พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ
ตอนนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษา HIV ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ HIV มีทางรักษา ไม่ต้องนอนรอความตาย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สามารถมีลูกได้ น่ากลัวน้อยกว่าเบาหวานและโรคความดัน แถมยังอาจรักษาให้หายขาดได้ในไม่ช้า แต่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อเก่า ๆ เกี่ยวกับเชื้อ HIV เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วหลายเรื่อง จนทำให้ทัศนคติและการปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อยังคงไม่พัฒนา เมื่อเทียบกับพัฒนาการทางด้านการรักษา เป็นสาเหตุให้ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้หันมาเริ่มต้นใหม่ด้วยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ HIV 101 เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : ทำไมหมอด้านผิวหนังถึงได้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน HIV   พญ. นิตยา : เรียนมาทางหมอผิวหนัง แต่ว่าทำงานด้าน HIV มา 20 ปีแล้ว เริ่มจากดูแลผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ที่สมัยก่อนจะมีพวกโรคผิวหนังเยอะ หลังจากนั้นเรามาอยู่ในยุคที่ผู้ติดเชื้อ HIV เริ่มที่จะควบคุมได้ มีการรักษา การป้องกัน ตอนนี้การป้องกันเลยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราไม่อยากจะให้มีคนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอีกเพราะว่า เทคโนโลยีในตอนนี้ทำให้ทุกคนมีการป้องกันตัวเองได้แล้ว เลยมาหันทำเกี่ยวกับด้านการป้องกัน HIV เป็นหลัก สักเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นว่า ปกติที่เราเรียนด้านโรคผิวหนังมาจะมีการดูเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย แล้วก็ยุค 20 ปีก่อน เรายังไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นพอมีคนเป็นโรคผิวหนังเข้ามาในแผนก เรามองแล้วรู้เลยว่าเขามีเชื้อ HIV อยู่ เลยรู้สึกว่าถ้าหากจัดการที่สาเหตุต้นตอคือ การติดเชื้อ HIV ได้ จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของเขาดีขึ้นได้ โรคผิวหนังที่แสดงออกมาก็ไม่ต้องรักษาเลย เพราะมันจะหายไปได้เอง เลยทำให้มีความสนใจตรงนี้ขึ้นมา เริ่มมีการไปดูงานศึกษาตรงนี้มากขึ้น พอดีกับช่วงนั้นยาต้านไวรัสกำลังเข้ามาในเมืองไทย ทำให้เราเห็นว่าพอรักษา HIV ได้แล้วคุณภาพชีวิตเขาก็กลับมาดีเหมือนเดิมได้ เลยอาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากหมอผิวหนังทั่ว ๆ ไป เราเคยเป็นหมอผิวหนังทำเกี่ยวกับเรื่องความสวยความงาม ยิงเลเซอร์ สามารถหาเงินได้ไม่ยาก มีงานมาอยู่เรื่อย ๆ ทำไมมาทำเกี่ยวกับตรงนี้ อาจเป็นความชอบที่แตกต่างกัน เราเจอคนไข้ HIV ทั้งวัน เรารู้สึกว่าเขามีความทุกข์เหลือเกินกับหูดข้าวสุกบนใบหน้าเพราะติดเชื้อ HIV เขายอมจ่ายเงินเท่าไหร่เท่ากันเพื่อเอาตรงนี้ออกไป แล้วสามารถกลับไปทำงานได้ แต่พอเปลี่ยนมาตอนเย็นเข้ามาทำงานที่คลินิก คนไข้มารักษาบอกว่าใบหน้าตรงนี้มีเงาเล็ก ๆ อยากให้เอาออก เราเองแทบมองไม่เห็น แต่ว่าคนไข้ก็ยังอยากจะให้ลบรอยนั้น