่องอะไรต่ออะไร ผมก็ทำอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ผสมความเป็นไทยลงไปด้วย ซึ่งยังดีที่ครูเขาก็ยอมในขั้นหนึ่ง มีเสี้ยวแบบไทยในซาวด์อย่างนั้น

แล้วพอกลับเมืองไทย อยากสอนหนังสือ พอดีที่จุฬาฯ เขามีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เขาก็ชวนผมมาเป็นอาจารย์สอน ผมอยู่อเมริกา 5 ปี ป.โท 2 ปี แล้ว ป.เอก 3 ปี แล้วปริญญาโทนี่ได้ 2 ตัวนะ ได้ piano performance และ composition แล้วก็มาจบปริญญาเอก ด้าน composition เบ็ดเสร็จ 5 ปีกว่า ผมรีบเรียน รีบกลับ พอกลับมาถึงไทย (ปี พ.ศ. 2534) ก็มาสอนหนังสือ  

The People: งานสอนในมหาวิทยาลัย ไม่ทำให้ไฟฝันที่อยากเป็นคอมโพสเซอร์ของเรามอดดับลงหรือ

ณรงค์ฤทธิ์: มันก็ไม่เชิงดับนะ ผมไม่ได้คิดว่าจะดับหรือไม่ดับ อย่างไรก็ตาม เราก็ทำหน้าที่ของเราเท่าที่จะทำได้ มองโลกในแง่ดี เราก็ทำเท่าที่ทำได้ มันมีวงซิมโฟนี มีอะไรต่ออะไร ครั้งแรกต้องขอบคุณทาง BSO (บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา) เขาเป็นคนเอาเพลงผมมาเล่นครั้งแรกในประเทศไทย ผมคุยกับคุณวิทยา ตุมรสุนทร (ผู้จัดการวง BSO ในสมัยนั้น) แล้วคุณวิทยาบอกว่า เดี๋ยว BSO จะเล่นเพลงของแจ็ค (ชื่อเล่น ณรงค์ฤทธิ์) ผมดีใจมากเลย เพลง ‘Night and Morning in the Spheres’  อันนี้เป็น Thesis ด้วยนะ ตอนนั้น คอนดักเตอร์คือคุณ ทิม ทัชเชล (Timm Tzschaschel) อาจารย์ เจตนา (นาควัชระ) ท่านก็ไปฟัง แล้วท่านก็ให้คอมเมนต์ที่น่าสนใจ ท่านบอกว่าสนุกดีนะ เหมือนมีเพลงของ composer ตะวันตกหลายคนมาผสม ๆ กัน ซึ่งเราก็ยอมรับว่าจริง

เมื่อมาอยู่เมืองไทย เพลงที่เราแต่งต้องปรับอะไรต่ออะไรเยอะเหมือนกัน เพลงที่เราแต่งตั้งแต่สมัยอยู่เมืองนอก บางอย่างเราก็เอากลับมาใช้ บางอย่างเราก็ไม่ใช้ เพราะว่าไม่เหมาะกับสภาพการณ์ ต้องเปลี่ยนไปหลาย ๆ อย่าง ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องหาทางเอง

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย The People: คุณใช้เวลากับกระบวนการปรับเปลี่ยนนี้นานแค่ไหน

ณรงค์ฤทธิ์: ใช้ไปเรื่อย ๆ คือผมจะเรียนรู้จากเพลงที่แต่งมาแล้ว เราแต่งเพลงที่แล้ว อันไหนที่เราชอบก็เก็บไว้ อันไหนที่เราไม่ชอบ เราก็โยนทิ้งไป อันไหนที่เราชอบ เราก็นำมาพัฒนาต่อยอดใหม่ พอเราแต่งเพลงนี้ปั๊บ เราก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ในเวลาเดียวกัน ผมทำงานในมหาวิทยาลัยด้วย สอนหนังสือไปด้วย ก็มีลูกศิษย์เก่ง ๆ หลายคน อย่าง แจ๊ค-อภิสิทธิ์ (วงศ์โชติ) แล้วยังได้สอน ณรงค์ ปรางค์เจริญ (ปัจจุบันเป็นนักประพันธ์ดนตรีที่มีชื่อเสียง และเป็นคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล) เขามาเรียน private กับผมอยู่ 2 ปี ผมสอนหนังสือ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยบังคับให้อาจารย์ทำงานวิชาการด้วย  ตรงนี้ปรากฏว่าจุฬาฯ เขาโอเคนะ เขามองว่างานแต่งเพลงเป็น research อย่างหนึ่ง  

