นถุราม โคดเส นักชาตินิยมฮินดู มือสังหาร มหาตมะ คานธี

นถุราม โคดเส นักชาตินิยมฮินดู มือสังหาร มหาตมะ คานธี
"สัตยาเคราะห์ (การยึดความจริงเป็นหลักการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม - ราชบัณฑิต) ไม่มีวันพ่ายแพ้ คือสูตรในการประกาศปฏิเสธความรับผิดของมหาตมะ (คานธี) แล้วก็ไม่มีใครอีกนอกจากเขาที่จะบอกว่า สัตยาเคราะห์คืออะไรกันแน่ นั่นทำให้ มหาตมะกลายเป็นทั้งตุลาการและลูกขุนในการกระทำของตัวเอง" นถุราม โคดเส (Nathuram Godse) นักชาตินิยมฮินดูมือสังหารผู้ลั่นไกฆ่า มหาตมะ คานธีบรรยายคุณลักษณะของเหยื่อที่เขาสังหารขณะให้การต่อศาลสูง (Speakola) "การอยู่ในฐานะที่รอดพ้นจากความรับผิดทั้งปวง คานธีจึงเป็นสาเหตุของความผิดพลาด ล้มเหลว และหายนะครั้งแล้วครั้งเล่า นโยบายให้ท้ายมุสลิมจากทัศนคติที่บิดเบี้ยวของเขาเห็นได้ชัดเจนจากเรื่องภาษาประจำชาติของอินเดีย มันค่อนข้างชัดเจนว่า ภาษาฮินดีคือภาษาที่มีภาษีดีที่สุดที่จะได้การยอมรับให้เป็นภาษาหลักของประเทศ  "ตอนแรกที่เขาเคลื่อนไหวในอินเดีย คานธีก็ผลักดันภาษาฮินดีอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเขารู้ว่ามุสลิมไม่ชอบใจ เขาก็หันมาผลักดันสิ่งที่เรียกว่า ฮินดูสถาน แทน ทุกคนในอินเดียรู้ว่า มันไม่มีภาษาที่เรียกว่าฮินดูสถาน มันไม่มีไวยากรณ์ ไม่มีคำศัพท์ มันเป็นแค่สำเนียงหนึ่งเท่านั้น มันใช้ในการพูด แต่ไม่มีระบบเขียน มันคือลูกนอกสมรสที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างภาษาฮินดีกับอูรดู (ภาษาที่ใช้ในหมู่ชาวมุสลิม ซึ่งปัจจุบันคือภาษาหลักของปากีสถาน)  "และแม้แต่ความพยายามให้เหตุผลอย่างชาญฉลาดของมหาตมะก็ทำให้มันเป็นที่นิยมไม่ได้ แต่ด้วยความปรารถนาที่จะเอาใจชาวมุสลิม เขายืนยันว่าฮินดูสถานเท่านั้นที่สมควรที่จะเป็นภาษาประจำชาติของอินเดีย แน่นอน สาวกที่มืดบอดพากันแห่แหนแนวคิดนั้น และภาษาพันธุ์ทางที่ว่าจึงเริ่มมีการใช้งานขึ้นมา เสน่ห์และความบริสุทธิ์ของภาษาฮินดีจึงถูกย่ำยีเพื่อเอาใจพวกมุสลิม การทดลองทั้งหลายแหล่ของเขาต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของชาวฮินดู" คานธี ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดา" ของประเทศอินเดีย จากบทบาทสำคัญในการนำขบวนการปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วยสันติวิธี เขาพยายามประสานรอยร้าวระหว่างคนสองกลุ่มความเชื่อใหญ่ในอนุทวีป คือชาวฮินดูและชาวมุสลิม เขาสนใจศึกษาอิสลามอย่างจริงจังและชี้ให้เห็นถึงความสอดคล้องไปกันได้กับหลัก "สัตยาเคราะห์" แต่ความพยายามดังกล่าวของเขาสูญเปล่าและตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงเสียเอง ทั้งนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษยอมรับหลักการปลดปล่อยให้อาณานิคมอินเดียเป็นอิสระ และระหว่างปี 1946-1947ที่มีการเจรจาต่อรองกันระหว่างอังกฤษ พรรคคองเกรส และสันนิบาตอิสลาม ถึงหลักการการถ่ายโอนอำนาจและระบบการปกครองกันอยู่นั้น ความรุนแรงระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมก็ปะทุขึ้น คานธีพยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผล กระบวนการยุติธรรม การอดกลั้น และความเชื่อใจซึ่งกันและกัน แต่ความพยายามของเขาไม่เป็นผล (Britannica) และเมื่อข้อเสนอให้แยกประเทศได้รับการยอมรับ แม้คานธีจะไม่เห็นด้วย (เขาต่อต้านในฉากหลังระหว่างเจรจา แต่สาธารณะไม่ได้รับรู้ด้วย) แต่เขาก็พยายามที่จะประสานรอยร้าวระหว่างคนสองศาสนาด้วยการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งและจลาจลในเบงกอลและพิหาร เขาวิจารณ์การยกความเชื่อของตนเพื่อเล่นงานคนต่างศาสนา คอยให้กำลังใจเหยื่อความรุนแรง และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้อพยพซึ่งเดือดร้อนอย่างหนักจากการขีดเส้นแบ่งประเทศ (ประชากรนับสิบล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และความรุนแรงในช่วงนั้นก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนหรือล้านราย)  แต่คานธีที่ถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการกำหนดทิศทางของประเทศในขณะนั้น ถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างโทษว่าความวุ่นวายและการแบ่งประเทศเป็นผลที่คานธีมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง การเทศนาของคานธีจึงล้มเหลว คานธีหันมาใช้วิธีการอดอาหารประท้วงความรุนแรงซึ่งได้ผลสำเร็จในบางพื้นที่ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้นักชาตินิยมฮินดูยิ่งเคียดแค้นคานธี ด้วยเห็นว่าคานธีพยายามปกป้องแต่ชาวมุสลิมจากการใช้ความรุนแรงของชาวฮินดูในอินเดีย แต่กลับวางเฉยเมื่อชาวฮินดูถูกชาวมุสลิมทำร้ายในปากีสถาน นักชาตินิยมฮินดูกลุ่มหนึ่งจึงวางแผนการลอบสังหารคานธี โคปาล โคดเส (Gopal Godse) น้องชายของ นถุราม โคดเส หนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดเล่าว่า ตอนที่พี่ชายของเขามาชวนให้ก่อเหตุร่วมกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกหลายคน เขาก็ตกลงร่วมลงมือด้วยทันที พวกเขาลงมือครั้งแรกในวันที่ 20 มกราคม 1948 ที่นิวเดลี โดยได้จุดระเบิดบริเวณกำแพงล่อให้ประชาชนถอยห่างจากคานธี แต่เนื่องจากพวกเขาเลือกที่จะใช้ระเบิดมือในการสังหาร เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงก็เกรงว่าระเบิดจะทำร้ายผู้คนรอบข้างจึงระงับแผนไว้ก่อน (The New York Times) หลังจากนั้นโคปาลขึ้นรถไฟหนีไปตั้งหลักที่ปูเน (Pune) ก่อนมาพบกับพี่ชายอีกครั้งที่บอมเบย์ และนถุรามก็บอกกับเขาว่า จะเดินทางกลับไปนิวเดลีเพื่อสังหารคานธีให้สำเร็จ ส่วนโคปาลเลือกที่จะไม่สานต่อ เขาไม่ได้ข่าวพี่ชายอีกเลยจนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม ปีเดียวกัน เมื่อข่าววิทยุรายงานว่า นถุรามพี่ชายของเขาทำสำเร็จ จ่อยิงคานธีเข้าที่หน้าอก 3 นัดจนถึงแก่ความตาย  "ผมรู้ว่าผมกำลังจะสูญเสียพี่ชายไป และไม่ต้องสงสัยเลยว่าผมเองก็จะต้องถูกจับและร่วมรับชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา แต่ในอีกทางหนึ่ง เป้าหมายของเราก็สัมฤทธิผล เรากำจัดคนที่ไม่เพียงพอใจกับการก่อตั้งปากีสถาน เขาต้องการเห็นความก้าวหน้าของปากีสถาน จริง ๆ แล้ว เขาคือบิดาแห่งปากีสถาน" โคปาลกล่าวก่อนเสริมว่า  "ถ้าคุณถามผมว่า ผมรู้สึกเสียใจรึเปล่า ผมตอบเลยว่าไม่ ไม่แม้แต่น้อย เราตัดสินใจลงมือโดยรู้ดีว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ เรารู้ว่า หากปล่อยให้คนคนนี้มีชีวิตต่อไป เขาจะสร้างความเสียหายให้กับชาวฮินดูสุดคณานับ และเราก็ยอมไม่ได้" นถุรามเองก็ภาคภูมิใจกับผลงานของเขา เขารู้ดีว่าผลอะไรจะตามมาแต่ก็พร้อมรับชะตากรรมนั้น โดยอ้างว่า เพื่ออนาคตของ "ประเทศชาติ" "ผมมองเห็นอนาคตและบอกกับตัวเองว่า หากผมฆ่าคานธี ชีวิตของผมต้องย่อยยับ ผมต้องสูญเสียเกียรติยศทั้งปวง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตของผมเอง แต่ในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกได้ว่า การเมืองอินเดียที่ไม่มีคานธีจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า รัฐสามารถโต้ตอบด้วยความรุนแรงได้ และจะเป็นรัฐที่ทรงอำนาจด้วยกองทัพทหาร ไม่ต้องสงสัยว่าชีวิตของผมคงฉิบหาย แต่ประเทศของเราจะปลอดภัยจากการรุกรานของปากีสถาน ประชาชนอาจจะบอกว่าผมไร้ความคิดหรือจะว่าโง่ก็ได้ แต่ประเทศของเราจะมีอิสระที่จะเดินไปข้างหน้าบนฐานของเหตุผลซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชาติ" นถุรามกล่าวต่อศาล  นถุรามถูกประหารร่วมกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกรายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุอีกสี่รายรวมถึงโคปาลน้องชายของเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่โคปาลได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดเมื่อปี 1967 หลังรับโทษได้ 18 ปี  มรดกความขัดแย้งทางศาสนาในอินเดียยังคงสืบสานมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้คานธีจะได้รับการยกย่องในฐานะบิดาของประเทศ แต่มุมมองที่มีต่อตัวเขาก็มิได้เป็นเอกฉันท์ โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติแบบสันติ-อหิงสาที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ ยิ่งระยะหลังการเมืองอินเดียเอียงไปทางกระแสชาตินิยมแนวทางของคานธีจึงเป็นเพียงเรื่องที่ควรยกย่องในเชิงอุดมคติ ต่างจากแนวคิดของนถุรามมือสังหารของเขา โดย อษิส นันดี (Ashis Nandy) นักจิตวิทยารัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอินเดียได้ให้ความเห็นกับ The New York Times เมื่อปี 1998 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปีของการลอบสังหารว่า การฆ่าคานธี ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศสมัยใหม่ตามหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุผล วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม สิ่งที่นถุรามเรียกร้องก็คือให้อินเดียเล่นการเมืองบนพื้นฐานของความเป็นจริง คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นสำคัญ และพัฒนาประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการทหารและอุตสาหกรรมบนเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางต่างปรารถนา แต่การที่เขาสังหารคานธีก็สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับคนที่จะออกมาสรรเสริญเขาเช่นกัน