ปาโบล เอสโกบาร์: ราชายาเสพติด จากเด็กขโมยหินหลุมฝังศพ สู่ผู้มีอำนาจเหนือเงินตราและการเมือง

ปาโบล เอสโกบาร์: ราชายาเสพติด จากเด็กขโมยหินหลุมฝังศพ สู่ผู้มีอำนาจเหนือเงินตราและการเมือง
ท่ามกลางตำนานของอาชญากรมากมาย ชื่อของ ปาโบล เอสโกบาร์ มักถูกกล่าวขานถึงเสมอไม่ว่าจะในแง่ของบุคคลที่รวยล้นฟ้า / ผู้มีบุญญาบารมีเหนือกว่าทุกกฎหมายที่มีมา ไปจนถึงนักบุญในคราบซาตานที่มีทั้งคนรักและคนเคียดแค้นเขามากมาย จากเด็กหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน สู่การสร้างอำนาจล้นฟ้าจากยาเสพติด เรามาทำความรู้จักแง่มุมของชีวิตเขา ผู้ชายที่ได้รับฉายาว่า “ราชาโคเคน” จากเด็กหนุ่มที่ขโมยหินจากหลุมฝังศพมาขัดขาย ปาโบล เอมิลิโอ เอสโกบาร์ กาบิเรีย เกิดวันที่ 1 ธันวาคม 1949 ที่เมืองริโอเนโกรก่อนจะไปเติบโตในย่านชุมชนแออัด เมืองเมเดยิน โคลอมเบีย เขาเป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้อง 7 คนอันยากแค้นแสนเข็ญ พ่อเป็นชาวนาชาวสวน ส่วนแม่เป็นครูสอนเด็กประถม แม้แม่จะเป็นครู แต่เพราะความยากจนและสังคมปากกันตีนถีบ ปาโบลหันหลังให้การศึกษาตั้งแต่เล็ก และมุ่งหน้าสู่การเป็นมิจฉาชีพตั้งแต่เยาว์วัย โดยเริ่มต้นจากการขโมยหินหลุมศพเพื่อขัดแล้วเอาไปขายกับพี่ชาย ก่อนจะค่อย ๆ ทวีความร้ายตามอายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำบัตรประชาชนและปริญญาปลอม ไปจนถึงการขโมยรถ  เขาก้าวเท้าสู่ความเป็นมิจฉาชีพอย่างเต็มตัวเมื่อเขาและพรรคพวก ได้ทำการจับผู้บริหารเพื่อทำการเรียกค่าไถ่ รวมไปถึงการเป็นเอเยนต์รับซื้อของเถื่อน เขารู้สึกว่าเงินมันช่างได้มาง่ายดายเสียเหลือเกิน โดยที่เขาได้จับเงินล้านในช่วงอายุเพียง 22 ปี แต่ที่ทำให้ปาโบลรู้สึกได้ว่าเป็นงานที่เขาถนัด คือการนำเข้าบุหรี่นอกอย่างผิดกฎหมาย จนเขามีบทบาทสำคัญในการควบคุมตลาดบุหรี่หนีภาษีของโคลอมเบีย ท่ามกลางความขัดแย้งของมาเฟียหลายเหล่า จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ชื่อ Marlboro Wars ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s การนำเข้าบุหรี่อย่างผิดกฎหมายนี้เอง คือสนามฝึกที่มีค่าและเป็นหนทางสู่การค้าโคเคนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต สู่การส่งออกยาเสพติดที่มูลค่าสูงนับพันล้าน จากเป็นผู้นำเข้า ปาโบลเริ่มพบช่องทางของการส่งออกอันน่าทึ่ง นั่นก็คือการขนส่งกัญชา เมื่อโคลอมเบียเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งของผิดกฎหมาย เขาปรับเปลี่ยนทุ่งนาอันแห้งแล้งจากการเพาะปลูกที่ไม่ได้กำรี้กำไรให้กลายเป็นไร่ฝิ่นที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ชาวไร่ชาวสวนที่เคยชอกช้ำเพราะผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ได้ราคากลับลืมตาอ้าปากและกลายเป็นมหาเศรษฐีเพียงไม่นานจากการเปลี่ยนที่ดินรกร้างจากไร่องุ่นที่ไม่มีมูลค่าให้ฝิ่นกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญสำหรับปาโบล ทำให้เงินในบัญชีของเขามีตัวเลขสูงถึงหลักร้อยล้านเพียงอายุแค่ 26 ปี ก้าวต่อมา เขาจัดการระดมบุคลากรมากมาย เพื่อแปรรูปฝิ่นให้กลายเป็นเฮโรอีนและโคเคน เป็นทั้งผู้ผลิตที่เป็นที่หมายตาของพ่อค้าจากทั่วโลก และเป็นผู้จัดจำหน่ายด้วยการขนส่งยาด้วยเครื่องบินขนาดเบาผ่านช่องทางหลากหลายที่ยากต่อการค้นเจอของเจ้าหน้าที่ ทำให้ทุก ๆ วันโคเคนจำนวน 70-80 ตันส่งถึงมือผู้รับด้วยรูปแบบหลากหลายวิธีการ และเปลี่ยนจากเครื่องบินขนาดเล็กเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการขนส่งยาให้มากยิ่งขึ้น  นี่ยิ่งทำให้เขาร่ำรวยกลายเป็นยิ่งกว่ามหาเศรษฐี ขณะที่เขาร่ำรวยเงินทอง ชีวิตเขาก็รายล้อมด้วยผู้คนมากมายที่รักและบูชาเขา จนได้รับการยกย่องในฐานะ “โรบินฮู้ดแห่งโคลอมเบีย” ผู้เปลี่ยนกองขยะให้กลายเป็นทอง เปลี่ยนความอดอยากให้กลายเป็นโอกาสทองและพร้อมหยิบยื่นให้คนยากจนมากมายให้ได้ทำมาหากิน แม้เส้นทางทำกินจะเป็นเส้นทางอันแสนสกปรก แต่ใครจะไปสนใจ ในเมื่อความอดอยากนั้นน่ากลัวยิ่งกว่า ซาตานอย่างปาโบลจึงกลายร่างเป็นเทวดาที่ผู้คนรักใคร่บูชา ว่ากันว่าปาโบลใช้การชั่งน้ำหนักเงินมากกว่าจะมาเสียเวลานั่งนับ เขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่นิตยสาร Forbes เคยจัดอันดับเป็น 1 ในมหาเสศรษฐีที่มีทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 1989 เข้าเส้นทางการเมือง ท่ามกลางอำนาจมืดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ไม่เพียงแค่การสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านเท่านั้น แต่ปาโบลยังมีเงินเหลือเฟือพอที่จะสร้างทั้งสนามฟุตบอล สร้างโรงเรียน ไปจนถึงสร้างชุมชนจนกลายเป็นเมืองที่สวยงาม  และเพื่อเข้าถึงอำนาจที่มากขึ้นยิ่งกว่า ปาโบล จึงเข้าสู่วงการทางการเมืองครั้งแรกในปี 1984 ด้วยการชิงชัยบนเวทีสภาผู้แทนราษฎรของสาธารณรัฐเมเดยิน การมาของเขาสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคเสรีนิยม จนเกิดเป็นกรณีพิพาท ระหว่างเขากับ ลารา โบนิญา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในยุคนั้น ปาโบลจึงจัดการเสี้ยนหนามคนที่มาขวางทางด้วยการจ้างคนไปลอบสังหาร ไม่เพียงเท่านั้น เขายังจัดการ หลุยส์ คาร์ลอส กาลัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเสรีนิยม ที่มาขวางการชิงชัยของเขา  ขณะเดียวกันก็เข้าร่วมกับรัฐบาลในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายด้วยการบอมบ์เครื่องบินที่มีผู้โดยสารจำนวน 107 คน ระเบิดในพริบตาโดยการอ้างว่าเป็นการประกาศสงครามกับผู้ก่อการร้ายที่หมายจะมายึดครองโคลอมเบีย ทั้งที่ในนั้นมีผู้บริสุทธิ์มากมายบนเครื่อง และเป้าหมายในการกำจัดนั้นไม่ได้ขึ้นเครื่องนี้มาด้วยซ้ำ ในปลายทศวรรษที่ 1980s บ้านเมืองในโคลอมเบีย แปดเปื้อนไปด้วยเลือดและการล้มหายตายจาก จากการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจ และกว่าครึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นล้วนแต่เป็นการบงการมาจากตัวปาโบลแทบทั้งสิ้น ว่ากันว่ามีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนกว่า 4,000 คน จากการสั่งฆ่าของปาโบล เอสโกบาร์ ทั้งนั้น พอดีกันกับช่วงเวลานั้น โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีในยุคนั้น ต้องการทำสงครามกับยาเสพติด และ ปาโบล ก็คือหนึ่งในอาชญากรที่ทางสหรัฐฯ ต้องการตัว ถึงขนาดสหรัฐฯ ต้องทำการกดดันทางการเมืองกับโคลอมเบียเพื่อส่งตัวปาโบลให้กับสหรัฐ แต่ปาโบลหาได้หวั่นเกรงต่อการกดดันนี้ไม่ เขาลั่นวาจาที่กลายเป็นวลีอันยิ่งใหญ่และกลายเป็นวรรคทองของประวัติศาสตร์ว่า  “ ฉันขอตายในหลุมศพที่โคลอมเบีย ดีกว่าอยู่ในห้องขังในสหรัฐอเมริกา” พร้อมทั้งจะช่วยรัฐบาลโคลอมเบียปลดหนี้มูลค่ากว่าหมื่นล้านอีกด้วย แต่รัฐบาลยืนกรานว่าเขาต้องเข้าคุก ปาโบลจึงแก้เผ็ดด้วยการสร้างคุกขึ้นใหม่ในชื่อ ลา คาเทดราล ที่หรูหรายิ่งกว่าโรงแรมห้าดาวพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มากมายตั้งแต่สวนหย่อมยันสนามฟุตบอล แถมญาติสนิทมิตรสหายยังไปมาหาสู่ได้ราวกับมันไม่ใช่ที่คุมขังนักโทษ แต่ถึงกระนั้นเขาก็เป็นที่ต้องการตัวโดยเฉพาะเหล่ามาเฟียต่างแก๊งที่ต้องการจะกำจัดชายผู้นี้ให้หมดไปจากเสี้ยนหนาม  วาระสุดท้ายของชายผู้โฉดยิ่งใหญ่  ปาโบลได้รับสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก เมื่อตำรวจโคลอมเบียต้องการเอาผิดเขาอย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการกำจัดลูกสมุนจนแก๊งของเขาล่มสลาย ปาโบลใช้ช่วงชุลมุนหนีตายจากการไล่ล่า แต่สุดท้ายเขาก็ไม่อาจหนีจากการคมกระสุนได้พ้น เมื่อตำรวจโคลอมเบียรัวกระสุนสังหารปลิดชีพเขาจนสิ้นลมหายใจหลังจากวันเกิดเขาผ่านไปเพียงวันเดียว ภาพการตายของเขาสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็นอย่างมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพเป็นทีระลึกร่วมกับศพของปาโบล เอสโกบาร์ราวกับนายพรานที่กำจัดสัตว์ร้ายได้ เขาตายท่ามกลางความแคลงใจว่าเป็นการเสียชีวิตจากการยิงปะทะ หรือเป็นการจับกุมได้และเจ้าหน้าที่จัดการฆ่าเขา หรือเป้นการฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิดกันแน่ แต่การตายของเขากลับสั่นสะเทือนชาวเมเดยินอย่างมาก ในงานศพมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 25,000 คน หลายคนกรีดร้องราวกับสูญเสียญาติผู้ใหญ่ แม้กระทั่งผู้นำทางศาสนายังร่วมอธิษฐานเพื่อให้เขาขึ้นสู่สรวงสวรรค์ เรื่องราวของเขาถูกเล่าอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะในรูปแบบซีรีส์อย่าง Narcos (2015-2017) หรือในรูปแบบภาพยนตร์ที่ทั้งเล่าเรื่องของเขาแบบตรง ๆ อาทิ Killing Pablo (2011) หรือจะเล่าอย่างอ้อมๆ อย่าง American Made (2017) ที่เล่าเรื่องของนักบินที่นักแสดงโดย ทอม ครูซ ที่ชีวิตพลิกผันจากกัปตันสายการบินมาเป็นคนส่งยาให้กับปาโบล คุกของเขากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสชีวิตที่เคยหรูหราของเขา ขณะเดียวกันหลายบ้านก็ประดับรูปของเขาราวกับเป็นหนึ่งในทวยเทพที่เคารพบูชา จากตำนานของอาชญากรที่ช่วยเหลือคนจน คนที่กอบกู้บ้านเมืองด้วยสิ่งผิดกฏหมาย และกลายเป็นนักบุญคนบาปที่เป็นตำนานตราบจนสิ้นลมหายใจ แม้ชื่อจะสิ้นไป แต่เรื่องราวของเขา รวมไปถึงยาเสพติดก็หาได้หมดสิ้นไปจากโลกไม่ ยังคงก่อเกิด ปาโบล เอสโกบาร์ ในอีกหลายพื้นที่บนโลกใบนี้ เพราะมันสร้างทั้งรายได้มหาศาลและอำนาจบารมีจนบางคนกฎหมายก็ไม่อาจเอาผิดได้ไปชั่วกาลนาน   ที่มา https://www.independent.co.uk/news/people/obituary-pablo-escobar-1465149.html