เราต้องไปบอกเขาว่า กว่าเราจะแต่งเพลงขึ้นมาได้ ต้องมีกระบวนการหาความรู้ ไม่ใช่ถึงเวลาก็แต่ง มันต้องมีความชำนาญ ต้องมีการพัฒนา ต้องมีกระบวนการที่จะได้มาซึ่งผลงาน composition แต่ละ composition จะมีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะเราไม่ได้ลอกชาวบ้านมา ต้องมาใช้คำว่า ‘ต่อยอด’ แล้วมาปรับ แม้กระทั่งเพลงของเราเอง เราก็ต้องปรับ เราต้องอธิบาย เขาก็ยอมรับว่าเป็นงานวิชาการได้ สมัยก่อน ผมไปขอทุนทำวิจัย พอบอกว่าเป็น composition ก็ปรากฏว่าไม่ได้ แต่โชคดีที่มีทาง BSO สนับสนุน ผมพูดจริง ๆ ว่าผมโชคดีมาก มีวงหลาย ๆ วงที่อยากเล่นเพลงของ ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่ง composer บางคนอาจจะมีอุปสรรคตรงจุดนี้

The People: เคยคิดจะก้าวมาเป็นคอมโพสเซอร์เต็มเวลาไหม

ณรงค์ฤทธิ์: อย่างแรกเลยนะ ผมไม่รู้สึกว่าการสอนหนังสือไม่สนุก เวลาสอน composition หรือสอนทฤษฎี หนึ่ง-ผมได้เรียนรู้  สอง-ผมรู้สึกว่าชีวิตก็สบายดี การที่เราเป็น composer อิสระ มันเหนื่อยขึ้นเยอะพอสมควร ที่ว่าเหนื่อย ไม่ใช่เหนื่อยแต่งเพลงนะ เหมือนคนเป็นฟรีแลนซ์ ยังไงก็ต้องขยัน ส่วนตัวผมเอง ไม่เดือดร้อนอะไรกับการสอนหนังสือ  

The People:  ถือว่างานสอนหนังสือเป็นการแบ่งปันความรู้ให้แก่สังคม?

ณรงค์ฤทธิ์: ใช่ ผมมองอย่างนั้น เราได้สอน คนที่ไม่เก่งก็ช่างมันนะ แต่สำหรับคนเก่ง เราทำให้เขาเก่งขึ้น ก็รู้สึกว่า สนุกดีเหมือนกัน ไม่รู้สึกเสียหายอะไร ส่วนงาน composition คือการวิจัย ซึ่งเราก็มีผลผลิตเป็นงานใหญ่ ๆ ออกมา

สมมติเราแต่งเพลงไปเล่นเมืองนอก บางที มีข้อจำกัดเยอะ คือถ้าเราไม่ใช่ big name แบบ Takemitsu โอกาสที่วงเมืองนอกจะเล่นเพลงเรายาว ๆ มันค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้น มันต้องเสียบด้วย (เพลงขนาด) 7 นาที 8 นาที โอกาสที่เราจะเขียนงานซิมโฟนี 40 นาทีไปให้วง เบอร์ลิน ฟิลฮาร์มอนิก เล่น มันคงจะยาก ที่ว่ายาก ไม่ใช่ว่าเพลงเราไม่ดีนะ แต่ยากตรงที่ว่า วงพวกนี้ เวลาที่เล่นเพลงของใคร หรือจะเอาใครมาคอนดักต์ บางทีต้องดูสปอนเซอร์ด้วย เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เพราะฉะนั้น เพลง 7-8 นาทีนี่เสียบง่าย แต่ตอนนี้ ผมอยากทำงานที่เป็น substantial เลยไม่ได้เขียนเพลงเล็ก ผมมีโอกาส ผมก็ซัดงานใหญ่เลย  

The People: คุณใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะพบลายเซ็นของตนเอง

ณรงค์ฤทธิ์: ก็ไม่รู้นะ ผมไม่รู้ว่าตัวเองมี signature เมื่อไหร่ เวลาที่แต่งเพลงไปแล้ว มีคนมาบอกว่าก็ดี ผมก็จะเฉย ๆ ถ้ามีคนมาบอกว่า ไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่ ผมก็เฉย ๆ เหมือนกัน แต่ถ้ามีคนบอกว่าฟังปั๊บ รู้เลยว่าเป็นของณรงค์ฤทธิ์ ผมจะแฮปปี้มาก แล้วผมจะถามว่าตรงไหน เขาอาจจะบอกว่าไม่รู้ แต่รู้ว่าต้องเป็นของณรงค์ฤทธิ์ มันก็เป็นคำชมที่ดูดีนะ  

The People: ตอนนี้มีผลงานซิมโฟนีกี่บทแล้ว

ณรงค์ฤทธิ์: กำลังจะเขียนเบอร์ 8  คือตอนหลังงานที่เข้ามาบางที จะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับบทกวี เพราะฉะนั้น เราจะต้องเขียนอะไรที่มันมีเอื้อน ไอ้ของแบบนี้อยู่ที่เมืองนอก ไม่มีใครสอน ในการแต่งเพลง บางทีเราก็ต้องมาเรียนเอาในขณะนี้

ขณะที่เราอยู่ที่ประเทศไทย อย่างก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี ผมทำงานอาเซียน The Harmony of Chimes มีระฆังที่มีเครื่องดนตรีอาเซียนมาเล่นด้วย BSO เขามาคุยกับผม เขามาบอกว่า ครึ่งแรกจะเป็นป๊อปหน่อย มีการเชิญพวกนักดนตรีอาเซียน พวกนักร้องมา ครึ่งหลังยกให้อาจารย์เลย จะเขียนเพลงอะไรก็ได้ ให้มาเลย 40 นาที ผมก็บอกยกให้ 40 นาที อย่างนี้ก็มันสิวะ โดยที่ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยว่าอาเซียนมาทำอะไรได้บ้าง แต่เขามีงานให้ ก็เอาก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน ของแบบนี้ โอกาสมา ต้องรีบเอา คือถ้าไปบอกว่า ผมไม่ค่อยรู้เรื่องอาเซียน เขาก็ไปหาคนอื่นเนี่ย จบ ! เพราะอย่างนั้น จัดการไว้ก่อน เขายื่นให้ รับไว้ก่อนเลย เดี๋ยวค่อยว่ากัน  

The People: ไม่ปฏิเสธที่จะมีโจทย์ในการแต่งเพลง ?

ณรงค์ฤทธิ์: ที่จริง มันก็มีโจทย์ทั้งนั้นแหละ บางทีเราเซ็ตเอง บางทีก็มีโจทย์แบบนี้ แต่งอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีเครื่องดนตรีอาเซียนร่วมด้วย ตอนนั้น ผมยังไม่รู้เรื่องเลยว่าอาเซียนเล่นอะไรกันได้บ้าง ก็รับมา แต่ตอนหลัง ก็มาศึกษาอาเซียนพบว่า เครื่องดนตรีอาเซียนสนุกนะ

นอกจากอิทธิพลที่มาจากดนตรีไทยแล้ว ผมก็มีอิทธิพลจากอาเซียนด้วย   ผมมีโปรเจ็คท์ที่ทำกับ วช. สกว. เขาขอให้มีเพลงอาเซียนด้วย มาร่วมเล่น อันนั้น ซิมโฟนี 50 นาที 7 ท่อน มีเครื่องดนตรีอาเซียนมาร่วมเล่นสนุกมากเลย  คำถามแรกที่คนถามเลย คือแล้ว tuning (ตั้งเสียง) อย่างไร 5 คน 5 อาเซียนที่มาร่วมเล่นกับวงออร์เคสตราจะทำอย่างไร ผมเลยบอกว่า เรื่อง tuning เป็น spirit ของดนตรี ดนตรีไทย ถ้าเราเปลี่ยน tuning ไป ก็จะสูญเสียสปิริต กาเมลัน (วงดนตรีประจำชาติอินโดนีเซีย) ที่เอามาใช้ เปลี่ยน tuning เขา เขาก็พอทำได้นะ แต่ว่ามันจะหายไปเลย  

The People: แล้วการ tuning เครื่องดนตรีท้องถิ่นให้มีความเป็นสากล เป็นเรื่องทำได้ไหม

ณรงค์ฤทธิ์: ก็อาจทำได้ แต่ผมไม่รู้สึกแบบนี้ เพราะผมไปคุยกับนักดนตรีฟิลิปปินส์คนหนึ่ง เขาบอกว่า “ยูทำอะไรก็ได้ แต่อย่าเปลี่ยน tuning” ทำไมถึงเปลี่ยนไม่ได้ เขาบอกไม่ได้นะ เปลี่ยน tuning แสดงว่าไม่เคารพ มันเป็น spirit  ผมก็เลยเก็บ tuning ของแต่ละเครื่องไว้เลย

คราวนี้ก็มีคนถามว่า แล้ว (เสียง) มันไม่ตีกันเหรอ ผมก็บอกว่า เอาอย่างนี้สิ ก่อนที่ผมจะแต่งเพลงนี้ ผมไปอินโดฯ มา ไปดูโรงงานทำหม้อกาเมลัน อย่าเรียกว่าโรงงานเลย เป็นเพิงสังกะสี แล้วคนทำก็ถอดเสื้อ มันร้อนไง แล้วเขาหล่อกัน ไอ้วิธีการหล่อ ก็บ้าน ๆ แหละ ไปหมู่บ้านหนึ่ง เขาก็บอกว่า ของเขาเจ๋งมากเลย เป็น tuning ที่กาเมลันที่สุด เราก็โอเค ๆ  นั่งรถไปอีกชั่วโมง เจออีกหมู่บ้านหนึ่ง เขาก็ถามว่า คุณมาจากหมู่บ้านนั้นใช่ไหม มันบอกว่า ไอ้นั่นน่ะผิด ของเขาถูก เราก็ เอาไงดีวะ ไปหลังที่ 3 มันก็บอก ไอ้ 2 บ้านก่อนหน้านั้น ใช้ไม่ได้  อันนี้ถูก อันนี้คือ tuning ที่ถูก เราก็เฮ้ย ! อะไรกันวะเนี่ย

ผมถามไปว่า “แล้วนี่เคยเล่นกันไหม” เขาตอบ “เคย เราไม่ถูกกัน แต่เราเล่นกันได้”  แปลว่าไอ้เซนส์ที่จะต้องเป๊ะแบบพวก Western ไม่มี ผิดนิดผิดหน่อย ไม่ได้เดือดร้อน อยากเล่นก็เล่น ไม่อยากเล่นก็ไม่เล่น แสดงว่าเขาไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไร

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย

The People: การเขียนเพลงสำหรับวงดนตรีขนาดใหญ่และวงขนาดเล็กแตกต่างกันอย่างไร

ณรงค์ฤทธิ์: คนละอย่าง คือตอนหลังผมไปเขียนควินเทท (วง 5 ชิ้น) อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เรื่องอยู่ตรงผมเขียนแต่งานใหญ่ แล้วก็มีคนถามผมว่า ทำไมไม่ทำงานเชมเบอร์ (วงขนาดเล็กลงมา) บ้างเหรอ แบบ 4-5 คน ผมบอกว่าอยากทำนะ แต่ยังไม่มีเวลาทำ จนกระทั่งผมไปเจออาจารย์ตึ๋ง (ทัศนา นาควัชระ) แกบอกว่า ถ้าอาจารย์เขียนเปียโน ควินเทท เขาจะเล่น  ผมบอกว่า เปียโน ควินเทท เป็น combination ในฝันของผมเลย เปียโน บวก สตริง ควอร์เทท  เปียโนบวกกับเครื่องสาย 4 คน ผมว่าเป็น combination ที่ perfect มาก

แล้วพอมาคิดว่าในโลกเรา สตริง ควอเทท มีเยอะนะ แต่ว่าเปียโน ควินเทท ก็ไม่เยอะเท่าไหร่ มีงานของ Shostakovich ;  (Robert) Schumann ; Dvorak คือมีน้อย แต่ว่าแต่ละอัน เป็น masterpiece ทั้งนั้น ผมเลยบอก น่าทำ ตอนนั้นไปขอทุน วช.  เขาก็อุตส่าห์ให้มา เขาให้มาทำซีดี แล้วก็มาเล่น ผมคิดว่าแต่งเพลงนี้ แต่งง่าย ๆ ไม่มัน วงอาจารย์ตึ๋ง เขียนง่าย เล่นไม่ถูก ง่ายเกินไปเล่นไม่ได้ ขอยาก ๆ หน่อย (หัวเราะ)

