ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา

ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา

จากไอเดียแรกที่อยากเปลี่ยนที่ดินเล็ก ๆ ไม่กี่ไร่ ให้เป็นสนามแข่งรถมอเตอร์ไซค์ขนาดย่อม จนกลายเป็นสนามแข่งขัน MotoGP ระดับโลก ด้วยพื้นที่มากกว่า 1,200 ไร่ ซึ่งคีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้ความฝันนี้กลายเป็นจริงคือชายหนุ่มที่ในวันนั้นอายุแค่ 27 ที่ชื่อ “ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์”

ก่อนได้รับตำแหน่งคีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังรายการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ระดับโลกอย่าง MotoGP น้อยคนที่จะรู้ว่า โอ๊ต-ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ กรรมการผู้อำนวยการ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เคยใช้ชีวิตโชกโชนผาดโผนมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขับมอเตอร์ไซค์รอบอเมริกาคนเดียว จนรถเสียบนเส้นทางระหว่างเมืองสาย 66 หรือรูท 66 จนต้องลงมือซ่อมเองเพราะแทบไม่มีรถผ่านมาเลยสักคัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาส่วนมีสำคัญให้คนรุ่นใหม่อย่างเขา ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลโครงการสนามแข่งรถระดับโลกมูลค่ามากกว่าพันล้านบาท ตั้งแต่ไอเดียเริ่มต้นไปจนจบโครงการ ทั้งที่ตอนนั้นเขายังมีอายุเพียง 20 กว่า และแทบไม่มีประสบการณ์ในวงการแข่งรถมาก่อน The People ชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษกับบุรีรัมย์เลือดใหม่คนนี้ เพื่อหาว่าอะไรคือแรงผลักดันให้เขากล้าทำงานใหญ่ที่ผู้ใหญ่หลายคนยังมองว่าเป็นไปไม่ได้ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา The People : ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนบุรีรัมย์ ตนัยศิริ : หลาย ๆ คนมองว่าคนรุ่นใหม่ยังไม่เคยผ่านงานใหญ่ ๆ มาก่อน แต่ผมมองว่าคนรุ่นใหม่มีความกระหาย ตื่นเต้น สนุกกับการเรียนรู้ ได้เจอสิ่งใหม่ อยากสร้างผลงาน อะไรอย่างนี้ และยังเหลือเวลาในการทำงานอีกเยอะ เลยมีแรงขับที่จะทำอะไรอย่างนี้มากกว่า ผู้ใหญ่อาจจะผ่านอะไรมาเยอะจนเริ่มอิ่มตัว อีกอย่างการสร้างสนามแข่งรถสเกลนี้ในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครเคยทำ แล้วจะเอาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ตรงนี้มาจากที่ไหน ผมเลยมองว่ามันคือโอกาสที่จะให้คนรุ่นใหม่มาเริ่มต้นทำ พอดีกับได้รับโอกาสเข้ามาทำ ซึ่งโอกาสนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เราต้องคว้าและลองลุยทำมัน เริ่มต้นจากหาดีไซเนอร์ คือ แฮร์มัน ทิลเคอ (Herman Tilke) เขาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านนี้มาช่วยออกแบบ ก่อสร้างสองปี เปิดมาเจ็ดปีแล้วเราก็พยายามจะแตกกิจกรรมต่าง ๆ โฟกัสว่าพื้นที่พันกว่าไร่นี้ให้มากกว่าแค่ใช้จัดมอเตอร์สปอร์ต อย่างเช่น งานกัญชา เรื่องวิ่งด้วย งานปั่นจักรยานเอามาจัดที่นี่ได้หมด The People : เริ่มจากการคิดใหญ่มาก่อนเลยไหม ตนัยศิริ : วันแรกที่เราคุยกัน มันเกิดจากไอเดียเล็ก ๆ ที่มีคนมาเสนอขายที่ประมาณยี่สิบไร่ในราคาถูก ประมาณไร่ละหนึ่งแสน ก่อนหน้าจะมีสนามนี้ที่ดินแถวนี้ราคาถูกมากครับ หลักแสนหมด ไร่ละสองสามแสน ตอนนี้ไปหลักสิบล้านหมด เนื่องจากพวกเราขี่มอเตอร์ไซค์กันบ่อยมาก อย่างคุณเนวิน (เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) เวลามีแข่งฟุตบอลจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเชียร์ตามจังหวัดต่าง ๆ ผมก็มีโอกาสได้ไปด้วย ตอนได้ที่ยี่สิบไร่ตรงนั้นมาเราอยากหาอะไรที่ตื่นเต้นทำ คุณเนวินก็เรียกผมไปคุยว่า ‘โอ๊ต อาอยากทำสนามทางฝุ่นแล้ว ลองไปคิดเล่น ๆ ดีไซน์ดูว่าจะทำอย่างไร’ คำว่า ขับเล่น