พันธ์เลิศ ใบหยก เจ้าของตำนาน “ตึกใบหยก” ตึกที่เคยสูงสุดของไทย

พันธ์เลิศ ใบหยก เจ้าของตำนาน “ตึกใบหยก” ตึกที่เคยสูงสุดของไทย
ยุคนี้มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เจอแต่ตึกระฟ้าสูงหลายร้อยเมตร แต่ถ้าย้อนไปหลายสิบปีก่อน ในยุคที่สังคมและเศรษฐกิจยังไม่เร่งผลักให้ต้องสร้างตึกเบียดเสียดทะลุฟ้ามากมายอย่างทุกวันนี้ “ตึกใบหยก” ทั้งใบหยก 1 และใบหยก 2 ต่างเคยครอบครองตำแหน่งตึกที่สูงที่สุดในไทยมาแล้วทั้งสิ้น และทั้งสองตึกที่ว่าล้วนมีผู้สร้างคนเดียวกัน คือ พันธ์เลิศ ใบหยก  พันธ์เลิศ เป็นรุ่นที่ 2 ของตระกูลใบหยก พ่อของเขาคือ เล็งเลิศ อาศัยสำเภาจากเมืองจีนมาเสี่ยงโชคในไทยและพบความสำเร็จจากกิจการโรงน้ำแข็ง รวมถึงเป็นผู้ประมูลได้ที่ดิน 40 ไร่ จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ในราคาตารางวาละ 600 บาท ซึ่งจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของธุรกิจใบหยกในเวลาต่อมา พันธ์เลิศซึ่งจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมงานกับพ่อหลังไปทำงานในบริษัทโฆษณา ฟาร์อีสแอสเวอร์ไทซิ่ง และ บมจ.แกรมมี่ อยู่ระยะหนึ่ง ตอนนั้นเล็งเลิศได้พัฒนาที่ดินประตูน้ำผืนนั้นจากแปลงปลูกผักให้กลายเป็นย่านตลาดค้าส่งผ้า แหล่งรับจ้างเย็บผ้า โรงหนัง และโรงแรมอินทราแล้ว ภายใต้ชื่อ บริษัท ภูมิภวัน จำกัด ซึ่งถือหุ้นร่วมกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (ต่อมากลุ่มใบหยกซื้อหุ้นคืนมาจนเกือบหมด) เมื่อรุ่นที่ 2 เข้ามาในยุคที่ย่านประตูน้ำกำลังจะเติบโตในแนวตั้ง ตอบรับความเป็นมหานครในยุคเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟู พันธ์เลิศก็ได้ร่วมกับคุณพ่อในการปั้นโครงการตึกใบหยก 1 ขึ้นก่อนบนที่ดินเดิมที่ตัดสินใจทุบโรงหนังสตาร์และสเตลล่า เพื่อสร้างโปรเจกต์มหึมา 2 หลัง ในที่สุด “ใบหยก 1” ก็แล้วเสร็จในปี 2530 ตึกน้องใหม่ของกรุงเทพฯ แห่งนี้เรียกทุกสายตาให้มองด้วยการไล่โทนสีของตึกเป็นสีรุ้ง พร้อมเรียกเสียงฮือฮาจากคนไทยด้วยความสูง 150.9 เมตร และจำนวนชั้น 42 ชั้น แซงหน้าอาคารธนาคารกรุงเทพบนถนนสีลมที่สูง 33 ชั้น ไปอย่างขาดลอย  หลังการสร้างตึกใบหยก 1 เสร็จสิ้นลง และเป็นที่ตั้งของโรงแรมใบหยก สวีท โฮเทล จำนวนกว่า 230 ห้อง การสร้างตึกใบหยก 2 ก็ดำเนินการต่อทันทีจากความคึกคักในย่านประตูน้ำ โดยเริ่มขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 และเปิดให้บริการในอีก 7-8 ปีต่อมา  โครงการตึกใบหยก 2 ภายใต้การกุมบังเหียนของแม่ทัพใหญ่นามว่า พันธ์เลิศ นับเป็นเรื่องฮือฮามากอีกครั้ง เพราะคราวนี้เขา “คิดใหญ่” วางแผนสร้างตึกที่มีความสูงถึง 304 เมตร ด้วยจำนวนชั้น 85 ชั้น ซึ่งนับว่าสูงเป็นสองเท่าของตึกใบหยก 1 ทั้งยังมีมูลค่าโครงการถึงราว 3.4 พันล้านบาท ซึ่งสูงมากในสมัยนั้น ประกอบกับการทำธุรกิจแบบ “โลว์ โปรไฟล์” ไม่ค่อยออกสื่อของตระกูลใบหยก ทั้งที่ทำโครงการยักษ์ใหญ่แบบนี้ ทำให้สังคมร่ำลือกันว่าใบหยก 2 เป็นโครงการที่จะไม่มีวันเสร็จ "ผมโชคดีที่เข้าบ้านทัน ปิดประตูปั๊บฝนก็ตกหนัก ในขณะที่คนอื่น ๆ ยังติดอยู่ข้างนอก แล้วก็พลอยโดนฟ้าผ่าพอดี" พันธ์เลิศกล่าวถึงโครงการก่อสร้างตึกใบหยก 2 ที่เสร็จสิ้นในราวปี 2539-2540 และกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย (ครองสถิติดังกล่าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปี 2559 ที่ตึก คิง เพาเวอร์ มหานคร ช่วงชิงแชมป์ไปครอง)  ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มก่อตัว แต่พื้นที่ศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าในตึกใบหยก 2 ก็เปิดให้บริการได้ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งจะมาเยือน และ 90% ของพื้นที่ค้าปลีก 500 ห้องในตึก ก็ถูกจองไปก่อนแล้ว 2 ปีก่อนที่ตึกจะเสร็จ ส่งให้ใบหยก 2 มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงอย่างหวุดหวิด จากนั้นส่วนโรงแรมใบหยก สกาย โฮเทล อีก 600-700 ห้อง และพื้นที่เช่าวางเสาสัญญาณโทรทัศน์ ก็ทยอยเปิดบริการในปี 2541-2542  อีกเรื่องที่โชคดีของพันธ์เลิศคือเขามิได้กู้เงินตราต่างประเทศเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว ทำให้บริษัทไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่าเงินบาทลอยตัวที่พาบริษัทไทยหลายแห่งล้มระเนระนาด พันธ์เลิศเคยให้สัมภาษณ์ทีเล่นทีจริงว่าเขาไม่กู้เงินจากต่างประเทศทั้งที่ดอกเบี้ยถูกมาก ไม่ใช่ว่ามองเห็นความเสี่ยง แต่เป็นเพราะเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ถนัด ทำให้ไม่ได้รับเงินกู้จากฝรั่ง  แม้ว่าจะผ่านพ้นมาได้ แต่ประสบการณ์จ่ายดอกเบี้ยก็ทำให้พันธ์เลิศ “เข็ด” และเลือกที่จะดำเนินธุรกิจแบบ “ไม่เสี่ยง” และ “ไม่กู้” ตึกใบหยก 2 จึงเป็นโครงการสุดท้ายของครอบครัวที่มีการกู้เงินจากธนาคารคือธนาคารกสิกรไทย วิธีการทำธุรกิจของพันธ์เลิศ นอกจากจะ โลว์ โปรไฟล์ แล้ว เขายังมองต่างเรื่องตลาด ตัวอย่างเช่นตึกใบหยกทั้ง 2 แห่ง ทั้งที่เป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศ ณ ขณะนั้น แต่เขาเลือกวางโพสิชันการตลาดให้เป็นโรงแรม 3-4 ดาวเพื่อเจาะตลาดกลาง ซึ่งมีความต้องการที่ละเอียดอ่อนน้อยกว่าตลาดไฮเอนด์ 5 ดาว ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเขามองขาดในจุดนี้ เพราะจนถึงปี 2561 โรงแรมใบหยกยังมีอัตราเข้าพักที่ 80% เหนือกว่าตลาดรวมโรงแรมภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯ) ที่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 76% ทั้งที่เปิดบริการมานาน 2 ทศวรรษ นอกจากนี้ พันธ์เลิศยังถูกกล่าวขานเรื่องความเจนจัดในงานจัดซื้อ ทำให้เขาต่อราคาได้ถูกและบริหารต้นทุนได้ดี เนื่องจากไม่ใช้เงินโดยไม่จำเป็นในการทำธุรกิจ (รวมถึงชีวิตส่วนตัวด้วย) โดย บริษัท ภูมิภวัน จำกัด ซึ่งบริหารตึกใบหยก 2 ยังทำรายได้ 1.6 พันล้านบาท และกำไร 111 ล้านบาทในปี 2561  ความเป็นพ่อค้านักจัดซื้อและนักต่อราคาของพันธ์เลิศ ยังถูกนำไปใช้ในการเล็งซื้อที่ดินเพื่อทำกำไร ที่ดินหลายแปลงของตระกูลใบหยกนั้นเป็นมรดกมาตั้งแต่รุ่นเล็งเลิศ และบางส่วนพันธ์เลิศก็เป็นผู้ซื้อเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาเป็นโรงแรม ก่อนที่จะขายบางแปลงออกไปเพื่อทำกำไรตามจังหวะโอกาส จากนั้นเขาก็จะลงทุนใหม่ในที่ดินศักยภาพ การทำธุรกิจเช่นนี้ของพันธ์เลิศเป็นหัวใจของการเจริญเติบโตของกลุ่ม ปัจจุบัน กลุ่มใบหยกซึ่งมีพันธ์เลิศนั่งตำแหน่งประธาน มีโรงแรมในพอร์ต 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว อย่าง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หัวหิน และ เกาะสมุย ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ตามแผนการทำงานที่พันธ์เลิศกรุยทางเอาไว้ ยกเว้น โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว รวมถึงยังมีธุรกิจตลาดค้าส่งย่านประตูน้ำ บี-แกลลอรี่ ที่ยังคงดำเนินงาน นอกจากนั้นยังมีพอร์ตเครือร้านอาหารญี่ปุ่น บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่ง ปิยะเลิศ ใบหยก ลูกชายคนโตของพันธ์เลิศ เป็นแกนหลักในการแตกไลน์ออกไป ดีเอ็นเอปรัชญาการทำงานแบบพันธ์เลิศถูกส่งต่อให้กับผู้รับไม้ต่อ ซึ่งก็คือลูก ๆ ทั้ง 4 คน ด้วยการทำธุรกิจที่ไม่กู้ ไม่เสี่ยง เน้นการลงทุนที่ดิน และทำธุรกิจแบบเงียบ ๆ แต่ให้งานที่ออกมาโฆษณาตัวของมันเองให้มากที่สุด    ที่มา http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1502 http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=4726 นสพ.บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2541 https://www.prachachat.net/d-life/news-21231 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า   เรื่อง: Synthia Wong