พอดีผมได้ไปเที่ยวประเทศอาเซียนหลาย ๆ ที่ เลยเกิดอารมณ์ว่าเปรียบเทียบเพลงนี้เหมือนกับเราเปิดอัลบั้มรูป มีหน้าปก หน้าปกท้าย จะเริ่มต้นด้วยทำนองหลัก ทำนองหลักพัฒนาไปในสำเนียงของอาเซียนต่าง ๆ ปกสุดท้ายก็จะกลับมาเหมือนเราเปิดอัลบั้ม เลยมีทั้งหมด 12 ท่อน มี prelude เพลงบทนำ postlude บทสุดท้าย ระหว่างนั้น มีลูกต่าง ๆ มีเสียงแคน สีทันดร มีบุโรพุทโธ มีสำเนียงฆ้องของชนเผ่าม้ง พูดถึงทะเลสาบอินเล พม่า พูดถึงอิเหนาด้วย ถ้าผมมีเวลา ผมอยากจะทำ orchestrate (สำหรับวงออร์เคสตรา) นึกถึงงานอย่าง Pictures at an Exhibition ของ Mussorgsky แบบนั้นเลย  

The People: เวลาแต่งเพลง คุณนึกถึงแนวทางของ composer ฝั่งตะวันตกไหม

ณรงค์ฤทธิ์: ผมก็ศึกษางานเหล่านี้นะ แล้วก็จริง ๆ อย่างงาน เปียโน ควินเทท ผมดูเพียบเลย ดูวิธีการเขียน แต่เราต้องมาปรับของเรา structure เป็นแบบของเรา เพลงนี้สนุกอย่างหนึ่งก็คือ จะมีทำนองหลักอยู่ ซึ่งปรากฏขึ้นตอนแรก ทำนองหลักนี่เหมือนกับถูกบิดไปให้เข้ากับสำเนียงของดนตรีอาเซียนในแบบต่าง ๆ  

The People: คอมโพสเซอร์จะต้องมีคอนดักเตอร์หรือโซโลอิสต์คู่ขวัญหรือไม่

ณรงค์ฤทธิ์: จริงๆ ก็ไม่มีนะครับ เป็นใครก็ได้ คือบางที composer แต่ละคนก็คิดต่างกัน บางคนเขาจะมีที่ล็อกอยู่ในหัว แล้วคอนดักเตอร์บางคนจะพยายามถามว่า คุณคิดอย่างไร แต่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น บางครั้ง การเสนอคอนดักเตอร์ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าที่เราคิด เช่น ตรงนี้ปรับ tempo หน่อยไหม ตรงนี้น่าจะเร็วขึ้นมาหน่อยไหม พอบางทีเอาอย่างเขา เออ ! ท่อนนี้เราชอบมากกว่า มันก็เป็นไปได้

ผมว่าดนตรีไม่ได้มีแบบเดียว แม้กระทั่งเราแต่งเอง บางคนบอกว่า คุณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหรอ ก็ใช่สิ ใครบ้างไม่เปลี่ยน เขาถามก็เอาเหมือนเดิมสิ ขอโทษทีเถอะ คุณชอบกินกาแฟไหม ชอบ ถ้าอย่างนั้นซัดสัก 5 แก้ว แล้วแก้วที่ 6 คุณจะชอบอยู่ไหม เอ้า ! ไม่ชอบแล้ว เพราะว่าซัดไปแล้ว 5 มันมีปัจจัยให้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว

เพราะอย่างนั้น บางทีเพลงเราอยู่กับตัวนี้ เราก็คิดแบบหนึ่ง เรามีคนเข้ามามองปั๊บ เขาจะบอกว่าเฮ้ย ! เขาได้ยินอีกแบบหนึ่ง น่าจะเป็นแบบนี้ บางครั้งมันก็ดี มันก็เวิร์ก เพราะฉะนั้น ผมว่าไม่มีแบบเดียวแน่นอนอยู่แล้ว กระทั่งเพลงของเราเอง  

The People: ทำไมคุณถึงคิดว่าดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล

ณรงค์ฤทธิ์: เมื่อก่อนผมคิดอย่างนี้ ผมอายุเท่านี้ ผมก็คิดอย่างนี้จริง ๆ อย่างที่ผมบอก มันก็ชีวิต มันก็มีภาษาอีกแบบหนึ่งแตกต่าง อย่าง (นักแต่งเพลง) Barber พอไปเมืองนอก Philip Glass ฟังแทบไม่รู้เรื่องเลยนะ นอกจากไม่รู้เรื่องแล้ว มีความรู้สึกว่า เฮ้ย ! แต่งแบบนี้ได้เหรอ มันซ้ำกันอุตลุด ได้เหรอวะเนี่ย ฟัง Pierre Boulez ไปฟังเพลงของ Luciano Berio ซึ่งร้องทำอะไรห้อยโหน ทำได้เหรอ ทำให้ผมรู้สึกว่า โอ้โห ดนตรีในโลกนี้ แล้วยังประเทศอื่น ๆ อีก

ถ้าไม่คุ้น อาจจะบอกว่า เล่นอะไรกัน คนที่ไม่เคยฟังเพลงไทยเลย อาจจะคิดว่าใช้ระนาดตีวนไปวนมา ไม่รู้เรื่องเลย ผมคิดว่าดนตรีเยอะแล้วหลากหลาย มากกว่าที่เราจะมาสรุปว่า เราฟังอะไร เราก็จะเข้าใจ  ยกตัวอย่างนะ แม้กระทั่งภาษาที่เราคิดว่า เราเข้าใจดี เช่นบอกว่า ผมรักคุณ มันแปลว่าผมรักคุณจริง ๆ หรือบางคนฟังแล้ว มันประชดก็ได้ อยู่ที่วิธีการจะบอกว่า แม้กระทั่งคำที่เราคิดว่ามีความหมายอย่างนี้ มันก็ตีความได้เยอะ และดนตรีตีความได้หลากหลายมหาศาล

ผมก็เลยคิดว่า มันไม่ควรจะเป็น (ภาษาสากล) เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สมมติเราไปฟังเพลงที่เราคุ้นเคย อีกคนมาร้อง จะบอกว่า เฮ้ย ! มันเปลี่ยนไปแล้ว สมมติ เราเคยฟัง Julie Andrews ร้องเพลง The Sound of Music พออีกคนหนึ่งร้อง โห ! มันเป็นอีกแบบหนึ่ง จะชอบอะไรชอบไป ซึ่งผมคิดว่าอารมณ์มันหลากหลาย

“ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล” ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงคลาสสิก ดีเอ็นเอไทย The People: หากเป็นเช่นนั้น ผู้คนควรทำความเข้าใจดนตรีอย่างไร

ณรงค์ฤทธิ์: ผมว่าต้องเปิดใจ แล้วก็ต้องทำใจให้รู้สึกว่า ดนตรีตีความได้เยอะ มีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา เราต้องเปิดใจ บางครั้งเราไม่ชอบ โอกาสต่อไป เราอาจจะชอบ หรือที่ว่าชอบก็ชอบลงไปอีกนะ มันมีความชอบหลายระดับ

อย่างเช่น เราไปฟังเพลงเพลงหนึ่ง ชอบไหม-ชอบ ซื้อซีดีไหม-ไม่ซื้อ พอแล้ว รู้สึกว่าฟังหนเดียวพอ ตัวเราที่บอกว่าชอบ ก็ชอบด้วย level ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ขึ้นอยู่กับเวลาในขณะนั้น แล้วใครเล่นอีก แม้กระทั่งเพลงของ Mozart คน 10 คนเล่นยังเล่นไม่เหมือนกัน บางคนเล่นเพลงเดียวกันเฉย ๆ แต่บางคนเล่นเพลงนี้ เฮ้ย ! วันนี้เพราะ เกิดอะไรขึ้น เพลงเดียวกัน ทำไมเพราะจังเลย แสดงว่าต้องมีอะไรที่ beyond โน้ตแล้ว ถูกไหม มีอะไรที่ beyond กว่านั้นแล้ว เพลงบางเพลง บางทีเราฟังอีกคนหนึ่งร้อง ก็ดี แต่พอฟังอีกคนหนึ่ง บางทีรู้สึกว่า มันโอ้โห นี่มันเพราะ แสดงว่าตัวเราฟังดนตรีแบบหนึ่ง ที่มีอะไรที่มากไปกว่านั้น  

The People: แล้วเวลาแต่งเพลง คุณตั้งใจสื่อให้คนฟังกลุ่มไหน

ณรงค์ฤทธิ์: จริง ๆ ผมสื่อทุกกลุ่ม เพราะว่าอย่างแรกสุด ผมมีความเชื่อว่า เราไม่สามารถแต่งเพลงให้คนชอบทุกคนได้ ไม่มีทางหรอก เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราอยากนำเสนอ เราพอใจ เราถูกใจ เราทำให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะมีสติปัญญา ส่วนคนฟังก็ต้องแล้วแต่ประสบการณ์ของเขา แล้วแต่ความชอบของเขา ผมจะเจอประสบการณ์อย่างนี้ เรานึกว่าคนเขาจะชอบ ถึงเวลาจริง เขาไม่ชอบ ไอ้คนที่คิดว่า เขาคงไม่ชอบ เขาดันชอบ แล้วบางทีคนที่เขาชอบ เขาก็ไม่ได้มีประสบการณ์มากกว่าที่เราคิด สมมติว่าคนบางคนไม่เคยฟังเพลงคลาสสิกเลย เขาคงไม่ฟังเพลงผม ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะชอบ เขาบอก วันนี้สนุกมากเลย ชอบมากเลย เออ ก็เป็นอย่างนี้

