Nomadland: คนไร้ราก หัวใจไร้รัก ในวันที่ชีวิตบั้นปลาย เราควรไปตายใต้แสงดาว

Nomadland: คนไร้ราก หัวใจไร้รัก ในวันที่ชีวิตบั้นปลาย เราควรไปตายใต้แสงดาว
***เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง NOMADLAND “วันที่ 31 มกราคม 2011  เมื่อความต้องการของยิปซั่มของ Sheetrock ลดลง โรงงาน US Gypsum ในเอ็มไพร์ รัฐเนวาดา หลังจากเปิดมา 88 ปี จึงปิดตัวลง เดือนกรกฎาคม 2011 รหัส 89405 ซึ่งเป็นรหัสไปรษณีย์เอ็มไพร์ ก็ถูกยกเลิก”  นี่คือประโยคเปิดหัวของหนัง Nomadland หนังออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2020 ที่เป็นหนังแสนโชคร้าย ออกฉายในยุควิกฤตโรคระบาด จนกลายเป็นหนังยอดเยี่ยมในรอบกว่า 30 ปี ที่ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา แต่ถึงอย่างไร สุดท้าย Disney+Hotstar ก็นำเรื่องนี้มาลงในสตรีมมิ่งให้เราได้พิสูจน์ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้กันแล้ว ซึ่งไม่สายเกินไปนักที่คนไทยจะได้พิสูจน์ความดีงามของหนังเรื่องนี้ ที่มาถูกจังหวะถูกเวลาในสภาวการณ์อันแสนหดหู่ใจ ที่เราเองต่างประสบชะตากรรมไม่ต่างกับตัวละครเอกในหนังเลย Nomadland: คนไร้ราก หัวใจไร้รัก ในวันที่ชีวิตบั้นปลาย เราควรไปตายใต้แสงดาว เพราะความสิ้นหวังนำทางให้ฉันเดินทางไกล เฟิร์น หญิงหม้ายผู้ผ่านชีวิตร้อนหนาวมาพอสมควร จัดแจงนำสัมภาระที่จำเป็นที่สุดยัดใส่รถบ้าน RV หลังจากที่คนรักได้จากไปพร้อมกับการล่มสลายของถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่มีสิ่งใดหลงเหลือที่จะเหนี่ยวรั้งเธอให้อยู่กับความทรงจำที่นิ่งเฉยต่อความเศร้าโศกของเธออีกต่อไป การเดินทางโดยไร้จุดมุ่งหมาย ได้เจอผู้คนมากมาย อาจจะช่วยเยียวยาเธอจากความหดหู่ในอดีตนั้นได้ เรื่องย่อของ Nomadland มีเพียงเท่านี้ สิ่งที่เราได้รับชมภายในเวลา 108 นาที คือการตามติดชีวิตของเธอที่เลือกเป็นนักพเนจรขับรถไปอย่างไร้จุดหมาย เลือกทำงานเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับเงินพอประทังชีวิต ไปแคมป์รถ RV กลับมาเยี่ยมน้องสาวเพื่อที่จะหยิบยืมเงินไปซ่อมรถ พบพา ลาจาก ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ท่ามกลางวิวทิวทัศน์ที่ผันไปตามฤดูกาล และเพราะอะไรหนังที่แทบจะไร้พล็อต กลับขับเคลื่อนความรู้สึกคนและชนะใจคณะกรรมการได้ เรามาสำรวจและค่อย ๆ เดินทางไปกับหนังเรื่องนี้พร้อม ๆ กัน  จุดเริ่มต้น เมื่อวันหนึ่ง ปีเตอร์ สเปียร์ส ได้ยื่นหนังสือที่หนา 273 หน้าให้กับ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ มันคือหนังสือ Non-Fiction ที่ชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century ที่เขียนโดยนักข่าวชาวอเมริกันที่ชื่อ เจสซิก้า บรูเดอร์ ที่เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในวัยเกษียณที่เลือกทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง เพื่อเดินหน้าใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยการออกเดินทางทั่วอเมริกาด้วยรถบ้าน แม็คดอร์มานด์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบมาก เธอและสเปียร์ส จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ และเฟ้นหาผู้กำกับ จนได้พบเพชรเม็ดงาม โคลอี้ เชา ที่ในช่วงเวลานั้นกำลังฉายแววในฐานะผู้กำกับ The Rider หนังดราม่าตะวันตก ที่เล่าเรื่องของโรดิโอหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันเมื่อเขาประสบอุบัติเหตุในการแข่งควบม้า นำมาสู่บทสำรวจชีวิตและตัวตนของเขา ซึ่งหนังที่เล่าเรื่องได้แมน ๆ และแสนอเมริกันจ๋าเรื่องนี้ กลับกำกับโดยหญิงสาวเชื้อสายจีน แม็คดอร์มานด์จึงคิดว่าเชาน่าจะเข้าใจเรื่องราวชีวิตของคนนอกได้เป็นอย่างดี ทั้งในฐานะคนพลัดถิ่นที่มาเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ไฮสคูล จนจบเอกฟิล์มที่มหาวิทยาลัย New York University’s Tisch School of the Arts แน่นอนว่าเธอรับรู้ความเหงาในการห่างแผ่นดินแม่และห่างจากครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังได้ร่วมงานกับนักแสดงคุณภาพระดับ 2 ออสการ์อย่างแม็คดอร์มานด์แล้ว เธอไม่รับโปรเจกต์นี้ก็คงแปลกเกินไปหน่อย แต่การที่นักแสดงคุณภาพที่ทั้งแสดงและร่วมอำนวยการสร้างนั้น ไม่ได้หมายความว่าแม็คดอร์มานด์จะครอบงำการทำงานของผู้กำกับได้ ตรงกันข้ามเธอให้อิสระในการทำงานกับ โคลอี้ เชา อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงหนังสือโดยเลือกโฟกัสที่คาแรคเตอร์ของเฟิร์น หญิงสาวผู้ถูกความสูญเสียหลอกหลอนจนเธอต้องออกจากบ้านสู่โลกกว้าง เลือกการถ่ายทำแบบค่ำไหนนอนนั่นพร้อมกับทีมงานในกองถ่ายเพียงหยิบมือ ขณะเดียวกันเธอต้องการความสมจริงด้วยการใช้เหล่านักแสดงสมัครเล่นที่เป็นนักพเนจรจริง ๆ มาร่วมเป็นนักแสดงสมทบในหนังเพื่อซึมซับบรรยากาศและถ่ายทอดปมปัญหาในปัจจุบันที่ผู้สูงอายุมากมายเลือกตายในรถมากกว่าตายในบ้านอย่างสิ้นหวัง  Nomadland: คนไร้ราก หัวใจไร้รัก ในวันที่ชีวิตบั้นปลาย เราควรไปตายใต้แสงดาว ไม่ใช่คนไร้บ้าน แต่บ้านไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป “แม่บอกว่าคุณเป็นคนไร้บ้าน จริงเหรอคะ?” “ไม่นะ ฉันไม่ได้ไร้บ้าน ฉันแค่ไม่จำเป็นต้องมีบ้าน...ไม่เหมือนกันใช่ไหม?” บทสนทนาในหนังระหว่างเฟิร์นกับอดีตลูกศิษย์ที่เคยสอนพิเศษบ่งบอกตัวตนของเธอได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กน้อยถามถึงสถานะของเฟิร์นว่าเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) หรือไม่ และเธอเลือกที่จะตอบว่าเป็นคนไม่จำเป็นต้องมีบ้าน (Houseless) มากกว่า  การเป็นชาวพเนจรนั้นในความเป็นจริงมีมานานนับศตวรรษ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของกลุ่มคาราวานที่ออกสำรวจตรวจตราสถานที่แปลกถิ่นเพื่อตั้งรกรากจนพบดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา หากแต่ในปัจจุบันการพเนจรนั้นหาได้เดินทางเพื่อตั้งรกรากไม่ พวกเขาล้วนแต่ต้องการเป็นคนไร้รากจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีมานี้ ลินดา เมย์ และ บ็อบ เวลส์ นักแสดงของเรื่องนี้ที่เป็นคนพเนจรตัวจริงพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องการใช้ชีวิตแบบคนพเนจรให้กับแม็คดอร์มานด์ เขาและเธอใช้ชีวิตบนท้องถนนมานานนับสิบปี โดยเฉพาะบ็อบ เวลส์นั้นได้ก่อตั้งองค์กร Cheap RV Living เพื่อช่วยเหลือเหล่านักพเนจรหน้าใหม่ผ่านการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมร่วมกันมาอย่างยาวนานกว่า 12 ปี โดยมีช่อง YouTube ชื่อเดียวกันนี้ที่มีผู้ติดตามกว่า 400,000 ราย ได้พูดถึงไลฟ์สไตล์ของคนวัยเกษียณที่เปลี่ยนไป  “พวกเขานอกจากจะไม่อยากเป็นภาระให้กับลูกหลานแล้ว เหล่านักพเนจรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยากจะใช้ชีวิตบั้นปลายอันโลดโผนและทำสิ่งที่ตลอดชีวิตนั้นไม่เคยได้ทำก่อนตาย…แรกเริ่มเดิมที ทุกคนทิ้งบ้านทิ้งอดีตที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง หากแต่พอพวกเราได้ลองมาใช้ชีวิตนักพเนจร ทุกคนต่างก็พูดแบบเดียวกัน ‘พวกเราเหมือนมาตั้งแคมป์กันมากกว่า’” ขณะเดียวกันที่อเมริกานั้น ในตัวบทกฎหมายกลับมีความขัดแย้งบางอย่างที่ไม่สามารถเอื้อได้กับคนที่มีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ จีน ฮาร์ดวิค มีอาชีพการงานที่ดีและมั่นคง เธอมีประกันสุขภาพและบ้านใน Sarasota, Fla. ที่เธอเป็นเจ้าของและรักบ้านหลังนี้มาก จนกระทั่งในปี 2015 หัวใจของเธอเกือบหยุดเต้น หลังจากปฏิกิริยารุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกับยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ฮาร์ดวิค ซึ่งตอนนี้อายุ 60 ปี พบว่าตัวเองต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ มีอาการชัก และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 500,000 ดอลลาร์  “มีการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล แต่มันเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง...พวกเขาพูดว่า ‘เราไม่สามารถช่วยคุณได้เพราะคุณเป็นเจ้าของบ้าน ดังนั้นโปรดโทรฯ กลับมาหาเราเมื่อทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ชื่อของคุณอีกต่อไป’ ฉันต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ในการยื่นขอสิทธิ์ทุพพลภาพ...จนฉันขับรถผ่านย่านธุรกิจที่มีรถบ้าน RV ขนาดใหญ่ขาย ฉันคิดว่า ‘ฉันสามารถอยู่ในนั้นได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า และฉันสามารถเก็บเงินของตัวเองได้’” จนในที่สุด ฮาร์ดวิคก็เลือกใช้ชีวิตแบบนักพเนจร ค่ำไหนนอนนั่น และหาเงินจากการรับจ้างชั่วคราว และได้รับเงินช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพในที่สุด แม้จะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในหมู่อเมริกันชนโดยเฉพาะคนยุคเบบี้บูม แต่หลายคนก็ยังแยกคนพเนจรกับคนไร้บ้านไม่ออก อย่างในหนัง Nomadland ที่เฟิร์นพยายามจะปฏิเสธความหวังดีทั้งจากเพื่อนจากพี่น้อง ที่วอนขอให้เธอมาอาศัยอยู่ที่บ้าน เธอพยายามที่จะลองอยู่และนอนบนเตียงที่นุ่มสบายกว่าอุดอู้อยู่ในรถ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตบั้นปลาย แต่สุดท้ายเธอก็เลือกปฏิเสธมันและเลือกเดินทางด้วยรถบุโรทั่งทุกที Nomadland: คนไร้ราก หัวใจไร้รัก ในวันที่ชีวิตบั้นปลาย เราควรไปตายใต้แสงดาว ย้อนกลับมาดูสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน นอกจากการเดินทางด้วยรถ RV จะเป็นไลฟ์สไตล์ของคนมีอันจะกิน หรือวัยรุ่นที่แสวงหาความสุขที่แตกต่างจากการอยู่บ้าน สำหรับประเทศนี้ คนไร้บ้าน ก็คือคนทุกข์ยากที่นับวันจะโดนกดทับด้วยโรคระบาดและความบกพร่องทางการบริหารในส่วนของภาครัฐ สังคมผู้สูงอายุไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน ยิ่งเกิดโรคระบาด ยิ่งพบจุดเร่งให้จากไปก่อนวัยอันควรมากยิ่งขึ้นไปอีก Nomadland อาจจะเป็นหนังที่สะท้อนภาพความขมขื่นจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ แต่ท่ามกลางความขื่นขมเมื่อเทียบกับสังคมผู้สูงอายุในบ้านเราแล้ว เหล่าคนพเนจรยังพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้มากกว่า  “สังคมและค่านิยมของเราล้วนมุ่งเน้นไปที่สิ่งของ เงิน อำนาจ และศักดิ์ศรี...เมื่อคุณอยู่ในรถตู้ และคุณไม่มีอะไรเลย แต่คุณกลับมีเวลามากขึ้นและมีความสบายใจขึ้น เมื่อไม่มีอะไรมาผูกมัดคุณ” บ็อบ เวลส์กล่าวทิ้งท้าย  ที่มา: https://time.com/5938982/nomadland-true-story/ https://www.forbes.com/sites/nextavenue/2021/02/18/the-reality-of-nomadland-life-in-america/?sh=53aaeec26b9c เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง