นีล ฮาร์บิสสัน มนุษย์ไซบอร์ก ศิลปินผู้ได้ยิน ‘เสียงของสี’  

นีล ฮาร์บิสสัน มนุษย์ไซบอร์ก ศิลปินผู้ได้ยิน ‘เสียงของสี’  
หากอยู่ดี ๆ มีคนเดินมาทักคุณด้วยประโยคประหลาด ๆ อย่าง “วันนี้คุณแต่งตัวได้ไพเราะมาก” หลายคนคงขมวดคิ้วสงสัยก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยทบทวนดูใหม่ว่า เอ๊ะ! เราได้ยินอะไรผิดไปหรือเปล่า แต่ถ้าหากคุณได้ทำความรู้จักกับ นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) ศิลปินชาวไอริช ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นจาก ‘เสียง’ ที่เขาได้ยิน ก็จะพบว่าประโยคนั้นน่ะ เขาหมายความตามที่พูดจริง ๆ “ผมมาจากโลกสีเทา (Greyscale World)” ฮาร์บิสสัน บอก สำหรับเขาแล้ว ท้องฟ้าเป็นสีเทา ดอกไม้ทุกดอกก็สีเทา ทีวียังฉายแต่ภาพขาวดำเสมอ โลกของคนคนหนึ่งเป็นเช่นนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เขาเกิด เพราะความผิดปกติทางสายตาที่ชื่อว่า โรคตาบอดสีสมบูรณ์ (Achromatopsia) ซึ่งเป็นกรณีหายากที่จะเกิดกับคนเพียง 1 ใน 30,000 คน ฮาร์บิสสันจึงไม่เคยเห็นสีอะไรเลย เขาไม่รู้ว่าสีแต่ละสีหน้าตาเป็นอย่างไร และสื่อความหมายอย่างไรต่อความรู้สึกของคนอื่น แม้จะไม่เคยรู้จักสี แต่ฮาร์บิสสันก็ยังชื่นชอบในสุนทรียภาพของศิลปะ เขาชอบฟังดนตรี และตัดสินใจศึกษาต่อด้านนี้ที่วิทยาลัยศิลปะดาร์ลิงตัน (Darlington College of Art) อนาคตของฮาร์บิสสันคงจบลงที่การเป็นนักเปียโน ถ้าหากในปี 2003 เขาไม่ได้พบกับ อดัม มอนแทนดอน (Adam Montandon) และ ปีเตอร์ เคเซ่ (Peter Kese) สองนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาร่วมงานในโปรเจกต์จบการศึกษาของเขา เพื่อสร้าง ‘อุปกรณ์ตรวจจับสี’ ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของฮาร์บิสสันไปตลอดกาล พวกเขาตั้งชื่ออุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ‘อายบอร์ก’ (Eyeborg) ความสามารถของมันคือ การตรวจจับและแปลงค่าความถี่ของสีให้กลายเป็นความถี่เสียง เพื่อให้ฮาร์บิสสันสามารถรับรู้ความแตกต่างของสีได้จากการฟัง ในช่วงเริ่มต้น มันเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หนัก 5 กิโลกรัม เฮดโฟน และเสาอากาศที่ติดกล้องเว็บแคมไว้ตรงปลาย ภาพของสีต่าง ๆ ที่กล้องเว็บแคมถ่ายได้ จะถูกประมวลผลให้กลายเป็นเสียงที่ดังขึ้นในเฮดโฟน  ฮาร์บิสสันพอใจกับผลลัพธ์ของอุปกรณ์ชิ้นนี้มาก เพราะในที่สุดเขาก็สามารถแยกแยะสีโดยการนำส่วนปลายของอุปกรณ์ไปจ่อกับวัตถุต่าง ๆ เพื่อฟังเสียงที่แตกต่างกันได้เสียที ต่อมาเมื่อเขาและทีมได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์มาเรื่อย ๆ เจ้าอายบอร์กก็ค่อย ๆ ลดขนาดจนกลายเป็นเพียงเสาอากาศขนาดเบาที่โค้งตามรูปศีรษะ และมีเซนเซอร์ติดไว้ตรงปลาย  ฮาร์บิสสันตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต โดยการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวลงบนหัวเขาอย่างถาวร และฝังชิปที่คอยควบคุมคำสั่งแปลงค่าไว้ในกะโหลกช่วงท้ายทอย เขาจึงกลายเป็นมนุษย์ไซบอร์กที่มีอุปกรณ์ตรวจจับฝังไว้บนกะโหลกศีรษะตั้งแต่นั้นมา นีล ฮาร์บิสสัน มนุษย์ไซบอร์ก ศิลปินผู้ได้ยิน ‘เสียงของสี’   “ผมใช้เวลา 5 สัปดาห์กว่าจะหายจากอาการปวดหัว เพราะต้องรับรู้เสียงมากเกินไป ก่อนจะใช้เวลาอีก 5 เดือนค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อแยกแยะ และจดจำโน้ตดนตรีที่สื่อถึงสีแต่ละสี”  ต้องขอบคุณความสามารถด้านดนตรีของเขา ที่หลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ฮาร์บิสสันก็สามารถแยกแยะตัวโน้ตได้ถึง 360 ตัว นั่นหมายถึงการรับรู้สีได้ครบทั้ง 360 สี เท่ากับจำนวนที่มนุษย์ปกติมองเห็น แต่ที่ล้ำไปกว่านั้น เขายังสามารถขยายการรับรู้สีไปถึงระดับที่คนทั่วไปมองไม่เห็น อย่างการฟังเสียงของ ลำแสงอินฟราเรด (infrared) และ แสงอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ได้ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตของฮาร์บิสสันจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เขาก็ ‘ได้ยินสี’ ต่าง ๆ อยู่ตลอด สำหรับคนส่วนใหญ่มันคงดูเหมือนจะท่วมท้นกับชีวิตมากเกินไป แต่สำหรับฮาร์บิสสัน เขาบอกว่ามันเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง ความเคยชินกับการฟังเสียงจากสีต่าง ๆ ค่อย ๆ กลายเป็นทักษะอัตโนมัติของฮาร์บิสสัน เขาเล่าว่าตอนนี้เขาไม่ได้มองอายบอร์กเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ติดอยู่บนตัวอีกต่อไปแล้ว เพราะมันได้กลายเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งที่เชื่อมต่อเข้ากับประสาทสัมผัสของเขา มันสร้างความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่าง และกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของเขาอย่างแท้จริง ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การตอบโต้ หรือตอบสนองสิ่งเร้า รวมทั้งวิธีการแต่งตัว ที่เมื่อก่อนเขาเลือกสวมเสื้อผ้าเพื่อให้ตัวเอง ‘ดูดี’ แต่เดี๋ยวนี้ฮาร์บิสสันกลับเลือกเปลี่ยนมาแต่งตัวเพื่อให้ดู ‘ไพเราะ’ แทน “เวลาที่มีความสุข ผมจะเลือกใส่เสื้อผ้าที่ให้เสียงของ ซี เมเจอร์ (C major) มันเป็นคอร์ดที่ค่อนข้างจะรื่นเริงสำหรับผม สีที่ออกมาก็จะเป็น เหลือง ชมพู หรือน้ำเงิน แต่ถ้าต้องไปงานศพ ผมจะใส่เสื้อผ้าที่ให้เสียงของ บี ไมเนอร์ (B minor) ซึ่งเป็นสีเทอร์ควอยซ์ สีม่วง หรือส้มแทน” ฮาร์บิสสันเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างงานศิลปะของเขา มาจากตอนเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และสามารถได้ยินเสียงของภาพวาดปิกัสโซ และศิลปินชื่อดังคนอื่น ๆ เขาจึงเริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเอง โดยอาศัยเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องเพลง เสียงพูดคุย คำปราศรัย ล้วนกลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานศิลปะของฮาร์บิสสันทั้งหมด  [caption id="attachment_18736" align="aligncenter" width="1200"] นีล ฮาร์บิสสัน มนุษย์ไซบอร์ก ศิลปินผู้ได้ยิน ‘เสียงของสี’   งานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลง Rehab ของ Amy Winehouse (ซ้าย) เพลง Für Elise ของ Beethoven (ขวา)[/caption] เขาเคยนำคำปราศรัยที่ทุกคนรู้จักดีอย่าง ‘I Have a Dream’ ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ รวมทั้งคำกล่าวปราศรัยของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี มาสร้างเป็นงานศิลปะมาแล้ว ฮาร์บิสสันมักนำงานศิลปะทั้งสองไปจัดแสดงข้าง ๆ กัน โดยไม่บอกว่าชิ้นไหนสร้างมาจากคำพูดของใคร ก่อนจะให้ผู้เข้าชมทายดูว่าพวกเขาจะชอบงานจากฮิตเลอร์หรือเปล่า ปฏิกิริยาของผู้คนหลังจากเขาเฉลยคำตอบสร้างความบันเทิงให้กับฮาร์บิสสันไม่น้อย ฮาร์บิสสันยังสามารถสร้างงานศิลปะจากการจ้องมองใบหน้า หรือว่าภาพเหมือนของคนดังได้อีกด้วย ข้อนี้ทำให้เขาค้นพบว่าบางคนที่มีใบหน้าสวยงาม อาจจะไม่ได้ให้เสียงที่ไพเราะ ส่วนบางคนที่มีหน้าตาธรรมดา ๆ ก็อาจกลายเป็นผลงานที่เพราะจับใจได้ “เสียงจากใบหน้าของ นิโคล คิดแมน [นักแสดงฮอลลีวูด] น่าฟังมาก มันมีอะไรที่คล้าย ๆ กับภาพเสียงของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ [มกุฎราชกุมารอังกฤษ] เพราะพวกเขามีสีตาที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น ผมจึงสามารถมองหาความคล้ายคลึงของคนสองคนได้จากเสียงในหัว”  นีล ฮาร์บิสสัน มนุษย์ไซบอร์ก ศิลปินผู้ได้ยิน ‘เสียงของสี’   ความสามารถในการฟัง ยังพาให้ฮาร์บิสสันค้นพบความจริงที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ ‘โลกนี้ไม่มีสีเทา’ เขาบอกว่าหลังจากพยายามฟังเสียงของสีเทามากมายที่ผู้คนต่างมองเห็น ไม่ว่าจะฟังอย่างไร มันก็ยังมีสีอื่น ๆ ซ่อนอยู่ อาจจะเป็นสีฟ้า สีน้ำตาล หรือสีเขียวที่มีโทนอ่อนมาก ๆ แต่กลับไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสีเทาอยู่เลย  ความจริงข้อนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ หลังจากได้ฟังเสียงจากหน้าตาของผู้คนมามากมาย เขาบอกว่าแท้จริงแล้ว โลกนี้ไม่มีคนดำหรือคนขาว” เพราะเมื่อลองฟังให้ลึกลงไป ไม่ว่าจะฟังซ้ำ ๆ สักเท่าไหร่ ก็ยังได้ข้อสรุปว่า “พวกเราทุกคนคือสีส้ม” “ผมเคยคิดว่าคนดำจะมีเสียงเหมือนสีดำ แต่ที่จริงไม่ใช่ พวกเขาแค่เป็นสีส้มที่มีเฉดเข้มมาก ๆ ส่วนคนขาวก็ไม่ได้มีเสียงสีขาว แต่เป็นสีส้มที่โทนอ่อนมาก ๆ ” ข้อมูลที่เราได้จากการค้นพบของนีล ฮาร์บิสสัน ศิลปินผู้ได้ยินเพียงเสียงผู้นี้ ดูเหมือนจะช่วยสนับสนุนความเชื่อหนึ่ง ที่ผู้คนในโลกยุคใหม่กำลังพยายามสื่อสารให้หลายคนเข้าใจตรงกันว่า ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเหมือนกัน สิ่งที่พวกเราจะแตกต่างกันก็มีเพียงเฉดสีเท่านั้นเอง มีผู้เชี่ยวชาญด้านการ ‘ฟังสี’ ช่วยยืนยันขนาดนี้ เราจะยังแบ่งแยกกันเพียงเพราะเฉดที่แตกต่างได้อีกหรือ?      ที่มา https://www.ted.com/talks/neil_harbisson_i_listen_to_color?language=th#t-15087 https://www.theguardian.com/artanddesign/2014/may/06/neil-harbisson-worlds-first-cyborg-artist https://edition.cnn.com/2014/09/02/tech/innovation/cyborg-neil-harbisson-implant-antenna/index.html https://www.quadriga-university.com/en/persons/neil-harbisson-cyborg-foundation-222082 https://www.clotmag.com/body-sculptures/neil-harbisson https://www.creativebloq.com/news/design-indaba-2019-meet-the-worlds-first-cyborg-artist https://www.youtube.com/watch?v=Ss8UGJnKPYQ