บางทีดนตรีอาจจะมีอะไรบางอย่างที่สะกิด เหมือนกับสรรพสิ่งในโลก หนังบางเรื่องที่ตั้งใจทำมาก มันก็แป้ก ไอ้หนังบางเรื่อง ไม่ได้คิดว่าจะดัง คนกลับชอบ มันมีเหตุการณ์แบบนี้ ก็เลยยากที่จะสรุป คาดเดาไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เราต้องพยายามทำอะไรให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ ที่เราคิดว่าจะตอบโจทย์ที่เขาให้มา

ผมเชื่อว่า ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล เพราะมันก็ตีความไปได้เยอะ แล้ว expression ก็หลากหลาย style ก็หลากหลายเสียจนเราต้องเกิดแล้วตายอีกหลายชาติ ก็ยังฟังไม่ครบ  

The People: ในฐานะนักแต่งเพลง คุณคาดหวังอย่างไรกับความเจริญก้าวหน้าของวงการดนตรีคลาสสิกวันนี้ จากเดิมเคยมาจากการสนับสนุนของเจ้าขุนมูลนาย

ณรงค์ฤทธิ์: ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่เพียงแทนที่จะเป็นเจ้านาย ก็เปลี่ยนเป็น corporate แทน ผมว่าดนตรีคลาสสิกเป็น market เล็ก ๆ ที่เทียบไม่ได้กับดนตรีป๊อป แต่ผมคิดว่ามีหนทางที่จะไปรอด ผมคิดว่าอย่างนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีคนอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุน มันเปลี่ยนรูปไป ไม่ได้มีขุนนาง แต่เปลี่ยนไปเป็น BMW,  Mercedes Benz เป็นแบงก์ใหญ่ๆ เป็น SCB ซึ่งก็โอเค

ส่วนงานที่ผมทำ ผมสอนหนังสือด้วย แต่งเพลงด้วย Mozart ก็ต้องสอน ก็ต้องทำ มีไม่กี่คนที่ไม่ต้องสอน ส่วนมากก็ต้องสอน ผมเคยสัมมนาเรื่องนี้ ผมเคยคุยให้นิสิต ป.เอก ฟัง เรื่องที่ผมชอบคุยที่สุด คือเรื่อง career ของคนที่เป็น composer ทำอะไรกันบ้าง ผมให้เขาไปหากันมา แต่ละคนมี career อย่างไรบ้าง

คือนอกจากเราดูผลงานแล้ว ให้เราดูว่าวิธีการดำเนิน career ของแต่ละคนเป็นอย่างไร อย่าง Clementi เป็น composer รุ่นเดียวกับ Mozart แต่เขาจะมีชีวิตที่แตกต่างกับ Mozart  คือ Clementi ร่ำรวยมาก แต่ลองไปดูสิว่า เขาร่ำรวยจากอะไร หนึ่ง-เขาแต่งเพลง สอง-เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ สาม-ขายเปียโน และตัวเองนี่แหละที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้เปียโนตัวเองเลย นี่คือตัวอย่างว่าคนเป็นนักดนตรีไม่ได้แปลว่าแต่งเพลงอย่างเดียว มันก็มี career ที่แวดล้อม เหมือนอย่างสมัยนี้ มันก็ทำแบบนี้ได้

หรืออย่าง Stravinsky ทำไมถึงมีวิลล่าที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่โน่นที่นี่ เพราะเขาเป็นคนเคี่ยวกับเพลงมากเลย เป็น businessman แต่บางคนอาจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ อย่าง Schubert อาจจะมีชีวิตที่สงบสุขกว่า อาจจะไม่ได้มีความเป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่วิธีการดำเนินของแต่ละคน คนอย่าง Mozart ในตอนสุดท้ายแย่ ไม่ใช่เพราะว่าดนตรีของเขา แต่เป็นเพราะความเฮงซวยในการดำเนินชีวิตของเขา

