นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว

นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว
“จะทำไปทำไม ใครจะมาเที่ยว” เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ‘ภูลมโล’ ซึ่งเป็นภูเขาสูงชันที่การเดินทางยากลำบาก ต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นถึงจะขึ้นสู่ยอดภูความสูง 1,680 เมตรจากระดับน้ำทะเลได้ ถูกตั้งคำถามจากคนจำนวนมากในท้องที่ว่า ที่แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างไรกัน แต่ทุกวันนี้ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลขึ้นมาชื่นชมความงามของดอกพญาเสือโคร่งที่บานสะพรั่ง ย้อมภูลมโลที่เดิมเป็นเพียงทุ่งแล้งสีน้ำตาลแห้ง ให้เต็มไปด้วยสีชมพูสดตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าในช่วงหน้าหนาว คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่า การร่วมมือกันของคนในชุมชนรอบภูลมโล สามารถทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศได้สำเร็จแค่ไหน นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว คนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ดอกพญาเสือโคร่งบนยอดภูลมโล เป็นที่รู้จักคือ นิยม กุลาชัย ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน ผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภูลมโล ตั้งแต่ครั้งยังเป็นฐานทัพคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งได้รับกระแสความนิยมจากนักท่องเที่ยว ที่แห่มาเที่ยวชมความงดงามของดอกพญาเสือโคร่งสีชมพู ซึ่งในรอบปีจะมีช่วงโอกาสที่บานเพียงแค่ครั้งละไม่กี่วันเท่านั้น “แต่ก่อนพวกกองทัพคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในป่า เขาใช้พื้นที่ตรงนี้ปลูกข้าวไว้กิน เพราะอยู่ใกล้ที่มั่นภูหินร่องกล้า พอเริ่มมอบตัวกันในปี 2525 ตอนนั้นแถวนี้ก็กลายเป็นเขาหัวโล้นไปหมดแล้ว จนต่อมาได้ประกาศให้เป็นเขตอุทยาน” พี่นิยม เล่าย้อนความหวังให้ฟัง ขณะที่ขึ้นไปชมวิวท่ามกลางความหนาวเย็นของยอดภูลมโล นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว "เรามีพ่อเป็นแพทย์ชนบท แม่เป็นหมอตำแย เป็นลูกคนเดียวในบรรดาลูก 8 คน ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่นี่มาตั้งแต่เกิด" ด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูลมโลที่อยู่ในสายตาของเธอมาโดยตลอด จากอดีตบริเวณนี้ที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงของคอมมิวนิสต์ การเข้ามาของชาวม้งที่ถางป่าทำไร่เลื่อนลอย ไปจนถึงการขอคืนพื้นที่ป่าจากชาวม้ง หลังการตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ในปี พ.ศ. 2527 การเป็นคนพื้นที่ทำให้เธอมีความผูกพันกับภูลมโล ซึ่งเหมือนบ้านอีกหลังของเธอแห่งนี้ “เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกปี ได้เห็นต้นนางพญาเสือโคร่งต้นแรก ๆ ที่ปลูกช่วงปี 2551 จากโครงการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าที่ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล แต่ให้คนรอบชุมชนช่วยกันปลูก แลกกับการเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ทำไร่ขิงได้ฟรี ซึ่งถ้าไปเช่าที่จะตกไร่ละ 4,000-5,000 บาท อันนี้ลงทุนซื้อต้นกล้านางพญาเสือโคร่งต้นละ 5 บาท แล้วปลูกไปพร้อมกับขิง ผลลัพธ์ที่ได้คือ อุทยานได้ป่า ชาวบ้านได้ทำกิน เป็นโครงการปลูกป่าที่ได้ผลมาก ตอนนี้พื้นที่ 1,200 ไร่ ก็เลยเต็มไปด้วยดอกนางพญาเสือโคร่งที่บานสะพรั่งพร้อมกัน” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว โครงการปีแรก ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่นี้ในการปลูกขิง ต่อด้วยกะหล่ำปลี แต่พอถึงปีที่ 3 ต้นนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกไว้เริ่มเติบโตแผ่กิ่งก้านจนบดบังแสงเกือบหมด ชาวบ้านเลยต้องคืนพื้นที่ให้ทางอุทยาน เพราะไม่สามารถทำการเพาะปลูกต่อได้ ช่วงเวลาเดียวกันทางจังหวัดเลย มีความคิดอยากให้แต่ละชุมชนหาสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เสริมนอกฤดูกาลเกษตร นิยมเลยเสนอเรื่องการท่องเที่ยวชมดอกพญาเสือโคร่งบนภูลมโล ซึ่งกำลังบานอยู่พอดี “เราอยู่บ้านทำไร่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปข้างนอกเลย จนปีหนึ่งได้ไปเที่ยวทะเลเป็นครั้งแรก พอไปเห็นทะเลก็ตกใจเพราะก่อนหน้านั้นเคยเห็นแต่ในทีวี ไปเห็นของจริงไม่คิดว่าทะเลมันจะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ เลยคิดกลับกันว่า เราอยู่บนเขาเรายังตื่นเต้นกับทะเลเลย กลับกันคนที่อยู่ติดชายทะเล เขาน่าจะต้องตื่นเต้นเวลาได้ขึ้นมาเที่ยวบนภูเขาของเราบ้าง” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว แต่พอไปชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ให้มาช่วยทำการท่องเที่ยวภูลมโล กลับถูกตั้งคำถามกลับมาว่า ใครจะมาท่องเที่ยวภูลมโลที่มีแต่ป่าเขา ทำให้พอประกาศรับสมัครรถนำเที่ยวภูลมโล ได้รถนำเที่ยวแค่เพียงคันเดียวเท่านั้น โชคดีในปีแรกที่เปิดให้ท่องเที่ยว ความงดงามของดอกนางพญาเสือโคร่งสามารถขายตัวเองได้เป็นอย่างดี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นมาชมความสวยงามได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากเมืองชายทะเลอย่างจังหวัดชลบุรี ที่หลงเสน่ห์ความงามของภูเขาสูง ตามที่นิยมได้คาดการณ์ไว้ ช่วยสร้างรายได้ให้กับรถนำเที่ยวหลายหมื่นบาท เมื่อได้ผลตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทำให้ในปีที่ 2 ผู้คนในชุมชนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจการท่องเที่ยวภูลมโลกันมากขึ้น มีการช่วยกันทำถนนหนทาง ขนน้ำมาจากข้างล่าง ลงทุนสร้างห้องน้ำไว้รับรองนักท่องเที่ยว ในตอนแรกที่เปิดการท่องเที่ยว ทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน ยังไม่ค่อยมีรายได้ ทำให้ต้องไปขอสายยางความยาว 700 เมตร จากร้านวัสดุก่อสร้างมาใช้ก่อน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย ในปีที่ 2 จำนวนรถนำเที่ยวได้เพิ่มเป็น 25 คัน ปัจจุบันชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน มีรถนำเที่ยวกว่า 110 คัน และรถนำเที่ยวของทางภูร่องกล้าอีก 2 ชมรม รวมเป็นมีรถนำเที่ยวทั้งหมดจำนวน 300 กว่าคัน โดยในปี พ.ศ. 2559 ที่ดอกนางพญาเสือโคร่งบานสวยที่สุด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นมาเที่ยวที่ภูลมโล ช่วยสร้างรายได้เฉพาะกับรถนำเที่ยวมากถึง 13 ล้านบาท “จากที่ตอนแรกคนคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นที่ท่องเที่ยวได้ มันก็เป็นไปได้แล้ว ปีแรก ๆ ที่เราบอกว่าจะทำให้คนมาเที่ยวซากุระเมืองไทย ชาวบ้านเขาพากันเปลี่ยนเป็น ‘กูเซาล่ะ’ เซาล่ะ ภาษาอีสานแปลว่า ‘พอล่ะ’ คือเขาไม่เอาแล้ว มีแต่ขี้วัว มีแต่ป่าเขา เขาไม่เชื่อว่าจะมีใครขึ้นมาเที่ยวกัน จนปีที่ 4 คำว่ากูเซาล่ะถึงหายไป เราขึ้นมาที่นี่ทุกปี เริ่มเห็นต้นไม้หายไปเรื่อย ๆ ความตั้งใจเราจริง ๆ อยากให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้น” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะกับการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูหนาวต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสทุกปี ดอกนางพญาเสือโคร่งจะเริ่มผลิดอกในช่วงเดือนธันวาคม ก่อนจะบานย้อมภูเขาให้สวยงามไปด้วยสีชมพูในช่วงเดือนมกราคม จนถึงกุมภาพันธ์ หมู่บ้านกกสะทอนของนิยมนั้นเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปากเส้นทางที่สามารถขึ้นภูลมโลจะลัดเลาะผ่านเส้นทางธรรมชาติสวยงาม ซึ่งต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในการเดินทาง และต้องอาศัยความชำนาญของคนในพื้นที่ ซึ่งในช่วงฤดูเพาะปลูกได้ใช้รถเหล่านี้เป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าเกษตรลงไปขาย การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืน ทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เข้ามาช่วยให้ตั้งเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน มีการนำเครื่องมือเกณฑ์ 500 ข้อให้นำไปใช้ เพื่อให้เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ บริหารการท่องเที่ยวพิเศษแบบยั่งยืน โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรู้จักภูลมโลมากยิ่งขึ้น “เมื่อก่อนพวกเราไม่ได้ห้ามรถของนักท่องเที่ยวขึ้นมาเอง พอขับขึ้นมาเองได้ ใต้ต้นไม้ก็มีขยะเต็มไปหมด เราต้องพาคนมาคอยเก็บ พอถึงปีที่ 4 ภูลมโลเริ่มมีคนมาเยอะ นักท่องเที่ยวไม่ชินเส้นทาง ทำให้รถติดบนภูลมโล 2 ชั่วโมง บางคนก็เลยไม่ได้ดูดอกไม้ก็มี ปีต่อมาเราเลยประกาศว่า ขอให้เป็นเฉพาะรถของทางชมรมที่ขึ้นภูลมโล เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบ เราแก้ไขเรื่องขยะโดยออกกฎให้รถนำเที่ยวในชุมชนทุกคันต้องมีถุงดำ เพื่อนำขยะที่รถตัวเองเอาขึ้นมากลับลงไปด้วย” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เดิมทางภูลมโลอนุญาตให้พักค้างคืน แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่อยู่บริเวณที่จัดไว้ให้ มีการก่อไฟใต้ต้นนางพญาเสือโคร่ง สร้างความเสียหาย และทิ้งขยะในช่วงวันหยุด ทำให้ทางชมรมต้องขับรถเปล่าขึ้นมาเพื่อขนขยะลงไปทิ้ง ต่อมาเลยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนบนภูลมโล “ระบบการทำงานพวกเรามีเป้าหมายร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้คนในชุมชนได้เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน สิ่งที่นำเข้ามาใหม่จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ เราดำเนินการในรูปแบบกรรมการ ตั้งแต่ปี 2554 มีการช่วยกันออกกติกาเพื่อเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทุกอย่างมีการขับเคลื่อนด้วยคนในชุมชน มีการลงหุ้นเพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ในสัดส่วนคนละไม่เกิน 10 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนมาผูกขาด มีการปันผลทุกปีทุกเดือนมีนาคม ขั้นต่ำร้อยละ 30 แต่ละปีที่ผ่านมาเรามีรายได้มากกว่าล้านบาท จากนักท่องเที่ยวมากกว่า 10,000 คน” การจัดการอย่างเป็นระบบ ยังรวมไปถึงเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัย ที่มีบันทึกข้อตกลงกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ในขั้นตอนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น แต่นิยมบอกว่าอุปสรรคปัญหาจริง ๆ ของการท่องเที่ยวภูลมโล คือธรรมชาติ เพราะไม่สามารถกำหนดเรื่องสภาพอากาศล่วงหน้า ที่มีผลต่อช่วงการบานของดอกนางพญาเสือโคร่งได้เลย ทำให้ในปีล่าสุด ดอกนางพญาเสือโคร่งบานตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ทั้งที่ตามสถิติ 10 ปีย้อนหลัง ดอกจะเริ่มบานตั้งแต่หลังวันที่ 15 มกราคม ทางชมรมฯ เลยแก้ปัญหาด้วยการคืนเงินให้กับคณะทัวร์ที่จองไว้ล่วงหน้า แล้วพลาดโอกาสมาดูดอกนางพญาเสือโคร่งบานเต็มภูลมโล “ถ้าไม่ใช้พื้นที่อุทยาน เราอยากไปจับมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านการจัดสวน เพื่อออกแบบให้ดอกนางพญาเสือโคร่งสามารถกำหนดช่วงเวลาบานได้ อาจจะให้ทยอยบานทีละแปลงไล่กันไป เหมือนดอกซากุระที่ประเทศญี่ปุ่น” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว ปัจจุบัน เมื่อการท่องเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งบนภูลมโลเริ่มเป็นที่นิยม มีนักท่องเที่ยวในแต่ปีเป็นจำนวนมาก อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรื่องการเข้ามาหาผลประโยชน์ ทำให้มิติเรื่องความยั่งยืนเริ่มถูกกลืนกิน ทางชมรมฯ เลยพยายามรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นหันมาทำการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ไม่ได้มองแค่เรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบและนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน เป็นชุมชนแรก ๆ ที่นำนักตรวจสอบบัญชีจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ให้ทุกอย่างผ่านกระบวนการรับรองอย่างถูกต้อง และยังมีการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากรถบริการนำเที่ยวมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน เพื่อให้ชุมชนเห็นประโยชน์ร่วมกันว่า การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้อย่างไร “เราเน้นเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพ และความยั่งยืน พอเราห้ามรถขึ้นมาได้เราก็อยากให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกรักชุมชน เราเริ่มรู้สึกได้ว่าปีที่ผ่านมาพอดอกไม้บานไม่สวย รายได้ก็น้อย พอเสร็จฤดูกาลจึงมีการประชุมกัน คนในชุมชนหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ปีนี้ดอกไม้บานไม่สวย พวกเราต้องช่วยปลูกใหม่ ต้องช่วยกันตัดหญ้า ต้องใส่ปุ๋ย สิ่งนี้แหละที่เราต้องการเพื่อจะนำไปสู่ความยั่งยืน เวลาที่พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น เขาก็จะไปช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ให้มีความสุขต่อไป” นิยม กุลาชัย เปลี่ยนภูลมโล ให้เป็นสีชมพู ด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง และการท่องเที่ยว ขอบคุณภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย