ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ พา "แม่ทองสุก" ร้านทองแสนล้าน โตไกลต่างแดน

ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ พา "แม่ทองสุก" ร้านทองแสนล้าน โตไกลต่างแดน

พา "แม่ทองสุก" ร้านทองแสนล้าน โตไกลต่างแดน

ขายทองจนติด “ท็อป 3” ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ของไทย ด้วยรายได้ 3-4 แสนล้านบาทต่อปีอยู่ดีๆ แต่ทำไม “แม่ทองสุก” ถึงกล้าเสี่ยงออกไปลุยสร้างการเติบโตที่เมืองนอก? คนที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด น่าจะเป็น ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ รุ่น 3 ของครอบครัว ที่ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ประธานฝ่ายบริหาร กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด ด้วยวัย 30 กว่าปีเท่านั้น แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ขอพาไปดูที่มาของแม่ทองสุกเสียก่อน... เป็นที่รู้กันว่าร้านทองชื่อดังส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดที่เยาวราช แต่ อำไพวรรณ หิรัณยศิริ กลับเลือกปักหมุดที่วงเวียนใหญ่ ก่อตั้งร้านทอง “โง้ว ย่ง ฮง” และ “ยู ฮอง” ในปี 2495 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น "ห้างทองแม่ทองสุก" ในปี 2507 ซึ่งนอกจากจะขายทองหน้าร้าน ก็ยังทำธุรกิจค้าส่งทองให้ร้านทองทั่วประเทศนำไปขายต่อลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ระหว่างที่อำไพวรรณทำธุรกิจร้านทอง ลูกชายคือ นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ก็ทำงานเป็นหมออยู่กว่า 10 ปี แต่ก็มีมาช่วยงานที่ร้านทองหลังตัวเองเลิกงานอยู่เสมอ จนวันหนึ่ง นพ.กฤชรัตน์ก็ตัดสินใจเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่แม่บุกเบิกไว้จนแข็งแกร่ง จึงต้องสานต่อและพัฒนาไปให้เต็มที่ที่สุด  นพ.กฤชรัตน์เริ่มส่งออกทองไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็พัฒนาให้แม่ทองสุกเป็นผู้นำเข้าทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 99.99% (มาตรฐานทองคำเมืองไทยคือความบริสุทธิ์ 96.5% ส่วนมาตรฐานทองคำในตลาดต่างประเทศคือ 99.99%) เพื่อให้ลูกค้าซื้อเก็บเป็นการลงทุน หรือลูกค้าบางรายก็ซื้อไปผลิตเป็นทอง 96.5% เพื่อขายต่อ  อดีตหมอที่ผันตัวมาค้าทอง ยังพัฒนาระบบการซื้อขายทองคำแท่งแบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “โกลด์ ออนไลน์” (Gold Online) ขายทั้งทองคำแท่ง 96.5% และ 99.99% ภายใต้ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด นับเป็นผู้ค้าทองรายแรกในไทยที่ทำ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาร้านทองเพื่อซื้อขายหน้าร้านอีกต่อไป    [caption id="attachment_1270" align="aligncenter" width="5184"] ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ พา "แม่ทองสุก" ร้านทองแสนล้าน โตไกลต่างแดน ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัวเมื่อราว 10 ปีก่อน[/caption] แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจไม่เคยรอใคร เมื่อการแข่งขันและเทคโนโลยีไม่ได้เคาะประตูแต่บุกเข้ามาถึงในบ้าน ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ลูกคนโตในจำนวน 3 คนของ นพ.กฤชรัตน์ ที่เพิ่งจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา จึงต้องเข้ามาเสริมทัพช่วย นพ.กฤชรัตน์ รับช่วงต่อเป็นผู้บริหารระดับสูง “รุ่นที่ 3” พร้อมพกแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่างมาเต็มกระเป๋า รอวันลงมือทำให้สำเร็จ หลังจากรุ่นพ่อวางระบบโกลด์ ออนไลน์ ไปแล้ว ณัฐพงศ์ก็พัฒนา “โกลด์ โมบายล์” (Gold Mobile) ที่ซื้อขายทองคำแท่งได้ผ่านสมาร์ทโฟน และยังทำระบบ “โกลด์ เพย์เมนต์ การ์ด” (Gold Payment Card) ซึ่งนับว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” การจ่ายเงินในธุรกิจค้าทองเมืองไทยเป็นรายแรกๆ เพราะเป็นวิธีแบบไร้เงินสด ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังชอบและยังเชื่อมั่นกับการจ่ายเงินสดแบบเดิมๆ มากกว่า  “แต่ก่อนเราแบกเงินสดเข้าธนาคารเป็นว่าเล่น จนต้องบอกว่าไม่ไหวแล้ว มันไม่ยั่งยืน ผมอยากทำอะไรที่สะดวก เป็น cashless ให้ได้ ปีแรกโดนด่าไป 95% เพราะเขาคิดว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอะไรที่เป็นไปไม่ได้” ณัฐพงศ์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes Thiailand ซึ่งเขาต้องใช้เวลาอยู่หลายปี กว่าลูกค้าจะยอมรับสิ่งที่เขาเสนอ  เมื่อธุรกิจค้าขายทองพัฒนาไปมากกว่าเดินเข้าร้านหรือกดมือถือเพื่อซื้อขาย แต่ยังไปอยู่ในตลาดทุนอย่างตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เพื่อซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่จะซื้อหรือขายสินค้าในราคา ปริมาณ และเงื่อนไขอื่นที่ตกลงกันไว้ โดยจะทำการส่งมอบสินค้ากันในอนาคต)  ณัฐพงศ์ก็ไปนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด ทำธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำที่เรียกว่า “โกลด์ ฟิวเจอร์ส” (Gold Futures) ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับทองคำแท่ง ซึ่งเขาก็สร้างการเติบโตให้บริษัทได้เป็นอย่างดี  แต่แค่เมืองไทยคงไม่พอ เพราะเป้าหมายใหญ่ของณัฐพงศ์คือการพาแม่ทองสุกไปโต "ต่างประเทศ"  เขาเริ่มจากการทำธุรกิจค้าขายทองคำแท่งที่สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค  ใช่ว่ามีชื่อเสียงจากเมืองไทยไปแล้วอะไรจะง่ายดาย เพราะณัฐพงศ์ต้องเผชิญกับสายตาที่มองเขาอย่างไม่เชื่อถือ ทำนองว่าผู้ค้าทองจากเมืองไทยมาทำอะไรที่นี่ ทั้งยังไม่มี “คอนเน็คชัน” หรือสายสัมพันธ์ที่จะพาธุรกิจไปให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เขาก็อาศัยลูกฮึดบวกกับความอดทน ค่อยๆ สร้างชื่อจนบริษัท MTS Gold Bullion ได้รับการยอมรับในแวดวงค้าทองของสิงคโปร์ จากนั้น ณัฐพงศ์ก็ขยับไปฮ่องกง ด้วยการก่อตั้งบริษัท MTS Gold (Hong Kong) ทำธุรกิจค้าขายทองคำแท่งเช่นกัน ทั้งยังเป็นไม่กี่บริษัทของไทยที่ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ออกใบอนุญาตให้ซื้อขายทองในจีน  สาเหตุที่ณัฐพงศ์พาแม่ทองสุกไปโตต่างแดน ไม่ใช่ต้องการสร้างชื่อเสียงหรือรายได้ให้ธุรกิจครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพราะที่สำคัญกว่านั้นคือ เขาวางกลยุทธ์ผลักดันให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายทองคำแห่งอาเซียน! เรื่องนี้ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะเอเชียเป็นทวีปที่มีอุปสงค์ทองคำ (Gold Demand) มากแห่งหนึ่งในโลก โดย 2 อันดับแรกที่มีอุปสงค์ทองคำสูงสุดคือจีนและอินเดีย  ขณะที่ Singapore Bullion Market Association (SBMA) หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรของสิงคโปร์ที่มีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโลหะมีค่า ระบุว่า "ไทย" เป็นประเทศที่มีอุปสงค์ทองคำมากสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีป รองจากจีนและอินเดีย ด้วยปริมาณอุปสงค์ทองคำรวม 92 ตันในปี 2559 นอกจากนี้ SBMA ยังอ้างข้อมูลจาก IFS (ณ เดือนมกราคม 2560) ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีปริมาณทองคำสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 152.4 ตัน  ส่วนไตรมาส 3 ปี 2561 ปริมาณทองคำสำรองของไทยยังคงตัวเลขที่ 154 ตัน เช่นเดียวกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน เมื่อดูภาพรวมพบว่า ปริมาณทองคำสำรองเฉลี่ยของไทยตั้งแต่ปี 2543-2561 อยู่ที่ 110.12 ตัน แต่ขึ้นไปแตะตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 154 ตันในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนปริมาณทองคำสำรองต่ำสุดของไทยอยู่ที่ 72.59 ตันในปี 2543  เมื่อปัจจัยต่างๆ เอื้อต่อการให้ไทยเป็นผู้นำการค้าขายทองคำในภูมิภาค การสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจค้าทองในภาพรวมและธุรกิจของณัฐพงศ์เองจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุนต่างชาติได้มั่นใจว่าถ้าจะมาลงทุนค้าขายทองคำในไทย ก็เชื่อได้เลยว่ามาถูกประเทศ “เป็นความภาคภูมิใจว่าเวลาไปออกงานที่ต่างประเทศ เขาจะรู้ว่าตลาดทองคำเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในเอเชียคือจีนและอินเดีย ส่วนเบอร์ 3 ที่มาแรงมากและเป็นตัวจริงเสียงจริงคือไทย เพราะฉะนั้นตลาดทองเราไม่แพ้ใคร และเป็นหน้าที่ของผู้เล่นอย่างเราที่จะสร้างสะพานเชื่อมไทยไปสู่โลก ซึ่งด้วยความสามารถของผู้ประกอบการไทยผมเชื่อว่าทำได้ เพื่อทำให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำของอาเซียน” คือคำตอบของณัฐพงศ์    ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับธันวาคม 2560  http://www.mtsgold.co.th/th/why-us/ http://www.kgieworld.co.th/…/IDR/deriverti…/derivative1.html https://ie.enterprisesg.gov.sg/…/IE-Singapore-Precious-meta… http://www.sbma.org.sg/thailands-gold-market/ https://tradingeconomics.com/thailand/gold-reserves   ภาพ : กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก