นิด หุ่นนิ่ง: จะยืนจนกว่าเธอจะหาย (ซึมเศร้า) เรื่องราวความรักและคนรัก ใต้หน้ากาก ดาร์ธ เวเดอร์

นิด หุ่นนิ่ง: จะยืนจนกว่าเธอจะหาย (ซึมเศร้า) เรื่องราวความรักและคนรัก ใต้หน้ากาก ดาร์ธ เวเดอร์
ชีวิตแบบไหนที่ผลักให้คนคนหนึ่งต้องยืนอยู่นิ่ง ๆ จากเช้าจรดค่ำ ความฝันแบบไหนที่ทำให้ใครสักคนต้องหยิบชุด ‘ดาร์ธ เวเดอร์’ (Darth Vader) ขึ้นสะบัดผ้าคลุมเพื่อสวมร่าง ทั้งที่ ‘นิด’ ชายผู้อยู่ใต้หน้ากากไม่ได้ฝันใฝ่อยากรับบทตัวร้ายจากสตาร์ วอร์ส (Star Wars) แต่อย่างใด ท่ามกลางผู้คนที่เดินขวักไขว่ ชายในชุดดาร์ธ เวเดอร์มีเพียงกระเป๋าหนึ่งใบและป้ายแผ่นสีขาวที่เขียนข้อความวางอยู่เบื้องหน้า สองขาของนิดยืนหยัดอยู่เสมอ วันแล้ว วันเล่า ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะมีฝน ลมหนาว หรือแดดที่ร้อนจัด นิดก็ยังยืนอยู่ที่นั่น ด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียวเท่านั้น “ผมยินดีจะทำอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ ‘เธอ’ หายดี”   รักเกิดที่ร้านเสริมสวย ใบหน้าของนิด หรือ ‘นิด หุ่นนิ่ง’ ชายในชุดดาร์ธ เวเดอร์ ยิ้มแย้มเมื่อพูดถึง ‘เธอ’ ที่อยู่ในห้วงคิด ‘เธอ’ ที่ว่า คือ ‘หญิง’ ภรรยาและแม่ของลูกสาววัยแรกรุ่นของเขา นิดบอกว่าหญิงเป็นลูกครึ่งไทย-แคนาดา อายุอ่อนกว่าเขา และป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ย้อนกลับไปเมื่อแรกรัก นิดคือหนุ่มชาวเชียงรายที่จากบ้านมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเข้ามาทำงานในโรงงานน้ำอัดลมแห่งหนึ่ง จากนั้นเขาจึงเปิดร้านอาหารร่วมกันกับเพื่อน และมีโอกาสได้พบกับว่าที่ภรรยา ขณะนั้นเธอทำงานอยู่ที่ร้านเสริมสวยในละแวกสวนหลวง “เมื่อก่อนเขาทำร้านเสริมสวย ตัดผม ทำผม ผมชอบไปให้เขาขัดหน้าบ้าง ไปให้เขาทำเล็บบ้าง ไปสระผมบ้าง ไปบ่อย ๆ ก็ทำให้รู้จักแล้วก็สนิทกัน”  นิดได้เจอกับหญิงบ่อยขึ้น จากวันเปลี่ยนเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี การใช้เวลาร่วมกันทำให้เขาได้รับรู้เรื่องราวของหญิงมากไปกว่าลูกค้าและช่างเสริมสวยที่คอยให้บริการ เขาได้รู้ว่าหลังจากพ่อเสียชีวิต หญิงก็กลายเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความทับถมของปัญหาและภาระทำให้เธอเริ่มทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อหารายได้อีกทาง ในขณะนั้นนิดจึงเป็นทั้งเพื่อน ที่ปรึกษา และคนรักที่คอยรับฟังปัญหาของเธอ   เรารักกันแต่ชีวิตมันขม ความรักของทั้งคู่ดำเนินไปได้ด้วยดี สวนทางกับเศรษฐกิจในครัวเรือนที่เริ่มย่ำแย่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หญิงลงแรงไปมากเกิดปัญหาจนไปต่อไม่ได้ การเงินภายในบ้านเริ่มติดขัด เป็นจังหวะเดียวกับที่นิดต้องกลายเป็นคนว่างงาน ความเครียดและความกดดันภายในจิตใจของหญิงที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้โรคซึมเศร้าของเธอรุนแรงขึ้น “ผมก็ต้องหาเงินส่งเอา เพราะว่าต้องจ่ายค่ายาทุกอาทิตย์ อาทิตย์หนึ่งจ่ายสามรอบนะ วันอังคาร พฤหัสฯ ศุกร์ แล้วค่าใช้จ่ายมันสูง เพราะว่ามันเป็นโรงพยาบาลเอกชนด้วย อาทิตย์หนึ่งก็ตกหมื่นกว่าบาท”    ห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้ามขยับ เมื่อชีวิตเข้าสู่จุดตกต่ำ นิดยังหางานใหม่ไม่ได้ ขณะที่เงินที่เก็บไว้รักษาภรรยาก็ค่อย ๆ หมดลงไปด้วย ท่ามกลางความสับสนและเคว้งคว้าง หันไปทางไหนก็ไม่เห็นทาง ชุด ‘ดาร์ธ เวเดอร์’ ที่เพื่อนคนหนึ่งได้ให้ไว้ดูคล้ายจะเป็นความหวังเดียวของครอบครัวนี้ นิดแต่งตัว สูดลมหายใจเข้า ก้าวเท้าออกจากบ้าน และทำตัวเป็น ‘หุ่นนิ่ง’ ตลอดวันให้นานที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ “ผมยืนแล้วก็ไม่ค่อยอยากจะนั่ง ถ้าไม่พักกินข้าว ไม่ไปห้องน้ำหรืออะไรอย่างนี้นะ ผมจะไม่นั่งเลย ผมก็ยืน ตั้งใจทำงานตลอดเลย ยิงยาวเลย ขนาดกินข้าวอยู่ตรงนี้ผมยังยืนกิน เพราะว่าสังเกตดูเวลาเรานั่ง หรือเราพักจะไม่มีคนใส่ใจ” คือคำที่นิดบอกระหว่างที่กำลังยืนทำงานไปด้วย  นิดจะไปยืนในจุดที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็นสยาม สวนจตุจักร เซ็นทรัล ลาดพร้าว และหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้ว่าการยืนอย่างยาวนานติดต่อกันทุกวัน จะสร้างรายได้ให้เขาอยู่บ้าง แต่เมื่อนึกถึงคนข้างหลัง ก็ทำให้เขาต้องประหยัดมากขึ้นไปอีก “บางทีผมก็ยอมอด จะซื้อสักทีมันก็เสียดายตังค์ นึกถึงเสียงลูก เสียงแฟนก้องอยู่ในหูตลอด กลับไปก็ซื้อมาม่าต้มกิน เวลามีคนซื้อข้าว ซื้อนมมาให้เราก็อาศัยอันนั้น อันไหนที่มันเก็บได้ พวกขนม พวกนม ผมก็เอาไปเก็บไว้ ยังไม่กิน จะกินพวกที่มันเสียก่อน ก็กินพวกนั้นไป ซื้อน้ำก็ซื้อพวกที่มันมีโปรฯ สองขวดยี่สิบ” นิดเล่า    ความคิดถึงจาก กทม. - โคราช เพราะความจำเป็นทำให้นิดต้องห่างไกลกับภรรยาและลูกสาววัยสิบสองปี การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงเกินจะรับไหวสำหรับสามชีวิต ภรรยาและลูกสาวของนิดจึงย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายแม่ที่นครราชสีมา (โคราช) นิดทำงานโดยไม่มีวันหยุด แทบไม่ต้องพูดถึงการได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวที่อยู่ห่างกันคนละจังหวัด เขาทำได้เพียงมองรูปถ่ายของลูกสาวและภรรยาจากวอลล์เปเปอร์มือถือเพื่อบรรเทาความคิดถึง “ผมไม่เคยมีวันหยุดกับใคร ไม่ว่าจะเทศกาลอะไร ปีใหม่ สงกรานต์ คนเขาสนุกสนานเฮฮากลับบ้านกินเหล้าสังสรรค์กัน ผมต้องยืนอยู่ พอวันเกิดลูก ลูกโทรฯ มาถามว่า พ่อ ๆ วันเกิดหนูนะ พ่อจำได้ไหม เราจำได้ แต่น้ำตาไหลอ่ะ เรารู้ความหมายที่เขาถามเรา”    เพียงหนึ่งวันก็มีความหมาย เวลาเดียวที่นิดได้กลับไปที่โคราชคือวันที่หญิงอาการกำเริบหนัก และแม้ในใจจะห่วงเธอมากแค่ไหน สุดท้ายเขาก็ต้องรีบกลับมาหาเงินที่กรุงเทพฯ ในวันถัดไป ชีวิตของเขาดำเนินไปเป็นวัฏจักรแบบนี้ โดยไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร “บางทีช่วงที่แม่เขาเครียดจัด เขาจะช็อก เวลาเขาไม่ไหวจริง ๆ ลูกสาวจะโทรฯ มาบอกว่าแม่ไม่ไหวแล้ว หายใจไม่ออก ต้องไปหาหมอ ผมก็ไป แต่ไปก็แค่ไม่ทันข้ามวัน ก็ต้องรีบกลับมาหาเงินต่ออีก  ไปแค่ให้ได้เจอกัน ให้กำลังใจกัน ช่วยให้เขาดีขึ้น ยังไงก็ต้องกลับมาหาเงิน”   จะยืนจนกว่าเธอจะหาย เมื่อเราถามว่าจะยึดอาชีพ ‘หุ่นนิ่ง’ ไปอีกนานแค่ไหน นิดตอบกลับมาว่า “จนกว่าเขาจะหาย เมื่อไรเขาหาย ผมจะเลิกทำเลย เข่าก็บวม เท้าบวม กลับไปถึงบ้านมันต้องไปต้มน้ำอุ่นแช่เท้า แช่ทุกวันเลย” เป็นเวลาหกปีแล้วที่อาชีพดังกล่าวได้กลายเป็นเสาหลักที่ต่อลมหายใจให้กับครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวนี้ แม้กล้ามเนื้อที่ขาจะเหนื่อยล้า เข่าและข้อเท้าเริ่มส่งสัญญาณความเจ็บปวด แต่ ‘นิด หุ่นนิ่ง’ ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ พร้อมด้วยภาพฝันของบ้านที่มีเขา ภรรยา และลูกสาวอยู่พร้อมหน้า ภาพความสุขที่ฉายชัดในตาของหญิงโดยไร้แววเศร้า ภาพรอยยิ้มขณะที่เป่าเทียนบนหน้าเค้กวันเกิดของลูกสาว ภาพบรรยากาศที่แสนธรรมดาเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่นิดปรารถนาด้วยชีวิตและหัวใจ “ยอมรับว่าผมเหนื่อยมาก ผมอยากให้เขาหายมาก ๆ ถ้าเขาหายเมื่อไหร่ ผมจะพาเขาไปยืนทุกจุดที่ผมเคยยืน จะยืนขอบคุณทุกคนเลยที่เขาเคยช่วยเรามา” ในวันนี้ นอกจากคำถามที่ต้องหาคำตอบถึงสวัสดิการรัฐ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของใครสักคนหนึ่งมันดีขึ้นกว่าเดิมผ่านภาษีที่คนทั้งประเทศจ่ายเพื่อแชร์ทุกข์แชร์สุขร่วมกันในสังคม หากมองในเชิงปัจเจกชนแล้ว แม้ว่าในภาพยนตร์ Star Wars ดาร์ธ เวเดอร์ อาจจะไม่ใคร่ชอบคำนี้ แต่ในชีวิตจริง เราอยากจะบอกนิด-ชายที่อยู่ภายใต้ดาร์ธ เวเดอร์ เพื่อส่งพลังให้เขาบางอย่างด้วยคำพูดที่ว่า “May the force be with you”   เรื่องและภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว #ThePeople #Social #Interview