ๆ ตอนนี้กลายเป็นสนามที่แข่ง MotoGP ไปแล้ว เพราะตอนนั้นเราคิดว่าถ้าเราจะขับเล่น ๆ ทำไมเราไม่พัฒนาให้ใช้แข่งได้ด้วยเลย ช่วงนั้นบุรีรัมย์ยังเงียบมาก ถ้าเย็นวันเสาร์ไม่มีฟุตบอลจะเงียบมาก เราเลยคิดว่าถ้ามีอะไรสนุก ๆ เกิดขึ้นในเมืองอีกมันก็น่าจะดี เลยกลายมาเป็นสนามแข่งรถ ซึ่งถ้าทำแล้วต้องจริงจังใช้แข่งได้จริง ๆ เลยต้องมีคำว่าสแตนดาร์ด ต้องได้มาตรฐานอย่างสนามฟุตบอล แล้วคำว่ามาตรฐานมันอยู่ที่ตรงไหน ทีนี้เราก็เริ่มคุย เริ่มศึกษา จากที่ดินยี่สิบไร่กลายเป็นพื้นที่พันสองร้อยไร่ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา พอเริ่มจากทำสนามแข่งให้ได้มาตรฐาน เรามาศึกษาดูว่าประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง ก็พบว่าสนามในเมืองไทยยังไม่มีใบรับรองอะไรเลย ไม่มีแม้แต่เลเวลต่ำสุด เราเลยมาคิดว่าถ้าเราจะทำ จะระดับไหน ตามสไตล์คุณเนวินก็คือทำทะลุมิติไปเลย เราเลยตัดสินใจว่าจะทำ FIA Grade 1 คือแข่งฟอร์มูล่าวันได้ และ FIM Grade AFIM A คือแข่ง MotoGP ได้ วันที่สร้างมีเป้าหมายชัดเจนว่า อยากให้ MotoGP เกิดขึ้นที่ประเทศไทย เราเลยเลือกเกรดเอ จนในที่สุด MotoGP ก็เกิดขึ้นจริงในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตามโรดแมปที่วางเอาไว้ ไม่ใช่อย่างที่หลายคนชอบคิดว่าเราทำเอามัน จริง ๆ ทั้งหมดผ่านการคิดอย่างละเอียดมาก่อน ผมถูกมอบหมายส่งไปดูงานสนามต่างประเทศ แล้วนำกลับมาประยุกต์ เพราะสนามทุกสนามทั่วโลก มีวิธีการจัดการที่ต่างกัน มีวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่างกัน สภาพอากาศก็ไม่เหมือนกัน จะบอกว่ากีฬามอเตอร์สปอร์ตที่ญี่ปุ่นโตมาก ให้ไปก็อปปี้มาเลยก็ไม่ได้ ที่ประเทศสเปน หรืออเมริกาก็โต จะไปยกมาทั้งหมดก็ไม่ได้ ทุกอย่างมันต้อง customize นำมาปรับใหม่หมด แล้ว tailor made เรื่อย ๆ จนมาเป็นอย่างที่เห็น ตอนนี้ผมกล้าพูดว่าสนามนี้เป็นสนามที่มีตารางการใช้งานแน่นที่สุดในโลก ถ้าเป็นปีนี้จะหาตารางว่างเสาร์อาทิตย์ไม่มีเลย มีลูกค้าจองไว้จนถึงปี 2020 ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา ในปีแรกที่ประเทศไทยมีสนามนี้ อีเวนท์ทั่วเอเชียมาทั้งหมดทันที เพราะเซอร์กิตที่ตั้งอยู่ในเมืองร้อนมีโอกาสค่อนข้างดีกว่าทางยุโรป ที่พอเข้าหน้าหนาวหิมะตกจบเลย ไม่สามารถใช้แข่งได้ ในเอเชียที่พอแข่งได้คือสนามที่ญี่ปุ่น แต่ก็เจอปัญหาเรื่องหิมะเหมือนกัน ที่ใกล้เคียงคือสนามเซปัง แต่เซปังเป็นสนามของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเขามีโมเดลสร้างสนามแล้วเอาอีเวนท์ระดับโลกมาลง สร้างชื่อให้กับประเทศ สร้างความน่าเชื่อถือ เขาใช้งบโฆษณาปีละครั้งจบ มีแข่งฟอร์มูล่าวันปีละครั้งพอแล้ว แต่ที่นี่เป็นสนามเอกชน เราต้องทำให้ธุรกิจมันเดินได้ด้วยตัวเอง ผมเองตอนแรก ๆ ไม่ได้คิดในมิตินี้เลย วันแรกที่ทำสนามยังมีแค่โรงแรม Amari แต่หลังจากมีอีเวนท์ใหญ่ ๆ คนมาชมการแข่งเยอะ ๆ พวกนักลงทุนในเมืองหรือนักลงทุนจากนอกพื้นที่ก็เริ่มเห็นว่ามันมีโอกาสทางธุรกิจ ทุกคนก็เริ่มสร้างโรงแรมขึ้นมา พอมีโรงแรมสนามก็เริ่มไปได้เพราะว่าคนจะเดินทางมา พอเรามีอีเวนท์บ่อย ๆ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองก็เริ่มดีขึ้น นักลงทุนก็กล้าที่จะลงทุน แต่ก่อนเที่ยวบินมาบุรีรัมย์มีสองวันครั้ง เดี๋ยวนี้มีวันละห้าไฟลต์ แล้วการแข่งรถในแต่ละครั้งคนดูเดินทางมาดูหนึ่งวันต้องค้างคืน ส่วนใหญ่มาถึงบุรีรัมย์แล้วจะค้างสักสองคืน บางคนมากกว่านั้น ทีมนักแข่งไม่ต้องพูดเลยพักอยู่นานกว่าเจ็ดวัน ทีมเซตอัพอีกสองอาทิตย์ MotoGP เฉพาะทีมต่างชาติก็เกือบ 3,000 คน เม็ดเงินก็กระจายไปกับการเติบโตของเมือง ตอนนี้ที่นีjคนเริ่มกล้าที่จะมาลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักลงทุนจากฝรั่งเศสมีแผนทำตู้คอนเทนเนอร์เป็นโรงแรมติดสนามให้คนมองเห็นได้ สนามนี้ยังช่วยให้กีฬามอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยโตขึ้น พอวงการโตขึ้นนักแข่งก็กลับมาแข่งที่สนามเรา พอโมเดลของเราไปได้ดี ประเทศรอบบ้านก็เริ่มเห็น ก็อยากลงทุนแบบนี้บ้าง มันช่วยทำให้ธุรกิจเราไปได้ แล้วเมืองก็โตไปพร้อมกัน The People : มีการดูแลสนามอย่างไร ตนัยศิริ : สนามเราใช้แข่งขันอยู่ตลอด ถ้าแข่งวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ อย่างน้อยวันพุธ ก็ต้องเข้ามาเซตอัพแล้ว เราก็เริ่มได้ค่าเช่าตั้งแต่วันนั้น แข่งเสร็จรื้อถอนวันจันทร์ก็ได้อีก การบำรุงรักษาเราต้องทำตลอด เพราะสนามมันไม่ได้เหมือนบ้านที่กลางคืนเรานอน ตื่นมาก็ถูพื้นนิดหน่อย พื้นสนามมันต้องทำความสะอาดมาก ไม่ให้มีขยะเลย ใช้รถแปรงปัดฝุ่น เอาน้ำล้าง เพราะถ้ามีพวกฝุ่นทรายพื้นจะลื่นใช้แข่งขันไม่ได้เลย เรามีการเดินเท้าไล่เป่าไม่ให้มีฝุjน เพราะมอเตอร์ไซค์ หน้ายางจะแคบ เวลาเลี้ยวกริปมันต้องสูงมากเพื่อให้เกาะถนน เรื่องบำรุงรักษาเลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา การตรวจความพร้อมสำหรับแข่งมอเตอร์ไซค์ FIM เขาจะเรียกว่า homologation ทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง ปีที่แล้วเปลี่ยนกฎใหม่ เป็นทุกครั้งก่อนการแข่งขันชิงแชมป์โลก เพื่อให้มั่นใจว่าเตรียมสนามให้พร้อมจนถึงวันที่แข่งขัน สำหรับสนามเราไม่กังวลกับกฎที่ปรับใหม่ เพราะใช้แข่งขันบ่อยมีการดูแลรักษาสนามอยู่ตลอดเวลา ที่อื่นอาจไม่เท่านี้ The People : สนามนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความรับรู้ต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้อย่างไร ตนัยศิริ : MotoGP ที่ประเทศไทยมีโมเดลที่ต่างจากประเทศอื่น ๆ คือ MotoGP ที่ประเทศอื่นเป็นเจ้าภาพจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อให้อีเวนท์ระดับโลกได้มาจัดขึ้นที่ประเทศเขา อย่างเช่นค่าสิทธิ 300 ล้านบาท รัฐบาลลงทุน 100 ล้าน ที่เหลือเป็นส่วนของเอกชน แต่ของเราลงทุนเองค่าสิทธิ 300 ล้านบาท operation อีก 100 ล้านบาท รวมกันก็ประมาณ 400 ล้านบาท ถามว่าขาดทุนไหม ไม่ต้องพูดถึงเข้าเนื้อเยอะ (หัวเราะ) เรื่องการหารายได้จากสปอนเซอร์นี่เราอาจ cover ทั้งหมด แต่ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วน operation ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้อีเวนท์พังได้ เลยต้องควักเงินเองเดินหน้าลุยกันต่อไป แต่อีเวนท์ในครั้งนี้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬามีการประเมินว่า ช่วงแข่งขันมีการสร้างรายได้รวมเฉพาะที่จังหวัดบุรีรัมย์กว่า 3,000 ล้านบาท ไม่รวมภาพลักษณ์ของประเทศไทยนะ ที่ได้นักแข่งรถระดับโลกหลายคนมาช่วยประชาสัมพันธ์ให้กรุงเทพฯ เพราะทีมงานพักที่กรุงเทพฯ ก่อนอย่างน้อยหนึ่งวัน มาร์ค มาร์เกวซ (Marc Marquez) แข่งเสร็จไปภูเก็ต ไปเชียงใหม่ นักแข่งแต่ละคนมีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ทั้ง Facebook, Twitter ฆอร์เก ลอเรนโซ (Jorge Lorenzo) ไปเที่ยวถนนข้าวสารโพสต์รูป ‘I love Khaosan Road’ เราจะไปบังคับนักแข่งให้บินมาถ่ายรูปให้ใครจะไปทำให้  การที่คนจะโพสต์อะไร คนดูออกว่าเรารักมัน ถ้าถูกจ้างด้วยเงินมันก็อีกอารมณ์หนึ่ง คือ นักแข่งแต่ละคนแฟนคลับเขาคือแฟนพันธุ์แท้ เขาบอกดีคนก็เชื่อว่าดี มันเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเรื่องการท่องเที่ยวไปด้วย อีกมิติหนึ่งการที่เราสามารถเป็นเจ้าภาพอีเวนท์ระดับ MotoGP ได้ เป็นการบอกให้ทั้งโลกรู้ว่าศักยภาพเราพร้อมแค่ไหน ในการรองรับอีเวนท์ขนาดนี้ ปีที่แล้วเราจัดเดือนตุลาคม พอปลายปีผมได้รางวัล MotoGP Grand Prix of the year 2018 ก็คือสนาม MotoGP ที่ดีที่สุดในโลกในเรื่องการจัดการทั้งหมด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่สนามที่จัดแข่งขันครั้งแรกแล้วได้รางวัลนี้ มันช่วยตอกย้ำว่าศักยภาพของบุรีรัมย์รวมทั้งคนไทยอยู่ในระดับที่สูง ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา สิ่งที่ตามมาคือการลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เราเป็น OEM อยู่แล้ว ช่วงมีการแข่งขันอีเวนท์ใหญ่ ๆ ผมอยากจัดเป็นฟอรัมงานสัมมนา เชิญทีมแข่งระดับโลก และนักแข่งระดับโลก sponsor, developer, organizer ที่มาอยู่ที่นี่ทั้งหมด ให้มาช่วยกันแชร์ไอเดีย โยนความคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ถ้าจัดได้ที่ประเทศไทย ก็เอาโรงงานในประเทศไทย ที่มี OEM พร้อมจะผลิตโช้คอัพ ช่วงล่าง ท่อไอเสีย อะไรทุกอย่างมาเจอกับแบรนด์ เจอกับ sponsor ผมว่ามูลค่ามันมหาศาล แต่เอาเข้าจริง MotoGP ที่ผ่านมาเหนื่อยมาก เหมือนเป็นการบูรณาการระหว่างเอกชนกับรัฐ ผมไม่รู้ว่าจังหวัดอื่นเป็นอย่างไร แต่ที่นี่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีเอกชนเข้าไปช่วย ทหาร ตำรวจมาหมด กำลังตรงไหนใครมีมาช่วย มีสิ่งของส่งมาช่วย ใช้จิตอาสาด้วย ผมเป็นผู้บริหารคืนก่อนแข่งผมยังต้องลงไปช่วยยกรั้วเองเลย ผมคิดว่าการเป็นผู้บริหารไม่ใช่ไม่ลงมือทำอะไรเลย ผมชอบพูดเสมอว่าผมก็เป็นแรงงานคนหนึ่ง เราทำอะไรก็ได้เพื่อให้งานเสร็จ อย่างคุณเนวินเวลามีงานก็ขี่มอเตอร์ไซค์สั่งงานนู้นนี้ แล้วจะให้ผมนั่งกอดอกในออฟฟิศก็คงไม่ใช่ ที่นี่วัฒนธรรมมันสบาย ๆ แต่ก็ต้องเร็ว ต้องปรับตัวให้ทัน The People : สรุปบทเรียนจากปีแรก ตนัยศิริ : วันที่เราแถลงข่าว grand stand ยี่สิบนาทีบัตรขายหมดเกลี้ยง side stand ตอนนี้ยังพอมีบัตรเหลือแต่ก็กำลังจะหมดตาม สุดท้ายถ้าซื้อบัตร side stand ไม่ได้ เรามีบัตรที่เรียกว่า admission ticket เป็นบัตรเข้างาน ไม่มีที่นั่ง มาเดินดูพวกร้านค้า ดูเฟสติวัลที่จัด ในช่วง MotoGP งานใหญ่แน่นอนคอมอเตอร์สปอร์ตที่มา จะได้เจอแบรนด์ทุกแบรนด์ในประเทศไทย ซึ่งเขาเหมือนมาแล้วอยากขาย ทุกคนดัมพ์ราคาใส่กัน ผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้ซื้อของดีมีส่วนลดมีโปรโมชันพิเศษ มาแล้วคุ้มแน่นอน ผมคิดบนหลักการว่า ถ้าจัดแข่ง MotoGP อย่างเดียว กลุ่มแฟน MotoGP มาแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับบางคนที่เป็นแฟนมอเตอร์สปอร์ตเฉย ๆ อาจตามกระแสมาบ้าง แต่ถ้ามีของแต่งขาย มีอะไหล่ราคาถูก มีหมวกกันน็อกลดราคา มีชุดหนังสวย ๆ คนรักรถชอบความเร็วน่าจะอยากมาทุกคน ปีที่แล้วเราขาย admission สามร้อยบาท ซึ่งถูกมาก เทียบกับค่าใช้จ่ายที่เราลงทุนไป วันศุกร์มีจัดแข่งมวย วันเสาร์มีงานคอนเสิร์ต มี BNK48 สามร้อยบาทมันน้อยมาก แต่สิ่งที่เราทำคือให้คนทั่วไปเข้ามาแล้วรู้ว่า MotoGP คืองานอะไร ในงานมีอะไรบ้าง ทำให้ในปีที่สองเปิดขายบัตรแล้วหมดทันที เพราะคนรู้แล้วว่าถ้ามาแล้วไม่ได้ดูการแข่งรถด้วยมันถือว่าน่าเสียดาย เลยต้องมีที่นั่งก่อน ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา เหมือนตอนจัดงานพันธุ์บุรีรัมย์ ที่มีทั้งสัมมนาวิชาการ และนันทนาการด้วย สัมมนาวิชาการโอเคว่ากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ก็ยังมีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการที่เชื่อว่ามีจำนวนเยอะเหมือนกัน ซึ่งพอกลุ่มนี้ได้เข้ามาในพื้นที่งาน จากเดิมไม่เคยคิดว่ากัญชาเป็นยาก็จะได้ความรู้กลับไป ถ้าได้เข้าไปดูจะเห็นว่ากลางวันช่วงเช้าผู้ใหญ่จะมางาน ตกเย็นเป็นวัยรุ่นที่จะมาภาคเอนเตอร์เทน จะมาหาเสื้อผ้า มาช้อปปิ้ง ถ้าวัยรุ่นได้มาช่วงวิชาการด้วยก็เป็นการถ่ายทอด เปิดโลกไปพร้อมกัน ถ้าบอกให้เด็กไปเรียนคณิตศาสตร์เด็กจะไม่อยากไป มันเลยมีกุศโลบายในการสอนแบบอื่นที่ง่ายกว่า แล้วให้เขาได้เห็นด้วยว่ากัญชาไม่ใช่ใช้สูบเมากันอย่างเดียว มันสามารถเป็นธุรกิจได้ ปลูกขายยังได้เลยถ้ากฎหมายมันถูกต้อง ถ้ากฎหมายมันเปิดช่อง เป็น personal use ไป ส่วนตัวผมเองอยากให้เปิดเสรี เพราะมีประโยชน์ทางการแพทย์มหาศาล ถ้ามองไปถึงการนันทนาการผมคิดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากตรงนี้มหาศาล ถ้าสามารถเป็นฮับของการท่องเที่ยวได้เหมือนอัมสเตอร์ดัม ตอนไปตระเวนดูสนาม MotoGP ผมได้ไปนอนที่อัมสเตอร์ดัม คืนวันศุกร์เสาร์คนมาเต็มเลยเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนที่กัญชาในยุโรปยังไม่ถูกกฎหมาย พอช่วงหยุด คนทั่วยุโรปทั้ง เยอรมัน ฝรั่งเศส แห่กันเดินทางมาที่อัมสเตอร์ดัม เพราะที่นี่มันถูกกฎหมาย พอจบก็แยกย้ายกลับ อาชญากรรมก็ไม่มี ผมว่าถ้าประเทศไทยเราทำให้ถูกกฎหมายได้ก่อนคนอื่น จะช่วยต่อยอดกับการท่องเที่ยวได้ ถ้าภาคเอนเตอร์เทนเมนต์เราไปได้ กระบี่ ภูเก็ต พัทยา จะตามมามากมายมหาศาล ผมว่าเราทำได้หมด แต่ต้องมีกฎควบคุมเคร่งครัด ผมไม่เห็นด้วยถ้าจะเปิดฟรีให้ใครก็ได้ซื้อเป็นกิโล หรือให้เด็กซื้อได้ ต้องมีการจำกัดควบคุมปริมาณที่เหมาะสม The People : สิ่งที่เรียนรู้จากปีแรก ตนัยศิริ : อยากแรกก็เป็นเรื่องอาหาร จากเรื่องเล็ก ๆ อาหารการกินภายในงาน เราจัดงานมอเตอร์สปอร์ตมาเยอะมาก แต่ยังไม่เคยเจอใหญ่สเกลระดับ MotoGP สิ่งที่เราเจอก็คืออาหารไม่พอในเรื่องวันงาน ปีนี้อาหารเราต้องเตรียมไว้เยอะมาก เรื่องการเตรียมตัว ปีที่แล้วเราวางเรื่องรถแต่งที่เป็นสีสัน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือย แต่เป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมได้รางวัล MotoGP Grand Prix of the year 2018 เรื่องที่จอดรถ การระบายคน ลองคิดดูว่าทุกคนเอารถเข้ามาจอด คนหลักแสนใช้เวลาเท่าไหร่ในการเคลียร์คนออก เรื่องโรงแรมที่พักก็สำคัญ เพราะทุกคนอยากเข้ามาอยู่ให้ใกล้เดินทางสะดวกที่สุด แต่ตัวเมืองบุรีรัมย์รองรับได้ไม่เพียงพอ เพราะการเติบตัวเร็วไม่ทัน  ในต่างประเทศก็ไม่สามารถรองรับได้หมดเช่นกัน เราพยายามใช้โฮมสเตย์มาช่วย แต่ปีแรกมาตรฐานยังไม่ได้ เจ้าของบ้านยังไม่เข้าใจ คนที่มาพักก็ยังไม่เชื่อใจ จะถูกขโมยของหรือเปล่า ปีนี้ผมพยายามคิดแคมเปญว่าอยากจะทำแบบ Airbnb ไม่ต้องไปสร้างที่พักเพิ่ม ให้คนบุรีรัมย์ที่ไม่อยากดู MotoGP ไม่ได้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ ในวันที่มีแข่ง MotoGP เอาบ้านที่มีอยู่ให้คนอื่นเข้าไปพัก แล้วได้เงินค่าเช่าเอาไปเที่ยวที่อื่นได้เลย อันนี้คือโมเดลที่เรากำลังกระตุ้นให้คนเห็นประโยชน์ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา The People : บุรีรัมย์มีการใช้เรื่อง sharing economy เข้ามาช่วย ตนัยศิริ : ที่นี่ก็โปรโมทเรื่อง Grab มาตลอด มันเป็นสีเทา ๆ แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้ของบุรีรัมย์เข้าใจ ต้องยอมรับว่าเรื่องระบบขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองมันจำกัด ถ้าทุกอย่างเป็นเถรตรงเป็นไม้บรรทัด มันพังทั้งระบบแน่นอน ถ้าขนส่งช่วงที่มี MotoGP ไปจับ Grab กันหมด แท็กซี่เมืองนี้มีอยู่แค่สิบกว่าคัน จะรองรับยังไงได้หมด เรื่องขนส่งมวลชนเลยเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เราพยายามทำเป็น grab and guide ให้คนในบุรีรัมย์เอารถมาบริการเหมือนรถตู้ สามวันสองคืน รับจากโรงแรมมาที่งาน พาไปเที่ยวไปร้านอาหาร มันก็จะหลากหลายมากขึ้น  The People : จุดแข็งของตัวเอง ตนัยศิริ : ผมกล้าพูดว่าผมเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง ผมเป็นคนไม่ทิ้งงาน แก้ปัญหาจนเสร็จ ไม่ใช่หกโมงแล้วกลับบ้านทันที บางวันกลับบ้านตีสาม บางทีก็ตีสี่ ผมสู้ ผมไม่ถอย อุปสรรคต่าง ๆ งานอย่างแข่งรถ กัญชา งานมาราธอน จริง ๆ มันคือเรื่องเดียวกันคือการ organize การจัดอีเวนท์ ผมทำธุรกิจส่วนตัวอย่างอื่นอยู่ด้วย รู้เลยว่าการจัดอีเวนท์เป็นอะไรที่เหนื่อยที่สุดแล้ว เหมือนเป็นการจับปูใส่กระด้ง แข่งรถทีมแข่งกี่ทีม sponsor คนดูอีก เราต้องดูแลคนหลักแสน เราต้องละเอียด ทำสบาย ๆ ชิลล์ ๆ ไม่ได้ ต้องใส่ใจ ความรับผิดชอบต้องสูง ต้องเอาใจใส่มันจริง ๆ หลุดไม่ได้เลย ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา ยกตัวอย่างการจัดแข่งรถ ถ้าลืมเรื่องเล็ก ๆ อย่างเปิดไฟในสนามช้าไปแล้วเขาเซตอัพกันไม่ได้ ก็เป็นเรื่องแล้ว รายละเอียดต้องทำกันมา ต้องสร้างระบบให้แข็งแรง เมื่อเราออกแบบไว้แล้วคนที่เอาระบบไปใช้ต่อ หลักการในการทำงานไม่ซับซ้อน ผมไม่ได้ใช้ระบบซับซ้อน ผมใช้ไลน์กรุ๊ปสั่งงาน มันง่าย ทำงานกลางแจ้ง ให้มาส่งอีเมล์ แล้ว cc กันตายพอดี บางคนว่าการใช้ไลน์ดูไม่เป็นมืออาชีพแล้ว แต่เราก็มีไลน์กรุ๊ปใหญ่ ที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน ต้องแก้ปัญหากันตลอด อย่างการลงทะเบียนเข้าฟังสัมมนาในงานพันธุ์บุรีรัมย์ เพราะมีที่นั่งจำกัด แต่หลายคนไม่รู้ขั้นตอนก็ด่าโวยวาย ถือกล้องไว้หมด เราต้องอดทนสื่อสารชี้แจง The People : พื้นฐานเป็นคนใจเย็น ตนัยศิริ : จริง ๆ พื้นฐานเป็นคนใจร้อน (หัวเราะ) แต่เรารู้ว่าบางเรื่อง มีเรื่องแวบมาเราอาจเป็นคนใจร้อน แต่ถ้ามีปัญหาที่เราต้องแก้ เราโกรธ เราอธิบายแล้ว พูดคำไม่สุภาพด้วย เราต้องใจเย็น มีการหาทางออกแก้ไขปัญหา The People : เหมือนเป็นคนที่มีประสบการณ์มานาน ตนัยศิริ : ปีนี้ผมอายุ 34 ปี ผมว่ามันประสบการณ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างจากมอเตอร์สปอร์ต วันแรกที่เริ่มก็มีคำถามคำครหาต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่สร้างสนาม มีคนตั้งคำถามมากมายว่า ไอ้เด็กอายุ 27 มันไม่เคยบริหาร ไม่เคยสร้างสนามแข่ง มันจะสร้างเสร็จได้อย่างไรวะ พวกนี้เป็นแรงขับให้เราต้องทำให้ได้ ถ้าเราทำไม่สำเร็จสิ่งที่เขาพูดมันจะกลายเป็นเรื่องจริง ถ้าเราทำสำเร็จมันจะพิสูจน์ว่าเราทำได้ บางทีมันเป็นแรงขับอย่างหนึ่ง เป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมผมต้องทำงานให้หนักกว่าชาวบ้าน เพราะได้รับมอบหมายมาแล้ว จะลังเลไม่ได้ ถ้าคิดว่าทำได้มันต้องทำได้ The People : ส่วนตัวเป็นคน relax ไหม ตนัยศิริ : จริง ๆ อยาก relax นะ ผมรู้จักกับคุณเนวินได้เพราะชอบขี่มอเตอร์ไซค์ มีโอกาสได้ขี่ด้วยกัน ถ้ามีเวลาว่างเราชอบขี่มอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ผมอยากเห็นโลกใหม่ เหมือนตอนผมอยู่อเมริกาแล้วเรียนจบใหม่ ๆ ผมบอกพ่ออยากขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบอเมริกาสามเดือน ผมขี่ไปเกือบทั่วสหรัฐ ไม่ได้ไปแค่รัฐเท็กซัส มีคนบอกว่าจะเดินทางรอบโลกต้องใช้สามอย่าง หนึ่งเงิน สองเวลา สามสุขภาพที่ดี วันนั้นเรามีสุขภาพที่ดี เวลาเรามีเพราะยังไม่เริ่มงาน เหลือแต่ตังค์ เลยขอพ่อเลย (หัวเราะ) แล้วคุณพ่อก็โอเค โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนเปิดแล้วก็ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เขาก็รู้สึกว่าให้ไปเห็นโลกเถอะ งานมันไม่หนีไปไหนหรอก กลับมาโดนหนักแน่ มันเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ผมขัี่ในอเมริกาได้เห็นแต่ละรัฐมีความแตกต่าง บ้านเรามีแค่ภาคเหนือ ใต้ อีสาน แต่เขาหลากหลายกว่ามาก มีการผสมผสานแล้วมีการเอาไปใช้ การได้เห็นโลกเป็นเรื่องที่ดีมาก อีกเรื่องที่ได้คือการอยู่กับตัวเอง ตอนที่รถไปเสียอยู่ที่เส้น 66 ต้องซ่อมเองแต่ซ่อมไม่ไหว รถแทบไม่มีผ่าน ที่ผ่านก็ไม่มีจอดรับ เลยต้องฝืนขับไปทั้งเสีย ๆ จนเจอเมืองถึงรอด ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา การทำงานที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนถือว่าได้เรียนรู้ คนที่เก่งมาก ๆ วันที่เขาเริ่มเขาก็เริ่มจากศูนย์เหมือนผมนี่แหละ แต่ใครจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า ตั้งต้นได้เร็วกว่ากัน จะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเติบโตได้เร็วแค่ไหน อยู่ที่การรดน้ำใส่ปุ๋ย คนจะเติบได้เร็วแค่ไหน อยู่ที่ความพยายาม  วันที่เริ่มต้นอายุ 27 ตอนนั้นอยากมีชีวิตเหมือนเพื่อน ๆ อยากไปเที่ยวเยอะแยะ วันนี้ก็ยังอยาก แต่ภาระหน้าที่มันค้ำอยู่ว่างานต้องมาก่อน ตัวอย่างจากคุณพ่อผม ตอนนี้ท่านอายุ 66 ก็ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวอย่างเดียวแล้ว ขี่มอเตอร์ไซค์จากกรุงเทพฯ ไปปารีสตอนหกสิบกว่า ถ้าวันที่อยู่ในวัยทำงานไม่ยอมทำงานหนักก็คงไม่มีโอกาส ผมคิดว่าเราทำในสิ่งที่เรามีแรงให้ได้เต็มที่ดีกว่า จริง ๆ ช่วงแรกที่เริ่มทำสนามผมหนักกว่านี้อีก เพราะทีมงานก็ใหม่ ผมก็ยังใหม่ เป็นธรรมดาที่เราเริ่มต้นครั้งแรกอาจใช้เวลาสิบวัน มาตอนนี้อาจจะใช้เหลือแค่วันเดียวก็ได้ ครั้งแรกก็ใช้เวลานานแบบนี้ แต่พอเป็นครั้งที่สอง เป็นปีที่สองผมก็ไม่ห่วงแล้ว สิ่งที่ทำมาตลอดคือการมี check list นั่งประชุม เอาปัญหามาตั้ง แล้วทำเป็นคู่มือ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้คิดเอง แต่ได้เรียนรู้มาการจัดแข่งรถแล้วได้คู่มือมาหนึ่งเล่ม เอาไปอ่านเลยว่าในงานจะต้องทำอะไรบ้าง พอจบงานผมก็ทำคู่มือ ทำ check list ของผมเอง The People : ตรงกับสิ่งที่เรียนไหม ตนัยศิริ : ผมจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จุฬา บริหารสื่อสาร ไปจบปริญญาโทการค้าระหว่างประเทศ จบแล้วไปทำงานก่อสร้างที่บ้าน ไม่ได้เป็นวิศวกร ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรสักอย่าง แต่ทุกวันนี้ยังช่วยงานที่บ้าน แล้วก็เป็นตัวแทนขายจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง เรารู้สีกสนุกกับมัน ไม่ได้เหนื่อยอะไร หลัง ๆ รู้สึกว่าคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนจะพูดตรงกันอย่างหนึ่งคือเรื่องการบริหารเวลา ผมว่าปัญหาที่ผมมีคือสมัยก่อนบริหารเวลาไม่ดี ไม่ได้ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็พยายามจะทำให้ดีขึ้น แต่ผมทำแบบนี้คนเดียวไม่ได้ ถ้าทุกวันนี้ผมบอกว่าถ้าต้องนอนแปดชั่วโมง มีวันหยุดสองวันต่ออาทิตย์ แล้วผมทำคนเดียว ในขณะที่ทีมงานคนอื่นทำตามไม่ได้ ผมว่ามันไม่มีประโยชน์ สุดท้ายงานกองเต็ม ผมต้องวางระบบบริษัทให้มันไปได้ ถ้าทีมผมสบายผมก็สบายไปด้วย ถ้าทีมผมมีปัญหาผมก็มีปัญหาเหมือนกัน ผมจะไปเที่ยวได้อย่างไรในเมื่องานยังเป็นแบบนี้ สงกรานต์ก็อยากหยุดอยากไปเที่ยวเหมือนคนอื่น แต่เราไม่ได้ไปเพราะเราต้องทำงาน The People : พันธุ์บุรีรัมย์ปีหน้าจะยัง 420 เหมือนเดิมไหม ตนัยศิริ : กำลังคิดมีไอเดียว่า 420 (วันที่ 20 เดือน 4) เป็นสัญลักษณ์ที่ทั่วโลกใช้กัน เราก็อยากใช้ แต่เราเห็นว่าปีนี้มันร้อนมาก มันกลายเป็นข้อเสียหรือเปล่า ต้องมาประชุมกันว่า เปลี่ยนไปจัดหน้าหนาวดีกว่าไหม พอไปจัดหน้าหนาวก็ไม่ใช่วันที่ทุกคนมารวมพลังกัน พอคนไม่มีสิ่งที่เราอยากแสดงออก อยากให้ความรู้ อยากให้ความสนุก ก็จะไม่ได้หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ต้องชั่งน้ำหนักกัน ที่นี่จะไม่ค่อยยึดติดกับอะไร ไม่ใช่ทำแบบนี้แล้วต้องเป็นแบบนี้ตลอดมันเป็นไปไม่ได้ ผมว่าคนที่ยึดติดสุดท้ายก็จะผิดหวัง อย่างบุรีรัมย์มาราธอนปีแรกกับปีที่สองจัดแล้วประสบความสำเร็จ พอปีที่สามเป็นปีที่มีเสียงตำหนิเยอะที่สุด จากจำนวนนักวิ่งที่เราเพิ่มมาเป็น 25,000 คน ปัญหาคือสถานที่ไม่พอ ปีหน้าเราวางแผนใหม่หมดไปตั้งต้นที่สนามบอลลานโล่ง ๆ แต่เพื่อรองรับคนเราต้องพัฒนาตลอด ไม่ยึดติด แต่ไม่ใช่ไปแก้ด้วยการไปลดคนเข้าแข่งมันไม่ใช่ เรามีเป้าหมายว่าเราจะต้องเป็นฟูลมาราธอนรายการแรกที่ได้ IAAF Road Race Label ให้ได้ แต่ถ้าจะได้แล้วเอาคนน้อยมันก็ไม่ใช่งานของมหาชนอย่างแท้จริง The People : บุรีรัมย์เปลี่ยนเร็วมากเลย มองว่าอีกห้าปีจะเป็นอย่างไร ตนัยศิริ : เร็วครับ ผมกลับมาบุรีรัมย์ตอนอายุ 25 ผมกลับมา 9 ปีล่ะ ถึงอยู่ที่นี่ทุกวันก็ยังรู้สึกเลยว่ามันเปลี่ยนเร็ว ผ่านไปมี hostel มีบาร์เกิดขึ้นมา มันเป็นอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดที่บุรีรัมย์ คอนโดฯ กับบุรีรัมย์ เชื่อไหมว่าจะมีผมยังไม่เชื่อเลยว่าเมืองนี่ที่ดินไม่แพงนี่นะต้องการคอนโดฯ จากที่ดินไร่หลักแสนกลายเป็นหลายล้าน จนคนต้องไปอยู่คอนโดฯ ที่อยู่แนวตั้ง เพราะราคาที่ดินต่อตารางเมตรมันเพิ่มขึ้นมาก ผมเชื่อว่าที่นี่มันถูกขับเคลื่อนด้วยอีเวนท์แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องตามมาคือภาคบริการ ในทุกแขนง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร รถยนต์ เรื่องไกด์ ซักอบรีด ทุกอย่าง มันต้องมีในทุกเซกเมนต์แล้วมันจะโตไปมากกว่านี้ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เลือดใหม่ที่พาบุรีรัมย์ไปข้างหน้า จากการขับมอเตอร์ไซค์ทั่วอเมริกา ผมอาจจะคิดเป็นรถหน่อยว่า งานอีเวนท์เราเหมือนเครื่องยนต์ มีเฟืองแกนกลางคือโรงแรม ถ้าเครื่องยนต์หมุนไม่มีเกียร์ ไม่มีล้อรถ ไม่มียาง รถก็แล่นไปข้างหน้าไม่ได้ วันนี้ถ้าเกิดมีคนเห็นแล้วว่าบุรีรัมย์มีอีเวนท์ที่ไปได้ทั้งปี อาจจะมีธุรกิจอื่นอย่างร้านกาแฟที่อยู่ในทุ่งนา แล้วคนเริ่มรู้จัก ต่อไปเขาอาจจะอยากมาร้านกาแฟแทนอีเวนท์ก็ได้ อาจอยากมาโฮมสเตย์แบบอีสานกลางนาข้าว วันนี้ผมคิดว่ามันจะยั่งยืน เมืองยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว ไม่ต้องรอฟุตบอล รอแข่งรถ บุรีรัมย์มีธรรมชาติแม้ว่าจะไม่เยอะ บางอย่างอาจเพิ่งเกิดอย่างอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ทำเป็นทางจักรยานรอบอ่างเก็บน้ำ กลายเป็นที่ท่องเที่ยวขึ้นมา บางทีคนมาดูบอล หรือมางานแข่งรถ แต่ยังแบกจักรยานมาปั่นด้วย ผมว่ามันก็ประสบความสำเร็จนะ ไม่ต้องพูดถึงเม็ดเงินจากข้างนอก คนบุรีรัมย์ก็ช่วยกันใช้ เป็นเรื่องที่ดี The People : เป้าหมายความท้าทายที่ตั้งใจ ตนัยศิริ : อยากมีอีเวนท์ที่ diversify มากกว่านี้ คือวันนี้บุรีรัมย์มีอีเวนท์แรกที่ผมรับผิดชอบที่ไม่ใช่มอเตอร์สปอร์ต คือบุรีรัมย์มาราธอน ผมเป็นคนวิ่งมาราธอนไม่ไหวนะ แค่เดินในสนามสี่กิโลกว่าก็จะแย่แล้ว แต่พอมาได้ทำผมได้เห็นได้รู้กลุ่มคนที่เป็นนักวิ่งดูแลสุขภาพเยอะ วันนี้จัดเกี่ยวกับกัญชา เราก็อยากเรียนรู้ว่ามีเซกเมนต์ไหนอีกไหมที่มันท้าทาย มันเป็นประโยชน์ที่ธุรกิจเราต้องเดินไป ปีแรกอาจเป็นปีลงทุน หลัง ๆ ค่อยกำไร ผมอยากหาอีเวนท์ที่มันเวิร์กแล้วมันเปิดเซกเมนต์ใหม่ให้เดินทางมาบุรีรัมย์ นอกจากมอเตอร์สปอร์ต ผมว่าคนมางานพันธุ์บุรีรัมย์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยมาจังหวัดนี้เลย อาจจะแค่เคยผ่าน ถ้ามีอีเวนท์ใหม่ที่ได้เพิ่มกิจกรรมให้กับสนามเราน่าจะดี ผมอยากเปิดตรงนี้ไปเรื่อย ๆ The People : LGBT ตนัยศิริ : (คิด) ก็ไม่ได้ปิดกั้นนะครับ คือยังมองไม่ออกว่ามีอะไรที่เป็น negative นะผมเรียนนิเทศมามันหลากหลายมาก ไม่มีอะไรที่เสียหายนะ มันไม่เป็นเรื่องประหลาดนะ ทุกวันนี้คนมีชื่อเสียง หรือผู้นำหลาย ๆ คนออกมายอมรับว่าเขาเป็น LGBT มันน่าสนใจ อาจจะมา develop ได้เลยนะ ที่บุรีรัมย์เราเคารพในความเท่าเทียมกัน เหมือนเสื้อฟุตบอลมันกลายเป็นสัญลักษณ์ในความเท่าเทียมกันแล้ว เสื้อบอลตัวละสี่ห้าร้อยผ้าดีใส่ได้ทุกวัน เจ้านายลูกน้องใส่เหมือนกัน เจ้านายนั่งหลังกับลูกน้องขับรถมาดูด้วยกัน งานประชุมอะไรก็ใส่เสื้อบอล การใส่เสื้อบอลที่นี่ไม่ได้เป็นเรื่องไม่สุภาพนะ บางที่ถ้าใส่เสื้อบอลไปประชุมทางการมันดูประหลาดเลยนะ แต่ที่บุรีรัมย์ใส่เสื้อบอลไปประชุมส่วนราชการได้สบาย ไม่ต้องคิดมากเลย