‘มาดามแป้ง’ ผู้บริหารหญิงที่กระโจนสู่ฟุตบอลไทย และการนิยามชาติไทยใหม่

‘มาดามแป้ง’ ผู้บริหารหญิงที่กระโจนสู่ฟุตบอลไทย และการนิยามชาติไทยใหม่

‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ที่เข้ามาโลดแล่นในวงการฟุตบอลไทย ทั้งในระดับสโมสร และทีมชาติ นำมาสู่เรื่องราวของการนิยามชาติไทยใหม่

  • มาดามแป้ง เข้ามามีบทบาทในฟุตบอลไทยหลายระดับ จากที่เคยมีบทบาทในแวดวงธุรกิจ และการเมือง
  • ท่ามกลางปัญหาและความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ฟุตบอลไทยจำเป็นต้องปรับปรุง พัฒนา ทั้งผลงานและความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ 

ก่อนที่มหกรรมกีฬาแห่งชาติอาเซียน หรือซีเกมส์ 2022 จะเริ่มขึ้น ชื่อของนวลพรรณ ล่ำซำ หรือมาดามแป้ง กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและแฟนฟุตบอลไทยอีกครั้ง ในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดใหญ่, ชุด U-23 และชุดลุยศึกซีเกมส์ ท่ามกลางข้อถกเถียงอันร้อนระอุของคนในวงการฟุตบอลเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการ ‘ทีมชาติไทย และ ฟุตบอลไทยลีก

แต่เมื่อการแข่งขันกีฬาซีเกมส์เริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนฟุตบอลก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของแฟนบอลไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทีมชาติไทยสามารถผ่านด่านเพื่อนร่วมภูมิภาคเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แม้จะคว้าได้เพียงเหรียญเงิน เพราะพ่ายแพ้ให้แก่คู่รักคู่แค้นอย่างทีมชาติเวียดนามในนัดชิง

ด้วยผลงานการคว้าแชมป์ AFF Susuki Cup เมื่อต้นปี และเหรียญเงินซีเกมส์ในครั้งนี้คงจะทำให้สปอตไลท์ทุกดวงของวงการกีฬาส่องสว่างไปยังมาดามแป้งอีกครั้ง เพราะสำหรับแฟนบอลไทย การเป็นเจ้าอาเซียนยังคงเป็นเครื่องหมายค้ำชูที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่าง ที่จะช่วยยืนยันความยิ่งใหญ่ของชาติไทยเหนือชาติอื่นในภูมิภาคนี้ และช่วยนำพาความภาคภูมิใจในชาติไทยให้กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางความถดถอยทางเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง และสถานการณ์โรคระบาดที่ชาติไทยกำลังเผชิญ

สู่สนามฟุตบอล

ก่อนจะเข้าสู่สนามฟุตบอล มาดามแป้งที่รู้จักในแวดวงธุรกิจในฐานะทายาทตระกูลนักธุรกิจชื่อดังของเมืองไทย และถูกชักนำเข้าสู่สนามการเมืองในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ในปี 2549

จุดเริ่มต้นในวงการกีฬาของมาดามแป้งคงคล้ายกับนักการเมืองและนักธุรกิจอีกหลายคน นั่นคือ การถูกทาบทามให้เข้ามาช่วยดูแลสนับสนุน ‘กีฬาของชาติ’ เนื่องจากคนทั้งกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ถือครองทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนวงการกีฬาสมัครเล่น/กึ่งอาชีพของไทย นั่นคือ อำนาจรัฐ สายสัมพันธ์ และอำนาจทุน

มาดามแป้งรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลทีมกีฬาผู้พิการของไทยในปี 2549 ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และในปี 2557 เธอก็สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ชื่อของเธอถูกจารึกไว้ในวงการฟุตบอลไทย ด้วยการ ‘พาทีมชาติไทยไปฟุตบอลโลก’ เมื่อทีมฟุตบอลหญิงของไทยสามารถสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง (FIFA Women World Cup 2015) ได้สำเร็จ

นี่เป็นผลแห่งความสำเร็จนี้นอกจากจะทำให้ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยโด่งดัง และได้รับรางวัลนักกีฬาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของเว็บไซต์ MThai (MThai Top Talk-about Sport Women 2015), ทำให้นักฟุตบอลหญิงหลายคนกลายเป็น sport celebrity (เช่น ธนีกาญจน์ แดงดา หรือไหม น้องสาวธีรศิลป์ แดงดา นักฟุตบอลชายทีมชาติไทย) แล้ว ยังส่งผลให้มาดามแป้งในฐานะผู้จัดการทีมได้รับการยอมรับ และชื่นชมจากแฟนบอลไทย พร้อม ๆ กับได้รับรางวัลผู้จัดการทีมดีเด่น จากการกีฬาแห่งประเทศไทย เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติประจำปี 2557 ด้วย

ท่าเรือรักแป้งมาก

ในปี 2558 ขณะที่ประสบการณ์และความสำเร็จจากการเป็นผู้จัดการทีมชาติหญิงทำให้มาดามแป้งคุ้นเคยและหลงเสน่ห์ของฟุตบอลลูกกลม ๆ มากขึ้น สโมสรฟุตบอลเก่าแก่ของไทยอย่างสโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ภายใต้ชื่อ ‘สโมสรฟุตบอลสิงห์ท่าเรือ’ในขณะนั้น) ก็กำลังเผชิญมรสุมด้านการบริหารจัดการสโมสรอย่างหนัก ความขัดแย้งและความไม่ชัดเจนของทีมบริหารสโมสรส่งผลต่อผลงานในสนามของทีม และส่งผลต่อจิตใจของแฟนบอลการท่าเรืออย่างมาก

ในที่สุด ในช่วงเลกที่ 2 ของฤดูกาล 2558 มาดามแป้ง ในนามของบริษัทเมืองไทยประกันภัย ได้ตัดสินใจเข้ารับช่วงบริหารสโมสรการท่าเรือต่อจากทีมบริหารชุดเดิม และแม้ว่าผลงานของการท่าเรือในฤดูกาลนี้จะจบลงด้วยการตกชั้น แต่มาดามแป้ง นายหญิงของถิ่นสิงห์คลองเตยก็ให้สัญญากับแฟนบอลว่าจะไม่ทอดทิ้งสโมสร และจะพาการท่าเรือกลับมาผงาดในลีกสูงสุดของประเทศอีกครั้ง และเธอก็สามารถทำได้จริงดังสัญญา

นอกจากการแสดงออกถึงความจริงใจ และความทุ่มเทต่อสโมสรที่มีไม่แพ้ประธานสโมสรฟุตบอลคนอื่น ๆ แล้ว ท่าทีในการบริหารสโมสรการท่าเรือของมาดามแป้งนับว่าแตกต่างจากนายหญิงคนอื่น ๆ ของสโมสรฟุตบอลไทยในช่วงเวลานั้น กล่าวคือ เธอเต็มไปด้วยท่าทีที่อ่อนโยน นอบน้อม และประนีประนอม เป็นบุคลิกที่สอดคล้องกับภาพความเป็นหญิงตามความคาดหวังของสังคมไทย ‘ความเป็นหญิง’ (Femininity) ของมาดามแป้ง เมื่อปรากฏขึ้นเคียงคู่กับชุมชนแฟนบอลของสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ซึ่งมี ‘ความเป็นชาย’ (Masculinity) สูงมากที่สุดสโมสรหนึ่ง ก็ยิ่งขับเน้นให้ความหญิงและความเป็นชายของกันและกันเด่นชัดมากขึ้นอีกด้วย

และลักษณะ ‘ความเป็นหญิง’ นี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของมาดามแป้งไม่เป็นที่ตะขิดตะขวงใจของชุมชนแฟนบอลไทย และสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ และยิ่งทำให้เธอได้รับการยอมรับจากชุมชนแห่งนี้ จนมีแฮชแท็กประจำตัวในช่วงนั้นว่า #ท่าเรือรักแป้งมาก (แปลงมาจากภาพยนตร์ ‘ตุ๊กแกรักแป้งมาก’ ที่ฉายในปีนั้น)

ในฐานะนายหญิงของสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ มาดามแป้งเคยพาสโมสรแห่งนี้ได้แชมป์ Thailand FA Cup เมื่อปี 2562 และเข้ารอบแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย หรือ AFC Champions League (ACL) ในฤดูกาล 2564


ภารกิจเพื่อชาติ

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน พยายามที่ลองปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการทีมชาติไทยโดยยกเลิกระบบผู้จัดการทีมคนนอก กล่าวคือ เลิกให้คนนอกมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีม หรือกระเป๋าเงินของทีมชาติไทย แล้วเปลี่ยนมาใช้งบประมาณของสมาคมฯ แทน เพื่อการบริหารงานของทีมชาติไทยทุกชุด รวมถึงฟุตบอลลีกทุกระดับที่อยู่ในความดูแลของสมาคมฯ มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผลงานเฉพาะหน้าของทีมชาติไทยจะยังไม่อยู่ในระดับที่น่าประทับใจนัก โดยเฉพาะความล้มเหลวในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ทำให้ในที่สุดสมาคมฯ ตัดสินใจนำระบบผู้จัดการทีมกลับมาใช้อีกครั้ง โดยช่วงกลางปี 2564 ได้ทาบทามมาดามแป้งให้เข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดใหญ่ และชุดอายุไม่เกิน 23 ปี คาดหวังที่จะให้เธอ ทีมงานของเธอ ความสามารถของเธอ และทรัพยากรของเธอ นำพาทีมชาติไทยกลับมาสู่จุดที่แฟนบอลไทยคาดหวังให้ได้ เพื่อเรียกศรัทธาของแฟนบอลกลับมา

และเธอก็สามารถพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอล AFF Suzuki Cup 2020 ได้สำเร็จ (แข่งขันเสร็จเมื่อต้นปี 2565) เป็นการสานต่อความสำเร็จ และความยิ่งใหญ่ของทีมฟุตบอลชายไทย ที่แฟนบอลต่างเชื่อกันเสมอว่าเราคือเบอร์หนึ่งของภูมิภาคอาเซียน

ภารกิจต่อมาของทีมชาติภายใต้การดูแลของผู้จัดการหญิงคนเก่งคือ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และฟุตบอลเอเชียนคัพ 2023

แน่นอนว่า ‘ทรัพยากร’ ของมาดามแป้ง ที่ถูกคาดหวังว่าจะถูกนำมาใช้เพื่อผนึกกำลังสร้างทีมชาติให้แข็งแกร่งได้ก็คือ ‘สายสัมพันธ์’ และความเกรงอกเกรงใจที่ผู้คนในวงการกีฬา วงการฟุตบอล และวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬา มีต่อนวลพรรณ ล่ำซำ นั่นเอง เพื่อหวังให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมไม้ร่วมมือต่อการบริหารจัดทีมชาติ

ความขัดแย้งคลาสสิกของวงการฟุตบอลในหลายประเทศก็คือ เป้าหมายและผลประโยชน์ที่ไม่ได้ทาบทับกันสนิทพอดีนัก ระหว่างฟุตบอลลีก กับ ฟุตบอลทีมชาติ สำหรับฟุตบอลลีกนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้ลงทุนลงแรง และเป็นเจ้าของทรัพยากรในการขับเคลื่อนลีก คือสโมสรฟุตบอล เพื่อที่จะให้ฟุตบอลลีกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เราจำเป็นต้องมีตารางการแข่งขันที่แน่นอน และมีช่วงเวลาหยุดพักที่เหมาะสม เพื่อให้สภาพร่างกายของนักกีฬาฟื้นตัวได้ และเพื่อให้วงจรธุรกิจของโลกฟุตบอลดำเนินไปได้

ในขณะที่ทีมชาติเป็นผู้ขอเก็บเกี่ยวดอกผลจากเติบโตของฟุตบอลลีกไปใช้ โดยให้ผลตอบแทนเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ และความภาคภูมิใจ ทั้งต่อสโมสรฟุตบอลและต่อนักฟุตบอลที่ได้ลงแข่งขันในนามตัวแทนของชาติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทีมชาติประสบความสำเร็จ นอกจากเราจะจำเป็นต้องมีนักกีฬาที่มีความสามารถแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมร่วมกันเพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย หลายคนเชื่อว่ายิ่งมีเวลาฝึกซ้อมร่วมกันนานเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผลงานของทีมชาติมากเท่านั้น แต่การฝึกซ้อมร่วมกันในนามทีมชาติ ย่อมส่งกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการแข่งขันฟุตบอลลีก (เช่น ทำให้ตารางการแข่งขันอัดแน่นมากขึ้น นักกีฬาได้พักน้อยลง และเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมและการแข่งขันมากขึ้น) ดังนั้น FIFA จึงได้กำหนดปฏิทินการแข่งขันที่เรียกว่า FIFA day เพื่อประนีประนอมและจัดการความไม่ลงรอยนี้ของฟุตบอลลีกและฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งในแง่หนึ่งต่างก็ต้องเกื้อกูลและยังประโยชน์ซึ่งกันและกัน (รวมถึงยังประโยชน์ต่อระเบียบอำนาจและธุรกิจของ FIFA ด้วย)

 

สู่การนิยาม ชาติใหม่

สำหรับ ‘ชาติไทย’ รอยปริแยกนี้ได้ปรากฏเค้าลางให้เห็นตั้งแต่สมัยที่ซิโก้ - เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ตำนานนักฟุตบอลขวัญใจชาวไทยรับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยในช่วงปี 2556-2560 แล้ว และมาปรากฏชัดอีกครั้งในช่วงก่อนการแข่งกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ เนื่องจากสมาคมฟุตบอลฯ ได้ปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขันฟุตบอลลีก และรายการอื่น ๆ ภายในประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทีมชาติไทย จนส่งผลกระทบต่อสโมสรฟุตบอล

ความคิดเห็นของสังคมไทย และวงการฟุตบอลต่อกรณีนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรก อาจจะเรียกว่า ‘ฝ่ายชาตินิยมเดิม’ ที่สนับสนุนการปรับตารางการแข่งขันฟุตบอลลีก เพื่อระดมสรรพกำลัง และสรรพทรัพยากรมาสนับสนุนทีมชาติเพื่อให้สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์ รางวัลแห่งเกียรติยศของชาติไทยให้ได้

ขณะที่อีกฝ่าย อาจจะเรียกว่า ‘ฝ่ายขอนิยามชาติใหม่’ กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขัน เพราะเห็นว่าฟุตบอลลีกก็คือ ‘ผลประโยชน์’ และ ‘ความภูมิใจ’ ของชาติเช่นกัน

การก่อตัวทางความคิดของกลุ่มนี้อาจจะเริ่มขึ้นหลังจากที่สโมสรฟุตบอลประจำจังหวัด และประจำย่าน ได้กระจายตัวกันไปลงหลักปักฐานสร้างฐานแฟนบอล สร้างความผูกพันภักดีระหว่างสโมสรกับแฟนบอลมาได้ร่วม 2 ทศวรรษ ทำให้แฟนบอลไทยลีกเริ่มไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บตัวทีมชาตินาน ๆ เพราะส่งผลกระทบเสียหายต่อฟุตบอลลีก ซึ่งถูกมองว่าเป็นฟุตบอลของ ‘มหาชน’ ทั่วประเทศ และตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาฟุตบอลลีกและสโมสรฟุตบอลต่างสร้างเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ และเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนชาติไทยมาโดยตลอด ทั้งจากความสำเร็จในการแข่งขันสโมสรฟุตบอลระดับทวีป และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ที่มีการแข่งขันฟุตบอลลีก ทั้งยังเชื่อว่าการบริหารงานที่เป็นระบบจะช่วยให้ทั้งฟุตบอลลีกและฟุตบอลทีมชาติสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนยิ่งกว่าด้วย

ความสำเร็จของทีมชาติไทยในภายใต้การดูแลของมาดามแป้งในครั้งนี้ อาจจะเป็นบทพิสูจน์เบื้องต้น ว่าอันที่จริงแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็ถูกด้วยกันทั้งคู่ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฟุตบอลลีกที่ทำให้ทีมชาติมีนักกีฬาคุณภาพดีให้เลือกใช้อย่างหลากหลายและเพียงพอ

ขณะเดียวกันก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอีกส่วนหนึ่ง ความสำเร็จครั้งนี้ก็เกิดจากมาดามแป้ง จากทีมงานของเธอ ความสามารถของเธอ และทรัพยากรของเธอที่ได้ทุ่มเทให้กับทีมชาติไทย

และคงจะดีไม่น้อย หากความสำเร็จนี้จะนำไปสู่การปรับรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลงตัว เป็นมิตร และเอื้ออาทรต่อกันอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ระหว่างฟุตบอลลีก กับฟุตบอลทีมชาติ โดยไม่มีฝ่ายใดอ้าง ‘ชาติ’ เพื่อเรียกร้องให้อีกฝ่ายต้องเสียสละจนเกินมากไป เพราะต่างฝ่ายต่างก็กำลังทำ ‘เพื่อชาติ’ เหมือนกัน เพียงแต่ชาติของเราอาจจะถูกนิยามแตกต่างกันบ้าง และการปรับนิยามของ ‘ชาติ’ ให้ยืดหยุ่นและโอบรับทุกกลุ่มทุกฝ่าย น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ ‘ชาติ’ เป็นที่รักของคนทั้งหลายได้มากขึ้น

 

เรื่อง: ชาลินี สนพลาย

ภาพ: Official กลุ่มบอลมาดาม

อ้างอิง:

Mainstand

Hello Magazine

Spring News

Prachatai

BBC