ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ในขณะที่ตลาดหนังสือพิมพ์หดตัวลงเรื่อย ๆ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารพากันทยอยปิดตัวกันไปเจ้าแล้วเจ้าเล่า ที่ยังเหลือรอดอยู่ก็พยายามเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ในระบบออนไลน์มากขึ้น และเลิกการพิมพ์เพื่อลดต้นทุนลง  หนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทยที่มีกลุ่มผู้อ่านน้อยกว่ากลับเลือกที่จะรักษาพื้นที่ตัวเองอยู่บนหน้ากระดาษต่อไป แทนที่จะก้าวไปสู้ในตลาดออนไลน์เหมือนสื่อทั่วไป  “ซิงจงเอี๋ยน” เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์จีนที่ยังคงฐานะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไป แม้จะแทบไม่มีใครเคยเห็นหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนบนหน้าแผงหนังสือเท่าใดนัก จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หนังสือพิมพ์จีนอย่างซิงจงเอี๋ยนอยู่รอดได้ด้วยรูปแบบการหารายได้ในลักษณะใด และด้วยความที่เป็นสื่อที่เก่าแก่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซิงจงเอี๋ยนยังมีประวัติผ่านวิกฤตมาหลายยุค ตั้งแต่ปลายยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคโควิด-19  ปัจจุบันซิงจงเอี๋ยนมี ผุสดี คีตวรนาฏ นักข่าวที่เริ่มทำข่าวมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่งตำแหน่งบรรณาธิการ แม้จะมิได้รับหน้าที่บริหารดังเก่า แต่ก็เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาเล่าประวัติศาสตร์อันยาวนานของหนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทย ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย The People: หนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทยมีมานานแค่ไหน ผุสดี: ต้องบอกว่าหนังสือพิมพ์จีนมีประวัติยาวนานมากกว่าหนังสือพิมพ์ฝรั่งหรือไทย เท่าที่ทราบมีมากว่าร้อยปีแล้ว ลักษณะพิเศษของคนจีนก็คือ ไปที่ไหนเขาจะต้องมีหนังสือพิมพ์เพื่อที่จะลงข่าวเกี่ยวกับสังคมของเขา  แล้วในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คงจะทราบดีว่า กรุงเทพฯ มีคนจีนมากกว่าคนไทย เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์จีนในตอนนั้นขายดีทั้งในยุคก่อนสงครามและหลังสงคราม แต่มายุคหลังจอมพลสฤษดิ์แล้ว ปฏิวัติแล้ว ปิดหนังสือพิมพ์ ก็มีเปิดใหม่บ้าง รวมทั้งหมด 4 ฉบับ อยู่มาเกือบ 20 ปี ช่วง 20 ปีนี้เป็นยุคทองเลย โฆษณาสินค้าก็มี โฆษณาอวยพรก็มี ก็กำไรกันเยอะในยุคนั้น มีคนอยากทำหนังสือพิมพ์เยอะ ตอนหลังที่เราเปิดกว้างแล้วก็มีหนังสือพิมพ์จีนเกิดขึ้นใหม่ แต่ก็อยู่ไม่นาน มีอยู่ 2 ฉบับ อยู่ไม่นาน ทนขาดทุนไม่ไหวก็ปิดไป ตอนหลังก็เปิดกว้างจนปัจจุบันมี 6 ฉบับ   The People: ซิงจงเอี๋ยนแปลว่าอะไร มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ผุสดี: ถ้าดิฉันจะเล่าถึงซิงจงเอี๋ยน หลายคนอาจไม่เห็นด้วย หลายคนอาจจะเห็นด้วยว่า