#EndSARS พลังคนรุ่นใหม่ไนจีเรีย ออกมาต่อต้านความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

#EndSARS พลังคนรุ่นใหม่ไนจีเรีย ออกมาต่อต้านความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ที่ท้องถนนของกรุงลากอส อดีตเมืองหลวงของประเทศไนจีเรีย (ปัจจุบันย้ายอยู่ที่กรุงอาบูจา) รวมถึงเมืองใหญ่ ๆ อีกหลายเมือง เต็มไปด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมนับหมื่น เดินถือป้ายประท้วงพร้อมกับตะโกนประโยค "Enough is Enough" (พอก็คือพอ) ให้กับการใช้ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำแก่ประชาชน การชุมนุมดังกล่าว เริ่มต้นจากการเรียกร้องให้ยุบ หน่วยตำรวจพิเศษต่อต้านการโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad) หรือที่มีชื่อย่อว่า SARS เหตุเพราะหลายปีที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่จากหน่วยนี้ มักจะใช้อำนาจกดขี่ประชาชน ทำร้าย ไปจนถึงสังหารประชาชน ทั้งยังก่อเหตุลักทรัพย์ไม่ต่างจากโจร แฮ็ชแท็ก #EndSARS (ยกเลิกกองกำลัง SARS) ในทวิตเตอร์ เริ่มเป็นที่พูดถึงในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2020 หลังมีคลิปวิดีโอที่ชาย 2 คนถูกตำรวจจากกองกำลังนี้ ลากตัวออกจากโรงแรมแล้วใช้อาวุธปืนยิงใส่กลางท้องถนน คลิปดังกล่าวเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นการออกมาประนามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ได้มีแค่ในเมืองลากอสเท่านั้น แต่ยังเกิดคล้าย ๆ กันในอีกหลายเมืองทั่วประเทศ #EndSARS พลังคนรุ่นใหม่ไนจีเรีย ออกมาต่อต้านความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงแรก หลังรัฐบาลยังไม่ออกมาตอบรับคำเรียกร้องในโลกออนไลน์ ประชาชนจึงเริ่มต้นออกมาถือป้ายประท้วงตามท้องถนน ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเพียงเยาวชนและคนรุ่นใหม่ (อายุต่ำกว่า 24 ปี) ที่คิดเป็นประชากรร้อยละ 60 ของประเทศ การประท้วงดังกล่าว สามารถกดดันให้ประธานาธิบดี มูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) สั่งยุบหน่วยตำรวจพิเศษนี้ได้ในวันที่ 11 ต.ค. 2020 ทว่าการประท้วงก็ยังดำเนินต่อไปและกลายเป็นการเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงในแง่อื่น ๆ ทั้งในแวดวงทหาร ตำรวจ และการบริหารประเทศที่ถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลว การชุมนุมดังกล่าว เริ่มยกระดับขึ้นจนกลายเป็นการจลาจล ในวันที่ 20 ต.ค. 2020 ทางการเริ่มส่งกำลังพล (ทหาร-ตำรวจ) เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในกรุงลากอส โดยแหล่งข่าวผู้อยู่เหตุจลาจลบอกว่า ช่วงประมาณ 18.45 น. เป็นเวลาที่ฝ่ายทหารเปิดฉากยิงตรง ๆ ไปยังผู้ประท้วงที่มารวมตัวกันอย่างสันติ การโจมตีดำเนินต่อเนื่องไปราวครึ่งชั่วโมง โดยวิดีโอที่ถ่ายทอดสดบนโลกออนไลน์ เผยภาพผู้ชุมนุมกำลังช่วยปฐมพยาบาลให้กันเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตั้งแบริเออร์กั้นไว้ไม่ให้รถพยาบาลเข้า "พวกเขายิงมาที่เราแล้วก็เคลื่อนที่เข้ามาใกล้เรื่อย ๆ มันวุ่นวายมาก คนข้าง ๆ ผมถูกยิงแล้วก็ตายตรงนั้นเลย" ตลอด 2 สัปดาห์ที่บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางย่านเลคกิ กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมเลือกมารวมตัวกัน รายงานจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เผยว่า มีคนเห็นทหารตั้งแนวกั้นล้อมจุดที่ผู้ประท้วงชุมนุมอยู่ ก่อนจะเริ่มกราดยิง โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า หลังเหตุกราดยิงที่ผ่านมาพวกเขามีแหล่งข่าวยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตในการปราบปรามดังกล่าวอย่างน้อย 12 คน #EndSARS พลังคนรุ่นใหม่ไนจีเรีย ออกมาต่อต้านความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านกองทัพไนจีเรีย ออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า รายงานดังกล่าวเป็น "ข่าวปลอม" ในขณะที่ทางการออกมาประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) แต่ก็ยังมีผู้ประท้วงหลายคนที่ไม่สนใจปฏิบัติตามคำสั่ง วันที่ 22 ต.ค. 2020 ประธานาธิบดีบูฮารี ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติว่าจะไม่ยอมให้ใครมาป่วนความสงบสุข ขอให้ผู้ประท้วงต่อต้านการชักจูงโดยผู้ไม่หวังดี และขอให้มีการ “ยุติการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ” ขณะเดียวกันก็ขอให้เยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมา “หาทางออก” อย่างสร้างสรรค์ร่วมกับรัฐบาล แต่แถลงการณ์ดังกล่าว กลับไม่มีการพูดถึงประเด็นความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนเลย “ตอนแรกพวกเขามองการชุมนุมครั้งนี้ว่าเป็นแค่ ‘การชุมนุมของเด็ก’ หากไม่สนใจเดี๋ยวก็ค่อย ๆ สลายไปเอง การตอบโต้ที่เชื่องช้าของชนชั้นปกครอง บีบให้พวกเขาต้องจำนนต่อข้อเรียกร้อง” กิมบา คาคานดา (Gimba Kakanda) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวไนจีเรีย กล่าวถึงการชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุบหน่วยตำรวจ
“ท้ายที่สุด พวกเขาก็ตระหนักว่าความโกรธดังกล่าว ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป”
หลังจากเหตุกราดยิงเพื่อปราบปรามการชุมนุมในวันที่ 20 ต.ค. 2020 ซึ่งจะเป็นที่จดจำของชาวไนจีเรียไปตลอด มีการคาดการณ์ว่าท่าทีของประธานาธิบดีที่ออกมากล่าวโทษว่าการชุมนุมเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ จะทำให้เขาถูกจดจำว่าเป็น “ผู้นำที่ข่มขู่ประชาชน เพียงเพราะพวกเขาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม”  #EndSARS พลังคนรุ่นใหม่ไนจีเรีย ออกมาต่อต้านความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แม้จะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ก็ทำให้เกิดการตื่นรู้ในหมู่คนหนุ่มสาวชาวไนจีเรียทั้งในและต่างประเทศ เมื่อพวกเขาได้ประจักษ์กับตัวเองแล้วว่า หากร่วมมือกัน พวกเขาย่อมมีพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีได้ ก็ย่อมหมายถึงโฉมหน้าการเมืองในประเทศไนจีเรียที่กำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล       ที่มา https://www.bbc.com/news/world-africa-54662986 https://www.bbc.com/news/world-africa-54666368 https://edition.cnn.com/2020/10/25/africa/nigeria-end-sars-protests-analysis-intl/index.html https://www.refinery29.com/en-us/what-is-end-sars-nigeria-protests-history