โอลิเวีย แจ็กสัน สตันต์ผู้เสียแขน แทน มิลลา โจโววิช ใน Resident Evil

โอลิเวีย แจ็กสัน สตันต์ผู้เสียแขน แทน มิลลา โจโววิช ใน Resident Evil
"มันเป็นอะไรที่คุณเคยได้ยินว่ามันเกิดกับคนนู้นคนนี้ แล้วคุณก็คิดว่า 'โห มันเลวร้ายมากเลยนะ' แต่คุณไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับคุณ" โอลิเวีย แจ็กสัน (Olivia Jackson) ผู้รับบทแทน มิลลา โจโววิช นางเอก Resident Evil ในฉากเสี่ยงตาย จนประสบอุบัติเหตุและเสียแขนข้างซ้ายไป กล่าวกับ ABC News แจ็กสันมีพื้นเพเดิมเป็นชาวแอฟริกาใต้ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกับสามี เธอเป็นนางแบบที่เคยมาใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยและเป็นนักมวยไทยมาก่อน เธอจึงมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการรับบทแสดงผาดโผนแทนนักแสดงหญิงมีชื่อที่ไม่ต้องการแสดงเอง และได้รับบทแสดงแทนในภาพยนตร์ทุนสร้างมหาศาลหลายเรื่อง เช่น Mad Max: Fury Road (2015) หรือ Avengers: Age of Ultron (2015) และเตรียมที่จะรับบทแสดงแทนใน Wonder Woman (2017)  ระหว่างนั้น เธอจึงตกลงรับงานแสดงแทน มิลลา โจโววิช หรือ "อลิซ" ใน Resident Evil: The Final Chapter (2016) ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เธออาจไม่ได้รับโอกาสได้ทำงานเป็นนักแสดงแทนได้อีกต่อไป    "ในวันที่ 5 กันยายน 2015 โจทก์ได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำงานอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำที่มุ่งหวังประโยชน์ทางการเงินมากกว่าความปลอดภัยของจำเลย เดิมโจทก์มีกำหนดต้องถ่ายฉากต่อสู้ในวันนั้น อย่างไรก็ดี มีการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้ายเกิดขึ้น โจทก์ถูกขอให้แสดงฉากขับขี่จักรยานยนต์ที่อันตรายและมีความซับซ้อนทางเทคนิคภายใต้สภาพอากาศที่เลวร้าย ในการถ่ายทำฉากดังกล่าว ยานยนต์ที่ติดตั้งแขนกลติดกล้องถ่ายภาพยนตร์จะวิ่งหน้าเข้าหาโจทก์ ในขณะที่โจทก์เร่งความเร็วจักรยานยนต์เข้าหากล้อง กล้องควรจะยกตัวขึ้นเหนือศีรษะของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะวิ่งไปถึงโดยปลอดภัย แต่ฉากเสี่ยงอันตรายที่วางแผนอย่างมักง่ายก็เกิดเหตุผิดพลาดอย่างเลวร้ายขึ้น “ผู้ควบคุมแขนกลไม่สามารถยกกล้องขึ้นได้ทันเวลา ผลคือ กล้องพุ่งชนโจทก์ตัดกระดูกท่อนแขน และฉีกเนื้อบริเวณแก้มของเธอออก เผยให้เห็นฟันในช่องปาก การชนรุนแรงจนทำให้กระดูกหัวไหล่ของโจทก์พลิกกลับด้าน ฉีกเส้นประสาทห้าเส้นที่เชื่อมต่อกับข้อกระดูกสันหลัง หนึ่งในอาการบาดเจ็บหายนะที่มีมากจนยากจะสรุปได้หมดในที่นี้คือ โจทก์ต้องถูกตัดแขนซ้าย และของเหลวในไขสันหลังก็ไหลออกจากช่องแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับข้อกระดูกสันหลัง โจทก์ต้องอยู่ในอาการโคมาในขณะที่แพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตของโจทก์เอาไว้" ตอนหนึ่งในคำฟ้องของแจ็กสันต่อทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ชุดนี้ระบุ  จากรายงานของ Hollywood Reporter เดิมทีการถ่ายทำในวันนั้น (ซึ่งทำการถ่ายทำกันในประเทศแอฟริกาใต้) ทางกองถ่ายวางแผนที่จะถ่ายฉากการต่อสู้ซึ่งทำการซักซ้อมกันมานานเป็นอาทิตย์ แต่สภาพอากาศไม่ดีผู้กำกับจึงเปลี่ยนแผนกะทันหันให้มาถ่ายฉากขับรถมอเตอร์ไซค์ที่ดูตื่นเต้นและเร้าใจแทน ซึ่งการซ้อม 2 ครั้ง ก่อนการถ่ายทำจริงก็เป็นไปโดยราบรื่น แต่ในการถ่ายทำจริงกลับเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้น  ฝ่ายแจ็กสันอ้างว่า ทางกองถ่ายละเลยที่จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยตามมาตรฐานจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น ทั้งไม่ยอมให้เธอใส่หมวกกันน็อก ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเรื่องความปลอดภัย ทำให้เธอไม่อาจรู้การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนในวินาทีสุดท้ายที่ส่งผลต่อความปลอดภัย และไม่ได้รับอนุญาตให้สวมเครื่องสื่อสารระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งจะทำให้เธอสามารถสื่อสารได้อย่างทันท่วงทีกับเจ้าหน้าที่ของกองถ่ายหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน หลังจากประสบเหตุร้ายแรงที่ทำให้เธอต้องอยู่ในโคมาเป็นระยะเวลานานเพื่อทำการผ่าตัดอันสลับซับซ้อนเพื่อรักษาชีวิต และต่อให้เธอพ้นอันตรายมาได้ก็ยากที่จะกลับไปทำงานเดิมได้อีก ทางฝ่ายผู้ผลิตกลับชดเชยให้กับเธอเบื้องต้นเป็นเงินเพียง 33,000 ดอลลาร์ (ตามวงเงินประกัน) เท่านั้น แต่ทางฝ่ายกฎหมายของแจ็กสันอ้างว่า เธอยังต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีกหลายครั้ง และต้องใช้เงินอีกราว 750,000 ดอลลาร์ ถึง 1,000,000 ดอลลาร์ ด้านทีมงานฝ่ายผู้ผลิต นำโดย พอล ดับเบิลยู.เอส. แอนเดอร์สัน (Paul W.S. Anderson) และ เจเรมี โบลต์ (Jeremy Bolt) สองผู้กำกับที่ทำงานด้วยกันมาอย่างยาวนานได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคำฟ้อง โดยอ้างว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลแอฟริกาใต้ ซึ่งศาลทางนั้นก็ได้รับเรื่องไว้แล้ว ศาลแคลิฟอร์เนียไม่ควรรับฟ้องเอาไว้ ตามหลักสากลที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ควรต้องรับการพิจารณาไต่สวนซ้ำซากจากหลายเขตอำนาจศาล พร้อมกล่าวหาว่า แจ็กสันเพียงต้องการประชาสัมพันธ์คดีของตัวเองในสหรัฐฯ เท่านั้น เลยต้องเอาเรื่องนี้มาฟ้องในสหรัฐฯ  ข้อกล่าวหาของทีมงานผู้ผลิตในข้อหาที่ว่า แจ็กสันฟ้องคดีเพียงเพื่อที่จะเป็นข่าวนับว่ามีน้ำหนัก เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2019 เธอก็ถอนคดีจากศาลในแคลิฟอร์เนีย แต่คดีของแจ็กสันก็ชี้ให้เห็นถึงความพยายามปัดความรับผิดชอบตามมาตรฐานกฎหมายอเมริกันของทีมงานผู้ผลิตและผู้รับผลประโยชน์ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน แต่เลือกที่จะ “จ้างช่วง” หรือเอาต์ซอร์สขั้นตอนการว่าจ้างทีมงานการถ่ายทำไปให้นอมินีในแอฟริกาใต้ (Davis Film) เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ เนื่องจากที่แอฟริกาใต้นอกจากจะให้แรงจูงใจด้านอื่น ๆ แล้ว ยังมีมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองลูกจ้างจากความเสี่ยงในการทำงานที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ  ซึ่งจากรายงานล่าสุด (พฤศจิกายน 2019) ทาง Davis Film ยอมให้เงินช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลกับแจ็กสันไปแล้ว 248,256 ดอลลาร์ แต่เงินช่วยเหลือที่เกินไปกว่านั้น พวกเขาพยายามหาทางเลี่ยงด้วยการให้ศาลในแอฟริกาใต้เป็นผู้ตัดสินต่อไป  การถ่ายทำในต่างประเทศของภาพยนตร์สหรัฐฯ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เหตุผลไม่ใช่แค่เรื่องของสถานที่ที่เหมาะสำหรับการถ่ายทำเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งหลายประเทศสร้างแรงจูงใจให้ทีมผู้ผลิตภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเข้ามาถ่ายทำในประเทศของตัวเอง ด้วยการงดเว้นภาษีต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงแรงงานราคาถูก และมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างที่ต่ำกว่าหลายประเทศในตะวันตก  แต่กับการถ่ายทำภาพยนตร์แอกชันที่มีฉากเสี่ยงตายซึ่งต้องใช้คนจริงแสดงนั้น การเลือกถ่ายทำโดยใช้ทีมงานท้องถิ่นอาจมีปัญหาหลายอย่าง (เงื่อนไขสำคัญสำหรับการลดหย่อนภาษีของประเทศต่าง ๆ มักพ่วงเรื่องการจ้างคนท้องถิ่นเอาไว้ด้วย) “คุณจำเป็นต้องใช้นักแสดงและช่างเทคนิคท้องถิ่น ซึ่งคุณก็ไม่รู้ว่าพวกเขามีประสบการณ์อะไรแค่ไหน ทีมงานจึงเป็นแค่ทีมเฉพาะหน้า” เมลิสซา สตับส์ (Melissa Stubbs) ผู้ประสานงานด้านนักแสดงเสี่ยงตายผู้มีประสบการณ์ในงานนี้มาหลายสิบปี ให้สัมภาษณ์กับ Hollywood Reporter “มันเหมือนกับการแข่งฟุตบอล แต่คุณเพิ่งจะเตรียมทีมได้วันเดียวเพื่อจะลงแข่งในนัดชิง” อุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่สามารถขึ้นได้เสมอ ไม่แต่เฉพาะตัวนักแสดงแทน นักแสดงนำเองก็มีความเสี่ยง เช่น “มิตร ชัยบัญชา” ดาราชื่อดังของไทยก็เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำฉากอันตราย ที่สำคัญคือทีมงานผู้ผลิตต้องมีความใส่ใจและความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา แต่ทีมผู้สร้างในปัจจุบันเห็นช่องทางที่จะสามารถพยายามปัดความรับผิดไปให้นอมินีในต่างแดนเพื่อลดต้นทุนเหมือนเช่นกรณีของแจ็กสัน ซึ่งหากเหตุเกิดในสหรัฐฯ ผู้ผลิตจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมหาศาล  อย่างกรณีอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Transformers: Dark of the Moon (2011) ที่นักแสดงตัวประกอบรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะจนทำให้สมองเสียหาย ทาง Paramount ต้องยอมจ่ายเงินชดเชยเป็นเงินสูงถึง 18 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดี  แจ็กสันจึงพยายามเป็นปากเป็นเสียงให้กับลูกจ้างเล็ก ๆ ในทีมงานถ่ายทำไม่ให้ถูกละเลยความสำคัญ และต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม “ฉันขอขอบคุณทุกคนเป็นอย่างมากกับกำลังใจอย่างล้นพ้น มันมีความหมายกับฉันมาก! ถึงเวลาอันควรแล้วที่เราจะร่วมกันต่อสู้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ที่จัดการทีมงานอย่างทิ้งขว้าง ไม่ทำประกันอย่างเต็มที่ เมินหน้าหนีละทิ้งทีมงานที่บาดเจ็บ (หรือล้มตาย) “ฉันขอร่วมขบวนการ @crewmatter เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์นี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม” แจ็กสันกล่าวใน Instagram ของตัวเอง