ซิงจงเอี๋ยนจริง ๆ แล้วในหนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทยนับว่ามีประวัติยาวนานที่สุด คิดว่า 80 กว่าปีแล้ว ทำไมถึงตั้งซิงจงเอี๋ยน? ก็คือ ด้วยเศรษฐีชื่อดัง 4 ท่านที่ดังที่สุด เป็นผู้นำฝ่ายสังคมจีนรวมทั้งพ่อของคุณอุเทน (เตชะไพบูลย์) ก็มาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เพราะตอนนั้นญี่ปุ่นเริ่มรุกรานประเทศจีน เศรษฐีพวกนี้เขาก็รักชาติ ก็ตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น  ตอนญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทย จะเรียกว่ายึดก็ได้ ไม่ยึดก็ได้ แต่ว่าประเทศไทยก็โอเคกับเขาว่า "ยูผ่านมาได้ เข้ามาได้" หนังสือพิมพ์ของเราก็ถูกยึดไปเหมือนกัน ถูกญี่ปุ่นเอาไปทำอยู่ช่วงสั้น ๆ  พวกเดิมเขาก็ไปอยู่ใต้ดินคล้าย ๆ เสรีไทย อยู่สัก 2 ปี ญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้ไป ชุดเดิมก็กลับมาทำซิงจงเอี๋ยน แต่ตอนนั้นจะชื่อว่า "จงหยวน" คำว่า จงหยวนก็คือ ภาคกลางของประเทศจีน ก็คือพื้นที่ตรงกลางของประเทศก็หมายถึงประเทศจีนนั่นเอง ก็ทำต่อมา  หนังสือพิมพ์จงหยวนถือหลักว่า จะต้องเป็นกลางในยุคนั้น ในยุคระหว่างคอมมิวนิสต์กับก๊กมินตั๋งสู้กัน เจียง ไคเช็ก กับเหมา เจ๋อตุง สู้กัน เขาก็พยายามว่าตัวเป็นกลาง แต่แน่นอนคำว่ากลาง ตัวเองบอกว่ากลาง แต่คนอื่นถ้ายืนอยู่ตรงนี้เขาก็บอกว่าไม่กลางละ "ขวา" ทางนี้บอกว่านี่ "ซ้าย" ก็มี พอจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาก็หาว่าจงหยวนซ้าย ปิดเลย จับคนด้วย จงหยวนก็ถูกปิดไป เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในยุคนั้นก่อนปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์  จ้าของก็มีอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องหนังสือพิมพ์ ก็รอวิ่งเต้น รอ 10 กว่าปี ใกล้จะเปิดสัมพันธ์กับจีนแล้วถึงได้ฟื้นมา เปิดใหม่ ใช้ชื่อเดิม แต่เติมคำว่า "ซิง" ซิง แปลว่า "ใหม่" หรือ จงหยวนใหม่ ในภาษาจีนกลาง แต่ก่อนใช้คำในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "ตงง้วน" พอบอกว่า ตงง้วน พวกมีอายุเขาก็จะรู้หมด ตงง้วนป่อ คนแถวเยาวราช อายุ 50 หรือ 60 ปี ขึ้นไปก็จะรู้หมด  พอเปิดมาสมัยยุคก่อนเกรียงศักดิ์ หลัง 14 ตุลา ก็ได้เปิด ซิงจงเอี๋ยน ก็เกือบ 40 กว่าปีแล้วนะ หลังจากหยุดไปบ้างอะไรบ้าง เปิดขึ้นมาใหม่ก็เปลี่ยนเจ้าของไปหลายยุค มีอยู่ยุคหนึ่งเป็นของคุณผิน คิ้วไพศาล เจ้าของซาฟารี แล้วก็แฟนตาซีที่ภูเก็ต เป็นเจ้าของอยู่พักนึง ก็มีความรักหนังสือพิมพ์แต่ด้วยเหตุส่วนตัวก็เลยต้องเลิกไป ก็มอบให้ดิฉันเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ตอนหลัง ดิฉันคิดว่าตัวเองอายุมากแล้ว ลูกเต้าก็ไม่อยากจะมาทำหนังสือพิมพ์ ทางแบงก์กรุงเทพ ก็อยากจะได้ แล้วตอนนั้นเขาก็มีแผนกภาษาจีน คนรู้ภาษาจีนเยอะ เขาก็ซื้อไปส่วนหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ดิฉันก็ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งแต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด แบงก์กรุงเทพถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย The People: คุณผุสดีสนใจงานหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เมื่อไร เริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ตอนไหน ผุสดี: สามีตอนที่ยังเป็นแฟนกันเขาก็ทำหนังสือพิมพ์จีน เขาก็ส่งเสริมอยากให้ทำหนังสือพิมพ์ด้วย ไม่ได้บอกว่าทำหนังสือพิมพ์จีนนะคะ ตอนนั้นภาษาจีนยังใช้ไม่ได้เลย พอเข้ามหาวิทยาลัยตอนแรก ๆ ก็ไปเรียนบัญชี ธรรมศาสตร์ แฟนก็บอกว่า “เรียนไปทำไมบัญชีไม่มีความหมายเลย ไปเรียนวารสารเถอะจะได้ทำหนังสือพิมพ์” ก็เลยย้ายมาอยู่วารสาร ก็จบวารสาร ธรรมศาสตร์ จบมาก็ทำหนังสือพิมพ์ไทย  ทำอยู่พักหนึ่ง หนังสือพิมพ์จีนก็มาชวนไปงานนอก นักข่าวไทยที่ไปทำงานหนังสือพิมพ์จีนลักษณะนี้เขาจะเรียกว่า “ไปเล่นงิ้ว” นักข่าวไทยเยอะแยะค่ะเล่นงิ้วอย่างนี้ หนังสือพิมพ์ไทยที่ทำด้วยตอนนั้นคือ "เกียรติศักดิ์" ทำได้ไม่เท่าไหร่จอมพลสฤษดิ์เสีย ข่าวผ้าขาวม้าแดง ก็เฟื่องมาก เกียรติศักดิ์ดังมาก พิมพ์กันแทบไม่ไหว แต่พอข่าวผ้าขาวม้าแดงหมดไปมันก็ค่อย ๆ ลง ตอนนั้นก็ออกจากหนังสือพิมพ์ อยู่ได้สัก 6 ปี ก็มีคนชวนไปอยู่ช่อง 7 สี เริ่มต้นที่เราจะมีทีวีสีเลย อยู่ช่อง 7 สี หลายปี พอเนชั่นเปิดตั้งแต่วันแรกเลยก็ถูกชวนไปทำที่เนชั่น วิ่งข่าวทำเนียบกับกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้ทำข่าวอาชญากรรม จากนักข่าวก็เป็นหัวหน้าข่าวจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน โดยคุณผินเขามอบหมายให้บริหารโรงพิมพ์นี้ ก็ได้ออกจากเนชั่นมาทำหนังสือพิมพ์จีน    The People: นอกจากจะเป็น บก.ที่ซิงจงเอี๋ยนแล้ว ยังเป็นผู้จัดการโรงเรียนสีตบุตรบำรุงด้วย มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร ผุสดี: ทำไมถึงมาอยู่ที่โรงเรียน? เพราะเรามองเห็นว่า การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยตอนนั้นตกต่ำมากเลย โรงเรียนจีนที่สอนภาษาจีน นักเรียนก็น้อยครูก็ไม่มี ถือเป็นยุคมืดของโรงเรียนจีน ก็เลยเห็นว่า โรงเรียนจีน ภาษาจีน มันเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์จีน ถ้าคนไม่รู้ภาษาจีนมาก ๆ รุ่นต่อ ๆ ไปไม่รู้ภาษาจีนแล้วใครจะมาอ่านหนังสือพิมพ์จีน ก็เลยมีแนวความคิด เราควรจะมีองค์กรหนึ่งที่จะมาส่งเสริมภาษาจีน ก็เลยริเริ่มหาเจ้าสัว เศรษฐีทั้งหลายแหล่มาออกเงินตั้งเป็นมูลนิธิ มูลนิธิไทย-จีน เพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม  ตั้งเป็นมูลนิธิแล้ว คนออกเงินก็เยอะเลยมีซีพี คุณเจริญ มีแบงก์กรุงเทพ มีแบงก์ศรีนคร คุณอุเทน ก็ออกกันเยอะก็มาทำที่นี่ 2 โรงเรียนก็ 20 กว่าปี นี่ก็โรงเรียนสอนภาษาจีนใหญ่ที่สุดมีนักเรียนมากที่สุด 3,000 คน ประมาณนั้น ตั้งแต่เด็ก 6 ขวบ ไปถึงอายุ 70 เลย คนที่จะไปเรียนเมืองจีนก็มาเรียนภาษาจีนกันที่นี่ ทำให้ส่วนหนึ่งก็มาทุ่มเทอยู่กับงานที่นี่ แต่ว่างานหนังสือพิมพ์เนื่องจากยังมีงานหนังสือพิมพ์อยู่ก็ยังเขียนคอลัมน์ให้กับโรงพิมพ์ทุกวัน เป็นคอลัมน์สั้น ๆ ถือหลักว่าวันนี้คนไม่มีเวลาอ่านแล้ว คอลัมน์ยาว ๆ เขาไม่เอาแล้ว ก็เลยเขียนสั้น ๆ วันหนึ่ง ไม่เกิน 1,000 ตัว ท่องเที่ยวก็เขียน การเมืองนอกประเทศ ในประเทศก็เขียน เป็นคอลัมน์วิจารณ์นิดหน่อย แต่ไม่ใช่บทนำ เป็นเนื้อหาเฉพาะส่วนของเรา   The People: เนื้อหาของซิงจงเอี๋ยนเน้นด้านไหนบ้าง ผุสดี: หนังสือพิมพ์จีนมันก็คล้ายคลึงกัน หน้าหนึ่งมักจะเป็นข่าวต่างประเทศ การเมืองต่างประเทศ อย่างเช่น อเมริกา เหตุการณ์ที่อเมริกาก็ขึ้นหน้าหนึ่ง หน้าหนึ่งมักจะเป็นข่าวการเมืองระหว่างประเทศ แล้วก็มีหน้าหนึ่งเป็นข่าวเฉพาะของจีนเลย จีนมีพัฒนาอะไร ข่าวในประเทศจีน หน้าหนึ่งเป็นข่าวการเมืองไทย อีกหน้าหนึ่งก็เป็นข่าวอาชญากรรม ทุกฉบับก็จะเป็นคล้าย ๆ อย่างนี้ แต่ซิงจงเอี๋ยน หน้าในค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของสุขภาพผู้สูงวัย ทานอะไรทำให้อายุยืน ต้องออกกำลังกายอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไร ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คิดว่าคนที่มีอายุก็ต้องการรายละเอียดพวกนี้ แล้วส่วนใหญ่พวกเขาก็อ่านมือถือไม่ได้หรอก เพราะมันตัวเล็กด้วย แล้วก็ยังใช้ไม่ค่อยเป็นเท่าไร ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย The People: จะหาซื้อซิงจงเอี๋ยนได้ที่ไหนบ้าง ผุสดี: แต่ก่อนปกติเราก็วางขาย แต่วิธีวางขายหนังสือพิมพ์จีนก็ไม่เหมือนของไทย ไทยเอาไปเท่าไร เหลือเท่าไรเอาคืนมา แต่ของจีนไม่มี คนตั้งแผงมาซื้อไป 10 ฉบับ ก็ตัดไปเลยไม่ต้องมาคืน ตอนหลังแผงหนังสือจะน้อย แทบจะไม่มี ส่วนใหญ่ของเรา ของหนังสือพิมพ์จีนเป็นสมาชิกหมดเลย คุณจะมาหาซื้อซิงจงเอี๋ยน หรือว่าหนังสือพิมพ์จีนฉบับไหนในแผงหนังสือแทบจะไม่มีเพราะด้วยวิธีการตั้งแต่นานมาแล้วเป็นอย่างนี้ ก็ซื้อขาดไปเลย แล้วยูก็ไปขายต่อ แต่ก็ให้ส่วนลดเยอะหน่อย เราไม่มีแบบว่ามาซื้อหนังสือพิมพ์เก่าไม่มี มีแต่หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์แล้วเสีย ก็ขายกระดาษนั้นไป เพราะฉะนั้นเราไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยที่พิมพ์หมื่นนึงเหลือกลับมาเจ็ดพัน ห้าพัน เราไม่มี ไม่ทำอย่างนั้น สมาชิกเท่าไรเราก็อาจจะพิมพ์เพิ่มนิดหน่อย   The People: ยอดพิมพ์วันละเท่าไร ผุสดี: ต้องยอมรับว่านี่เป็นความลับของโรงพิมพ์ สอง จริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ดิฉันเองก็ไม่รู้ แต่ขอบอกตรง ๆ ว่า 6 ฉบับรวมแล้วไม่เกินแสน แต่ละฉบับมากน้อยกว่ากันไม่เท่าไร แต่ละฉบับมีแฟนของตัวเอง ลักษณะของหนังสือพิมพ์จีนก็อย่างนี้ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยพอมีปัญหาขึ้นมา โอ้โห! อยู่ไม่ได้เลยเพราะว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่หนังสือพิมพ์จีนค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงอย่างนั้น