No Notoriety กลุ่มรณรงค์ขอสื่อไม่เปิดเผยชื่อและหน้าตาฆาตกรโหด

No Notoriety กลุ่มรณรงค์ขอสื่อไม่เปิดเผยชื่อและหน้าตาฆาตกรโหด
ข่าวการฆ่าคนชิงทรัพย์ร้านทองที่ลพบุรี เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะเป็นอย่างมาก ด้วยภาพความรุนแรงติดตาที่ถูกฉายซ้ำ ๆ โดยมีสื่อหลายสำนักช่วยกันนำเสนอความคืบหน้าทุกระยะ ทั้งในเชิงข้อเท็จจริง หรือในเชิงคาดเดา เช่น  "เปิด 'เงินเดือน' ผอ.กอล์ฟ หนี้บาน หักยับ… เหลือใช้ไม่กี่บาท" พาดหัวจาก มติชนออนไลน์ สื่อออนไลน์ที่พัฒนามาจากสื่อสิ่งพิมพ์เดิมที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง  "ซินแสดัง วิเคราะห์โหงวเฮ้ง 'โจรปล้นทอง' ฉลาดสมองดี แต่มี 'คิ้วฆาตกร'" พาดหัวจากสื่อยอดนิยม ไทยรัฐออนไลน์ ที่สถิติจาก Truehits ผู้เก็บสถิติการใช้งานเว็บไซต์ของไทย ถือเป็นสำนักข่าวที่มีผู้เข้าชมผ่านเว็บไซต์มากที่สุด "หนุมานกองปราบ เจาะแผนจับ 'ผอ.เหี้ย(ม)' ชิงทอง" พาดหัวจาก อีจัน เพจข่าวอาชญากรรมอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย (ที่เลี่ยงข้อครหาการใช้ "เหี้ย" คำหยาบในพาดหัว ด้วยการนำ (ม) มาวางไว้ด้านข้างเบา ๆ) แม้จะมีระดับการใช้ถ้อยคำและการนำเสนอเพื่อเร้าอารมณ์คนอ่านที่ต่างกัน แต่ลักษณะร่วมกันของสื่อไทยหลายแห่งคือ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและภาพถ่ายของผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมที่รุนแรงและสะเทือนขวัญคดีนี้อย่างเต็มที่ ขุดคุ้ยเบื้องหลังมาตีแผ่ทั้งวิถีชีวิตส่วนตัว ภรรยา และครอบครัวของผู้ต้องหาแบบไม่ยั้ง บ้างยังปั่นให้เห็นแง่มุมที่ “น่าอิจฉา” ของผู้ก่อเหตุ และแม้ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมก็ยังหาหมอดูมานั่งวิเคราะห์ให้ผู้ที่ติดตามคดีนี้ได้ "รู้สึก" ว่ามีอะไรคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา  ผลก็คือ ผู้ต้องหารายนี้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเขาจะคาดหมายที่จะได้รับความสนใจจากสาธารณะระดับนี้หรือไม่ก็ตาม ถึงขนาดมีคนแต่ง "คอสเพลย์" เพื่อเลียนแบบฆาตกรดังรายนี้เพื่อนำไปอวดในโซเชียลมีเดียก็ยังมี  และการยึดพื้นที่สื่อของฆาตกรเช่นนี้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (ในสหรัฐฯ) ก็คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ "No Notoriety" (ไม่เอาคนดังในทางเสื่อม) กลุ่มรณรงค์ในสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้สื่อยุติการเผยแพร่ชื่อ หรือภาพถ่ายของบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีเหล่านี้ "ไม่แสดงชื่อ ไม่แสดงภาพ ไม่เอาคนดังในทางเสื่อม มันคือหนึ่งในสาระสำคัญเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ  “การมีชื่อเสีย หรือการมีชื่อเสียงโด่งดังในทางลบ เป็นที่รู้กันดีว่า นั่นคือปัจจัยกระตุ้นในการก่อเหตุอาละวาดสังหารหมู่และอาชญากรรมรุนแรงเลียนแบบอื่น ๆ เพื่อลดโศกนาฏกรรมในอนาคต เราขอท้าสื่อให้แสดงถึงความรับผิดชอบในการรายงานข่าวเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เมื่อทำการรายงานข่าวบุคคลที่ก่อเหตุหรือพยายามก่อเหตุอาละวาดรุนแรงต่อคนหมู่มาก อันจะช่วยป้องกันมิให้บุคคลที่นิยมความรุนแรงเช่นเดียวกันกลายเป็นคนมีชื่อเสียงและได้รับความสนใจในหน้าสื่อ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่พวกเขาแสวงหาเป็นอย่างสูง" บทเกริ่นนำในหน้า "หลักเกณฑ์" ของ No Notoriety ระบุ  ด้วยคำขวัญที่ใช้คำ “ปฏิเสธ” อย่างเด็ดขาด (“No”) ทำให้ตีความได้ว่า สิ่งที่กลุ่มเรียกร้องเท่ากับ การจะเผยแพร่ชื่อของผู้กระทำความผิดไม่สามารถทำได้เลย ซึ่ง ทอม ทีฟส์ (Tom Teves) ผู้นำกลุ่ม No Notoriety ผู้สูญเสียลูกชาย อเล็กซ์ ทีฟส์ ในเหตุการณ์สังหารหมู่กลางโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในโคโลราโด สหรัฐฯ เมื่อปี 2012 พยายามชี้แจงว่า จริง ๆ มันมิได้เป็นเช่นนั้น "ชื่อสามารถใช้ได้ครั้งหนึ่ง ปัญหาคือสื่อ ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงสื่อสหรัฐฯ เพราะผมก็ไม่ได้ใช้เวลาดูสื่อในประเทศอื่น ๆ กลับใช้ชื่อนั้น (ของผู้ก่ออาชญากรรม) ในการโปรโมตรายการของตัวเอง คุณสามารถเอ่ยชื่อของผู้ก่อเหตุได้ครั้งหนึ่ง แต่อย่าเปลี่ยนให้เขากลายเป็นฮีโรนอกรีต (antihero) อย่าแสดงให้เห็นว่าเขามีอำนาจ แล้วก็อย่าเผยแพร่คำประกาศของพวกเขา อย่าให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะสิ่งเดียวที่มือปืนเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือความปรารถนาที่จะมีชื่อเสีย" ทีฟส์กล่าวกับ Good Morning Britain มีนักวิชาการที่เห็นด้วยกับทีฟส์ว่า การบรรยายชีวิตของผู้ก่อเหตุฆาตกรรมร้ายแรงของสื่อไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น หรือทำให้สังคมเข้าใจพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุได้ดีขึ้น กลับส่งผลข้างเคียงในทางตรงกันข้าม เนื่องจากทำให้ผู้ก่อเหตุเหล่านี้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงราวกับเซเลบริตี้  "มือปืนหลายรายต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเซเลบ พวกเขาอยากมีชื่อเสียง ทางแก้ก็คืออย่าให้พวกเขาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนั้น" อดัม แลงก์ฟอร์ด (Adam Lankford) นักอาชญวิทยาจาก University of Alabama ผู้ศึกษาเรื่องอิทธิพลจากการรายงานข่าวของสื่อที่จะมีผลต่อผู้ก่อเหตุในอนาคตกล่าวกับ AP   มันอาจจะพูดไม่ได้ว่า อาชญากรรมอย่างการกราดยิงไม่เลือกหน้าในสหรัฐฯ จะมีปัจจัยเช่นเดียวกันกับการก่อเหตุชิงทรัพย์ด้วยการกราดยิงไม่เลือกในเมืองไทย แต่คำสัมภาษณ์หนึ่งของผู้ก่อเหตุในเมืองไทยก็สื่อให้เห็นถึงแรงผลักดันหนึ่งในการก่อเหตุรุนแรงเกินกว่าความจำเป็นไว้ว่า “สาเหตุที่ทำลงไปนั้น ก็เพราะรู้สึกเบื่อกับชีวิต ต้องการหาความท้าทาย ตื่นเต้น ชีวิตจะได้มีสีสัน โดยรู้ตัวดีว่าหลังก่อเหตุต้องถูกตำรวจตามจับกุมตัวได้อยู่แล้ว” (ข่าวสด) สื่อให้เห็นว่า เขารู้ตัวดีอยู่แล้วว่า หลังก่อเหตุจะได้รับการปฏิบัติเช่นใด (ซึ่งภายหลังเขา “ให้เหตุผลเพิ่มเติม” ว่า ที่ทำไปนั้นเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว แต่ มติชนออนไลน์ ไปพาดหัวว่า “กลับคำให้การ รับสิ้นซาก ทำไมถึงสวมวิญญาณโจรเหี้ยมชิงทองยิงดับ 3” ซึ่งเป็นการใช้คำที่ผิดความหมาย เพราะ ผู้ก่อเหตุได้ให้การ “รับสารภาพ” ตั้งแต่ตอนบอกว่า “ต้องการหาความท้าทาย…” แล้ว) แลงก์ฟอร์ดยังได้ให้สัมภาษณ์กับ Columbia Journalism Review กรณีรายงานของ Washington Post ที่นำเสนอประวัติส่วนตัวของเกมเมอร์มืออาชีพที่ลงมือสังหารหมู่ที่แจ็กสันวิลล์เมื่อปี 2018 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยได้นำข่าวดังกล่าวขึ้นหน้าโฮมเพจพร้อมแสดงภาพของมือปืนอย่างชัดเจนว่า เป็นการให้ความสนใจกับคนร้ายในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายได้ และเป็นการส่งสารไปยังกลุ่มเสี่ยงด้วยว่า พวกเขาสามารถมีชื่อเสียงได้ด้วยการก่อเหตุสังหารหมู่ และแลงก์ฟอร์ดยังชี้ว่า จำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต มีส่วนสัมพันธ์กับความกระหายที่จะมีชื่อเสียงของผู้ก่อเหตุอีกด้วย ขณะเดียวกันก็มีผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะคนทำสื่อที่ยืนยันว่า การเผยแพร่รายละเอียดของคนร้ายนั้นมีประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นฟังก์ชันสำคัญของคนเป็นสื่อที่จะต้องบอกว่า ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำไม? และอย่างไร? โดยน้ำหนักในการนำเสนอก็ควรเป็นไปอย่าง “สมดุล” เช่นเดียวกับการนำเสนอเรื่องราวของอาชญากรในประวัติศาสตร์ผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เหตุปัจจัยของอาชญากรรมอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอาจต่างไปจากการก่ออาชญากรรมสังหารหมู่ในสหรัฐฯ ที่มีการเลียนแบบขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้สังคมเกิดความกังวล นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้สื่อลดการให้ความสำคัญกับการรายงานรายละเอียด “ตัวตน” ของผู้ก่อเหตุไม่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับคนมีชื่อเสีย ขณะที่ในเมืองไทยพฤติกรรมเลียนแบบเช่นนั้นยังไม่ปรากฏ แต่เราควรจะรอให้เกิดเหตุขึ้นก่อนแล้วค่อยกังวลหรือไม่? หรือเราจะดูบทเรียนจากต่างชาติแล้วตั้งคำถามว่า การรายงานข่าวในเมืองไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลหรือยัง?