ณัฐวร สุริยสาร Filmocracy นักสร้างหนังที่อยากได้การเมืองดีไปพร้อมกับสร้างภาพยนตร์ดี ๆ สัก(หลาย)เรื่อง

ณัฐวร สุริยสาร Filmocracy นักสร้างหนังที่อยากได้การเมืองดีไปพร้อมกับสร้างภาพยนตร์ดี ๆ สัก(หลาย)เรื่อง

ณัฐวร สุริยสาร Filmocracy นักสร้างหนังที่อยากได้การเมืองดีไปพร้อมกับสร้างภาพยนตร์ดี ๆ สัก(หลาย)เรื่อง

  25 พฤศจิกายน 2563 แยกรัชโยธิน - ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของผู้คนที่ออกมาแสดงจุดยืนกันอย่างเนืองแน่นในการชุมนุมของราษฎร สิ่งที่สะดุดตา The People คือกลุ่มคนที่ชูป้าย ‘ปลดแอกภาพยนตร์ #FILMOCRACY ’ พร้อมทั้งป้ายผ้าสำหรับให้คนที่เดินผ่านไปมาสามารถเขียนว่า ‘อยากเห็นอะไรในหนังไทย’ ได้อย่างเสรี ความน่าสนใจของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Filmocracy ทำให้เราชักชวน ณัฐวร สุริยสาร หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการปลดแอกภาพยนตร์มาคุยกันถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างภาพยนตร์กับม็อบ “Filmocracy เกิดมาจากเราเป็นคนเรียนหนังที่เพิ่งจบมาหมาด ๆ พอจบมาแล้วเราก็อาจไม่ได้มีที่ทางมากพอที่จะทำหนังได้ แต่เราก็ยังมีไฟที่จะทำหนังอยู่ แล้วพอมันมีม็อบ เรากับเพื่อนก็คุยกันว่าอยากทำภาพยนตร์ที่มันตอบโจทย์อุดมการณ์ประชาธิปไตยให้คนทั่วไปดูเข้าใจ เราอยากใช้วิชาชีพที่เราเรียนมาในการขับเคลื่อนสังคม แต่นอกจากการทำหนังเพื่อประชาธิปไตยแล้ว เราอยากเล่าถึงคุณค่าของภาพยนตร์ด้วย” ณัฐวรเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของ Filmocracy ให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า พวกเขาคือกลุ่มเด็กฟิล์มจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศที่มารวมตัวกันด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยผสานรวมกับความคับแค้นใจของคนทำหนังรายย่อยที่ไม่ค่อยจะมีที่ทางสำหรับแสดงความสามารถสักเท่าไร “เราเห็นความไม่ยุติธรรมในวงการหนังมาทั้งชีวิต” นี่คือคำที่ณัฐวร นักศึกษาภาพยนตร์วัย 23 ปี ที่เพิ่งเรียนจบมาเปิดโปรดักชันเฮาส์หมาด ๆ เมื่อกลางปีบอกกับเรา เมื่อถามถึงความคับแค้นใจในวงการหนัง ณัฐวรไล่เรียงให้เราฟังว่า “หนังมันเป็นอะไรมากกว่าที่เราเห็นกันอยู่ในทุก ๆ วัน หนังเป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์ของทั้งเราและฝั่งตรงข้าม หนังมันคือความเป็นไปได้ มันเป็นอะไรได้มากมาย แต่ว่าสิ่งที่หนังมันเป็นและตอบสนองได้กลับไม่ได้รับการตอบแทนเท่าที่ควร มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่เราต้องเรียกร้องให้คนทำหนังได้มีที่ทาง คือคนทำหนังไม่ได้ถูกนับเป็นอาชีพในระบบประกันสังคมหรือสวัสดิการรัฐ เราอยู่ในอาชีพรับจ้างอิสระ รับจ้างทำสื่อ แต่ว่าอาชีพคนทำหนังไม่มี มันก็เลยยากต่อการจัดระบบ ปัญหานายทุนกินรวบ เส้นสายก็เลยอยู่คู่กับวงการหนังบ้านเรามาอย่างยาวนาน”  เพราะภาพยนตร์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอากาศ ‘เงิน’ คือสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทำหนังให้ยังคงอยู่ได้ นอกจากนี้ณัฐวรยังได้บอกเราต่อไปถึงปัญหาในภาพใหญ่ที่อาจทำให้หลาย ๆ คนเห็นความทุลักทุเลของวงการหนังไทยมากขึ้น “หนังไทยจะมีเรื่องการเซนเซอร์โดยรัฐที่หนักมาก ๆ เพราะรัฐเห็นหนังเป็นแค่เครื่องมือที่รับใช้อุดมการณ์ของเขา เขาเลยไม่ซัพพอร์ตและกีดกันหนังที่ไม่ตอบสนองต่ออุดมการณ์ของรัฐ ทั้งหนังที่พูดถึงประเด็นสังคม พูดถึงปัญหามากกว่าที่จะเชิดชูคุณค่าบางอย่าง หนังที่พูดถึงคนชายขอบ LGBTQ หรือปัญหาที่รัฐพยายามไม่ให้คนมองเห็นผ่านสื่อ อันนี้คือกลไกสูงสุดที่กดทับเราลงมาจากบนลงล่างที่เราอยากให้มันเปลี่ยน” เมื่อถามณัฐวรว่าเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมไหม “เห็นด้วยทุกประการ” คือคำตอบ “ถ้าข้อเรียกร้องของการชุมนุมมันสำเร็จ มันเป็นจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกคือคนจะเห็นคนเท่ากันมากขึ้น การที่คนเห็นคนเท่ากันมันก็จะทำให้คนคิดกับคนทำหนังหรืออาชีพอื่น ๆ ว่า เขาก็เป็นคนเหมือนกัน เขาทำงานหนัก เราก็ต้องให้คุณค่าเท่าที่เขาสามารถทำได้ อีกอย่างพอเราเห็นว่าคนเท่ากัน เราก็จะเห็นความหลากหลาย ว่ามันก็มีคนแบบนี้อยู่ มี LGBTQ มีชาวเขา มีชาวประมง มีคนใต้ คนเหนือ คนอีสาน มีพุทธ มีมุสลิม มีคนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม ทุกคนมีตัวตน มีเรื่องราว มีปัญหาหมด สายตาเราจะเห็นทุกอย่าง แล้วเราก็จะไม่ติดกับดักของการเป็นไทย ที่ว่าเราทุกคนที่เป็นแบบนี้คือคนไทย ทุกคนนอกจากนี้จะไม่ใช่คนไทย อันนั้นไม่ใช่การเห็นคนเท่ากัน พอเห็นคนเท่ากันมันจะเห็นโลกในอีกมิติ แล้วอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราคาดหวังไว้ว่าถ้าการเมืองดี ถ้ามีสิทธิเสรีภาพ ทุกอย่างมันจะตามมาเอง จะช้าจะเร็วมันก็จะมี” จะเห็นได้ว่า ประเด็นหนึ่งที่ณัฐวรรู้สึกอยากหยิบมาเล่าผ่านภาพยนตร์อยู่เสมอคือ คนชายขอบ เมื่อเราถามว่าทำไม ณัฐวรบอกว่าเพราะเขาก็เป็นคนชายขอบเหมือนกัน พ่อแม่ของณัฐวรเป็นคนขายอาหารทะเลตามตลาดนัดในจังหวัดเชียงใหม่ ณัฐวรเล่าว่าพ่อและแม่ของเขาทำงานหนักมาก ทุก ๆ วันที่พวกเขาจะขับรถขนอาหารทะเลไปขายตามอำเภอต่าง ๆ หลายครั้งณัฐวรก็มีโอกาสติดรถไปด้วย และจุดนั้นเองที่ทำให้เขาเริ่มซึมซับถึงความหลากหลายทั้งด้านฐานะและชาติพันธุ์ของมนุษย์ รวมถึงรับรู้ถึงความ ‘ชายขอบ’ ที่มักไม่ถูกเล่าในสังคมที่ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ “เราเองก็เป็นคนชายขอบคนหนึ่ง บ้านเราผ่านจุดที่ล้มละลายจนต้องมาเร่ขายของ ยังดีที่เขายังสามารถส่งเราเรียนได้จนจบ สิ่งที่เราเจอมามันทำให้เราเข้าใจและอยากถ่ายทอดเรื่องราวถึงคนชายขอบในบ้านของตัวเองคือจังหวัดเชียงใหม่” ถ้าการเมืองดี หนังจะมีพื้นที่ให้คนที่ไม่ถูกเล่าในสังคม “เราโตมาในอำเภอที่อยู่กลางหุบเขา ความเจริญแทบจะเข้าไม่ถึง ที่เราเป็นแบบนี้ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะการได้ดูหนัง หนังทำให้เราฝันอยากจะเอาปัญหาที่อยู่ในหมู่บ้านเราออกมาเล่า การอยากเล่าถึงคนชายขอบมันก็เกิดมาจากคนที่เรานับถือคนหนึ่ง เขาก็เป็นคนในวงการภาพยนตร์เหมือนกัน เราและเขารู้สึกตรงกันว่าการที่คนชายขอบถูกจำกัดสิทธิโดยรัฐมันเป็นปัญหา ความหลากหลายมันต้องมี คนไม่ได้มีแค่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เงินเดือนหมื่นห้า คนรวยที่เดินห้างฯ หรือคนที่มีทรัพย์สินเกินหนึ่งพันล้าน มันยังมีคนที่เราอาจจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ไม่น่าสนใจ คนพวกนี้เราไม่อยากเห็นเขา แต่ชีวิตเขามันก็มีความน่าสนใจแบบที่เขาเป็น และเรื่องราวของพวกเขาก็ควรถูกเล่าเหมือนกัน การเมืองคือเรื่องเดียวกับศิลปะ ณัฐวรบอกเราว่าศิลปะและ ‘หอศิลป์’ ควรมีอยู่อย่างทั่วถึงทั้งในเมืองกรุงและต่างจังหวัด “มันอาจจะเป็นความต้องการที่คนเมืองไปเห็นปัญหาแล้วพูดแทนว่าคนต่างจังหวัดอยากได้หอศิลป์ เขาอาจจะไม่อยากได้ เขาอาจจะบอกว่าแค่ต้องการให้ข้าวที่ขายได้ราคาดี ต้องการให้ผลิตผลได้คุณภาพดี หรือบางคนอาจจะบอกว่าอยากไปดูคอนเสิร์ตทุกวัน อยากทำอะไรที่คนกรุงเทพฯ เขาทำกัน มันก็แตกต่างกันไป แต่เราเห็นว่าหอศิลป์มันจำเป็น เพราะศิลปะมันเป็นตัวแทนของคนอีกหลาย ๆ คน แล้วพอมันมีหอศิลป์ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะและมนุษย์จะมารวมกันตรงนั้น พอคนที่อยู่ที่นั่นเขาได้เห็นศิลปะ มันก็เป็นความหลากหลาย ต่อให้เขาอาจจะไม่ได้ต้องการมันก็ตาม แต่เขาก็จะได้เห็นและได้เข้าใจชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ ชีวิตที่ศิลปะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ชีวิตที่ต้องการแค่สายลมและแสงแดด ชีวิตที่ต้องการแค่ใครสักคน ชีวิตแบบต่าง ๆ อีกมากมายที่ศิลปะมันพูดแทน แล้วใครที่ได้เห็นก็จะเรียนรู้สิ่งนั้นแม้จะไม่ได้ต้องการมันมากมายก็ตาม แต่มันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เขา มันไม่จำเป็นว่าเขาต้องเลือกแบบนั้นแบบนี้ แต่เขาต้องมีทางเลือก” ณัฐวรกล่าวปิดท้ายว่าวันนี้เป็นวันแรกที่เขามาชุมนุมในนาม Filmocracy แต่ก่อนหน้านี้เขาก็มาร่วมชุมนุมทุกวันอยู่แล้ว พร้อมทั้งย้ำว่า “เราอยากเห็นการเมืองไทยดีขึ้นไปพร้อม ๆ กับคุณค่าของภาพยนตร์ที่ถูกยอมรับ”   เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