ประเทศไทยมีสิทธิเลือกปฏิบัติกับคนต่างชาติอย่างไรก็ได้?

ประเทศไทยมีสิทธิเลือกปฏิบัติกับคนต่างชาติอย่างไรก็ได้?
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหมู่ชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตทำมาหากินในประเทศไทยประการหนึ่งนั่นคือ การสะท้อนประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติโดยคนไทย ผู้ประกอบการไทย และรัฐบาลไทย "รวมกันเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือแคมเปญแรกของซีรีส์ความร่วมมือที่จะทำให้ผู้ละเมิดที่เลวร้ายที่สุดเปลี่ยนใจ เป้าหมายแรกของเราคือตลาดน้ำเจ้าพระยา ที่นี่คือแหล่งรวมร้านขายสินค้าดี ๆ นี่เอง แต่พวกเขาเรียกเก็บ 200 บาทจากชาวต่างชาติที่เพียงหวังจะย่างกรายเข้าพื้นที่ ถ้าหากคุณอยากจะทำกิจกรรมอื่น ๆ ตั๋วราคาเต็มอยู่ที่ 1,000 บาท! คุณรู้มั้ยว่าคนไทยต้องจ่ายเงินเท่าไหร่? มันฟรี! มันเป็นเรื่องที่ผิดอย่างที่สุด" ริชาร์ด บาร์โรว์ (Richard Barrow) ผู้ดูแลกลุ่มเฟซบุ๊ก 2PriceThailand กล่าวในประกาศรณรงค์ของกลุ่มเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2020 การเลือกปฏิบัติทางราคาเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติเป็นปกติในเมืองไทย ชาวต่างชาติที่เพียงลงจากเครื่องบินพวกเขาก็จะถูกเลือกปฏิบัติทันทีตั้งแต่การถูกโขกค่าแท็กซี่หนักหนากว่าคนท้องถิ่น ไปจนถึงการเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลของรัฐหรือเอกชนที่ตั้งราคาค่าเข้าสำหรับคนไทยและคนต่างชาติต่างกัน ซึ่งหลายแห่งใช้วิธีการหมกเม็ดด้วยการใช้ภาษาอังกฤษที่บอกราคาโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นราคาสำหรับชาวต่างชาติ และใช้ภาษาไทยบอกเงื่อนไขการเข้าสำหรับคนไทยซึ่งอาจจะฟรีหรือราคาถูกกว่า ทำให้ชาวต่างชาติมิได้รู้ตัวว่าตนถูกเลือกปฏิบัติ  แม้กระทั่งวัดวาอารามที่ควรเป็นสถานที่เผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ยังเป็นสถานที่แห่งการเลือกปฏิบัติเพื่อหากำไรเกินส่วนจากชาวต่างชาติเช่นกัน และเมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ร้านค้าหลายแห่งปฏิเสธที่จะให้บริการกับชาวต่างชาติ โดยอ้างว่า ชาวต่างชาติจะเป็นผู้แพร่เชื้อ แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่นที่ติดเชื้อในประเทศ มากกว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศก็ตาม  ยัน มาร์ฉัล - Yan Marchal ชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยมานานนับสิบปีได้ทำคลิปวิดีโอตีแผ่เหตุการณ์ดังกล่าว เผยแพร่ในเฟซบุ๊กโดยใช้ชื่อคลิปว่า "ร้านอาหารที่กรุงเทพไม่รับชาวต่างชาติ / Restaurant in Bangkok does not accept foreigners" เขามีท่าทีที่สุภาพในการมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานร้าน พยายามขอพูดคุยกับเจ้าของร้านถึงการห้ามชาวต่างชาติเข้าใจบริการ แม้พนักงานดูจะไม่พอใจนักที่เขาบันทึกวิดีโอ มาร์ฉัลกล่าวว่า ที่เขาทำคลิปนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้สังคมได้มีการถกเถียงกันว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่? มากกว่าที่จะผลักดันไปถึงขั้นเรียกร้องกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ แต่โดยส่วนตัวเขามองว่า การเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยพิจารณาจากอัตลักษณ์ภายนอกไม่ว่าจะโดยข้อเท็จจริงหรือการคาดเดา (เช่นเดาว่าคนนั้นคนนี้เป็นชาวต่างชาติ) นั้นจะสร้างความไม่พึงพอใจและความขัดแย้งขึ้นในสังคม "การทำแบบนี้มันไม่ใช่วิธีการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และ ณ ขณะนี้การปฏิเสธไม่ให้บริการกับชาวต่างชาติเพราะโควิดก็ถือเป็นเหตุผลวิบัติ เพราะมีการปิดประเทศกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แล้วคนต่างชาติก็ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะมากไปกว่าคนไทย" มาร์ฉัลกล่าว ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ปฏิกิริยาของคนไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อรู้ว่าถูกวิจารณ์เรื่องการเลือกปฏิบัติกับชาวต่างชาติ กลับมองว่ามันเป็นเรื่องที่ “ถูกต้อง” ที่จะเลือกปฏิบัติเช่นนั้นกับชาวต่างชาติ เพราะนั่นเป็น “สิทธิ” ของคนไทย ชาวต่างชาติที่อ้างว่าตัวเองมาจากประเทศประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับสิทธินี้ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล "มันเป็นสิทธิ์ของร้านเขา เขามีสิทธิ์จะไม่ให้ใครเข้าก็ได้" ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ Bee Supattra แสดงความเห็นในคลิป ของ ยัน มาร์ฉัล "ร้านค้าของเขาก็เหมือนกับบ้านของเขา เขาจะให้ใครเข้ามันก็เรื่องของเขา เจ้าของเขารักษาลูกค้าคนไทยเอาไว้คนต่างชาติมีเงินก็ไปกินที่ไหนก็ได้จะเอาเขามาออกไปทำไมให้เรื่องมาก" ความเห็นจาก R Tik Sure Titford ในคลิปเดียวกัน "ความหมายเขาต่างชาติที่เดินทางมาไทย คุณมันต่างชาติแต่ไม่อยู่ชาติตัวเองมาอยู่ต่างชาติมันไม่เข้าความหมายเขา อีกอย่าง มันสิทธิ์ของเขา ไม่เห็นเกี่ยวไรกับคุณไหนว่าประชาธิปไตยไง" อีกความเห็นจาก Montee Rungrak ซึ่งก็ให้น่าแปลกใจว่า ทำไมคนไทยเหล่านี้ถึงได้คิดเช่นนั้น ถ้าหากการตั้งราคาหรือเงื่อนไขการให้บริการเป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะตั้งอย่างไรก็ได้ หากพวกเขาขึ้นแท็กซี่ แล้วแท็กซี่เกิดอยากจะไม่ใช้มิเตอร์ พวกเขาจะโวยมั้ย? ทำไมไม่คิดว่ามันเป็นสิทธิของคนขับแท็กซี่? ถ้าหากพวกเขาไปเข้าแถวซื้อตั๋วดูศิลปินคนโปรดของตัวเอง แต่ทันทีที่เคาน์เตอร์เปิดบัตรก็หมด เพราะคนขายกันโควต้าพิเศษให้กับคนกันเอง พวกเขาจะโวยมั้ย? จะคิดว่ามันเป็นสิทธิของคนขายรึเปล่า? วิญญูชนทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และคงรับไม่ได้เช่นกัน มันจึงน่าแปลกที่พวกเขาอ้างว่า การกำหนดเงื่อนไขและค่าบริการตามอำเภอใจ “เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ” เว้นแต่พวกเขาจะนึกถึงแต่เวลาตัวเองได้รับผลกระทบเท่านั้น เมื่อแท็กซี่ไม่ใช้มิเตอร์กับคนต่างชาติ พวกเขาไม่เดือดร้อนก็เลยเห็นว่าเป็น “สิทธิ” ถ้าคนให้บริการจะคิดค่าบริการกับคนต่างชาติสูงกว่าคนไทยพวกเขาไม่เดือดร้อนก็เลยเห็นว่าเป็น “สิทธิ” บางคนอ้างว่า การเลือกปฏิบัติกับคนต่างชาติถือว่าเป็นธรรมเพราะคนต่างชาติไม่ได้จ่ายภาษี แล้วชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่เมืองไทย จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลไทย ทำไมถึงยังถูกเลือกปฏิบัติ? ขณะเดียวกันมีคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษี หากใช้เกณฑ์ภาษีเป็นมาตรฐานในการเลือกปฏิบัติ คนไทยเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการในอัตราเดียวกับชาวต่างชาติหรอกหรือ?  ข้ออ้างเหล่านี้เต็มไปด้วยช่องโหว่ เพราะโดยสามัญสำนึกมนุษย์ทุกคนเกลียดการถูกการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันก็ห้ามการเลือกปฏิบัติ “โดยไม่เป็นธรรม” ต่อบุคคลด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ภาษา ศาสนา หรือความเชื่อทางการเมือง  บางคนอาจจะบอกว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้เอ่ยเรื่องสัญชาตินิ อย่างนี้จะเลือกปฏิบัติกับคนที่ไม่มีสัญชาติไทยย่อมได้สิ?” แต่รัฐธรรมนูญยังมีคำว่า “หรือเหตุอื่นใด” ด้วย ซึ่งหากเป็นการเลือกปฏิบัติ “โดยไม่เป็นธรรม” แล้ว ย่อมทำไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี คนไทยที่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพราะแม้การเลือกปฏิบัติกับชาวต่างชาติจะ “ไม่เป็นธรรม” มันก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถึงแม้รัฐธรรมนูญจะห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่หากไม่มีกฎหมายชั้นรองมาบังคับใช้ ข้อความในรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงประกาศสวย ๆ ให้อ่านเสนาะหูเท่านั้น แต่หากจะลองไตร่ตรองสักนิด ผู้ที่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติก็น่าจะรู้สึกลึก ๆ ว่า สิ่งที่พวกเขาสนับสนุนนั้นผิด จึงได้รู้สึกไม่พอใจที่มีชาวต่างชาติออกมาเปิดโปงพฤติกรรมดังกล่าว และรู้สึกได้ว่าภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ (จริง ๆ ยิ่งปกป้องคนเลือกปฏิบัติ แล้วโจมตีชาวต่างชาติ ยิ่งขยายแผลให้ใหญ่ขึ้น)