คนมีหนี้:กับดักของคำว่า #ของมันต้องมี ฮาวทูปลดหนี้ที่ต้องเลือก #หนี้หรือความสุข

คนมีหนี้:กับดักของคำว่า #ของมันต้องมี ฮาวทูปลดหนี้ที่ต้องเลือก #หนี้หรือความสุข
จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ “แบกชีวิตพอเกิดมาก็เป็นหนี้ อยู่อย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่พ้น อยากจะมีเงินไม่พอต้องขอผ่อน หากเดือดร้อนก็จะยอมสู้อดทน” คือเพลงของ เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ ในอัลบั้ม ทีของเสือ ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2537 แต่มาฟังในวันนี้ก็ยังไม่เก่า แถมยังรู้สึกร่วมสมัยขึ้นไปอีกด้วย เพราะปัจจุบันคนมีหนี้นั้นอยู่รอบ ๆ ตัวเรามากขึ้น ๆ ถ้าหากพูดถึงข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2562 ระบุว่า คนไทยติดกับดักหนี้ครัวเรือนเป็นอันดับต้นของโลก โดยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ จนปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี เป็นผลมาจากภาคธุรกิจสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีมูลหนี้มากขึ้น โดยคนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนอาจเกิดปัญหาสังคมได้ ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งก็คือ แล้วคุณเป็น “คนมีหนี้” หรือไม่? ในสังคมยุคไร้เงินสด ใช้เงินกดและบัตรรูด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณบัตรเครดิตรวม 20.13 ล้านใบ หมายความว่า ภายในเวลาเพียง 7 ปี ประเทศไทยมีปริมาณบัตรเครดิตมากขึ้นกว่า 40% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสัดส่วนของบัตรพลาสติกทั้งหมดที่มีในประเทศไทย จะพบว่า บัตรเครดิตมีสัดส่วนถึง 25% จากปริมาณบัตรพลาสติกทั้งหมด 80 ล้านใบ ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก คำถามก็คือ แล้วคนเราเอาไปบริโภคอะไรกัน ทำไมถึงมีหนี้ที่เพิ่มพูนอย่างมากมาย? ลัทธิบริโภคนิยมนั้นมีส่วนสำคัญทำให้กระตุ้นพฤติกรรมการบริโภคให้เกิดการบริโภคที่เกินจำเป็น มีการเปิดเผยจากสถาบันการเงินว่า 5 สิ่งที่คนมักจะรูดบัตรเครดิตผ่อน 0% หรือกดเงินสดไปใช้จ่าย ได้แก่ อันดับ 1 โทรศัพท์มือถือ อันดับ 2 เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามมาด้วยประกัน, เฟอร์นิเจอร์ และ อันดับ 5 ออโต้เซอร์วิส (เปลี่ยนยาง)    มีหนี้เพราะ #ของมันต้องมี หากจำลองชีวิตกลุ่มมนุษย์ที่เป็นหนี้ อาจจะเป็นกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาหรือทำงานสักระยะหนึ่งไปแล้วที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Money Literacy) ยกตัวอย่าง หากเราเป็นนักศึกษาเพิ่งจบใหม่จากมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท คุณจะบริหารเงินในแต่ละเดือนอย่างไร เมื่อหักค่าบ้านเช่า ค่าน้ำค่าไฟ แล้วคุณจะเหลือเงินสำหรับใช้แต่ละเดือนเท่าไหร่? แล้วถ้าเกิดความอยากได้อยากมีล่ะ เราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ก็ในเมื่อ #ของมันต้องมี เมื่อไม่มีก็ต้องกู้สิ! วิธีง่ายที่สุดก็จะเริ่มจากการขอมีบัตรเครดิตสักใบ ซึ่งการรูดบัตรเครดิตอีกนัยยะหนึ่งก็คือ การยืมเงินจากอนาคตมาใช้ก่อน เมื่อรูดปุ๊บของก็มาถึงมือปั๊บ เมื่อคุณไม่ต้องควักเงินสด ๆ ออกจากมือ ตัวเลขที่วิ่งผ่านบัตรไปก็ไม่ได้ทำให้คุณตกใจว่าเงินที่คุณจ่ายไปนั้นมากขนาดไหน ของเรารับเต็ม ๆ แต่ผ่อนชำระทีไรก็จ่ายขั้นต่ำตลอด ดอกเบี้ยก็เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่เรารูด บางคนก็เลือกผ่อน 0%  ผ่อนทุกอย่างแม้กระทั่งร้านอาหารหรือคอนเสิร์ตสมัยนี้ก็ผ่อนได้ แต่พอถึงเวลาจ่ายบัตรเครดิตจริง ๆ ก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายขึ้นมา ดอกเบี้ยก็สตาร์ทเครื่องเช่นกัน คนมีหนี้:กับดักของคำว่า #ของมันต้องมี ฮาวทูปลดหนี้ที่ต้องเลือก #หนี้หรือความสุข

ภาพจากภาพยนตร์สั้น “หนี้นรก

เมื่อเริ่มเป็นหนี้ก้อนแรกแล้ว หนี้ก้อนที่สอง ก้อนที่สาม และก้อนต่อ ๆ ไป ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณแล้ว ในเมื่อ #ของมันต้องมี เราก็จะหัดสร้างหนี้ก้อนที่ใหญ่ขึ้น ๆ อย่างเช่น หนี้จากการซื้อ Smart Phone รุ่นใหม่ล่าสุด  หรือของแบรนด์เนมต่าง ๆ แต่ทำอย่างไรได้ ก็นี่เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคม สำหรับคุณผู้หญิงหลายคนก็อาจจะมีความเชื่อว่าต้องสวยไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า หรือศัลยกรรม ก็จำเป็นต้องมี และถ้ายิ่งมีอักษรศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัวที่เขียนว่า SALE โอกาสที่คุณจะใช้เงินก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว กลไกดอกเบี้ยก็ทำงานอย่างตรงเวลายิ่งกว่านาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลก หรือเมื่อเห็นเพื่อนไปเที่ยวแล้วอวดเราในโซเชียลมีเดีย เราก็อาจจะอยากลองไปต่างประเทศบ้าง จิ้มในแผนที่เลย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ก็น่าไปเปิดประสบการณ์ชีวิต ซึ่งตอนนี้แม้กระทั่งการท่องเที่ยวก็ผ่อนได้  เมื่อเครดิตเราเริ่มไม่ดี หลายครั้งก็เลือกที่จะยืมเงินเพื่อน เพราะเราเชื่อว่าอย่างไรก็ตามเงินในอนาคตก็เงินของเรา เรามีสิทธิ์ใช้ แต่ไม่ได้ประเมินว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันบริษัทอาจจะปิดตัวหรือเลิกจ้างได้ตลอดทุกเมื่อเช่นกัน บางคนพอมีลูกก็ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก เพราะไม่ได้มีการวางแผนครอบครัวที่รอบคอบ ท้ายที่สุดพอขาดที่พึ่ง “หมอดู” ก็ดูจะเป็นคำตอบ ช่วงนี้เกณฑ์ราศีของคุณมีสิทธิ์จะรับโชคไหม? แล้วจะได้ลาภก้อนใหญ่หรือเปล่า? บางครั้งก็เชื่อหมอดูมากกว่าเชื่อตัวเองเสียด้วยซ้ำ แทนที่จะเลือกการสร้างเงินออมเพื่อความมั่นคงในอนาคต การออมกลับดูเป็นยาขมสำหรับเรา ท่องไว้ว่า “เงินมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้ออม”  แต่บางครั้งพอทำงานไป นายก็ดุ กลับก็ดึก งานก็เยอะ ทำไมเราต้องอดทน ไม่พอใจไม่สบายใจก็ลาออกดีกว่า ถ้าถูกหวยรวยหรือแทงบอลรวยเป็นล้านก็จะไม่ง้อเลย ออกมาเป็นเจ้านายเองเดี๋ยวนี้ธุรกิจก็มีทางเลือกมากมาย งานสบายทำงานหน้าคอมฯ รายได้วันละ 2-3 พัน หรือ นักธุรกิจอิสระเจ้าของชีวิต เดี๋ยวเขาก็ไปเมืองนอก ดูชีวิตดี๊ดี หนักเข้าก็เปลี่ยนสภาพจากนักกู้ยืมกลายเป็นนักหมุนเงิน ยืมบัตรนี้มาปิดบัตรนั้น กดเงินสดบัตรนั้นมาจ่ายหนี้ ถ้าต้องการเงินกู้เงินด่วนหลาย ๆ ครั้ง เราก็ละเลยที่จะอ่านสัญญาไปไหม แต่ถ้าเซ็นไวก็ยิ่งได้เงินไว ส่วนเรื่องประกันใครเสนอขายก็ปฏิเสธไว้ก่อน จะจ่ายเงินทำไมกับเรื่องที่ยังไม่เกิดในปัจจุบัน แต่ถ้าเครดิตไม่พอก็ต้องไปขอให้เพื่อนมาช่วยค้ำประกัน สลับกันค้ำเราค้ำเพื่อนแล้วเพื่อนก็มาเซ็นค้ำเราเครดิตเน่า สุดท้ายก็ต้องไปหาทางออกที่หนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง วิธีการทวงก็อยู่นอกระบบเช่นกันทั้ง การข่มขู่ ติดตาม และร้ายสุดก็คือทำร้ายร่างกาย สุดท้ายเหมือนตกนรกทั้งเป็น คนมีหนี้:กับดักของคำว่า #ของมันต้องมี ฮาวทูปลดหนี้ที่ต้องเลือก #หนี้หรือความสุข

การปลดหนี้ที่ยั่งยืน

บทเรียนในข้างต้นเป็นเรื่องราวใน “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตชิบหาย” ที่จะทำให้เราตกอยู่ในหนี้นรกตลอดชีวิต ซึ่งถอดบทเรียนมาจากชีวิตของหลายคนที่ก้าวเข้าสู่วงจรหนี้ อยากให้ได้ลองอ่านเพื่อให้รู้ว่าคุณได้ทำมันไปแล้วหรือยัง มีอันไหนบ้างที่คุณเคยทำแล้วจะหาทางออกอย่างไร หรือถ้าใครทำมากกว่า 5 ข้อ ก็เชื่อเลยว่าในชีวิตไม่สามารถหลุดออกจากบ่วงหนี้ได้ น่าสนใจว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มาจากกูรูการเงินหรือว่าโค้ชชีวิต แต่มาจาก เงินติดล้อหนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีฐานลูกค้ากว่า 500,000 คน เหตุผลที่ “เงินติดล้อ” ซึ่งเป็นบริษัทบริการสินเชื่อทำแคมเปญนี้ขึ้นมา นั่นเพราะอยากสื่อสารให้ผู้คนในวงกว้างกลับมาทบทวนตัวเองในเรื่องการใช้จ่ายและหนี้สินเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยมากกว่าหนี้เพื่อการลงทุน “เงินติดล้อ” จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมด้วยการทำให้ผู้คนตระหนักกับปัญหาเรื่อง “หนี้” ในแง่มุมนี้ ปิยศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีก่อน เงินติดล้อเองก็เคยทำแคมเปญให้คนไทยฉุกคิดว่าหลังจากกู้ยืมแล้วอยากให้ผู้กู้ได้ลองใช้สติและเวลาไตร่ตรองว่าจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปต่อยอดอย่างไร เพื่อวันที่ปลอดหนี้จะได้ไม่ย้อนกลับมาหาเราอีก และแบ่งการเป็นหนี้เป็น 2 ประเภท คือหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำไปลงทุนตั้งต้นธุรกิจหรือใช้ในยามจำเป็นก็ถือว่าเกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากเป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคนั้นเป็นอันตราย และมีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่วงจรหนี้นรกได้ ในครั้งนี้เงินติดล้อจึงมองย้อนไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องคิดก่อนจะกู้ว่าเรานั้นจะนำไปสร้างหนี้แบบไหน หนี้ที่ก่อประโยชน์หรือหนี้เพื่อการบริโภค ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ก็คือเราสามารถพลิกอ่านได้ทั้งสองทาง ซึ่งอีกด้านหนึ่งจะชื่อว่า “25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย ๆ” ที่จะเปลี่ยนมุมมองให้คุณลองนับหนึ่งเพื่อชีวิตสบาย ๆ เช่น รูดเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น ต้องมีวินัยในการใช้บัตรเครดิต ลดการบริโภคหันมาผลิตเพื่อสร้างรายได้ หรือการนับหนึ่งออมเงินตั้งแต่วันนี้ก่อนที่วิกฤตจะมาถึง แค่พลิกมุมคิดชีวิตก็เปลี่ยน คนมีหนี้:กับดักของคำว่า #ของมันต้องมี ฮาวทูปลดหนี้ที่ต้องเลือก #หนี้หรือความสุข

ปิยศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด

นอกจากหนังสือ “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตชิบหาย” แล้ว ก็ยังมีภาพยนตร์โฆษณา 11 นาที เรื่อง “หนี้นรก” จากฝีมือกำกับของผู้กำกับแถวหน้าของไทย อย่าง ต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ชมได้ที่ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=VuGMusoE5tU ) สะท้อนอุทาหรณ์ความน่ากลัวของการเป็นหนี้นอกระบบอีกด้วย เพื่อเตือนสติเราว่าบางครั้งก่อนการใช้จ่ายที่ต้องกู้ยืมเครดิต อาจจะต้องลองถามตัวเองอีกครั้งว่าสิ่งที่เรากำลังจะจ่ายไปคือ #หนี้หรือความสุข และ #ของมันต้องมี จริงหรือไม่ วันนี้คุณเริ่มต้นคิดที่จะเป็นหนี้หรือยัง?