นีเซฟอร์ เนียปส์ นักประดิษฐ์ผู้บุกเบิกภาพถ่ายใบแรกของโลก

นีเซฟอร์ เนียปส์ นักประดิษฐ์ผู้บุกเบิกภาพถ่ายใบแรกของโลก
‘ภาพถ่ายเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกความทรงจำ’ ดูจะเป็นประโยคสุดเกร่อแต่ยังคงนำมาใช้ได้เสมอ บางครั้งกาลเวลาทำให้บางความทรงจำเลือนรางจนเราเผลอทำมันหลุดลอยไป ภาพถ่ายจึงทำหน้าที่เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า เรื่องราวเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง เป็นดั่งช่วงเวลาอันมีค่าที่แม้จะไม่สามารถย้อนกลับไปหาได้ในชีวิตจริง แต่ถูกบันทึกให้มองเห็นได้อยู่เสมอ เทคโนโลยีการถ่ายภาพถูกพัฒนามาจนผู้คนในยุคสมัยใหม่คงจะนึกไม่ออกว่าในยุคเริ่มแรกที่เป็นจุดกำเนิดของภาพถ่ายใบแรกเป็นอย่างไร ภาพถ่ายถาวรที่เกิดขึ้นใบแรกของโลก จึงเป็นดั่งหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการบันทึกอีกแบบหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาจากการบุกเบิกของชายผู้มีชื่อว่า ‘นีเซฟอร์ เนียปส์’ (Nicéphore Niépce) ‘นีเซฟอร์ เนียปส์’ หรือชื่อเต็ม ‘โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียปส์’ (Joseph Nicéphore Niépce) นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 1765 ณ ชาลง-ซูร์-โซน (Chalon-sur-Saône) ประเทศฝรั่งเศส เขาคือผู้คิดค้นวิธีการถ่ายภาพซึ่งนำมาสู่การเกิดขึ้นของภาพถ่ายใบแรกของโลก นีเซฟอร์เกิดในตระกูลอันร่ำรวย เขามีความหลงใหลในวิชาฟิสิกส์และเคมีจนได้เข้าศึกษาที่ Oratorian Brothers ณ เมืองอ็องเฌ (Angers) ในปี 1786 จากนั้น 2 ปีให้หลัง นีเซฟอร์กลับมาเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิดของตน ก่อนที่อีก 1 ปีถัดมาจะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้น ในปี 1794 นีเซฟอร์ออกจากกองทัพทหารเนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ เขาได้เริ่มสร้างครอบครัวกับภรรยาที่เมืองนีซ และให้กำเนิดลูกชายชื่อว่า ‘อีซีดอร์’ (Isidore) ภาพถ่ายที่ถูกระบุว่าเป็นภาพถ่ายใบแรกมีชื่อว่า ‘View from the Window at Le Gras’ เป็นภาพวิวนอกหน้าต่างห้องทำงานของนีเซฟอร์ ซึ่งปรากฏให้เห็นหลังคาบ้านเรือนที่อยู่ถัดออกไป ณ แซงต์-ลูป-เดอ-วาแรนส์ (Saint-Loup-de-Varennes) ชุมชนแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส ภาพถ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1826 - 1827 ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘เฮลิโอกราฟี’ (Heliography) ซึ่งมีความหมายว่า ‘การวาดภาพด้วยดวงอาทิตย์’ จากคำอธิบายของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน นีเซฟอร์ใช้วิธีการบันทึกภาพจากการใช้วัตถุที่มีความไวต่อแสง เริ่มจากการนำน้ำมันดินหรือยางมะตอยทาเคลือบลงไปบนแผ่นโลหะที่มีดีบุกและตะกั่วเป็นส่วนผสม หลังจากนั้นนำแผ่นดังกล่าวใส่เข้าไปในกล้อง obscura บริเวณที่แผ่นโลหะกระทบกับแสงจะก่อให้เกิดการแข็งตัวของยางมะตอยที่ไม่สามารถล้างน้ำออกได้ กล้องถูกตั้งไว้อย่างแน่นิ่งเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงโดยไม่ถูกรบกวนใด ๆ แผ่นโลหะถูกนำออกมาล้างด้วยน้ำลาเวนเดอร์เพื่อเป็นการชะล้างให้เหลือเพียงบริเวณที่ยางมะตอยแข็งตัว และในที่สุดก็ปรากฏออกมาเป็นภาพถ่ายใบแรกที่คงอยู่ถาวร วิธีการที่นีเซฟอร์คิดค้นนี้ ทำให้ได้ภาพที่เกิดจากวัสดุและกลไกทางแสงธรรมชาติเป็นครั้งแรก เขาได้กล่าวต่อราชสมาคม สถาบันทางวิชาการ ณ เมืองลอนดอนถึงสิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่ที่ตนค้นพบ หากประสงค์จะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ทำให้ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่มีผู้ใดสามารถรับรู้ถึงขั้นตอนหรือกระบวนการถ่ายภาพดังกล่าวได้เลย นีเซฟอร์ต้องการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้ให้สามารถบันทึกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการทดลองทั้งทางเคมีและวิทยาศาสตร์ของแสงและการมองเห็น แต่แล้วก็ไม่เกิดผลสำเร็จ เขาจึงได้ร่วมมือกับ ‘หลุยส์ ดาแกร์’ (Louis Daguerre) นักจิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกล้อง obscura เพื่อหาวิธีลดระยะเวลาในการเปิดรูรับแสงที่กินเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้ภาพถ่ายมาหนึ่งชิ้น การทำงานร่วมกันของทั้งคู่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1829 ซึ่งแน่นอนว่าการทดลองนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จในทันที จนกระทั่งวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1833 นีเซฟอร์เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในวัย 68 ปี หลุยส์ ดาแกร์จึงสานต่อการทดลองที่คั่งค้างเอาไว้ จนในที่สุด ปี 1838 เขาค้นพบวิธีการบันทึกภาพถ่ายในเวลาอันสั้นด้วยตัวของเขาเอง กระบวนการดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อว่า ‘ดาแกร์โรไทป์’ (Daguerreotype) ตามชื่อของหลุยส์ ดาแกร์ ดาแกร์โรไทป์เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนอยู่มาก แต่การค้นพบครั้งนี้สามารถย่นระยะเวลาการบันทึกภาพให้สั้นลงเหลือเพียง 30 นาทีโดยประมาณ ซึ่งถูกนับว่าเป็นครั้งแรกของรูปแบบการถ่ายภาพที่ประสบความสำเร็จ แม้การค้นพบของนีเซฟอร์จะไม่ใช่วิธีการที่ทำให้การถ่ายภาพได้รับความนิยมและเกิดการแพร่หลายสู่สาธารณชน แต่สิ่งประดิษฐ์ของเขาถือเป็นต้นสายของประวัติศาสตร์การถ่ายภาพที่สำคัญ และทำให้มนุษย์ได้เห็นว่าในยุคสมัยที่ภาพถ่ายเกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาที สิ่งเหล่านี้ต่างถูกต่อยอดมาจากการค้นพบโดยวิธีการที่ยากลำบากและล้าสมัยไปแล้วทั้งสิ้น เขียนโดย: ดวงนฤมล วงศ์ใหญ่ ภาพ: wikipedia ที่มา: https://www.insider.com/first-photograph-in-history-2016-8 https://www.britannica.com/biography/Nicephore-Niepce https://photo-museum.org/life-nicephore-niepce/ https://photo-museum.org/after-niepce-and-daguerre/