นอร์มา แมคคอร์วีย์ หญิงที่ทำให้การทำแท้งถูกกม. ก่อนเป็นฝ่ายต่อต้านเสียเอง

นอร์มา แมคคอร์วีย์ หญิงที่ทำให้การทำแท้งถูกกม. ก่อนเป็นฝ่ายต่อต้านเสียเอง
ถ้าพูดขึ้นมาว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้กับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่จำกัดเสรีภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตของตน อย่างเช่น "การตั้งครรภ์" จนทำให้การทำแท้งเมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้สำเร็จ ใครได้ฟังคงคิดว่าผู้หญิงคนนี้ช่างเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อสิทธิของตน และสิทธิประโยชน์ที่ตามมาของผู้หญิงทั้งปวง จึงไม่แปลกที่นักสตรีนิยมจะยกย่องเธอเป็นไอคอนคนหนึ่งของขบวนการ แต่ตัวตนจริงๆ ของโจทก์ผู้เป็นที่มาของคำพิพากษา Roe V. Wade ซึ่งทำให้การทำแท้งในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น คดีนี้เริ่มกระบวนการพิจารณาขึ้นในปี 1970 โดยหญิงที่ชื่อว่า "เจน โร" นามสมมติที่ฟ้อง เฮนรี เวด พนักงานอัยการจากดัลลัสเคาตี รัฐเท็กซัส เธอเป็นหญิงตกงานวัย 22 ปี ไม่มีสามี มีความประสงค์ที่จะทำแท้ง แต่กฎหมายในเท็กซัสขณะนั้นอนุญาตให้มีการทำแท้งโดยถูกต้องตามกฎหมายได้แต่กรณีที่ การตั้งครรภ์นั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของแม่ผู้อุ้มครรภ์เท่านั้น เธอจึงฟ้องอัยการเวดในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาแห่งรัฐเท็กซัสรวมถึงกฎหมายต่อต้านการทำแท้ง โดยอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว จึงขอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวและให้ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อที่เธอจะสามารถทำแท้งได้ ต่อจากนั้นสามปี หลังผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน (จนโจทก์คลอดลูกไปแล้ว) ศาลฎีกาจึงได้มีมติเสียงข้างมาก (7-2) ระบุว่า กฎหมายต่อต้านการทำแท้งของเท็กซัสขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัวจริง ทั้งยังละเมิดมาตรการป้องกันการกระทำที่อาจกระทบสิทธิประชาชนอย่างการใช้สิทธิตามกระบวนการทางกฎหมายซึ่งปรากฏอยู่ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14   แต่ในขณะเดียวกันศาลก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายโจทก์ (ซึ่งมีอยู่หลายคนที่ยื่นฟ้องด้วยองค์ประกอบใกล้เคียงกัน) ที่อ้างว่าหญิงที่ตั้งครรภ์มีสิทธิที่จะทำแท้งเมื่อไหร่ก็ได้ไม่สนว่าอายุครรภ์จะมากน้อยเพียงใด โดยศาลเห็นว่ารัฐมีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ รวมถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัว หากมีเหตุอันควรเมื่อเกิดกรณีที่กระทบต่อรัฐอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในกรณีของการทำแท้งนั้น แม้ทารกในครรภ์จะไม่มีฐานะเป็น "บุคคล" ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่รัฐก็มีอำนาจที่จะกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของหญิงผู้ตั้งครรภ์จากอันตรายที่จะเกิดจากการทำแท้ง รวมถึงชีวิตใหม่ที่อาจจะเกิดมาได้ตามสมควร โดยในกรณีที่อายุครรภ์อยู่ในช่วงสามเดือนแรก ศาลชี้ว่า การทำแท้งจะสามารถทำได้หรือไม่นั้น ควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ ในระยะเกินสามเดือนไปแล้ว รัฐสามารถมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการทำแท้งโดยคำนึงถึงสุขภาพของหญิงผู้ตั้งครรภ์เป็นสำคัญได้ และเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและชีวิตมนุษย์ รัฐอาจสั่งห้ามการทำแท้งได้เพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของหญิงผู้ตั้งครรภ์ คำพิพากษาดังกล่าวสร้างผลสะเทือนต่อสังคมสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก กลายเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนักสิทธิสตรี และสร้างความขมขื่นให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายศาสนามากเช่นกัน เพราะเหตุนี้ในการดำเนินคดีจึงมีการปกปิดชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์มาตั้งแต่ต้น เจน โร ได้หายตัวไปจากพื้นที่บนหน้าสื่อนานนับสิบปี จนกระทั่ง "นอร์มา แมคคอร์วีย์" (Norma McCorvey) ได้ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณะและบอกว่าเธอก็ "เจน โร" ผู้ทำให้การการทำแท้งถูกกฎหมาย และได้ร่วมรณรงค์การใช้สิทธิทางเลือกในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง   บ้านเกิดเดิมของแมคคอร์วีย์อยู่ที่เล็ตส์เวิร์ธ (Lettsworth) ลุยเซียนา เธอเกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1947 นามสกุลเดิมคือ เนลสัน ครอบครัวของเธอค่อนข้างมีปัญหา เธอเล่าว่าตัวเองเกิดมาโดยไม่ได้เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ ครอบครัวของเธอย้ายมาทำมาหากินอยู่เท็กซัสแล้วพ่อแม่จึงได้แยกทางกัน อายุได้สิบขวบเธอไปก่อเรื่องลักโมยเงินจากปั๊มน้ำมันที่เธอไปทำงานพิเศษก่อนหนีออกจากบ้าน เมื่อถูกจับได้จึงถูกส่งเข้าโรงเรียนดัดสันดาน ซึ่งเธอบอกว่านับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอ เมื่ออายุได้ 15 ปี เธอถูกส่งไปอยู่กับญาติห่างๆ เธอถูกญาติข่มขืนครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนที่แม่ของเธอจะมาช่วยได้ หลังจากนั้นไม่นานเธอก็แต่งงานและมีลูกคนแรกเมื่อายุได้เพียง 16 ปี แต่ก็หย่าขาดกันตั้งแต่ลูกยังไม่เกิดเมื่อเธอถูกสามีซ้อมเป็นประจำ หลังเลิกราแมคคอร์วีย์กลับไปอยู่บ้านกับแม่ ทำงานเป็นสาวบาร์และเริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เธอเล่าว่าการมีลูกคนแรกคือจุดเปลี่ยนจากชีวิตร้ายๆ เหมือนกับได้ไถ่บาปที่ผ่านมา แต่เธอก็กลับสละอำนาจปกครองบุตรให้กับแม่ของเธอไป โดยเธออ้างว่า แม่ของเธอล่อลวงให้เธอเซ็นเอกสารตอนเมา หลังจากนั้นเธอก็ไปได้งานทำเป็นนักบำบัดอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยความช่วยเหลือของคู่รักเพศหญิง ก่อนที่เธอจะไปแอบมีสัมพันธ์กับชายหนุ่มและเกิดท้องขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นเธอก็ถูกไล่ออกจากงาน ส่วนลูกเธอยกให้กับครอบครัวบุญธรรมตั้งแต่แรกเกิดเมื่อปี 1967 จากนั้นอีกสองปีเธอก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง คราวนี้เธอดิ้นรนจะทำแท้งให้ได้แต่หมอหรือนักกฎหมายคนไหนๆ ก็ไม่รับเรื่องช่วยเธอ จนกระทั่งเธอได้มาเจอกับ ซาราห์ เวดดิงตัน (Sarah Weddington) ทนายความที่ต้องการจะคว่ำกฎหมายต่อต้านการทำแท้งของเท็กซัสอยู่แล้ว การได้พบกับแมคคอร์วีย์จึงทำให้ทั้งคู่สมประโยชน์ การดำเนินคดีเริ่มขึ้นในตอนที่เธอมีอายุครรภ์ได้ห้าเดือนแล้ว ดังนั้นแม้จะมีสถานะเป็นผู้ชนะคดี แต่แมคคอร์วีย์ก็ไม่ได้ประโยชน์โดยตรง เพราะกว่าคดีจะเสร็จสิ้นก็กินเวลาถึงสามปี เธอคลอดไปลูกเสียก่อนแล้วจึงตัดสินใจยกลูกตัวเองให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นเช่นเดิม และแม้ว่าเธอจะมีสถานะสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในการดำเนินคดีนี้ แต่เธอมีบทบาทในกระบวนการพิจารณาคดีน้อยมาก แมคคอร์วีย์บอกว่า เธอแทบไม่ได้เจอทนายของเธอเลย และไม่เคยไปขึ้นศาล หรือถูกเรียกให้ไปเบิกความใดๆ เลย ตลอดสามปีก่อนมีคำพิพากษาเธอจึงแทบไม่มีส่วนใดๆ กับกระบวนการพิจารณาคดี และเธอการที่เธอได้รับทราบคำพิพากษาก็มาจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่างจากภาพลักษณ์ที่คนเคยจินตนาการถึงเธออย่างมาก ต่อมาในราวต้นทศวรรษที่ 80s เธอมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับคลินิกทำแท้งและร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มสิทธิสตรีที่สนับสนุนการทำแท้ง การเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งนั้นทำให้เธอตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง ครั้งหนึ่งเธอยังเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เธอโกหกกับนักข่าวสมัยเกิดคดีว่าเธอตั้งท้องเพราะถูกรุมโทรมทำให้เกิดเสียงฮือฮามาก แต่มันก็ไม่ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางคดี เพราะทนายความของเธอไม่เคยยกประเด็นนี้ขึ้นสู้ในศาลแต่อย่างใด หลังอยู่ฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งอยู่ดีๆ ในปี 1995 เธอก็พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เมื่อได้พบศรัทธาใหม่ในศาสนาคริสต์ หลังได้พบกับนักเทศน์ที่อยู่กับกลุ่มต่อต้านการทำแท้งซึ่งมาเปิดออฟฟิศอยู่ใกล้ๆ กับคลินิกทำแท้งที่เธอเป็นที่ปรึกษา ตอนแรกๆ เธอเกลียดคนกลุ่มนี้มากแต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันแล้ว และการเข้าโบสถ์เป็นเวลาหลายเดือนก็ทำให้เธอเปลี่ยนจุดยืนหันมาต่อต้านการทำแท้ง ในปี 1998 เธอเปลี่ยนศาสนาอีกครั้ง คราวนี้หันมานับถือนิกายคาทอลิกเมื่อได้พูดคุยกับบาทหลวงแฟรงก์ ปาวอน (Frank Pavone) ผู้ประกาศสงครามกับการทำแท้ง และผู้อำนวยการของกลุ่ม Priests for Life ซึ่งกล่าวว่า แมคคอร์วีย์คือหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายสนับสนุนการทำแท้ง เธอเสียใจที่ชื่อของเธอไปติดพันกับคำพิพากษาซึ่งมีผลให้เกิดการสังหารหมู่เด็กๆ กว่า 58 ล้านชีวิต ปีเดียวกันนั้นเอง แมคคอร์วีย์ก็ได้ให้การกับคณะอนุกรรมการวุฒิสภาคณะหนึ่งว่า "ฉันขออุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อแก้ไขกฎหมายที่ตีตราชื่อของฉัน" หลังจากนั้นมาเธอก็ได้ทำตามที่ประกาศไว้ ทั้งได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลกลับคำพิพากษาเดิมในปี 2005 แต่ถูกศาลยกคำร้อง ได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการทำแท้งอยู่หลายครั้งบางครั้งก็ถูกจับกุม และเคยกล่าวหาอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาว่าเป็นฆาตกรสังหารทารก ซึ่งเพียงไม่นานหลังจากที่โอบามาพ้นจากตำแหน่ง แมคคอร์วีย์ก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 69 ปี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2017     ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Norma-McCorvey https://www.britannica.com/event/Roe-v-Wade https://www.nytimes.com/1994/07/03/books/an-accidental-symbol.html https://www.nytimes.com/2017/02/18/obituaries/norma-mccorvey-dead-roe-v-wade.html http://cdn.loc.gov/service/ll/usrep/usrep410/usrep410113/usrep410113.pdf