The People Talk: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ของเนลสัน แมนเดลา นักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียม

The People Talk: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ของเนลสัน แมนเดลา นักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียม

The People Talk: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ของเนลสัน แมนเดลา นักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียม

*The People Talk รวมสุนทรพจน์เปลี่ยนโลก ** ‘I Am Prepared to Die’ สุนทรพจน์ของเนลสัน แมนเดลา ผู้นำเรียกร้องอิสรภาพและความเท่าเทียม ระหว่างขึ้นศาลต่อสู้ข้อกล่าวหาจากรัฐบาล ในกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1964 ***ภาพประกอบคือภาพที่ถ่ายเนลสัน แมนเดลาเมื่อเดือนเมษายน 2007 ไม่ใช่ภาพจากสถานที่กล่าวสุนทรพจน์ต้นเรื่อง เนลสัน แมนเดลา ตำนานนักสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้ล่วงลับ ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการประท้วง และอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมต่อต้านรัฐบาลคนผิวขาวในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1964 สุนทรพจน์นี้เกิดขึ้นระหว่างเปิดการพิจารณาคดีครั้งแรก โดยอดีตผู้นำผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ อธิบายมูลเหตุของการประท้วง และที่มาของเหตุวินาศกรรมโดยละเอียด ขณะเดียวกันยังปฏิเสธข้อหาที่รัฐบาลพยายามเชื่อมโยงขบวนการของเขากับพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนปิดท้ายสุนทรพจน์ด้วยประโยคที่ว่า “มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมพร้อมแลกมาด้วยชีวิต” สุนทรพจน์นี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเนลสัน แมนเดลา เนื่องจากบอกเล่าประวัติความเป็นมา และเหตุผลเบื้องหลังอุดมการณ์การต่อสู้ทั้งหมดที่ผ่านมาอย่างละเอียด โดยภายหลังการพิจารณาคดีนี้ แมนเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และต้องใช้เวลาอีก 30 ปีต่อมาต่อสู้จากในเรือนจำ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในปี 1990 และเป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดนโยบายแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้ นี่คือสุนทรพจน์เต็มของเนลสัน แมนเดลา ที่อธิบายว่า ทำไมเขาจึงยอมตายเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และอยากให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เนื่องด้วยสุนทรพจน์นี้มีความยาวมากเกินกว่าที่จะลงในแพลตฟอร์มของ Facebook ทางกองบรรณาธิการจึงขอตัดบางส่วนของสุนทรพจน์มานำเสนอ ส่วนฉบับเต็มอ่านได้ที่ลิงก์นี้ https://thepeople.co/talk-nelson-mandela-i-am-prepared.../ ผมเชื่อว่า คอมมิวนิสต์มักเล่นบทบาทเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศอาณานิคม เพราะเป้าหมายระยะสั้นของคอมมิวนิสต์มักสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของขบวนการเรียกร้องอิสรภาพ ดังนั้น คอมมิวนิสต์จึงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศอย่างมาลายา แอลจีเรีย และอินโดนีเซีย แต่ในวันนี้ รัฐเหล่านี้ไม่มีประเทศใดเป็นคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับขบวนการต่อสู้ที่อยู่ใต้ดินซึ่งผุดขึ้นมาในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งล่าสุด คอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทสำคัญ แม้แต่นายพลเจียงไคเช็ก ที่ทุกวันนี้เป็นหนึ่งในศัตรูที่เจ็บแสบที่สุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ยังสู้ร่วมกับคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านชนชั้นนำในการต่อสู้ซึ่งนำไปสู่การมีอำนาจในจีน ช่วงทศวรรษ 1930s รูปแบบความร่วมมือนี้ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ได้ถูกฉายซ้ำในขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติแอฟริกาใต้ ก่อนหน้ามีคำสั่งแบนพรรคคอมมิวนิสต์ แคมเปญร่วมกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับขบวนการต่าง ๆ ของคองเกรส ยังเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ คอมมิวนิสต์แอฟริกันสามารถเป็นสมาชิกพรรค ANC (พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา) และบางคนยังทำงานเป็นกรรมการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ พวกเขาเหล่านั้นทำงานในฝ่ายบริหารแห่งชาติ คือ อัลเบิร์ต เอ็นซูลา อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, โมเซส โคตาเน อดีตเลขาธิการอีกคน และ เจบี มาร์กส์ อดีตสมาชิกกรรมการกลาง ผมเข้าร่วมกับพรรค ANC ในปี 1944 และตอนอายุน้อยกว่านี้ ผมมีมุมมองเกี่ยวกับนโยบายยอมรับคอมมิวนิสต์ให้เข้าร่วมพรรค ANC และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นเฉพาะระหว่างพรรค ANC กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น จะนำไปสู่ความเสื่อมของคอนเซปต์ลัทธิชาตินิยมแอฟริกา ในช่วงนั้นผมเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนของพรรค ANC และเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่คอมมิวนิสต์ออกจากพรรค ANC ข้อเสนอนี้ถูกตีตกไปอย่างรุนแรง ผู้ร่วมโหวตคัดค้านข้อเสนอคือสมาชิกบางคนในฝ่ายที่มีแนวคิดทางการเมืองแอฟริกาแบบหัวอนุรักษนิยมมากที่สุด พวกเขาให้เหตุผลในการปกป้องนโยบายนี้ว่า การกำเนิดของพรรค ANC ไม่ได้เริ่มจากการเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดทางการเมืองด้านใดด้านเดียว แต่เป็นสภาของประชาชนชาวแอฟริกัน เป็นที่รวมผู้คนซึ่งมีแนวทางการเมืองหลากหลาย โดยทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันภายใต้เป้าหมายร่วมกัน นั่นคือการปลดปล่อยแห่งชาติ ในที่สุดผมจึงยอมรับแนวคิดนี้ และยึดมั่นมาตลอดนับแต่นั้นมา บางทีมันยากสำหรับชาวแอฟริกันผิวขาว ซึ่งมีอคติกับลัทธิคอมมิวนิสต์ฝังหัว จะเข้าใจว่าทำไมนักการเมืองแอฟริกันที่มีประสบการณ์ จึงยอมรับคอมมิวนิสต์เป็นมิตรแบบไม่สงสัย แต่สำหรับเราแล้วเหตุผลนั้นชัดเจน ความต่างทางทฤษฎีในหมู่นักต่อสู้กับการกดขี่เป็นความหรูที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ในจุดนี้ จะมีอะไรมากกว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คอมมิวนิสต์คือกลุ่มการเมืองเดียวในแอฟริกาใต้ที่พร้อมปฏิบัติกับชาวแอฟริกันในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียม ใครกันที่พร้อมกินข้าวกับเรา พูดคุยกับเรา ใช้ชีวิตร่วมกับเรา และทำงานร่วมกับเรา พวกเขาคือกลุ่มการเมืองเดียวที่พร้อมทำงานกับชาวแอฟริกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมือง และส่วนแบ่งในสังคม เพราะเหตุนี้ ชาวแอฟริกันหลายคนทุกวันนี้จึงมีแนวโน้มที่จะมองอิสรภาพเท่ากับลัทธิคอมมิวนิสต์ ความเชื่อนี้ได้รับการสนับสนุนโดยกฎหมายซึ่งตีตราผู้เรียกร้องรัฐบาลประชาธิปไตยและอิสรภาพของชาวแอฟริกันทุกคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และสั่งแบนพวกเขาหลายคน (ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์) ด้วยกฎหมายเพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ผมไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ตัวผมเองก็ถูกขึ้นบัญชีด้วยกฎหมายอันตรายนั้น เพราะผมมีบทบาทในแคมเปญแห่งการท้าทาย ผมยังถูกแบนและติดคุกภายใต้กฎหมายนั้นด้วย ไม่ใช่แค่การเมืองภายในเท่านั้นที่เรามองคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของเรา ในเวทีนานาชาติ ประเทศคอมมิวนิสต์ยังมักยื่นมือช่วยเหลือเรา ในสหประชาชาติ และองค์กรโลกอื่น ๆ กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์สนับสนุนการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมของชาวแอฟโฟร - เอเชีย และดูเหมือนมักจะมีความเห็นอกเห็นใจความทุกข์ของเรามากกว่ามหาอำนาจตะวันตกบางชาติเสมอ แม้จะมีการประณามนโยบายแบ่งแยกสีผิวในระดับสากล กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์กลับออกมาประกาศต่อต้านสิ่งนี้ด้วยเสียงที่ดังกว่าโลกของคนผิวขาวส่วนใหญ่ ในสภาพการณ์เหล่านี้ มันต้องเป็นนักการเมืองวัยรุ่นที่ไม่รู้กาละเทศอย่างที่ผมเป็นเมื่อปี 1949 ที่จะออกมาป่าวประกาศว่า คอมมิวนิสต์คือศัตรูของเรา ตอนนี้ผมขอพูดถึงจุดยืนของตนเองบ้าง ผมปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และคิดว่าในสภาพการณ์ต่าง ๆ ผมยอมที่จะพูดตรงไปตรงมาว่าความเชื่อทางการเมืองของผมคืออะไร ผมมักมองตัวเองในอันดับแรกเป็นคนรักชาติชาวแอฟริกันคนหนึ่ง เหนือสิ่งอื่นใดผมเกิดใน Umtata เมื่อ 46 ปีก่อน ผู้ปกครองของผมคือญาติ ซึ่งเป็นรักษาการประมุขสูงสุดของ Tembuland และผมก็เป็นญาติกับทั้งประมุขสุงสุดของ Tembuland คนปัจจุบัน ซาบาตา ดาลินดีเอโบ และไกเซอร์ มาแทนซิมา มุขมนตรีของทรานสไก วันนี้ผมสนใจแนวคิดสังคมไร้ชนชั้น เป็นความสนใจที่ผุดขึ้นมาส่วนหนึ่งจากการอ่านงานของมาร์กซิสต์ และบางส่วนจากความชื่นชอบโครงสร้างและการจัดการของสังคมแอฟริกันในประเทศก่อนหน้านี้ ผืนดินที่อดีตเคยเป็นเครื่องมือหลักในการให้ผลผลิต มีชนเผ่าเป็นเจ้าของ ไม่มีคนจนหรือคนรวย และไม่มีการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว มันจริงอย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า ผมได้อิทธิพลจากแนวคิดมาร์กซิสต์ แต่นี่ยังเป็นเรื่องจริงสำหรับผู้นำในรัฐอิสระเกิดใหม่อีกหลายคน เป็นบุคคลที่แตกต่างกันหลากหลายอย่างคานธี, เนห์รู, เอ็นกรูมา และนัสเซอร์ ทุกคนรับรู้ข้อเท็จจริงนี้ เราทุกคนล้วนยอมรับความต้องการรูปแบบบางอย่างจากลัทธิสังคมนิยม เพื่อทำให้ประชาชนของเราสามารถไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วในโลกนี้ได้ทัน และก้าวข้ามมรดกของความยากจนสุดขั้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราคือมาร์กซิสต์ อันที่จริงในส่วนของผมเอง ผมเชื่อว่ามันเปิดให้ถกเถียงได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ มีบทบาทเฉพาะเจาะจงเรื่องใดในช่วงนี้ของการต่อสู้ทางการเมืองของเราหรือไม่ บทบาทพื้นฐาน ณ เวลานี้คือการกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และเพื่อได้มาซึ่งสิทธิประชาธิปไตยบนพื้นฐานของกฎบัตรอิสรภาพ ตราบใดที่พรรคนั้นทำให้งานนี้เดินไปข้างหน้า ผมยินดีรับความช่วยเหลือ ผมตระหนักดีว่า มันเป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้คนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าร่วมในการต่อสู้ของเราได้ จากการอ่านงานวรรณกรรมมาร์กซิสต์ และได้พูดคุยกับพวกมาร์กซิสต์ ผมมีความประทับใจที่คอมมิวนิสต์มองระบบรัฐสภาของตะวันตกว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และพาสังคมย้อนกลับสู่อดีต แต่ในทางตรงข้าม ผมคือผู้ที่ชื่นชอบระบบดังกล่าว กฎบัตรแมกนา คาร์ตา, คำร้องขอสิทธิราษฎร (Petition of Rights) และบัญญัติแห่งสิทธิ (Bill of Rights) คือเอกสารซึ่งนักประชาธิปไตยทั่วโลกให้ความเคารพ ผมให้ความเคารพอย่างสูงต่อสถาบันการเมืองของอังกฤษและระบบตุลาการของประเทศ ผมมองรัฐสภาอังกฤษเป็นสถาบันที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ความเป็นอิสระและเป็นกลางของตุลาการไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง สภาคองเกรสของอเมริกา ที่มีหลักการแบ่งแยกอำนาจของประเทศ รวมถึงความเป็นอิสระของตุลาการ ปลุกความรู้สึกชื่นชอบให้ผมไม่ต่างกัน ผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากทั้งตะวันออกและตะวันตก ทั้งหมดนี้นำผมไปสู่ความรู้สึกว่า ในการค้นหาสูตรทางการเมืองของผม ผมควรต้องเป็นกลางและมองที่เป้าหมายเป็นหลักอย่างชัดเจน ผมไม่ควรผูกมัดตัวเองไว้กับระบบสังคมใดสังคมหนึ่งที่นอกเหนือจากสังคมนิยม ผมต้องปล่อยให้ตัวเองเป็นอิสระเพื่อที่จะยืมสิ่งที่ดีที่สุดมาจากตะวันตก และตะวันออก มีของกลางซึ่งบอกว่า เราได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างชาติ และผมขอตอบคำถามนี้ การต่อสู้ทางการเมืองของเราได้รับทุนจากแหล่งที่มาภายในประเทศเสมอ จากกองทุนที่คนของเราตั้งขึ้นมา และจากผู้สนับสนุนของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เรามีแคมเปญพิเศษ หรือคดีความทางการเมืองที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาคดีกบฏ เราได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากทั้งองค์กรและปัจเจกที่เห็นอกเห็นใจในประเทศตะวันตก เราไม่เคยรู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องไปขอเงินนอกเหนือจากแหล่งเหล่านี้ที่กล่าวมา แต่เมื่อถึงปี 1961 ซึ่งมีการจัดตั้ง Umkhonto (กองกำลังติดอาวุธ) และเริ่มการต่อสู้ขั้นใหม่ เราตระหนักว่า กิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้ทุนมากมายจากทรัพยากรอันน้อยนิดที่เรามี และขนาดของกิจกรรมจะถูกลดทอนด้วยการขาดเงินทุน หนึ่งในคำแนะนำของผมก็คือ ผมจะช่วยระดมทุนจากรัฐต่าง ๆ ในแอฟริกา ระหว่างที่ผมเดินทางไปต่างประเทศในเดือนมกราคม 1962 ผมต้องเสริมว่า ขณะอยู่ต่างประเทศ ผมได้หารือกับบรรดาผู้นำขบวนการการเมืองในแอฟริกา และพบว่า เกือบทุกขบวนการในดินแดนที่ยังไม่ได้อิสรภาพ ล้วนรับความช่วยเหลือทุกรูปแบบจากประเทศสังคมนิยมและตะวันตก รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินด้วย ผมยังพบด้วยว่า รัฐแอฟริกาชื่อดังบางรัฐ ทั้งหมดไม่ใช่คอมมิวนิสต์ บางรัฐต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือที่คล้ายคลึงกัน ช่วงขากลับมาสาธารณรัฐนี้ ผมให้คำแนะนำชัดเจนกับพรรค ANC ว่า เราไม่ควรปิดกั้นตนเองไว้กับประเทศตะวันตกและแอฟริกา แต่เราควรส่งคณะไปยังประเทศสังคมนิยมด้วย เพื่อระดมทุนซึ่งเรามีความต้องการเร่งด่วน ผมทราบมาว่า หลังจากผมถูกดำเนินคดี คณะแบบนั้นได้ถูกส่งไป แต่ผมไม่ขอเอ่ยชื่อประเทศที่ไป และไม่ขอเปิดเผยชื่อประเทศและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสัญญาจะทำอย่างนั้น ตามที่ผมเข้าใจคดีความของรัฐ โดยเฉพาะหลักฐานของ ‘มิสเตอร์เอ็กซ์’ ซึ่งพยายามชี้แนะว่า Umkhonto คือแรงบันดาลใจที่พรรคคอมมิวนิสต์มองหา ซึ่งใช้ความทุกข์ร้อนในจินตนาการมาเกณฑ์ชาวแอฟริกันเข้าสู่กองทัพเพื่อต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ ไม่มีอะไรหนีความจริงไปได้ ข้อเท็จจริงก็คือ ข้อชี้แนะแบบนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด Umkhonto ตั้งขึ้นมาโดยชาวแอฟริกัน เพื่อเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพบนผืนดินของตนเอง คอมมิวนิสต์และผู้อื่นให้การสนับสนุนขบวนการดังกล่าว และเราแค่หวังว่า ส่วนต่าง ๆ ของสังคมจะเข้ามาร่วมกับเรามากขึ้น การต่อสู้ของเราเป็นการสู้กับความจริง ไม่ใช่จินตนาการ เป็นการสู้กับความยากลำบาก หรือใช้ภาษาของอัยการรัฐว่า ‘ที่เรียกกันว่าความยากลำบาก’ โดยพื้นฐานแล้ว เราสู้กับ 2 เรื่องซึ่งเป็นจุดเด่นของชีวิตชาวแอฟริกันในประเทศแอฟริกาใต้ และสิ่งที่ฝังรากลึกด้วยกฎหมายซึ่งเราพยายามให้ยกเลิก เรื่องเหล่านี้คือความยากจน และความไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราไม่ต้องการคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้ยุยงปลุกปั่น’ มาสอนเราในสิ่งเหล่านี้ ประเทศแอฟริกาใต้คือประเทศร่ำรวยที่สุดในทวีปแอฟริกา และสามารถเป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในโลก และมันคือดินแดนแห่งความสุดขั้ว และความแตกต่างอย่างชัดเจน คนผิวขาวมีความสุขกับสิ่งที่อาจเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตที่สูงที่สุดในโลก ขณะที่ชาวแอฟริกันมีชีวิตที่ลำบากและยากจน ชาวแอฟริกัน 40% อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดไร้ซึ่งความหวัง และในบางกรณี ไร้แหล่งน้ำทำกิน เป็นที่ซึ่งเกิดการกัดเซาะหน้าดิน และดินถูกใช้งานมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่บนผืนดินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 30 เป็นผู้ใช้แรงงาน ผู้ขายแรงงานแลกกับที่ดินทำกิน และผู้พักอาศัยในฟาร์มของคนผิวขาว และดำรงชีวิตพร้อมทำงานภายใต้เงื่อนไขคล้ายกับทาสในยุคกลาง อีกร้อยละ 30 อาศัยอยู่ในเมืองที่พวกเขาได้รับโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทำให้ในหลายแง่มุมใกล้เคียงมาตรฐานชีวิตของคนผิวขาว แต่ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ แม้แต่ในกลุ่มนี้ ยังมีฐานะยากจน เพราะมีรายได้ต่ำ และค่าครองชีพสูง ชีวิตชาวแอฟริกันในเมืองที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด และมีความเจริญมากที่สุดอยู่ในนครโจฮันเนสเบิร์ก แต่ตำแหน่งจริง ๆ ของพวกเขายังถือว่าสิ้นหวัง ตัวเลขล่าสุดที่ได้มาจากมิสเตอร์คาร์ ผู้จัดการสำนักงานกิจการนอกภาคพื้นยุโรปในโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 1964 ระบุว่า เส้นมาตรฐานความยากจนสำหรับครอบครัวชาวแอฟริกันในโจฮันเนสเบิร์ก เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 42.84 แรนด์ ส่วนเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.24 แรนด์ และร้อยละ 46 ของครอบครัวชาวแอฟริกันทั้งหมดในโจฮันเนสเบิร์ก มีรายได้ไม่เพียงพอให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ ความยากจนมาพร้อมกับภาวะขาดสารอาหารและโรค ภาวะขาดสารอาหารและโรคขาดสารอาหารพบมากในหมู่ชาวแอฟริกัน ขณะที่วัณโรค, โรคเพลลากรา, โรคควาซิออร์กอร์, โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ และโรคลักปิดลักเปิดทำให้มีผู้เสียชีวิตและทำลายสุขภาพ อัตราเด็กเสียชีวิตแรกเกิดมีจำนวนสูงที่สุดชาติหนึ่งของโลก จากรายงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกรุงพริทอเรีย พบว่า วัณโรคทำให้มีผู้เสียชีวิตวันละ 40 ราย (เกือบทั้งหมดเป็นชาวแอฟริกัน) และในปี 1961 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 58,491 คน โรคเหล่านี้ไม่เพียงทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อสติปัญญา ทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ และลดทอนพลังอำนาจในการใช้สมาธิ ส่วนผลที่ตามมาจากสภาพดังกล่าวจะกระทบต่อชุมชนโดยรวม รวมถึงมาตรฐานการทำงานของแรงงานชาวแอฟริกัน อย่างไรก็ดี คำร้องทุกข์ของชาวแอฟริกันไม่ใช่แค่ว่า พวกเขายากจนและคนผิวขาวร่ำรวย แต่กฎหมายที่ออกโดยคนผิวขาวยังออกแบบมาเพื่อรักษาสถานการณ์เช่นนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป การจะออกจากความยากจนได้มีอยู่ 2 ทาง หนทางแรกคือการได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ และทางที่สองคือคนงานได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานให้สูงขึ้น และได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น เท่าที่ชาวแอฟริกันรับทราบมา หนทางแห่งความก้าวหน้าทั้งคู่นี้ถูกปิดกั้นด้วยความตั้งใจจากการใช้กฎหมาย