เงินเดือนก็ไม่เยอะก็อยู่ได้ ไม่ได้กำไร ไม่ได้พึ่งหนังสือพิมพ์ดำรงชีวิต คนทำงานก็สามาถทำได้หลายแห่ง    The People: หนังสือพิมพ์จีนมีถึง 6 ฉบับ แม้จะมีกลุ่มผู้อ่านที่น้อยกว่าหนังสือพิมพ์ไทย แล้วหนังสือพิมพ์จีนหารายได้จากไหนมาเลี้ยงตัวเอง ผุสดี: ทุกคนอาจรู้สึกว่า 6 ฉบับค่อนข้างจะเยอะไป โฆษณาสินค้าแทบจะไม่มีเลย สมัยก่อนยังมีโรงหนังโฆษณายังมีสินค้าอะไรต่าง ๆ สำหรับคนจีน หรือยาอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็จะมีโฆษณายาจีนบ้าง แล้วก็มีบริษัททัวร์บ้าง แต่หลังจากโควิดแล้ว ทัวร์ก็แทบจะไม่มี  ดิฉันอยากบอกว่า หนังสือพิมพ์จีนอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะหน้าสังคม 2 หน้าใหญ่ ๆ ของหนังสือพิมพ์จีน ทำให้หนังสือพิมพ์มีรายได้ เพราะมีกิจกรรมมีสมาคมมาก เวลาวันเกิดสมาคม เวลาวันเกิดผู้ใหญ่ ราชวงศ์ วันชาติบ้าง วันอะไรอย่างนี้ มันก็มีอวยพรเยอะแยะ โฆษณาหลักของหนังสือพิมพ์จีนก็คือ อวยพร แล้วก็แสดงความเสียใจตอนเสียชีวิตของผู้ใหญ่ หรือไม่ผู้ใหญ่เขาก็ลงหนังสือพิมพ์กัน  คนจีนเสียชีวิตแล้วเขาก็ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์จีน แจ้งความให้เพื่อนฝูงรู้ข่าวจัดงานที่ไหน ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยลงนิดเดียว (คนจีน) เขาลงเป็นครึ่งหน้าเลย คนมีเงินหน่อยก็ลงเต็มหน้าเลยค่ะ แต่ก็ต้องเรียนตามตรงว่า ค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์จีนก็น่าสงสารมาก ยังต่ำอยู่ เพราะฉะนั้นคนทำหนังสือพิมพ์รายได้ก็น้อยเหมือนกัน แต่เขาอยู่ได้เพราะว่าแต่ละคนอาจจะทำงานสองแห่งสามแห่ง ทำเสร็จฉบับนี้ก็ไปฉบับนั้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าการใช้แรงงานของหนังสือพิมพ์จีนมันก็ลดลงตามสภาพตามความก้าวหน้า เดี๋ยวนี้ทางกอง บก.แต่ละฉบับคนก็น้อย ถ้าจะบอกว่านักข่าวการเมืองหรือนักข่าวที่จะไปทำข่าวเหมือนหนังสือพิมพ์ไทยไปทำข่าวข้างนอกแทบจะไม่มี มีอย่างเดียวนักข่าวสังคมจีน สมาคมแต้จิ๋วประชุม ก็ส่งนักข่าวไป ช่างภาพไป หอการค้าไทย-จีน ซึ่งเป็นองค์กร สมาคมใหญ่ที่สุดของคนจีนก็ไป วันชาติจีนก็จะมีนักข่าวไปรายงาน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักข่าวทำข่าวสังคมคนจีน สังคมไทยแทบจะไม่มีเลย แต่ว่าในยุคของท่านจอมพลถนอม (กิตติขจร) ก็ดี จอมพลสฤษดิ์ก็ดี ก็ยังมีนักข่าวที่ไปวิ่งข่าวในกระทรวง หน่วยงานราชการต่าง ๆ แต่ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดของหนังสือพิมพ์จีนก็คือ คนทำหนังสือพิมพ์จีนหายากมาก หลายฉบับจำเป็นต้องใช้คนที่มาจากประเทศจีน อย่างเช่น บก.หน้าหนึ่งก็ดี หน้าในก็ดี จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนที่ค่อนข้างจะเก่งถึงจะทำได้   The People: หนังสือพิมพ์จีนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรบ้าง ผุสดี: ยุคโควิดนับว่ากระเทือนที่สุด สังคมจีนมีสมาคมมากมายเป็นร้อย ๆ สมาคม แต่ละสมาคมก็มีกิจกรรมแทบจะทุกเดือน แทบจะทุกอาทิตย์ ไม่ว่าทางจีนจะมาเยือน หรือว่าทางนี้จะไป มันเป็นข่าวทั้งนั้น พอโควิดมาทำให้คนไม่ออกจากบ้าน เพราะฉะนั้นกิจกรรมของสมาคมจีนต่าง ๆ ก็เลยเลิกไป ไม่มีกิจกรรม ไม่มีงานเลี้ยง ไม่มีทุกอย่างเลย แม้แต่งานศพก็ทำเงียบ ๆ งานแต่งงานก็ไม่มี พอไม่มีก็เลยไม่มีโฆษณาก็ลำบากหน่อย รายรับตกหายไป เพราะหนังสือพิมพ์จีนอยู่ได้เพราะสังคมจีน กิจกรรมทุกอย่างของสังคมจีนมาลงที่นี่ ซึ่งเขาไม่ลงในหนังสือพิมพ์ไทย ผุสดี คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย The People: ช่วงนี้ดีขึ้นบ้างหรือยัง ผุสดี: ยังเลย ยังไม่ได้เริ่ม มีแต่ร้านอาหารอะไรเริ่ม แต่สมาคมต่าง ๆ ก็ยังไม่มีกิจกรรมอะไร ต้องเลยเดือนนี้ (มิถุนายน 2563) อาจจะดีหน่อย ร้านอาหาร ภัตตาคารก็นั่งห่าง ๆ ยังไม่ได้ฟื้นจริง ๆ นัดเพื่อน 30 คนก็ไม่มีที่นั่งแล้ว หรือต้องแยกนั่งเป็นสองโต๊ะเขาก็ไม่อยากทาน มันก็ไม่ได้สังสรรค์เท่าที่ควร กิจกรรมของคนจีนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มันเลยลดลงมาก ทำให้รายได้หนังสือพิมพ์ก็ตกไปเยอะ ไม่มีข่าวด้านนี้เลย แต่ช่วงนี้ยังดีว่ามีวันเฉลิมฯ ของพระราชินี ยังมีคำอวยพรอยู่บ้าง    The People: ตอนนี้ทีมงานของซิงจงเอี๋ยนมีประมาณกี่คน ผุสดี: ทั้งหมดไม่เกิน 30 คน ก็น้อยเทียบกับสมัยก่อน สมัยที่ดิฉันเคยบริหารเคยมีประมาณ 200 คน ตอนนั้นการพิมพ์หนังสือต้องใช้คนเยอะ แต่ตอนนี้พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์มันเร็ว แต่ก่อนต้องใช้ตัวเรียงพิมพ์มันก็ช้า   The People: ปัจจุบันคุณผุสดีไม่ได้ทำหน้าที่บริหารโดยตรงแล้ว? ผุสดี: ตอนนี้ไม่ได้บริหารแล้วเพราะตอนที่ขายหุ้นไปให้แบงก์กรุงเทพก็บอกเขาไปว่าไม่ขอบริหารนะ ให้เป็น บก.จดทะเบียนก็เป็น แล้วก็ให้ช่วยก็ช่วยได้แต่เขียนคอลัมน์ไม่ไปบริหาร แต่ก็ลูกน้องเก่าทั้งนั้น เพียงแต่เราไม่ต้องไปมีความกดดันว่ารายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร มันก็เป็นงานที่มีความกดดันมาก   The People: สมัยที่ยังบริหารอยู่เคยเจอความกดดันมากที่สุดช่วงไหน ผุสดี: ช่วงที่บริหารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่หนักใจ หนักใจที่สุดคือ แท่นพิมพ์อย่าเสียนะ เพราะกลางคืนตีหนึ่งตีสองกลับบ้านแล้วยังนอนไม่หลับสนิท บางทีมีโทรศัพท์เข้ามาตกใจเลย "แท่นพิมพ์เสีย" แล้วก็ต้องรีบแก้ปัญหาหาที่พิมพ์ใหม่ แต่ตอนหลังแต่ละฉบับก็โคกันว่า เธอเสียฉันก็ช่วย ฉันเสียเธอก็ช่วยนะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะต่างคนก็มีผู้อ่านของตัวเอง แล้วสมาคมจีนต่าง ๆ ก็อ่านกันทุกฉบับ ไม่ได้อ่านฉบับใดฉบับหนึ่ง   The People: หนังสือพิมพ์จีนมีถึง 6 ฉบับ แข่งขันกันหนักหรือไม่   ผุสดี: แย่งกันนิดหน่อยก็คือเรื่องคำอวยพรของเศรษฐีต่าง ๆ แต่ก็ไม่หนักหนาอะไร เพราะเศรษฐีต่าง ๆ เขาก็รู้อยู่ว่าควรจะทำอย่างไร สมมติอย่างมีการอวยพรเฉลิมฯ พระราชินี ไม่ค่อยมีที่คนจะให้แค่ฉบับเดียว ก็ให้ที 6 ฉบับเลย เขาก็ไม่อยากจะไปขัดแย้งขัดใจกับฉบับใดฉบับหนึ่ง  แล้วนักข่าวสังคมจีนเขาก็สามัคคีกัน เขาตั้งเป็นชมรมเลย ชมรมนักข่าวสังคมจีน สัก 20 กว่าคน ก็ตั้งเป็นชมรมช่วยเหลือกัน ไม่ได้แข่งว่าจะเอาข่าวเดียว ไม่ได้แข่งเรื่องข่าว ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทย แล้วกิจกรรมของสังคมจีนก็มักจะอยู่แต่หนังสือพิมพ์จีนไม่ได้ไปถึงหนังสือพิมพ์ไทย เลยทำให้มีความรู้สึกว่า สังคมจีนกับสังคมไทยเหมือนจะอยู่กันคนละโลก คนไทยจะไม่ค่อยรู้ว่าสังคมจีนมีอะไร มีใครใหญ่มีใครดัง นอกจากอย่างซี.พี. ไปสากลแล้วก็รู้กัน แต่วงการคนจีนที่อยู่ค่อนลงมาคนไทย สื่อไทยจะไม่ค่อยรู้เหมือนกัน   The People: ช่วงนี้ธุรกิจสื่อปรับตัวไปสู่ออนไลน์กันเยอะมาก หนังสือพิมพ์จีนได้ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันด้วยหรือไม่ ผุสดี: มีคนเป็นห่วงว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนก็อ่านข่าวอะไรจากมือถือจากเว็บไซต์ แล้วหนังสือพิมพ์จีนจะมีคนอ่านเหรอ? ดิฉันขอเรียนตรง ๆ ว่าก็ยังมีอยู่ อย่างเช่นเรายังไม่กล้าใช้ตัวย่อเลย เพราะตัวย่อคนแก่เขาไม่ได้เรียนมา เราก็กลัวว่าคนมีอายุแล้วก็อ่านไม่รู้เรื่องเพราะงั้นหนังสือพิมพ์จีนส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็ไม่ได้ใช้ตัวย่อ มีบางตัวเท่านั้นที่ใช้ตัวย่อ  คนอ่านหนังสือพิมพ์ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในสังคมคนจีน สมาคมต่าง ๆ ทุกสมาคมจะต้องมีทุกฉบับ เรามี 6 ฉบับก็คือ สากล ซิงเสียน เกียฮั้ว ตงฮั้ว เอเซีย แล้วก็ซิงจงเอี๋ยน อายุน้อยที่สุดก็คือ เอเซีย อายุแค่ 10 กว่าปีเอง ตอนที่ซิงจงเอี๋ยนถูกปิดตอนที่เฟื่องที่สุด สากลกับซิงเสียนเกือบจะปิดไปแล้วเพราะว่าไม่มีคนอ่าน แต่ว่า ตอนหลังปฏิวัติแล้ว 2 ฉบับนี้ก็ขึ้นมาเพราะว่าหนังสือพิมพ์ที่ขายดีก็ถูกปิดไป เขาก็ฟื้นขึ้นมา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สากลเขาก็มีประวัติยาวนาน แต่ก็ไม่นานเท่าไร 60 70 ปี เดิมทีไต้หวันเขาสนับสนุนแต่ตอนหลังไต้หวันไม่ได้สนับสนุนแล้ว ไม่ทราบว่า เดี๋ยวนี้ยังให้เงินอยู่รึเปล่านะคะ แต่ว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันก็ซื้อไป ซิงเสียนก็มีทุนจากประเทศจีนเหมือนกัน แต่จะเท่าไรไม่ทราบ ก็ส่วนหนึ่ง หนังสือพิมพ์จีนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์มีฉบับเดียวคือตงฮั้ว แต่ว่าพอเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วก็เฉย ๆ ไม่ฟู่ฟ่าเท่าไร เกียฮั้วก็เป็นผู้อ่านอีกกลุ่ม ก็มีการแบ่งว่าใครขวา ใครซ้าย แต่ก็แบ่งกันไม่ชัด อย่างสากลเดี๋ยวนี้ก็ไม่เหมือนก่อนแล้ว แต่ก่อนเขาจะหาว่า แผ่นดินใหญ่เป็นพวกโจร โจรคอมมิวนิสต์ แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ใช้ศัพท์อย่างนี้แล้ว หนังสือพิมพ์จีนที่ทำอย่างมืออาชีพหน่อยก็คือสากล ซึ่งแต่ก่อนเคยเกือบถูกปิด แต่ได้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันมาซื้อไป เขาก็ส่งคนจากไต้หวันมาทำเลย เขาก็ทำอย่างมืออาชีพจริงจัง  หนังสือพิมพ์จีนไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทย อาจจะเพราะรายจ่ายก็ไม่ได้เยอะ เจ้าของแต่ละฉบับก็ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คิดจะปรับปรุงหรือดิ้นรน เจาะตลาดอะไรก็แทบจะไม่มี เนื่องจากแต่ละฉบับ หลายฉบับก็ไม่ได้พิมพ์เองแล้ว แท่นพิมพ์ก็ขายไปเลย แต่ซิงจงเอี๋ยนก็ยังพิมพ์เองอยู่ แล้วเราก็ไม่ได้ใช้แท่นพิมพ์เรารับงานอย่างอื่น จริง ๆ แล้วมันควรจะรับงานอื่นได้ แท่นพิมพ์เป็นหลายสิบล้านของเรายี่ห้อ Goss จากอเมริกาก็นับว่าใช้ได้อยู่ แข็งแรงอยู่ แต่วัน ๆ ก็พิมพ์นิดเดียวไม่เยอะ   The People: มีแผนที่จะเจาะตลาดคนรุ่นใหม่บ้างหรือไม่ ผุสดี: เราค่อนข้างจะมุ่งไปทางคนมีอายุ ค่อนข้างจะอย่างนั้น เพราะว่ามีหนังสือพิมพ์จีนที่ทำข่าวออนไลน์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้กำไร ไม่ได้ผู้อ่านเท่าไร ไม่เหมือนจีนแผ่นดินใหญ่เพราะคนหนุ่มสาวเขาเยอะ เขาก็อ่านจากในนั้นได้ ซิงจงเอี๋ยนเลยยังไม่มีแบบออนไลน์ หลายฉบับก็ยังไม่มี ดูเหมือนจะมีฉบับไต้หวันค่ะ สากลก็มีอยู่ ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลมากมาย อย่าว่าอย่างนั้นเลย ดิฉันเองก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่า เพราะว่าหนังสือพิมพ์จีนเขาได้เปรียบ ข่าวจะจบในหน้า ไม่มีการไปอ่านต่อหน้าไหน แล้วมีข่าวน้อยนิด ของเราจะเป็นข่าวเยอะหน่อย แล้วซิงจงเอี๋ยนจะมีลักษณะพิเศษคือเราจะมีคอลัมน์วิจารณ์อยู่    The People: สื่อฉบับภาษาไทยหลายแห่งปิดตัว เลิกพิมพ์กันไปหลายเจ้า หนังสือพิมพ์จีนจะเจอปัญหาเดียวกันหรือไม่ ผุสดี: หนังสือพิมพ์จีนมันก็แปลกที่ว่า แต่ละฉบับพอจะอยู่ไม่ได้เขาก็จะต้องหาคนทำต่อ หาคนมาออกเงินต่อ ที่จะมาปิดตัวเองเนี่ยยังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่จะสามารถเปลี่ยนเจ้าของหาคนออกเงินได้ คนไทยเชื้อสายจีนร่ำรวยก็เยอะ แล้วก็รวยมาก ๆ จะออกเงินสัก 10 หรือ 20 ล้านมาทำหนังสือพิมพ์จีนมันก็ไม่ยากอะไร แล้วมันก็มีความหมายเพราะจีนก็ผงาดขึ้นมา ในอนาคตก็คิดว่าเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะค้าขายกับจีน เราจำเป็นต้องมีหนังสือพิมพ์จีนและโรงเรียนจีนที่เราทำอยู่ เราเก็บถูก ๆ ไม่ได้หวังกำไรเพราะเราอยากจะพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน เพื่ออนาคตเราจะได้มีบุคลากรด้านนี้ที่จะติดต่อซื้อขายกับจีนได้   The People: อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมากว่า 60 ปีแล้ว เคยคิดจะวางมือเลิกเขียนหรือยัง ผุสดี: ไม่เคยคิดเลย คือทุกวันนี้ก็ไม่มีใครบังคับให้เราต้องเขียนนะ เราไม่เขียนก็ได้ แต่เราเขียนมาหลายสิบปีแล้ว ไม่เขียนก็เหมือนวันนี้เราไม่ทำอะไรก็เลยรู้สึกว่ามันต้องเขียน เขียนจบแล้วก็มีความรู้สึกว่า เรามีความสุข ยังไม่ได้คิดเลยว่าเมื่อไรเราจะไม่เขียน เมื่อไรเราจะอยู่บ้านเฉย ๆ อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้