The New Rijksmuseum (2013) : ‘วัฒนธรรม’ ประชาธิปไตย เกี่ยวข้องอะไรกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก?

The New Rijksmuseum (2013) : ‘วัฒนธรรม’ ประชาธิปไตย เกี่ยวข้องอะไรกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก?
The New Rijksmuseum (2013) เป็นหนังสารคดีบอกเล่าเรื่องราวการบูรณะพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ แห่งกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปและของโลก ภาพเบื้องหน้าของพิพิธภัณฑ์นี้หลังจากที่ปิดตัวมาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี คือความหรูหราโอ่อ่าไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมไหน ๆ ในโลก กับพิพิธภัณฑ์ที่มีภาพศิลปะสะสมมากถึง 1 ล้านชิ้น โดยมีภาพเขียน The Night Watch (ค.ศ. 1642) ของแรมบรันต์เป็นพระเอกของพิพิธภัณฑ์นี้ แต่เบื้องหลังที่หนังสารคดีเรื่องนี้ไปเจาะมากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความวุ่นวายสับสนโลกแตก ที่ถูกนำมาขยี้ให้มีเสน่ห์น่าติดตามไม่แพ้หนังทั่ว ๆ ไป พอพูดถึงหนังสารคดีที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ตอนแรกจินตนาการไปว่า หนังคงจะพาเราไปซาบซึ้งกับงานศิลปะมากมายที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ The New Rijksmuseum สัดส่วนของหนังกลับลงรายละเอียดในเรื่องงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ไม่มากเท่าไร อูเคอ โฮเคินไดจค์ ผู้กำกับของเรื่องได้นำพาทิศทางของหนังไปเล่าถึงกระบวนการบูรณะพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งของหนังเรื่องนี้ The New Rijksmuseum นำเสนอมุม ‘ชวนหัว’ ในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอลหม่านมากมาย ภายใต้งบบูรณะที่สูงถึง 375 ล้านยูโร พร้อมกับคำถามที่ว่า จากเดิม หลังจากที่ปิดพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวในปี ค.ศ. 2003 โดยตั้งใจจะรีโนเวทสถานที่แห่งนี้โดยใช้เวลาไม่กี่ปี แต่กลับใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าที่พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์จะกลับมาเปิดให้ชมกันอีกครั้ง? คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น? หนังจึงพาไปหาคำตอบว่า ระหว่างที่บูรณะอาคารพิพิธภัณฑ์ใหม่มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องการดีเบตกันระหว่างทีมงานของพิพิธภัณฑ์และกลุ่มคนใช้รถจักรยานเรื่องการใช้พื้นที่เลนจักรยานตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์, งบก่อสร้างบานปลายจนรัฐไม่มีงบให้, ผอ.พิพิธภัณฑ์ลาออก เปลี่ยน ผอ. คนใหม่, แบบก่อสร้างผิด, สถาปนิกแอบหลับ, ทาสีไม่ตรงตามสเปคจนต้องทาสีใหม่ทั้งอาคาร ไปจนถึงเรื่องยิบย่อยอย่างการถกเถียงว่าควรวางผลงานศิลปะแต่ละชิ้นแบบไหนดี? สิ่งเหล่านี้มันเป็นได้ทั้งความวุ่นวายไม่จบสิ้น แต่คิดในอีกมุม มันคือการเรียกร้องและการประสานประโยชน์กันในการทำนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมที่มี วัฒนธรรมประชาธิปไตยเข้มแข็ง แท้จริงแล้ว โดยเนื้อหา ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ใช่ระบบที่มีเพื่อรับใช้ค่านิยม ‘อันดีงาม’ อะไรเลย แม้แต่ในหนัง ฝั่งทีมงานของพิพิธภัณฑ์ยังค่อนขอดเลยว่า เรื่องวุ่นวายส่วนหนึ่งมันเกิดจาก ‘ประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว’ กระบวนการประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องขาวสะอาดแบบการเลือก ‘คนดี’ เข้ามาปกครอง เพราะไม่เคยมีมาตรวัดใดที่มาอธิบายว่า อะไรคือนิยามของคำว่า ‘คนดี’ ในความหมายสากลได้ เพราะมันถูกอิงกับมาตรฐานศีลธรรมจริยธรรมบางอย่าง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ข้อปฏิบัติที่ทำได้ในบางศาสนา อาจจะเป็นข้อห้ามในอีกศาสนาหนึ่งก็ได้ แต่ประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของการยอมรับเสียงข้างมากและฟังเสียงส่วนน้อยภายใต้กรอบกติกาของรัฐ ซึ่งในแง่นี้ มันไม่ได้มองในมิติของความดีความชั่ว (ที่แปรผันตามมาตรฐานศีลธรรมจริยธรรมบางอย่าง) แต่มันเป็นการเรียกร้องและหาจุดที่ลงตัวของสิ่งที่ ‘กลุ่มผลประโยชน์’ นั้น ๆ ต้องการ ยิ่งกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใหญ่มากเท่าไร เสียงของพวกเขาจะยิ่งมีพลังและผลักดันเพื่อเข้าถึงทรัพยากร (ผลประโยชน์) ที่ตนเองต้องการได้ (อย่างที่อเมริกา ล็อบบี้ยิสต์จึงเป็นอาชีพทางการเมืองที่จำเป็นมาก เพราะคนอาชีพนี้จะล็อบบี้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่กลุ่มการเมืองของตนต้องการ) หากมองตามในหนัง The New Rijksmuseum ก่อนที่จะบูรณะพิพิธภัณฑ์ มันเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่ทางฝั่งพิพิธภัณฑ์ต้องจัดการ อย่าง การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง, ใบอนุญาตซ่อมแซมโบราณสถาน, ใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม และอีกมากมาย ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะบางอย่าง ควรมองให้ครบทุกมิติ เพราะมันกระทบต่อคนในวงกว้าง ฉากสำคัญในหนังเรื่องนี้อย่างเช่น ฉากการถกเถียงกันของฝั่งทีมงานของพิพิธภัณฑ์กับกลุ่มผู้ใช้จักรยานในเรื่องการสร้างหรือไม่สร้างเลนจักรยานผ่านทางเข้าพิพิธภัณฑ์มันก็เหมือนกับเป็นภาพย่อของกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่ ‘กลุ่มผลประโยชน์’ อย่างกลุ่มคนใช้จักรยาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ออกมาคัดค้านการวางผังการเข้าพิพิธภัณฑ์ เพราะมันกระทบต่อการใช้ถนนของพวกเขา ซึ่งการเรียกร้องตรงนี้มันเป็นทั้งการปะทะและประนีประนอมกันกับกลุ่มคนที่บูรณะพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ที่ตั้งโจทย์ว่า อยากให้สถานที่แห่งนี้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมในแบบของพวกเขา ประเด็นคือว่า กระบวนการ ‘ประชาธิปไตย’ นั้นดีจริงใช่ไหม? ถ้ามองไปที่การบูรณะอันล่าช้าของพิพิธภัณฑ์นี้ โดยเนื้อหาจะไปกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าประเด็นประชาธิปไตยให้กลายเป็นแพะรับบาปของความล่าช้านี้ไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารพิพิธภัณฑ์มากกว่า อย่างไรก็ดี กระบวนการทางประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงความรวดเร็ว ตรงกันข้าม บางนโยบายมันอาจจะดำเนินการไปด้วยความล่าช้า เพราะมันต้องใช้เวลาฟังเสียงหลายเสียงของ ‘กลุ่มผลประโยชน์’ ที่แตกต่างกันในสังคม ซึ่งท้ายที่สุด หากมีข้อตกลงยอมรับร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีความยั่งยืนกว่า ประชาธิปไตย แม้จะดูไม่เร็วทันใจ หากเทียบกับระบอบอื่นที่อยากได้อะไรดั่งใจ รัฐอาจจะชี้นิ้วสั่งการได้เลย แต่ประชาธิปไตบมันก็เป็นกระบวนการที่พยายามแฟร์กับทุกฝ่าย (แบบเท่าที่จะเป็นไปได้) และตอบโจทย์ในระยะยาว ชนิดที่ไม่ต้องย้อนอดีตมานั่งคิดกันว่า 10 ปีผ่านไป การตัดสินใจแบบที่ดูไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เสียของ’ หรือไม่? เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์