รัฐบาลปัจจุบันมักพยายามสกัดกั้นชาวแอฟริกันที่มองหาโอกาสการศึกษา หนึ่งในกฎหมายช่วงเริ่มแรกหลังมีอำนาจ คือการหยุดให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกับโรงเรียนของชาวแอฟริกัน เด็กชาวแอฟริกันหลายคนที่ไปโรงเรียนต้องพึ่งพาอาหารเสริมนี้เพื่อโภชนาการ สิ่งนี้ถือเป็นกฎหมายที่โหดร้าย เด็กผิวขาวทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับโดยที่ผู้ปกครองแทบไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกคล้ายกันกลับไม่มีให้เด็กชาวแอฟริกัน แม้บางคนอาจได้รับความช่วยเหลือนั้น อย่างไรก็ตาม เด็กชาวแอฟริกันโดยทั่วไปกลับต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงกว่าคนผิวขาว จากตัวเลขของสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติแอฟริกาใต้ในวารสารปี 1963 เด็กแอฟริกันอายุระหว่าง 7 - 14 ปี ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เรียนหนังสือ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปโรงเรียน มาตรฐานชีวิตแตกต่างมากจากเด็กผิวขาวที่ได้เข้าเรียน ในปี 1960 - 61 รัฐบาลใช้งบประมาณต่อหัวของนักเรียนแอฟริกันในโรงเรียนรัฐที่ประมาณ 12.46 แรนด์ แต่ในปีเดียวกัน เด็กผิวขาวได้งบประมาณต่อหัวใน Cape Province (ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวที่ผมหาได้) ที่ 144.57 แรนด์ แม้ผมจะไม่มีตัวเลขในมือ แต่สามารถพูดได้แบบไม่สงสัยว่า เด็กผิวขาวที่ได้งบไปหัวละ 144.57 แรนด์ ทุกคนล้วนมาจากครอบครัวที่รวยกว่าเด็กแอฟริกันที่ได้งบเพียงหัวละ 12.46 แรนด์ คุณภาพการศึกษาก็มีความแตกต่างกัน จากข้อมูลในวารสารการศึกษา Bantu มีเด็กแอฟริกันเพียง 5,660 คนทั่วแอฟริกาใต้ เรียนจบระดับมัธยมต้นในปี 1962 และในปีนั้นมีแค่ 362 คนเรียนจบมัธยมปลาย สิ่งนี้คาดเดาได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของ Bantu ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันพูดไว้ ระหว่างการดีเบตเกี่ยวกับกฎหมายการศึกษา Bantu ในปี 1953 ‘เมื่อผมได้ดูแลการศึกษาของคนพื้นเมือง ผมจะปฏิรูปมันเพื่อให้คนพื้นเมืองได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กที่จะตระหนักว่า ความเท่าเทียมกับชาวยุโรปไม่ใช่เพื่อพวกเขา...ผู้คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมไม่ใช่ครูที่ต้องการสำหรับคนพื้นเมือง เมื่อสำนักงานของผมควบคุมการศึกษาของคนพื้นเมือง มันจะเป็นที่รับรู้สำหรับการศึกษาขั้นสูงว่าระดับไหนที่เหมาะกับคนพื้นเมือง และเขาจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้นั้นในชีวิตหรือไม่’ อุปสรรคหลักอีกเรื่องสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาวแอฟริกัน คือ แถบสีทางอุตสาหกรรมภายใต้หลักเกณฑ์ซึ่งงานในอุตสาหกรรมที่ดี ๆ ทั้งหมดถูกสงวนไว้ให้กับคนผิวขาวเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวแอฟริกันที่ได้รับการว่าจ้างในอาชีพที่ไม่ต้องการทักษะ หรือต้องการทักษะเล็กน้อย ซึ่งเปิดกว้างสำหรับพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพการค้า ซึ่งเป็นที่รับรู้ภายใต้กฎหมายเพื่อความสมานฉันท์ทางอุตสาหกรรม สิ่งนี้หมายความว่าการประท้วงของคนงานชาวแอฟริกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิในการรวมตัวกันต่อรอง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำได้สำหรับคนผิวขาวที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า การเลือกปฏิบัติกับแรงงานแอฟริกันมีในนโยบายทุกรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นในสิ่งที่เรียกกันว่า ‘นโยบายแรงงานศิวิไลซ์’ ซึ่งพบว่ามีการสงวนงานในรัฐบาลที่ไม่ต้องการทักษะไว้สำหรับแรงงานผิวขาวที่ไม่สามารถทำคะแนนได้ดีในภาคอุตสาหกรรม ด้วยค่าแรงซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างชาวแอฟริกันในภาคอุตสาหกรรมมาก รัฐบาลมักตอบเสียงวิจารณ์ด้วยการบอกว่า ชาวแอฟริกันในประเทศแอฟริกาใต้ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าผู้พักอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ผมไม่รู้ว่าคำพูดนี้จริงหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าการเปรียบเทียบนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องมองเรื่องดัชนีค่าครองชีพในแต่ละประเทศได้หรือไม่ แต่ถึงแม้มันเป็นเรื่องจริง เท่าที่เกี่ยวกับชาวแอฟริกันมันเป็นเรื่องที่ไม่สัมพันธ์กัน ข้อร้องเรียนของเราไม่ใช่ว่า เรายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนในประเทศอื่น แต่เรายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนผิวขาวในประเทศของเราเอง และเราถูกกีดกันด้วยกฎหมายไม่ให้เปลี่ยนแปลงความไร้สมดุลนี้ ประสบการณ์ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวแอฟริกันคือผลโดยตรงของนโยบายคนผิวขาวเป็นใหญ่ การที่คนผิวขาวเป็นใหญ่สื่อเป็นนัยว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่า กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นใหญ่ของคนผิวขาวทำให้แนวคิดนี้ฝังรากลึก งานที่ไม่ต้องการทักษะมากนักในแอฟริกาใต้ มักตกเป็นของชาวแอฟริกันเรื่อยมา เมื่อบางสิ่งต้องใช้การแบกหาม หรือทำความสะอาด คนผิวขาวจะมองไปรอบ ๆ เพื่อหาชาวแอฟริกันมาทำให้ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ว่าจ้างชาวแอฟริกันผู้นั้นหรือไม่ เพราะทัศนคติแบบนี้ คนผิวขาวจึงมีแนวโน้มที่จะมองชาวแอฟริกันเป็นเผ่าพันธุ์ที่แปลกแยก พวกเขาไม่ได้มองคนเหล่านี้คล้ายคนในครอบครัวเดียวกัน พวกเขาไม่ตระหนักว่าคนเหล่านี้มีอารมณ์ พวกเขาสามารถตกหลุมรักเหมือนที่คนผิวขาวทำ พวกเขาต้องการอยู่กับภรรยาและลูกเหมือนคนผิวขาวที่ต้องการอยู่กับครอบครัว พวกเขาต้องการเงินที่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ลูก และส่งพวกเขาไปโรงเรียน และอะไรคือสิ่งที่ ‘เด็กรับใช้’ หรือ ‘เด็กทำสวน’ หรือผู้ใช้แรงงานสามารถหวังจะได้ทำสิ่งนี้ กฎหมายบัตรผ่าน (Pass Laws) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกกฎหมายที่ชาวแอฟริกันรังเกียจมากที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้ เปิดทางให้ชาวแอฟริกันถูกตำรวจสอดแนมได้ทุกเวลา ผมสงสัยว่าจะมีชายชาวแอฟริกันในแอฟริกาใต้สักคนมั้ย ที่ไม่เคยมาถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเกี่ยวกับเรื่องบัตรผ่าน ชาวแอฟริกันหลายแสนคนถูกจับขังคุกในแต่ละปีด้วยกฎหมายบัตรผ่านนี้ ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายบัตรผ่านทำให้สามีภรรยาไม่สามารถมาเจอหน้ากัน และนำไปสู่ชีวิตครอบครัวที่แตกสลาย ความยากจนและการล่มสลายของชีวิตครอบครัวมีผลกระทบที่ตามมา เด็ก ๆ ต้องออกมาเร่ร่อนตามท้องถนนในเมือง เพราะพวกเขาไม่มีโรงเรียนให้ไป หรือไม่มีเงินไปโรงเรียน หรือไม่มีผู้ปกครองที่บ้านคอยดูว่าพวกเขาไปโรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ (หากทั้งคู่ยังอยู่ด้วยกัน) ต้องไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว สิ่งนี้นำไปสู่การล่มสลายของมาตรฐานทางศีลธรรม นำไปสู่การทำผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะทางการเมือง แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง ชีวิตในเมืองมีความอันตราย ไม่มีวันใดที่ผ่านไปโดยปราศจากคนถูกแทงหรือทำร้าย และความรุนแรงได้เกิดขึ้นในเมืองซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนผิวขาวด้วย ผู้คนหวาดกลัวที่จะเดินคนเดียวบนถนนหลังค่ำมืด การบุกรุกที่อยู่อาศัยและจี้ปล้นกำลังเพิ่มขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำเช่นนั้นสามารถถูกประหารชีวิตได้ในปัจจุบันก็ตาม โทษประหารชีวิตไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่กำลังเน่าเฟะได้ ชาวแอฟริกันต้องการได้รับค่าจ้างที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ชาวแอฟริกันต้องการทำงานที่พวกเขามีความสามารถทำได้ และไม่ใช่งานที่รัฐบาลประกาศให้พวกเขาทำ ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในที่ที่พวกเขาได้งานทำ และไม่ถูกขับไล่ออกนอกพื้นที่เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้เกิดที่นั่น ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของผืนดินในสถานที่ที่พวกเขาทำงาน และไม่ถูกผูกมัดให้อาศัยในบ้านเช่าซึ่งพวกเขาไม่สามารถเรียกมันว่าบ้านของตนเอง ชาวแอฟริกันต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโดยรวม และไม่ถูกจำกัดพื้นที่ให้มีชีวิตอยู่แต่ในแหล่งเสื่อมโทรมของตนเอง ชายชาวแอฟริกันต้องการมีภรรยาและลูกที่อาศัยอยู่ร่วมกันในที่ที่พวกเขาทำงาน และไม่ถูกบังคับให้อยู่แบบไม่เป็นธรรมชาติในหอพักชาย หญิงชาวแอฟริกันต้องการอยู่กับผู้ชาย และไม่ถูกทิ้งให้เป็นหม้ายอย่างถาวรในเขตพื้นที่สงวน ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้หลัง 5 ทุ่ม และไม่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในห้องเหมือนเด็กเล็ก ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้เดินทางในประเทศตนเองได้ และไปหางานได้ทุกที่ที่ต้องการ ไม่ใช่แค่ที่ที่สำนักงานแรงงานสั่งให้ไป ชาวแอฟริกันต้องการส่วนแบ่งที่เป็นธรรมในแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ พวกเขาต้องการความปลอดภัยและส่วนแบ่งในสังคม เหนือสิ่งอื่นใด_เราต้องการสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียม เพราะปราศจากสิ่งเหล่านี้ การไร้ความสามารถของเราจะอยู่อย่างถาวร ผมรู้ว่าสิ่งนี้ฟังดูเหมือนการปฏิวัติสำหรับคนผิวขาวในประเทศนี้ เพราะผู้มีสิทธิโหวตส่วนใหญ่จะเป็นชาวแอฟริกัน สิ่งนี้ทำให้คนผิวขาวกลัวประชาธิปไตย แต่ความกลัวนี้ไม่อนุญาตให้มาขัดขวางทางออกเดียวซึ่งจะการันตีความปรองดองทางเชื้อชาติและอิสรภาพของทุกคนได้ มันไม่จริงที่ว่า การปลดปล่อยทุกความปรารถนาจะนำมาสู่การครอบงำทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกทางการเมืองบนพื้นฐานของสีผิวล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมา และเมื่อมันหายไป การครอบงำของกลุ่มสีผิวใดสีผิวหนึ่งก็จะหายไปเช่นกัน พรรค ANC ใช้เวลาครึ่งศตวรรษต่อสู้กับลัทธิเหยียดเชื้อชาติ เมื่อมันได้ชัยชนะมันจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่พรรค ANC กำลังต่อสู้ การต่อสู้ของพวกเขาคือการทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง มันคือการต่อสู้ของประชาชนชาวแอฟริกัน มีแรงบันดาลใจจากความทุกข์และประสบการณ์ของตนเอง มันคือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีชีวิต ระหว่างที่ผมยังมีชีวิต ผมขออุทิศตนเพื่อการต่อสู้นี้ของประชาชนชาวแอฟริกัน ผมขอสู้กับการครอบงำของคนผิวขาว และสู้กับการครอบงำของคนผิวดำ ผมขอเทิดทูนอุดมการณ์เพื่อสังคมที่อิสระและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวและได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมหวังจะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น และจะต้องได้มา แต่หากจำเป็น มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมพร้อมแลกมาด้วยชีวิต” เรียบเรียง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล ข้อมูลอ้างอิง: http://www.mandela.gov.za/mandela.../before/640420_trial.htm