สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ

สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ
“ศิลปิน” อาจเป็นคำที่ดูหรูหราในสายตาคนทั่วไป แต่จริงๆ แล้วศิลปินก็เป็น “คน” คนหนึ่งที่ทำมาหากินจากการสร้างสรรค์งานศิลปะตามรูปแบบที่ถนัด ป่าน - ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ก็เป็นคนคนหนึ่งที่ลาออกจากงานประจำ และมุ่งมั่นทำงานศิลปะในฐานะศิลปินอย่างเต็มตัว เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะแนวแอ็บสแตร็กส์ (Abstracts) หรือศิลปะนามธรรมที่การตีความแปรผันไปตามประสบการณ์ส่วนบุคคล โดดเด่นด้วยการใช้ “มือ” เป็นอุปกรณ์สร้างสรรค์ วาดออกมาตามความรู้สึก ถ่ายทอดอารมณ์จากมือสู่ผ้าใบ และถึงแม้ว่าผลงานของเธอจะสวยงามเพียงใด ทว่าชีวิตจริงกลับไม่สวยงามเหมือนงานศิลปะนัก ปัณยวีร์ต้องเผชิญหน้ากับความกระเสือกกระสนตลอดชีวิต กว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้ สำหรับเธอ มือจึงไม่ใช่เครื่องมือสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับเธออย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างชีวิตของเธอเช่นกัน ด้วยคำสั้นๆ แค่เพียง “ลงมือทำ”   สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ   The People: ชีวิตก่อนมาทำงานศิลปะเป็นอย่างไรบ้าง ปัณยวีร์: เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก สมัยประถมฯ มีหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับรามเกียรติ์ เราชอบรามเกียรติ์มากจึงเริ่มวาดตามรูปในหนังสือมาเรื่อยๆ กระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัย บ้านเราโดนผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ค่อนข้างลำบาก คุณแม่ก็บอก “อย่าไปเรียนศิลปะเลย เราสามารถเป็นนักธุรกิจที่ชอบวาดรูปได้ แต่ไม่สามารถเป็นนักวาดรูปที่หาเงินได้” ตอนนั้นเราก็เชื่อนะเพราะจนจริงๆ บ้านโดนยึด ไม่มีไฟฟ้า โดนถอดหม้อแปลง จุดเทียนไขเป็นเดือนๆ ข้าวบูดก็ต้องกิน เราไม่ใช่แค่ไม่มีเงิน แต่ไม่มีอะไรจะกินแล้ว ตอนนั้นก็เลยคิดว่าต้องหาอาชีพที่มั่นคง เผอิญว่าเราชอบสายธุรกิจ และคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ไม่ตาย จึงตัดสินใจสอบเข้าสาขาวิชาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำได้ว่าอ่านหนังสือสอบแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว อ่าน 3 ทุ่มถึงตี 3 ทุกวัน ตอนนั้นแม่ก็บอกว่า ถ้าสอบไม่ติดแสดงว่ายังไม่มีความพยายามมากพอ ปรากฏว่าสอบติดคนแรกของโรงเรียน แต่โชคร้าย เราไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม โชคดีหน่อยที่มีคนเข้ามาช่วยเหลือ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่บอกตัวเองว่า ถ้าเราพยายามมาถึงจุดหนึ่งจะมีคนช่วยเสมอ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยวันแรก คุณแม่ก็ป่วยเข้าโรงพยาบาลอยู่ ICU ประมาณหนึ่งปี พอเริ่มชินว่าจะต้องลำบากในการใช้ชีวิตประมาณนี้ เปิดเทอมปี 3 คุณแม่ก็จากไป ช่วงนั้นเรียนหนักมาก ค่าเทอมก็แพง จึงต้องหาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเริ่มหางานพิเศษ เราเคยทำพีอาร์ร้านเหล้าก็ไม่ชอบให้ใครมาเตะเนื้อต้องตัว เคยเอาขนมใส่ตระกร้าไปเดินขายที่ตลาดรถไฟ ทำไปสักพักก็มีคนเข้ามาช่วยเหลืออีก นั่นเป็นการตอกย้ำว่า เราต้องพยายามให้ถึงที่สุดแล้วจะมีคนให้โอกาส ถ้ามัวแต่โวยวายต่อชะตากรรมชีวิต ไม่มีใครอยากช่วยหรอก พอจบออกมาก็มีโอกาสฝึกงานที่การบินไทยเพื่อความมั่นคง   The People: แสดงว่าจบออกมา คุณยังไม่ได้แตะงานศิลปะเท่าไหร่ ปัณยวีร์: ไม่ได้ทำเลย เราทำงานโปรดักชันคอนเสิร์ต ทำงานเพื่อสังคม มีแวะไปทำงานคอมเมอร์เชียลอยู่ช่วงหนึ่ง พอไม่ใช่ทางก็กลับมาทำงานสังคมอีกครั้ง เราเริ่มแตะศิลปะตอนเป็นผู้ช่วยศิลปินท่านหนึ่ง เขาเป็นคนที่ทำให้เราอยากวาดรูป เพราะเขาทำทุกอย่างที่เราเกลียด เรารู้สึกว่าเขาไม่ใช่ศิลปิน ถ้าคุณไม่ละเอียดอ่อนแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ ในชีวิต แล้วคุณจะทำงาน inspire คนอื่นได้อย่างไร สุดท้ายก็ออกมาแล้วจดโดเมนเว็บไซต์เป็นชื่อตัวเองเลย ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้เลยนะว่าจะทำอะไร แต่เราจดโดเมนไปก่อนแล้ว   The People: คุณเจอศิลปินที่ไม่ใช่ “ศิลปิน” ตามความคิดเรา ปัณยวีร์: ใช่ มันไม่จริง ขณะที่เราอยากเป็นศิลปินที่มันจริง ตอนนั้นทำงานเป็นที่ปรึกษาแบรนด์ 2-3 แบรนด์ และก็วาดรูปไปเรื่อยๆ สุดท้ายมีคนรู้จักชวนไปทำงานศิลปะครั้งแรกที่ผนังหน้าห้องน้ำเอสพลานาด รัชดา เราเห็นโอกาสก็ตกลงทำทันที ปรากฏว่าทำไม่ได้ ร้องไห้ไป 3 วัน เพราะเรายังไม่มีสไตล์ชัดเจน ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางเป็นงานอย่างที่เห็นทุกวันนี้   [caption id="attachment_3572" align="alignnone" width="904"] สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ ภาพจาก IG @panyavee.art[/caption]   The People: ทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นการใช้มือวาดสีแทนการใช้พู่กัน ปัณยวีร์: ถามว่ามีพู่กันไหม มี แต่ทำไม่ได้ ทักษะเราระดับอนุบาลมาก มีคนอื่นทำได้ดีกว่าหลายคน แต่สิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้คือการใช้มือ เราใช้มือเพราะทันใจ รู้สึกก็ทำเลย เวลาเพนต์จึงไม่มีตัวกลาง มีแค่สี มือ และผ้าใบ คนส่วนใหญ่มองว่า “ก็แค่การสาดสี” แต่มันไม่ใช่ ทุกการเพนต์ต้องคิดว่าจะวาดไปทางไหน เพราะน้ำหนักมือแต่ละนิ้วไม่เท่ากัน นิ้วกลางแบบหนึ่ง นิ้วก้อยแบบหนึ่ง พอเปลี่ยนมือซ้ายก็อีกอารมณ์หนึ่ง มันมีจังหวะอะไรอีกมากมาย ซึ่งตอนแรกๆ กะไม่ถูก ใส่อารมณ์เยอะมาก กลับบ้านมาแล้วปวดแขนนอนไม่หลับเหมือนเวลาออกกำลังกายหนักๆ ตอนหลังจึงรู้ว่าควรเหวี่ยงแขนแบบไหนจะได้ลายแบบไหน มือจึงกลายเป็นพู่กันแบบหนึ่งที่ควบคุมและสื่อสารกับเรา   The People: ผลงานที่ทำออกมาส่วนใหญ่เป็นแนวแอ็บสแตร็กส์ คุณรู้จักศิลปะแนวนี้มาก่อนหรือเปล่า ปัณยวีร์: เพิ่งรู้ว่าตัวเองทำงาน Action Painting ไม่ใช่ Abstract Painting หลายคนบอกว่าเหมือน แจ็กสัน พอลล็อก พอได้ศึกษาและนำมาเปรียบเทียบก็พบว่า มันคือการทำงานของ movement ที่เราชอบ ตอนแรกเหมือน X-Men ที่ยังควบคุมพลังตัวเองไม่ได้ รู้แค่ว่าสาดสีแล้วสวยหรือไม่สวย มีเสน่ห์หรือไม่มีเสน่ห์ แต่ทุกคนบอกว่าเป็นงานแอ็บสแตร็กส์ ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแอ็บสแตร็กส์คืออะไรเพราะไม่ได้เรียนมา เราแค่ชอบงานแบบนี้ ชอบน้ำหนัก ชอบสี ชอบรอยสาด และชอบการสื่อสารเรื่องราวที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงแรกเราจึงไม่เขียนคอนเซปต์งานด้วยซ้ำ มีแต่ชื่อผลงาน เพราะอยากให้คนดูตีความจากภาพที่เห็น หนึ่งคือเปิดกว้างให้ตีความ และสองคือไม่บังคับคนอื่นเกินไป มันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ เราคิดว่างานศิลปะต้องเผื่อให้คนอื่นตีความ ไม่ใช่บอกว่างานศิลปะนี้เหมาะกับคุณ นั่นเป็นงานดีไซน์ที่ดีไซน์เนอร์คิดมาแล้วทำออกมาเพื่อคนนั้นๆ แต่แอ็บสแตร็กส์เป็นเรื่องของคนทำครึ่งหนึ่ง และคนดูอีกครึ่งหนึ่ง วันหนึ่งคุณมองเห็นเป็นแมงมุม อีกวันมองเป็นสิงโต วันหนึ่งเป็นท้องฟ้า อีกวันเป็นทะเลก็ได้ หน้าที่ศิลปินคือโยนไม้ต่อให้คนดู ไม่ใช่สั่ง   The People: เหมือนในที่คุณเคยบอกว่า “Art speaks louder than words” ใช่ไหม ปัณยวีร์: เราไม่สามารถพูดความรู้สึกออกมาทั้งหมดให้คนเข้าใจได้ คำพูดอาจสื่อความได้ แต่ศิลปะสื่อสารได้กว้างและเข้าใจมากกว่า เพราะแต่ละคนมีภูมิหลังชีวิตไม่เหมือนกัน ชุดความคิดก็จะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเขียนความคิดออกไปจะกลายเป็นการอธิบาย จริงๆ อาจไม่ใช่ louder ด้วยซ้ำ แต่คือ wider ที่กว้างและลึกกว่า เพราะคุณได้ใช้ส่วนของคุณทำความเข้าใจงานศิลปะนั้นด้วย สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ The People: ออกจากงานประจำมาทำงานศิลปะเต็มตัวแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ปัณยวีร์: เราทำมา 5 ปีแล้ว แต่ออกมาทำงานเต็มตัวจริงๆ ประมาณ 1 ปี ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเราวิ่งทำงานไม่หยุด และหยุดไม่ได้ด้วย การทำงานศิลปะคือการทำมาหากินแล้ว ไหนจะค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเช่าห้อง ค่าเช่าสตูดิโอ หรือค่าอุปกรณ์ทำงาน เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนค่อนข้างสูง เราจึงต้องหาเงินให้ได้มากกว่านั้น 1 ปีที่ผ่านมาถือว่ารอดนะ หมุนเงินไม่ทันก็ยืมเพื่อนบ้าง (หัวเราะ) ตอนนี้เหมือนเราได้ดีไซน์ชีวิตตัวเอง ตื่นกี่โมงก็ได้ นอนกี่โมงก็ได้ อยากทำกินชา กาแฟ ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือพักงีบหน่อยก็ได้ มันเป็นชีวิตของเรา แต่ก็แลกกลับความไม่แน่นอนในการหารายได้ ทุกคนชอบบอกเราให้ไปทำงานประจำเวลาเครียดเรื่องเงิน แต่ทุกครั้งที่เครียด อีกสองวันเราจะได้เงิน (หัวเราะ) มันเป็นการย้ำว่า “มึงทำอันนี้ดีแล้ว”   The People: กระบวนการหาเงินจากศิลปะมีอะไรบ้าง ปัณยวีร์: งานที่ได้เงินจริงๆ คือ Private Commissions หรืองานวาดภาพตกแต่งบ้านคนรวยซึ่งทำเป็นสัญญา ส่วนงานส่วนตัวไม่ค่อยได้เงินเท่าไหร่ นิทรรศการก็ไม่ได้เงินมากนัก แต่เราชอบทำงานกับคนทั่วไปมากกว่า เราถึงทำงานในเรทราคาที่แตกต่างกันเป็นช่วงๆ เช่น งาน Live Paintings ที่เริ่มประมูลในหลักร้อย ไล่ราคาไปเรื่อยๆ จนถึงพัน เพราะเราคิดว่าทุกคนควรได้เป็นเจ้าของงานศิลปะ   The People: งานศิลปะมักผูกติดกับรสนิยมคนรวย แล้วคนทั่วไปจะเข้าถึงได้อย่างไร ปัณยวีร์: ก็สิ่งที่เราโพสต์อยู่ทุกวันนี้ไง มันก็เหมือนเราไม่มีโอกาสได้เห็นงานพอลล็อกของจริง เพราะการเข้าถึงไม่ได้หมายความว่าต้องครอบครอง การครอบครองมันให้อีกอารมณ์หนึ่ง และมีเลเวลของการครอบครองด้วย เวลาคุณไปเดินนิทรรศการคุณไม่สามารถนำงานศิลปะกลับบ้านได้ แต่เราได้ประสบการณ์การชมศิลปะนั้นๆ แล้ว   The People: ทุกวันนี้มีคนทำงานศิลปะเยอะมาก แล้วเราจะอยู่รอดในตลาดนี้อย่างไร ปัณยวีร์: ครั้งหนึ่งไปทำงานอ่านหนังสือที่บาร์ พี่คนหนึ่งบอกว่า “เพื่อนทำงานศิลปะมา 20 ปีตอนนี้ไม่มีจะแดกเลย” ตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองโชคดีจัง แต่เราก็คิดอยู่เสมอว่าความโชคดีไม่มีจริง ทุกอย่างมาจากการลงมือทำ มันไม่เกี่ยวว่าเขาไม่ดังหรือไม่มีชื่อเสียง แต่คือไม่พยายามมากพอหรือเปล่า ถ้าไม่สู้ และอายที่จะพูดถึงงานตัวเอง คนก็จะไม่รู้ว่าคุณมีผลงานด้วยซ้ำ   The People: หมายความว่าต้องพรีเซนต์ตัวเองเหรอ ปัณยวีร์: ไม่ได้หมายความว่าต้องพรีเซนต์ตัวเอง แต่งานศิลปะมันต้องเล่าและนำพา คิดง่ายๆ เวลาจีบผู้หญิงสวยๆ ถ้าคุณไม่คุยมันจะเกิดเป็นความสัมพันธ์ได้อย่างไร จำไว้เลยว่าทุกวันนี้แค่โพสต์รูปหนึ่ง ผ่านไป 3 วันคนก็ลืมแล้ว ถ้าคุณหายไปคนก็ลืมคุณ เพราะฉะนั้นอย่าอายว่าต้องเป็นงานที่สุดแล้วค่อยแชร์ ถึงตอนนั้นคุณอาจไม่มีเงินกินข้าวแล้วก็ได้ จะรอทำไม ยอมรับไปเลยดีกว่าตอนนี้ห่วย ดีเสียอีกที่คนจะได้เห็นการเติบโต ตอนนี้เรากำลังจะก้าวไปอีกขั้น ไม่ได้ทำ Traditional Printing แปะผนังเหมือนเดิมอย่างเดียว ล่าสุดกำลังทำ Installation จัดแสดงในงาน Low Fat Art Fes วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่ 6 โมงเย็นที่โรงเกลือแหลมทอง ท่าดินแดง ย่านคลองสาน ทำงานโดยการใช้สีและน้ำแข็งขนาดใหญ่ 50 เซนติเมตร 12 อันมาเจาะลงสี ตั้งแต่วาดรูปมายังไม่เคยมีโมเมนต์นี้เลย โมเมนต์ที่มองว่าน้ำแข็งแต่ละก้อนเป็นลูกของเรา (หัวเราะ) ทำไมสวยงามขนาดนี้ เราเลยสนใจงาน Installation และอยากก้าวไปอีกเรื่อยๆ งานนี้ได้คอนเซปต์ว่า “Every Pain is Temporary” ทุกความเจ็บปวดเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ความเจ็บปวดทำให้เราสวยงาม มันคือตัวตนของเรา ต่อให้ไม่สมบูรณ์ก็เป็นเสน่ห์ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่สมบูรณ์นั้นๆ เพราะทุกความไม่สมบูรณ์มีความสวยงามเท่ากัน   The People: คิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะมาเป็นศิลปินเต็มตัว ปัณยวีร์: คิด และคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมีชื่อใน Wikipedia ให้ได้ แต่ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นเพราะทุกวันนี้ก็ทำได้แล้ว แต่ goal สำคัญคืออยากเป็นคนที่ inspire คนอื่น และจะทำได้อีกถ้าเราเติบโตขึ้น มันต้องต่อสู้มากๆ เลย เพราะเราไม่อยากลำบากแบบเดิมอีกแล้ว   [caption id="attachment_3573" align="alignnone" width="1080"] สัมภาษณ์ ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ความอยู่รอดของศิลปิน กับชีวิตที่ไม่สวยงามเหมือนศิลปะ ภาพจาก IG @panyavee.art[/caption]