ถ้าดูในประวัติ Mozart ตอนแรกอยู่เวียนนา แล้วตอนหลังต้องระเห็จไปอยู่ปราก เหตุผลคือหนีหนี้ มันอยู่เวียนนาไม่ได้ พอเล่นกลเสร็จปั๊บ หนีดีกว่า อันนี้คือ career ของแต่ละคน ที่เขาทำตัวเขาเอง ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ composer ทุกคนจะลำบาก แต่ว่าอยู่ที่วิธีการดำเนินชีวิต อย่าง Mahler ทำไมถึงร่ำรวย เพราะว่าโอเปร่าสมัยก่อน ปัจจุบัน ก็คือหนังดี ๆ นี่เอง โอเปร่า คนดูเยอะมากเหมือนกับทำหนังแล้วคนมาดูเยอะ มันมีวิธีการดำเนินบางอย่างแตกต่างกัน อยู่ที่การบริหารการจัดการ  

The People: นิยามความเป็นคอมโพสเซอร์ของคุณ

ณรงค์ฤทธิ์: น่าจะเป็น contemporary classical composer แหละครับ คงไม่ไปมากกว่านั้น มีดีเอ็นเอแบบไทย แล้วก็ดีเอ็นเอแบบสากลร่วมสมัย  

The People: มองเรื่องวงการดนตรีคลาสสิกจะ cross over อย่างไร

ณรงค์ฤทธิ์: ดีครับ ผมว่าอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น Gershwin ยังผสม อย่าง Mozart เขาผสม จริง ๆ ผมว่ามันผสมกันทุกคน มันก็แยกไม่ได้ Mozart แต่ง Requiem ก็คือแดนซ์ชาวบ้าน เท่ากับเอา ป๊อปปูลาร์ มิวสิก มาใส่ ผมว่ามัน cross over อยู่แล้ว โลกเรามันไม่มีอะไรที่ original อยู่แล้ว มันก็ยักย้ายถ่ายเทสิ่งต่างๆ ไป อันนี้เป็นเรื่องปกติ ผลงานของผมก็ผสม ๆ อยู่ อย่างที่ผ่านมา ก็มีอาเซียน มีอะไรต่ออะไร การที่เราเล่นแบบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามาจากคนอื่นด้วย มีปัจจัยที่มาจากคนอื่น โจทย์กำหนดมาอย่างนั้น  

The People:  คุณค่าของเสียงดนตรี?

ณรงค์ฤทธิ์: สำหรับผม No Life, No Music ผมว่ามันสนุก เราได้ยินได้ฟังได้อะไรต่ออะไร แล้วผมก็อยู่กับมันตั้งแต่เล็ก รู้สึกไม่ได้มีความเสียใจเลยที่ดนตรีเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต เคยมีบางคนบอก “รู้อย่างนี้ กูไปทำอย่างอื่น”  เช่น สมมติเป็นทนายความหรือเป็นหมอ บางคนเขาคงมีแหละ แต่ผมมีความรู้สึกว่า กูทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วนอกจากมาทำแบบนี้

ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำ แล้วก็มีความรู้สึกว่า คนเราน่าจะได้ทำอะไรที่ใจปรารถนา คนเราควรจะหาความสำราญของตัวเองมากกว่าจะไปให้ตามสิ่งที่คนอื่นกระทำ เช่น เห็นเขาทำแล้ว ก็ทำอย่างเขาบ้าง ลองถามใจตัวเองก็ดีว่าเราอยากทำอะไร  

สำหรับผมแล้ว ดนตรีเป็นสิ่งที่จำเป็น จรรโลงชีวิต ดนตรีอะไรแบบไหนเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคลาสสิกหรือว่าเพลงเกี่ยวข้าวที่ชาวบ้านร้อง ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่เชื่อแบบนี้ แต่มันค่อย ๆ เปลี่ยน สมัยก่อน ผมคิดว่าเพลงคลาสสิกสุดยอดแล้ว ตอนหลังไม่คิดต่อไปแล้ว มีความรู้สึกว่า ดนตรีเท่าเทียมกัน เพราะดนตรีมาจากหัวใจ ชโลมจิตใจเราให้มีความสุข ผมอาจจะเปลี่ยนความคิดนะ

ตอนนี้ ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เราเป็นมนุษย์เท่ากัน มีสิทธิ์ที่จะป่วยตายเป็นอะไรตาย คนเท่ากันหมด เพราะฉะนั้น ดนตรีอะไรก็ตามที่อยู่ในใจ ที่ทำให้มีความสุข หล่อเลี้ยงชีวิต มันย่อมเท่าเทียมกัน

เครดิตภาพ: เพจ Princess Galyani Vadhana Institute of Music Youth Orchestra