แป๊ะ แซ่ลิ้ม ยารักษาเสือป่าในรัชกาลที่ 6 สู่ “โอสถสภา” อาณาจักรหมื่นล้าน

แป๊ะ แซ่ลิ้ม ยารักษาเสือป่าในรัชกาลที่ 6 สู่ “โอสถสภา” อาณาจักรหมื่นล้าน

ยารักษาเสือป่าในรัชกาลที่ 6 สู่ “โอสถสภา” อาณาจักรหมื่นล้าน

คนไทยส่วนใหญ่คงคุ้นชื่อสินค้าจากค่าย “โอสถสภา” อย่างเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ เอ็ม-150 ซึ่งครองเบอร์หนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 40% ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของบ้านเรากันเป็นอย่างดี แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วสินค้าที่สร้างชื่อให้โอสถสภาดังเปรี้ยงปร้างมาก่อนก็คือ “ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน” ที่ แป๊ะ แซ่ลิ้ม ต้นกำเนิดความยิ่งใหญ่ของโอสถสภาเป็นผู้ปรุงขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และยังคงอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้   “เต๊กเฮงหยู” จากแผ่นดินเมืองจีน แป๊ะ แซ่ลิ้ม ในวัยหนุ่มเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่สยาม หวังตั้งรกรากสร้างตัวที่นี่ ความหนักเอาเบาสู้ที่มีอยู่ในสายเลือด ทำให้แป๊ะไม่เกี่ยงงานสุจริตที่จะทำให้เขาได้รับค่าตอบแทนมาเป็นทุนรอนในการสร้างชีวิตให้ดีขึ้น เขาเริ่มจากการเป็นลูกจ้างก่อนจะผันตัวมาทำกิจการค้าขาย และแต่งงานกับหญิงสาวชาวไทยที่ชื่อ แหวน ใน พ.ศ.2434 หลังจากเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง แป๊ะก็เช่าตึกแถว 1 คูหาเล็กๆ ย่านสำเพ็ง เปิดเป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด อย่าง เครื่องถ้วย นาฬิกา ร่ม ฯลฯ และตั้งชื่อร้านว่า “เต๊กเฮงหยู” ซึ่งประกอบด้วยคำ 3 คำ ได้แก่ “เต๊ก” แปลว่าระลึกถึง คิดถึงบุญคุณ “เฮง” แปลว่าความดีงาม และ “หยู” แปลว่ายั่งยืนยาวนานหรือตลอดกาล เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า “คุณงามความดีจะทำให้คนระลึกถึงยาวนานตลอดกาล”   กำเนิดยากฤษณากลั่น ตรากิเลน จุดเปลี่ยนในชีวิตของแป๊ะมาถึง เมื่อห้างบี.กริมม์ แอนด์ โก นำยาชื่อ “ปัถวีพิการ” ซึ่งมีสรรพคุณแก้เมื่อย แก้แพ้ มาฝากขายที่ร้านเต๊กเฮงหยู แป๊ะจึงมองเห็นโอกาสค้าขายของตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างคือ “ยา” เขาจำได้ว่าเมื่อครั้งจากลาบ้านเกิดเมืองนอนได้นำ “ตำรายากฤษณากลั่น” ซึ่งเป็นสูตรยาโบราณของบรรพบุรุษติดตัวมาด้วย ตำรับยานี้มีที่มาจากต้นกฤษณาซึ่งเป็นไม้หอมประเภทหนึ่ง หากต้นกฤษณายังไม่มีบาดแผล เนื้อไม้จะมีสีขาว แต่หากเกิดบาดแผลก็จะมีน้ำมันสีดำเกิดขึ้น เรียกว่า “เกิดกฤษณา” ผู้ที่เชี่ยวชาญการปรุงยาก็จะนำน้ำมันสีดำนี้ไปใช้เป็นตำรับยา เรียกว่า “เข้ากฤษณา” ซึ่งตำรับยาจีนที่แป๊ะนำมาเข้ากฤษณา ประกอบด้วยสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ ไม้กฤษณา, ขิง,กานพลู, การบูร, ขี้อ้าย, ไพล, เพกา, ดีปลี, พริกไทย, โกฐสอ, เทียนดำ, เทียนขาวหรือยี่หร่า และ กะลำพัก มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่นท้อง หลังจากปรุงยาตามตำรับยาโบราณแล้ว แป๊ะก็คิดถึงการทำสัญลักษณ์เพื่อให้คนจดจำได้ เขาเลือก “กิเลน” ซึ่งเป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของชาวจีนมาเป็นตราการค้า รวมทั้งใส่รูปดวงอาทิตย์และคัมภีร์พิชัยรณรงค์สงครามเข้าไปเป็นส่วนประกอบในตราการค้าของเขาด้วย เกิดเป็น "ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน"    ยารักษาเสือป่าในรัชกาลที่ 6 กิจการร้านเต๊กเฮงหยูและยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ของแป๊ะเจริญเติบโตเป็นลำดับ และยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ.2455 เป็นต้นมา ครั้งนั้นกองเสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทำการซ้อมรบที่ ต.ดอนเจดีย์ จ.นครปฐม แต่การเดินทางที่ยากลำบาก ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บที่จู่โจมทุกคนได้ง่าย ทำให้เสือป่าจำนวนไม่น้อยล้มป่วยด้วยอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง กระทั่งมีผู้นำยากฤษณากลั่น ตรากิเลน มาให้เสือป่าเหล่านี้รับประทาน อาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นและหายป่วยในที่สุด ความทราบถึงรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงทรงแนะนำให้ทหารและเสือป่านำยากฤษณากลั่น ตรากิเลน มาใช้ในกิจการ ทำให้ยาของแป๊ะขายดีมานับตั้งแต่นั้น คุณความดีของแป๊ะที่ช่วยเหลือกิจการเสือป่าโดยเฉพาะการรักษาโรค พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเข็มเสือป่าแก่แป๊ะ และแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเป็นมหาดเล็ก จากนั้นเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลใน พ.ศ.2456 พระองค์ก็พระราชทานนามสกุลใหม่ให้แป๊ะว่า “โอสถานุเคราะห์” มีความหมายเกี่ยวโยงกับการผลิตและจำหน่ายยาที่แป๊ะดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่อง จากยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ที่เป็นเสมือนยาที่มอบชีวิตใหม่ให้แป๊ะ เขาได้คิดค้นและพัฒนาสูตรยาอีกหลายขนาน เช่น ยาสตรีฑีฆายุ เป็นยาบำรุงผิวพรรณสำหรับผู้หญิง, ยาแสงสว่างแก้ลมขึ้นเบื้องสูง, ยาอินทรจักรแก้ลม, ยาหอมเทพจิต, ยาแก้ไข้, ยาเม็ดดำ ฯลฯ แต่ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ก็ยังคงเป็นตัวชูโรงของร้านเต๊กเฮงหยูอยู่นั่นเอง แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ เสียชีวิตในปี 2461 โดยมี สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ลูกคนที่สาม/ลูกชายคนที่สอง ของครอบครัว รับหน้าที่สานต่อกิจการด้วยวัย 17 ปี จากนั้นก็เน้นไปที่ธุรกิจยา แทนการขายสินค้าเบ็ดเตล็ดเหมือนรุ่นพ่อ พ.ศ.2475 สวัสดิ์เปลี่ยนชื่อกิจการเป็น “โอสถสถาน เต๊กเฮงหยู” ก่อนเป็น “โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู)” ใน พ.ศ.2492 กระทั่ง พ.ศ.2538 ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น “โอสถสภา” และใช้มาถึงปัจจุบัน “ชื่อ ‘โอสถสภา’ เดิมทีเป็นชื่อของรัฐบาล ที่หลังมาเปลี่ยนเป็นโอสถศาลา พอเขาเลิกใช้เราก็เอาเขามาใช้ หมายถึงที่ขายยาของรัฐบาล คล้ายๆ กับเป็นองค์การเภสัชกรรมที่รัฐบาลทำยาออกมาขาย ตอนหลังเขาก็เลิกกันไป “เรารู้ประวัติเห็นว่า เอ้...คำนั้นมันดีนะ ทีแรกเราใช้คำว่า ‘โอสถสถาน (เต๊กเฮงหยู)’ ทีหลังคำว่าโอสถสถานนี้มีคนนำไปใช้ตามจนเกลื่อนหลายแห่งก็เลยเลิกใช้ มาเป็นโอสถสภา คำที่รัฐบาลเขาเลิกใช้” สวัสดิ์เคยกล่าวไว้ แม้ทุกวันนี้สินค้าอย่างอื่นของโอสถสภาจะดังแซงหน้า ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ไปหลายขุม แต่สินค้าที่เกิดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีหรือหลายสิบปีก่อน ไม่ว่าจะเป็น ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน, ยาธาตุ 4 ตรากิเลน (พ.ศ.2475), ยาทัมใจ (เดิมชื่อยาทันใจ ถือกำเนิด พ.ศ.2480), ยาอมโบตัน (พ.ศ.2483) ก็ยังคงอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ของโอสถสภา ได้รับความนิยมเงียบๆ แต่ต่อเนื่องยาวนาน เป็นเสมือนตำนานที่มีชีวิตของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยกลุ่มนี้นั่นเอง   ที่มา https://marketeeronline.co/archives/60143 เรียบเรียงข้อมูลจาก : กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ. (2555). ชีวิตเกินร้อย บริษัท โอสถสภา จำกัด. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. อิงตัวอักษร "เต๊กเฮงหยู" ในภาพประกอบ ตาม https://www.osotspa.com/new/th/about/2502.php