มันเลยให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันชัดเจนมากว่า คนหนึ่งเป็นเรื่องชีวิตความเป็นความตายและความเป็นอยู่ของเขา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเรื่องความพึงพอใจในสิ่งที่เกินความจำเป็นในชีวิตเพิ่มขึ้นมา เลยทำให้เราเลือกได้ค่อนข้างชัดเจนว่าชอบการทำงานแบบไหนมากกว่ากัน เลยได้มาทำเรื่อง HIV พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อ HIV? พญ. นิตยา : เหมือนกับโรคทุกโรค เราต้องรู้สาเหตุของโรคก่อน สำหรับ HIV เอง HIV เป็นชื่อของเชื้อโรค ที่เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus (HIV) แปลว่า ภูมิคุ้มกันหายไป เชื้อ HIV เมื่อเข้าไปในร่างกายเราแล้วจะโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ จนในที่สุดเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายทั้งหมด HIV เลยเป็นแค่ตัวเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น แล้วก็ทำให้เราเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นโรคฉวยโอกาสเข้ามาได้ง่ายขึ้น พอติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงขึ้น เราก็เรียกว่า เป็นกลุ่มอาการเอดส์ (AIDS) ขึ้นมา ทุกคนที่ติด HIV เลยไม่จำเป็นต้องเป็น AIDS แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ติดเชื้อ HIV แล้ว ไม่ได้รีบไปตรวจให้รู้ แล้วอยู่กับมันนานพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 5-8 ปี ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย แล้วก็ทำให้ติดเชื้อวัณโรค เชื้อราขึ้นสมอง จอประสาทตาอักเสบ พวกนี้รวมกันเรียกว่า กลุ่มอาการ AIDS แล้วก็ผู้ป่วย AIDS  The People : ความเชื่อผิด ๆ ที่เกี่ยวกับ HIV?  พญ. นิตยา : เรื่องการติดเชื้อแล้วต้องตายเพราะเชื้อแน่นอน อันนี้เป็นอะไรที่เราลบล้างออกจากความเชื่อความเข้าใจของผู้คนได้ค่อนข้างยาก เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ยังไม่มียาต้านไวรัส เราก็คิดแบบนั้นว่าพอติดเชื้อ HIV จะรู้ไปทำไม เพราะมันไม่มีทางรักษา รู้ก็เหมือนรอเวลาเสียชีวิต แต่ปัจจุบันนี้อยากบอกว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปที่พอรู้ว่าติด HIV ยิ่งรู้เร็วยิ่งจะรักษาได้ทันที แล้วทำให้มีอายุขัยยืนยาวไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่ติดเชื้อ HIV เลย ถึงแม้ว่ารู้ช้า ถ้ารีบรักษาและป้องกันไม่ให้ติดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น โรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่เราก็รักษาให้หายได้เช่นเดียวกัน  ตอนนี้เลยต้องบอกว่า ใครก็ตามที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ต้องรีบไปตรวจโดยเร็วที่สุด ตรวจแล้วรู้ว่าเลือดเป็นบวก เรารักษาได้เลยในวันนั้น กินยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาได้เลยในวันที่ตรวจเลย กินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสัก 3-6 เดือน เชื้อ HIV ส่วนใหญ่จะหมดไปจากร่างกาย ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าตรวจแล้วไม่เจอเราก็ป้องกันด้วยการกิน ยา PEP ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสฉุกเฉินที่จ่ายให้ทันทีที่คนไข้เพิ่งไปสัมผัสเชื้อ HIV กินยา PrEP ยาต้านไวรัสที่ให้ทานเป็นประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และใช้ถุงยางอนามัยได้ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ฉลาดมาก เวลามันเข้าไปในร่างกายเรา อาจจะเข้าทางเยื่อบุต่าง ๆ อย่างช่องคลอด อวัยวะเพศ ทวารหนัก พอเข้าไปแล้ว มันก็จะรีบพุ่งไปยังบริเวณที่เป็นแหล่งชุมนุมของเม็ดเลือดขาว เพื่อไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้เราอ่อนแอมากที่สุด ดังนั้นแหล่งชุมนุมของเม็ดเลือดขาวทั้งต่อมน้ำเหลือง ตลอดทางเดินอาหาร ที่มีเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองอยู่เต็มไปหมด ตรงนี้จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว แล้วเชื้อจะเข้าไปอยู่ทำเป็นโรงงานผลิตเชื้อออกมาใหม่ ๆ ขึ้นมา เวลาที่มันใช้หลังจากเข้าสู่ร่างกายเราแล้วเข้าไปสู่ทางเดินอาหารใช้เวลา 3-7 วัน ช่วงนี้เป็นเวลาทองที่เราเสี่ยงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องรีบเอายาต้านไวรัสไปในร่างกายให้เร็วที่สุด พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ หลักการทำงานของยาต้านไวรัสคือ พอเข้าไปในร่างกาย มันจะเข้าไปบล็อกไม่ให้ HIV มีการเพิ่มจำนวนขึ้น และเพื่อบล็อก HIV ไม่ให้ไปยังโรงงาน ถ้าบล็อกได้จะมีโอกาสที่เชื้อจะเหลือเพียงเล็กน้อย แล้วรักษาให้หายขาดมากกว่าการที่ปล่อยให้มันยึดร่างกายเราไปทั้งตัว ตอนนั้นเรากินยาต้านไวรัสเข้าไปก็ช่วยฆ่าได้แค่เชื้อ HIV ที่มันล่องลอยอยู่ในเลือดเท่านั้น แต่เชื้อยังซ่อนตัวอยู่ในโรงงาน เมื่อไหร่ที่เราหยุดยาต้านไวรัส เชื้อก็ยังออกมาทำงานได้อีก ปกติ HIV จะทำงานด้วยการเพิ่มจำนวนแล้วแตกตัวออกไปติดเซลล์อื่นเพิ่มขึ้น  พอมียาต้านไวรัส จำนวนเชื้อไวรัสที่สร้างออกมาเดิมจะหมดอายุแล้วตายไป ตัวใหม่ก็ถูกบล็อกไม่ให้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ เวลาเราเอาเลือดไปตรวจ 1 ซีซี จะไม่เจอเลยว่ามี HIV อยู่ในนั้น ซึ่งเราเรียกว่า undetectable (ตรวจไม่พบเชื้อ) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการที่ใครก็ตามติด HIV แล้วรักษาตัวเอง เพราะดูเลยว่ากินยาไป 3 เดือนเชื้อ HIV เป็น undetectable แล้วหรือ 6 เดือน undetectable แล้วหรือยัง ผู้ที่กินยาจน undetectable แล้วใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนปกติทุกอย่าง ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น  สมัยก่อนจะมีความเข้าใจผิดว่ามี HIV รักษาแล้วยังไม่เหมือนคนอื่นนะ ต้องคอยระวังว่าจะติดหวัดง่าย ติดโรคนู่นนี่นั่นง่าย เป็นมะเร็งง่าย ในยุคปัจจุบันถ้าเรารู้เร็วแล้วรักษาเลย พอเชื้อเรา undetectable เราไม่ต้องมีความกังวล ไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนเท่า ๆ กับผู้ไม่มี HIV เลย ในขณะเดียวกันมีสุขภาพดีใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปที่ไม่มีเชื้อ HIV แถมเรามั่นใจอีกด้วยซ้ำว่า เราจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเราไม่มีเชื้อสักอย่าง กินยาต้านไวรัสกดเชื้อไว้หมดแล้ว จะถ่ายทอดเชื้อให้ใครไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ระหว่าง ชายกับหญิง หรือ ชายกับชาย ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ ถ้าเพศสัมพันธ์ยังไม่ติด HIV แล้ว การที่ใช้ชีวิตร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน อาบน้ำใช้ของใช้ประจำวัน ทำงาน เรียนหนังสือด้วยกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการติดต่อไปยังคนอื่นได้เลย พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากคนปกติ? พญ. นิตยา : ไม่มีอะไรที่จะแตกต่างจากคนทั่วไปเลย หลายคนอาจจะยังรู้สึกว่าไม่จริงหรอก ถ้าเรามีแฟนที่ติดเชื้อเราสามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องใช้ถุงยางอนามัยได้จริงหรือ มันเหมือนกับคนทั่วไปอย่างนั้นไหม ต้องบอกว่าใช่ คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าจะติดเชื้อจากแฟนที่ติด HIV ถ้าเขากินยาต้านไวรัสอยู่จน undetectable แล้วนะ อันที่สองแล้วมีลูกได้ไหม หลายคนบอกว่ามีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อย่ามีลูกเลย เพราะกังวลว่าลูกจะติด อยากบอกว่าแม้แต่สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มียาต้านไวรัส คุณแม่หนึ่งคนที่มีเชื้อตั้งครรภ์ โอกาสที่ลูกของเขาจะติดเชื้อไปด้วยอยู่แค่ประมาณ 30% หมายความว่าคุณแม่ที่ติด HIV 100 คน จะมีเด็กที่ติดเชื้อ 30 คน แต่ตอนนี้ถ้าคุณแม่ 100 คนกินยาต้านไวรัสทั้ง 100 คน จน undetectable โอกาสที่ลูกจะติด HIV น้อยกว่า 0.0005% ด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีโอกาสติดเชื้อเลย  ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยากมีแฟนมีได้ไหม มีได้ อยากแต่งงานแล้วอยากมีลูก ก็มีได้ อยากเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก อยากได้เลื่อนตำแหน่ง ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีอะไรที่เป็นข้อจำกัดไหม ไม่มีเลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหลายคนที่เพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ HIV คือจะหยุดชีวิตไม่ไปต่อ ไม่มั่นใจในการก้าวหน้าต่อไป เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้นานสักแค่ไหน ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ทุกคนสามารถวางแผนชีวิตได้เหมือนปกติ เงินมีอย่าไปใช้หมดนะ บอกว่าเดียวสามปีก็ตายแล้ว (หัวเราะ) คือจริง ๆ คุณต้องวางแผนชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป แค่ยังคงต้องกินยาต้านอยู่ตลอดเวลา เพราะยาต้านไวรัสยังคงเป็นวิธีเดียวที่รักษาโรค ซึ่งตอนนี้เราใช้คำว่า HIV เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ ตราบใดที่คุณกินยาต้านไวรัสทุกวัน ๆ วันละ 1 เม็ด ครั้งเดียวต่อวัน ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เอาเวลาที่สบายใจ แค่วันละครั้งเดียว คุณก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ไปได้ในระยะยาว โดยที่ไม่ต้องมาตรวจเช็คร่างกายเป็นพิเศษ แค่ตรวจปีละ 1-2 ครั้ง ตามปกติ มันง่ายยิ่งกว่าเป็นเบาหวาน ความดัน เพราะเบาหวาน ความดัน ยังน่ากลัวกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับนิสัย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่ HIV แค่กินยาต้านไวรัสวันละ 1 เม็ด อย่างเดียว ไม่ได้ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ก็กดเชื้อไวรัสได้แล้ว The People : มีโอกาสที่โรคเรื้อรังนี้จะรักษาให้หายขาดได้ไหม พญ. นิตยา : เป็นสิ่งที่ทุกคนหวังว่าน่าจะไปจุดนั้นได้ แต่คิดว่าในที่สุดน่าจะไปจุดนั้นได้ แต่ยังไม่ใช่ช่วง 5-10 ปีนี้ ในโลกนี้ตอนนี้มีคนที่หายจากขาดจาก HIV แล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ 1 คน ซึ่งเขาหายได้เพราะเขาใช้วิธีการที่ค่อนข้างลึกล้ำนิดหน่อย คือเขามี HIV แล้วก็มีมะเร็งเม็ดเลือดด้วย เลยไปปลูกถ่ายไขกระดูก แล้วเขาได้รับเซลล์ที่มีความสามารถป้องกัน HIV เข้ามาสู่ตัวเขาหลังไปถ่ายไขกระดูก พอมีการฉายแสง เขาก็สามารถหยุดยาต้านไวรัสได้ แล้วหายขาดจาก HIV ไปเลย ซึ่งกลไกตรงนี้สอนเราว่า ถ้าเราสามารถป้องกันไม่ให้ HIV ไปซ่อนในต่อมน้ำเหลือง หรือเซลล์ต่าง ๆ ให้เร็วที่สุดตั้งแต่แรก ๆ ที่ได้รับเชื้อ เราก็สามารถจะรักษาให้หายขาดจาก HIV ได้ เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยต่าง ๆ โดยความก้าวหน้ามีมาเรื่อย ๆ พอจะทราบแล้วว่า ถ้าเราติดเชื้อ HIV ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วกินยาต้านไวรัสทันที เราแทบจะหาเชื้อที่ไปซ่อนตัวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยมาก เทียบกับคนส่วนใหญ่ที่พอเสี่ยงแล้วไม่ยอมไปตรวจเลือดรอให้ถึง 3-6 เดือน หรือ 1 ปีก่อน ค่อยไปตรวจ ตอนนั้นเชื้อ HIV ก็แพร่กระจายไปทั่วแล้ว กว่าจะหายขาดได้ก็จะน้อย ตอนนี้ในความเป็นจริงสำหรับคนหมู่มาก การรักษาให้หายขาดอาจจะยังไม่มี ดีที่สุดคือติดเชื้อ HIV แล้วควรรีบรักษาทันที เผื่อว่าอนาคตจะได้ทดลองที่อาจช่วยให้หายขาดได้จริง ๆ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : ข้อปฏิบัติเมื่อรู้ว่าเสี่ยงติดเชื้อ? พญ. นิตยา : ก่อนอื่นเลยคนไทยยังรู้น้อย เพราะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะต้องรู้ นาน ๆ ถึงมีความเสี่ยง จริง ๆ แล้ววิธีป้องกัน HIV ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัย แต่ถ้าพลาดไปแล้วไม่ใช้ถุงยางอนามัยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งเมา หยิบไม่ทัน ใช้แล้วแตกหลุด เวลาทองที่ว่า 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ต้องรีบไปตามคลินิกโรงพยาบาล เพื่อที่จะกินยาต้านไวรัส หรือ PEP ให้เร็วที่สุด ยา PEP ถ้ากินภายใน 72 ชั่วโมง จะไปบล็อกไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา แล้วกินต่อเนื่องอีก 28 วัน ก่อนจะตรวจดูว่าเราติดหรือไม่ติด HIV ถ้า 3 เดือนผ่านไปตรวจแล้วไม่มีเชื้อ แสดงว่าเรารอดพ้นจากการติดเชื้อในครั้งนั้นไปได้ ซึ่งยา PEP เราสามารถเข้าถึงได้ที่ห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาล หรือตามคลินิกต่าง ๆ เวลา 72 ชั่วโมง คือช้าสุด ถ้าเสี่ยงมาตอน 5 ทุ่ม สามารถหาคลินิกที่เปิดอยู่แล้วหายา PEP ได้ ต้องกินทันที ถ้าหาไม่ได้ เช้ามาต้องรีบไปให้เร็วที่สุด อย่าไปรอทำใจให้เกือบถึง 72 ชั่วโมง ยิ่งนานไปโอกาสที่เชื้อที่แพร่เร็วกว่า 72 ชั่วโมงก็เป็นได้  ในโรงพยาบาลแทบจะทุกแห่งมีศักยภาพในการให้ยาต้านไวรัสได้อยู่แล้ว แต่บางคลินิกที่เขาไม่มีหมอที่เชี่ยวชาญในเรื่องโรคติดเชื้อ เขาอาจบอกปัดให้มาใหม่ตอนพรุ่งนี้เช้า แต่ที่เราสามารถไปได้แน่ ๆ คือคลินิกนิรนาม หรือคลินิกที่ให้บริการสุขภาพทางเพศอีกหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะขององค์กรชุมชน ที่ส่วนใหญ่จะเปิดดึกเช่น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ที่พัฒน์พงศ์ ซอย 1 หรือ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่รามคำแหง หลายแห่งอยู่ในจุด hot spot ที่พอเกิดความเสี่ยงใกล้ ๆ แถวนั้น สามารถรีบเข้าไปยังคลินิกเหล่านี้ได้  แต่ยา PEP ยังไม่ครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง ประกันสังคม อันนี้ต้องจ่ายเงินเองไปก่อน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 900-1,200 บาท ต่อการกินยา 28 วัน อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ หลายแห่งไม่มีเงินจริง ๆ ก็มีวิธีการที่จะช่วยเหลือ เพราะตอนนี้การป้องกันดีกว่าการรักษาในระยะยาว ถึงแม้จะรักษาได้ก็ตาม แต่เราก็ไม่อยากให้มีโรคที่ต้องรักษาไปตลอดชีวิต  ตอนนี้หลายคนเริ่มเบาใจกับเรื่อง HIV แต่ขณะเดียวกันพอเรามีความสบายใจกับเรื่อง HIV เรากลับละเลยการป้องกัน หรือเลือกที่จะป้องกันเป็นครั้งคราว ซึ่งย้ำเลยว่าสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าคุณไม่ได้ป้องกันทุกครั้ง ก็เท่ากับคุณไม่ได้ป้องกันเลย โอกาสที่จะติดเชื้อซิฟิลิส, หนองใน, หนองในเทียม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็เลยกำลังอยู่ในขาขึ้น เราจะค่อย ๆ เห็นการติดเชื้อพวกนี้เพิ่มขึ้น แม้โรคพวกนี้จะอันตรายไม่เท่ากับ HIV ที่ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ เพราะไม่ได้อันตรายแก่ร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ แต่ว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายแล้วถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้ ทั้งคู่นอนชายหญิง โดยผู้หญิงจะเกิดโรคค่อนข้างรุนแรงกว่า หรือเกิดการตั้งครรภ์แล้วถ่ายทอดไปยังบุตรได้ เราบอกเสมอว่าเวลามีเพศสัมพันธ์แล้วติดโรค มันเป็นยวงคือไม่ใช่แค่ติด HIV อย่างเดียว เลยเน้นอยู่เสมอว่า ทุกคนควรจะมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข แต่ว่าเพศสัมพันธ์นั้นต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ว่าเราเองจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร สำหรับ HIV เราใช้ยา PEP, ยา PrEP แต่ว่าโรคอื่น ๆ ยังไงก็ต้องใช้ถุงยางอนามัย ถ้าอยากมีความสุขโดยไม่อยากใช้ถุงยางก็ต้องหมั่นไปตรวจโรคบ่อย ๆ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : จะมีการรณรงค์ให้คนเข้าใจเกี่ยวกับ HIV เพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง  พญ. นิตยา : ทุกปีในวันที่ 1 ธันวาคม ก็จะเป็นวันที่เราเรียกว่า วันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ในแต่ละปีจะมีธีมที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยเองไม่ค่อยตามธีมของโลกเท่าไหร่ เพราะเรามองว่าอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้กับประเทศและสังคมเรา เราจะชูโรงเรื่องนั้น ทำให้ในปีนี้ธีมของเราเป็นเรื่องชุมชน เพราะว่าเราอยู่ในยุคที่เรียกได้ว่าใกล้จะยุติ AIDS ได้แล้ว เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โรคนี้เป็นช่วงที่พีคมาก ในประเทศไทยมีผู้ที่ติดเชื้อปีละเป็นแสน แต่ว่าตอนนี้อยู่ในขาลงทั่วโลก ปีหนึ่งติดแค่ 6,000-7,000 คน แต่ยังไม่หมดไป แต่ว่าไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างรุนแรงแล้ว แต่ปัญหาก็คือ 6,000-7,000 คนนี้คือใคร ทำไมยังติดเพิ่ม ในเมื่อน่าจะทราบวิธีป้องกันอยู่แล้ว การเข้าถึงการตรวจ การกินยาจนไม่มีเชื้อแล้ว พอไม่มีเชื้อก็ไม่น่าจะถ่ายทอดเชื้อได้ ปรากฏว่า 6,000-7,000 คนนี้ จะไปอยู่ในกลุ่มคนที่ยังไม่ตระหนักหรือเข้าถึงการรักษายาก คำว่ายากหมายถึงสมมติเขาเป็นสาวประเภทสอง การไปตรวจ HIV ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่สำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่อายไม่อยากไปเอ่ยปากว่าติด HIV พอเป็นสาวประเภทสอง ยิ่งถูกตีตราไปอีกว่า ไปสำส่อน ไปที่เสี่ยงมาแน่ สาวประเภทสองเลยมักจะถูกโยงไปถึงเรื่องขายบริการอยู่ มันทำให้โอกาสที่พวกเขาไปตรวจน้อยลง พอไปถึงก็ถูกมองด้วยสายตาอีกแบบ  เป็นที่มาของการที่ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ยกตัวอย่างของการที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เช่น ชุมชนสาวประเภทสองลุกขึ้นมาบอกว่า เราเป็นสาวประเภทสอง บริการที่เราต้องการคือ บริการที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องฮอร์โมน เรื่องกฎหมาย ไปถึง HIV ซึ่งกลายเป็นเรื่องประเด็นเล็กน้อยในชีวิตของเขาไปเลย วิธีการเข้าไปถึงคนกลุ่มนี้ได้ จะช่วยลดลงจำนวนผู้ติดเชื้อให้จาก 1,000 เหลือ 0 ในที่สุด จึงต้องอาศัยคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ แล้วก็เรียกร้องสิทธิในการรับบริการที่เท่าเทียมกันทั่วประเทศจนถึงทั่วโลก  ปีนี้เราเลยมีการจัดงานวิ่ง HIV RUN โดยความสำคัญคือ ทำให้ได้กระตุ้นเตือนว่าสังคมเรามีกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่อีกเยอะ ถ้าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนก้าวขึ้นมามีความเท่าเทียมกัน เราก็ไม่สามารถที่จะยุติสิ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขได้ แล้วถ้าเมื่อไหร่ปัญหาในกลุ่มประชากรหนึ่งไม่ยุติ กลุ่มอื่น ๆ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบต่อจากนั้นอยู่แล้ว เราไม่สามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้เลย งานวิ่ง HIV RUN 2019 นี้จัดอยู่สามที่คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และ เชียงใหม่ ที่กรุงเทพฯ จัดอยู่ที่อนุสาวรีย์ 2 รัชกาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย วิ่งวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันเอดส์โลก ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีเสื้อที่สามารถซื้อเอาเงินไปเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก HIV ในขณะเดียวกันได้ออกกำลังกายไปด้วย มีเหรียญรางวัลสวยงาม ติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/hivrun.run/ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ The People : ฝากให้คนทั่วไปเข้าใจ HIV มากยิ่งขึ้น? พญ. นิตยา : ปัจจุบันเราถือว่า HIV เป็นโรคเรื้อรังประเภทหนึ่งเท่านั้น ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้อยากให้ทุกคนเลิกตื่นเต้นเลิกกลัวโรคนี้ไปเลย แต่คำว่าเป็นโรคเรื้อรังหมายถึงเรายังต้องดูแลและป้องกันตัวเองไม่ให้มีโรคนั้น โดยเฉพาะในยุคที่มันควรจะป้องกันตัวเองได้ แล้วควรที่จะคัดกรองเป็นประจำได้ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันแม้แต่ครั้งเดียว ตกอยู่ในเกณฑ์ที่ควรตรวจ HIV ทั้งหมดเลย เพราะเราไม่สามารถมั่นใจว่าคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้ว่าเราเป็นคนแรกของเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนแรกของเรา อาจจะมีเชื้อ HIV อย่างน้อยเราเลยควรจะตรวจหา HIV ปีละครั้ง ขณะเดียวกันในตอนนี้ที่รู้ว่ามี HIV สิ่งที่ทำได้คือรีบรักษาเลย แล้วก็พอรักษาแล้ว undetectable ก็จะเป็น untransmittable (ไม่แพร่เชื้อต่อ) การที่จะตีตราเลือกปฏิบัติผู้ที่ติดเชื้อควรจะหมดไป เพราะคนที่มีเชื้อเขาดูแลตัวเอง ยังไงก็ไม่ได้เป็นภาระที่จะเอาเชื้อมาติดต่อกับเรา การที่ตรวจแล้วไม่เจอ นอกจากการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยก็ยังมียา PEP ที่ป้องกันเวลาฉุกเฉิน แล้วยา PrEP ไว้กินทุกวันเพื่อป้องกันเชื้อ HIV ได้ง่าย ๆ สบาย ๆ เกือบจะ 100% อันนี้เป็นทางเลือกที่ทุกคนน่าจะดูแลตัวเอง ป้องกันไม่ให้มี HIV แล้วตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอจนหมดความเสี่ยงในชีวิตนี้ไปก็หยุดตรวจโรคนี้ได้ คนทั่วไปพอมีความรู้จากการพูดคุยกันว่า เดี๋ยวนี้โรคนี้ไม่น่ากลัวแล้ว แต่ว่าความรู้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นความเชื่อ และความเชื่อจะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้กลายเป็นการปฏิบัติที่เปลี่ยนไปได้อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในยุคที่คนที่รู้จักวัดพระบาทน้ำพุมาแล้วก็ยังถูกเอามาใช้หาเงินอยู่ ก็ยังไม่เชื่อว่าเดี๋ยวนี้ติด HIV ไม่ต้องตายแล้ว เพราะยังติดภาพคนที่เสียชีวิตที่วัดอยู่ ก็เลยคิดว่าในแวดวงสื่อสารมวลชน ต้องไม่ผลิตภาพซ้ำ ต้องคอยให้ความรู้ซ้ำไปมาว่ามันไม่น่ากลัวแล้ว เมื่อไหร่ที่คนมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้วมีความเชื่อใหม่ จากที่เห็นผู้ที่ติด HIV แล้วไม่เห็นว่าเขาเป็นอะไร ยังทำงานได้ดีกว่าเราอีก ทัศนคติจะเริ่มเปลี่ยนไป สามาถทำงานร่วมกันได้ อยู่บ้านเดียวกันได้ โดยไม่มีความตะขิดตะขวงใจ ทัศนคติโดยรวมก็จะดีขึ้น มีความรู้มากขึ้น แต่ทัศนคติที่จะเปลี่ยนเป็นการกระทำยังเบาบางอยู่ เนื่องจากเมืองไทยคนเปิดเผยตัวน้อยว่าติด HIV ไม่เหมือนในต่างประเทศที่คน HIV เปิดเผยตัวจำนวนเยอะกว่าเรา ผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน มีผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 5 แสนคน แปลว่า 1 ใน 100 ของคนในสังคมจะมีผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ เรามองไม่ออกหรอกว่าใครที่ติด HIV เราใช้ชีวิตร่วมกับเขาทุกวันอย่างปกติ คนที่ติดเชื้อเขารู้ตัวแล้วรักษา มีความน่ากลัวน้อยกว่าคนทั่วไปที่ไม่เคยตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยซ้ำ พวกเราที่คิดว่าไม่ติดเชื้อยังเป็นอันตรายกับคนอื่น มากกว่าคนที่มีเชื้อ HIV แล้วตรวจหา HIV สม่ำเสมอ แล้วรักษาอย่างสม่ำเสมอเสียอีก