บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต?

บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต?

บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต?

***หมายเหตุ - บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องส่วนสำคัญของหนัง ปรากฏการณ์ Parasite สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจขึ้น เมื่อ ‘Parasite ชนชั้นปรสิต’ หนังเกาหลีใต้เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้เข้าฉายในไทย จากตอนแรกที่ดูเหมือนว่าหนังจะเข้าฉายโรงน้อย ๆ แล้วลาโรงไปแบบเงียบ ๆ (เหมือนหนังรางวัลทั่วไป) แต่ต่อมาได้เกิดเสียงชื่นชมตัวหนังแบบปากต่อปากและเกิดเป็นกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้ยิ่งฉาย รายได้หนังก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการเพิ่มรอบกับโรงฉายในเวลาต่อมา ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่น่ายินดี และเป็นการสร้างความแตกต่างในยุคที่โรงหนังมัลติเพล็กซ์มักเปิดพื้นที่ให้กับหนังฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์เป็นหลัก ส่วนหนังทางเลือก (ซึ่งไม่ใช่แค่หนังอาร์ตเฮาส์ดูยาก แต่หนังฟอร์มกลาง ๆ หรือหนังที่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูดก็ถูกผลักให้เป็นหนังทางเลือกไปเสียหมด) มักได้ฉายแบบจำกัดโรง-รอบ และถูกถอดจากโปรแกรมอย่างรวดเร็ว การที่หนังเรื่องนี้ฮิตเกินคาดเกิดจากอะไร? สาเหตุที่เห็นได้ชัดคือมันเป็นหนังแมสที่ดูสนุก ครบรส ลุ้นระทึก คาดเดาเรื่องไม่ได้ ชวนให้ติดตาม ซึ่งต้องชื่นชมฝีมือการกำกับของบองจุนโฮที่แม่นยำและกำหนดอารมณ์ร่วมของผู้ชมได้ราวกับเสกเวทมนตร์ ทำให้แม้แต่ผู้ชมที่ต้องการดูหนังแค่เอามัน ไม่ได้สนใจในเชิงศิลปะหรือประเด็นทางสังคม Parasite ก็ยังตอบโจทย์ได้ดีอยู่ (ผิดจากภาพจำของหนังปาล์มทองคำที่เป็นหนังน่าเบื่อเข้าใจยาก) นอกจากในไทย หนังเรื่องนี้ยังทำรายได้ดีในประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส ฯลฯ ทำให้มันมีโอกาสที่จะเป็นหนังปาล์มทองคำทำรายได้สูงสุดทั่วโลก (แซงแชมป์เก่าอย่าง Fahrenheit 9/11 (2004)) ซึ่งการที่ Parasite เป็นได้ทั้งหนังรางวัลฉายเทศกาลและหนังแมสทำเงินนั้น เป็นการสะท้อนถึงจุดเด่นของวงการหนังเกาหลีใต้ซึ่งมีหนังหลายเรื่องที่ทำได้ดีในสองแนวทางพร้อมกัน เช่น Old Boy, The Wailing, The Handmaiden เป็นต้น (หนังไทยลักษณะนี้ในยุคหลัง ได้แก่ ฉลาดเกมส์โกง) นอกเหนือจากความสนุก สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับการพูดถึงและเขียนถึงอย่างมากก็คือประเด็นที่อยู่ในหนังอย่าง 'ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น’ ซึ่งนับวันก็ยิ่งขยายช่องว่างและยากที่แก้ไข มันเป็นประเด็นที่มีความร่วมสมัย มีพลัง เป็นสากล ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกมีส่วนร่วม ทำให้ถึงแม้มันจะเป็นหนังเกาหลี แต่ผู้ชมในไทยก็เก็ตและอินไปกับหนังได้ไม่ยาก ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้ Parasite เหมาะแก่การดูควบคู่กับหนังเกาหลีเรื่อง Burning , หนังญี่ปุ่นเรื่อง Shoplifters, หนังอเมริกาเรื่อง The Florida Project และ Us ซึ่งหนังเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นกำลังได้รับความสนใจจากคนทำหนังยุคนี้จากทุกมุมโลก และเชื่อว่าต่อไปเราจะได้ดูหนังที่พูดถึงเรื่องนี้อีกเรื่อย ๆ หมายเหตุ - จุดเด่นของผู้กำกับบองจุนโฮคือการทำหนังสะท้อนปัญหาสังคมผ่านหนัง genre ต่าง ๆ เช่น Memories of Murder (หนังสืบสวนคดีฆาตกรรม), The Host (หนังสัตว์ประหลาด), Snowpiercer (หนังไซไฟหลังโลกล่มสลาย) ฯลฯ ส่วน Parasite ไม่ได้อยู่ใน genre ไหนชัดเจน เพราะมีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแนวตลกร้าย ดราม่า ระทึกขวัญ ลึกลับสืบสวน สะท้อนสังคม ฯลฯ #ขอโทษนะคะที่จน ตัวเอกของ Parasite ได้แก่ 'ครอบครัวคิม' ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 คนอย่างพ่อ/แม่/ลูกชาย/ลูกสาว พวกเขาอาศัยอยู่ในตึกแถวซอมซ่อ, ตกงาน, ลูกทั้งสองคนเรียนไม่จบ, ถังแตก, ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างพับกล่องพิซซ่า ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปเมื่อลูกชายบ้านคิมได้งานเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษ (โดยเขาแอบอ้างว่าเรียนจบปริญญาเพื่อให้ได้งานนี้) ให้กับลูกสาวของ 'ครอบครัวพัค' โดยครอบครัวนี้เป็นเศรษฐีใหม่ที่อาศัยอยู่ในบ้านหรูหรา ประกอบด้วยสมาชิก 4 คนอย่างพ่อ/แม่/ลูกสาว/ลูกชาย ลูกชายบ้านคิมซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนมากได้เกิดไอเดียในการพาสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ มาทำงานในบ้านนี้ด้วย เริ่มจากลูกสาวบ้านคิมที่แอบอ้างว่าเป็นครูสอนศิลปะบำบัดจบนอกซึ่งรับหน้าที่สอนลูกชายบ้านพัค ตามมาด้วยพ่อที่มาเป็นคนขับรถ และแม่ที่มาเป็นแม่บ้าน ซึ่งทั้งสี่คนต้องทำเป็นไม่รู้จักกัน แต่แผนการที่ดูจะราบรื่นกลับลงเอยด้วยความผิดพลาดและความรุนแรง หากวัดจากมาตรฐานศีลธรรมทั่วไป ครอบครัวคิมถือว่าสอบตกเนื่องจากพวกเขาปลอมแปลงเอกสารและปิดบังตัวตนที่แท้จริงเพื่อให้ได้งาน นอกจากนั้นยังใช้วิธีสกปรกในการทำให้คนขับรถและแม่บ้านคนเก่าถูกไล่ออก แต่ผู้ชมก็ไม่อาจมองว่าพวกเขาเป็นผู้ร้ายหรือคนชั่วแบบเต็มตัว เพราะมันถือเป็นหนทางเอาตัวรอด (แบบทางลัด) ในสภาวะสังคมที่ปิดกั้นโอกาสคนอย่างพวกเขา ที่น่าสนใจคือครอบครัวคิมนั้นไม่ได้เข้าข่าย 'โง่ จน เจ็บ' แบบมายาคติที่คนจนถูกมอง แต่พวกเขาฉลาดและมีความสามารถ พ่อเป็นคนขับรถชั้นยอด แม่เป็นแม่บ้านที่ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้แม่บ้านคนเก่า ลูกชายเก่งด้านภาษา ลูกสาวเก่งด้านโฟโตชอปและปลอมแปลงเอกสาร (จนพ่อเธอบอกว่าถ้ามีเรียนเอกด้านนี้เธอคงได้เกียรตินิยม) ซึ่งถ้าเป็นสังคมในอุดมคติที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเท่ากัน พวกเขาคงหางานทำเพื่อสร้างฐานะและไต่เต้าสู่ชีวิตที่ดีได้ไม่ยาก แต่ในโลกแห่งความจริง การไม่มีเส้นสายหรือทุนรอน มันก็ยากที่จะผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จหรือถีบตัวเองไปสู่สถานะที่สูงกว่า แม้จะใช้ชีวิตร่วมกับชนชั้นสูง แต่ครอบครัวคิมก็ไม่อาจทำตัวกลมกลืนไปกับพวกเขา ซึ่งความแปลกแยกของพวกเขาเห็นได้ชัดตั้งแต่กลิ่นตัว ซึ่งพ่อบ้านพัคอธิบายว่าเคยได้กลิ่นบ่อย ๆ ตอนที่ขึ้นรถไฟใต้ดิน มันเป็นกลิ่นอับ ๆ เหมือนผ้าขี้ริ้ว ซึ่งเราสามารถอธิบายโดยใช้คำพูดแบบไทย ๆ ได้ว่า ‘กลิ่นสาบคนจน’ มันคือกลิ่นเหงื่อ กลิ่นที่ติดมาจากห้องเหม็นอับ ซึ่งเป็นกลิ่นติดตัวในแบบที่ปิดบังไม่ได้ ต่างจากพวกคนรวยที่ไม่มีกลิ่นแบบนี้ติดตัวอยู่ อันที่จริงรูปลักษณ์ของพวกคนรวยนั้นแทบจะไม่มีรอยตำหนิยับย่น (“เงินช่วยรีดทุกอย่างให้ดูเรียบ” ตัวละครหนึ่งกล่าวไว้) เห็นได้จากบรรดาแขกไฮโซที่มาร่วมงานปาร์ตี้ในสวนของบ้านพัค ซึ่งลูกชายบ้านคิมบอกว่าพวกเขาช่างดูดีอย่างเป็นธรรมชาติในแบบที่ไม่ต้องพยายามทั้งที่เป็นการนัดแบบกะทันหัน (ในขณะที่ลูกชายบ้านคิมต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะมาถึงจุดที่ยืนอยู่ได้ แถมพยายามเท่าไรก็ไม่ดูดีแบบพวกเขา) นอกจากนั้นความลำบากของชนชั้นล่างยังอยู่ที่เวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤต พวกเขาจะได้รับความเสียหายมากกว่า เห็นได้จากตอนที่เกิดฝนตกน้ำท่วมอย่างหนัก ปัญหาของบ้านพัคมีแค่ออกไปแคมปิ้งนอกบ้านไม่ได้จนต้องกลับมาจัดงานเลี้ยงที่บ้าน แต่สำหรับคนจน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบ้านของพวกเขาเสียหายอย่างหนักจนผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหลายร้อยคนต้องไปนอนรวมกันในหอประชุม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเวลาเกิดปัญหาอะไรในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ ชนชั้นล่างมักจะเป็นฝ่ายเดือดร้อนกว่าเสมอ ด้วยความที่ชนชั้นล่างไม่ค่อยมีระบบหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะมารองรับเวลาเกิดความผิดพลาด ทำให้แผนการต่าง ๆ ที่พวกเขาวางไว้มักจะผิดแผนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นทำให้คำพูดของคุณพ่อบ้านคิมที่บอกว่า “แผนที่ดีที่สุดคือการไม่วางแผน” ซึ่งดูเป็นคำพูดลอย ๆ ไม่แสดงถึงความรับผิดชอบ กลับกลายเป็นคำพูดที่ฟังมีเหตุผลไปเสียอย่างนั้น #ฉันผิดตรงไหนที่รวย มิตรสหายของผมให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ถ้าครอบครัวคิม (รวมถึงผู้ชมที่อินไปกับหนัง) อยากจะอุทานออกมาว่า “ขอโทษนะคะที่จน” ครอบครัวพัคก็สามารถบอกได้เช่นกันว่า “ฉันผิดตรงไหนที่รวย” เพราะการที่พวกเขาร่ำรวยนั้นเป็นไปตามครรลองของระบบทุนนิยม พวกเขาทำอาชีพสุจริต ไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนั้นหนังยังไม่ได้แสดงภาพของพวกเขาเป็นตัวร้าย พวกเขามีความสุภาพ ฉลาด นิสัยดี มีเหตุมีผล พวกเขาทำในสิ่งที่คนรวยพึงจะทำเช่น จัดปาร์ตี้ หรือใช้เงินซื้อความสุข การที่พวกเขาเป็นคนดีสามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดของคุณแม่บ้านคิมที่ว่า “เพราะพวกเขารวย เขาถึงนิสัยดี ถ้าฉันรวยเท่าพวกเขา ฉันจะนิสัยดีกว่านี้อีก” การที่พวกเขารวยและมีทรัพยากรทุกอย่างพร้อมทำให้พวกเขาทำตัวเป็นคนดีได้ ซึ่งถ้าครอบครัวคิมรวยแบบเดียวกัน พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องโกหกหรือใช้แผนสกปรกเพื่อให้มีงานทำ ซึ่งหากพิจารณาดี ๆ จะพบว่าตัวร้ายของหนังไม่ใช่ครอบครัวพัค แต่คือระบบที่ไม่เป็นธรรม มันคือระบบที่ส่งให้ครอบครัวพัครวยล้นฟ้าและกดให้ครอบครัวคิมต้องลำบาก มันคือระบบที่ทำให้คนรวยกระจุกตัวอยู่แค่ 1% ของประชากร มันคือระบบที่ทำชนชั้นล่างไม่อาจถีบตัวขึ้นไปเป็นชนชั้นสูงได้ง่าย ๆ ซึ่งระบบไม่เป็นธรรมดังกล่าวนี้ดูจะมั่นคงถาวรโดยไม่มีสิ่งใดสามารถลบล้างมันได้ ส่วนความผิดของพ่อบ้านพัคอยู่ที่ความ ignorance หรือความเฉยเมยต่อปัญหาหรือความทุกข์ยากของชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าตัวเอง รวมถึงเฉยเมยต่อระบบที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งโทษของมันก็นำพาไปสู่การถูกคุณพ่อบ้านคิมเอามีดแทงด้วยความโกรธแค้นจนตาย #แกจน #แกน่ะสิที่จน ความน่าสนใจของหนังอยู่ที่คู่ปะทะหลักไม่ได้เป็นชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง แต่เป็นการปะทะกันเองระหว่างชนชั้นล่างภายใต้ชายคาบ้านของชนชั้นสูง (โดยที่ชนชั้นสูงไม่รู้เห็น) โดยคู่ปะทะของครอบครัวคิมได้แก่แม่บ้านคนเก่าที่ถูกไล่ออกและสามีของเธอที่หลบซ่อนอยู่ในห้องใต้ดินของบ้านครอบครัวพัค เพราะต้องการซ่อนตัวจากคนทวงหนี้นอกระบบ (เจ้าของบ้านคนเก่าที่เป็นสถาปนิกซึ่งออกแบบบ้านหลังนี้ได้สร้างห้องลับใต้ดินเอาไว้เพื่อหลบภัยต่าง ๆ รวมถึงเกาหลีเหนือ ซึ่งครอบครัวพัคได้ซื้อบ้านหลังนี้มาต่อโดยที่ไม่รู้เรื่องนี้) แม่บ้านคนเก่าได้ขอร้องให้คุณแม่บ้านคิมช่วยปิดบังความลับเรื่องสามีของเธอและคอยส่งอาหารให้เขาโดยเห็นแก่ความเป็นคนจนเหมือนกัน แต่คุณแม่บ้านคิมกลับปฏิเสธโดยบอกว่าฉันไม่ได้จนเหมือนแก ซึ่งแสดงถึงการที่คนชนชั้นเดียวกันไม่จับมือช่วยเหลือกัน (ส่วนเรื่องการจับมือกันเพื่อล้มล้างระบบนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง) แต่ต่อสู้กันเพื่อจะได้เป็นฝ่ายที่ได้ใช้ทรัพยากรของครอบครัวพัคฝ่ายเดียว อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่คุณพ่อบ้านคิมสงสัยว่าคนขับรถที่ตกงานจะได้งานใหม่หรือยัง ซึ่งลูกสาวตอบกลับมาว่าอย่ามัวไปสนใจคนอื่น ให้สนใจแต่พวกเรากันเองดีกว่า ซึ่งถือเป็นการแยกกลุ่มตัวเองออกจากกลุ่มคนจนคนอื่น ๆ สำหรับสถานะของครอบครัวพัคในมุมมองของครอบครัวชนชั้นล่างนั้น พวกเขาไม่ใช่ศัตรูตัวร้ายหรือกลุ่มคนที่ควรถูกกำจัด แต่เป็นบุคคลที่ควรชื่นชมและสำนึกบุญคุณ โดยในมุมมองครอบครัวคิม - พวกเขาคือผู้มีพระคุณที่ทำให้มีงานทำมีเงินใช้ ส่วนมุมมองของพ่อบ้านที่อยู่ในห้องใต้ดินยิ่งไปไกลกว่านั้น เขาเคารพเทิดทูนคุณพัคราวกับเป็นปูชนียบุคคล ซึ่งมีทั้งแต่งเพลงให้และเปิดไฟแต่ละดวงให้ในยามที่คุณพัคเดินเข้าบ้าน (ซึ่งการที่ครอบครัวนี้มีพฤติกรรมเชิดชูบุคคลราวกับเทวดาแบบเกาหลีเหนือ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ล้อเลียนเกาหลีเหนือแบบเต็มที่ จึงถือเป็นสิ่งที่ย้อนแย้ง) สรุปคือหนังแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ชนชั้นล่างต่อสู้กันเอง ในขณะที่ชนชั้นสูงถูกเชิดชูและถูกกันไว้นอกวง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นแพตเทิร์นที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในโลกใบนี้หลายครั้ง และจะยังวนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันภายหลังเมื่อคุณพ่อบ้านคิมเกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ ในยามที่ลูกสาวของเขาถูกฆ่าตาย ทำให้เขาได้เห็นถึงความโหดร้ายของระบบและความเลือดเย็นของชนชั้นสูง ทำให้เขาตัดสินใจจับมีดแล้วจัดการคู่ต่อกรที่แท้จริงของเขา ถึงแม้คุณพัคจะถูกฆ่าตาย แต่สิ่งที่ถูกจัดการคือตัวคน ไม่ใช่ระบบ ซึ่งนั่นทำให้มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริงเพราะระบบอยุติธรรมต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ และยังมีคนที่ทนทุกข์กับระบบนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ในตอนจบคุณพ่อบ้านคิมกลายเป็นคนที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในชั้นใต้ดินของบ้านครอบครัวพัคแทนคนเก่า ซึ่งการจะช่วยให้เขาขึ้นมามีชีวิตอยู่บนดินได้อีกครั้งนั้น ลูกชายบ้านคิมจะต้องหาทางสร้างฐานะเพื่อหาทางซื้อบ้านหลังนั้นมาให้ได้ ซึ่งหากดูจากระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมดังที่กล่าวไว้ ภาพแห่งความสุขที่ปรากฏในช่วงท้ายของหนังก็ดูจะเป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต? คำจำกัดความของปรสิตคือ ‘สิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร’ ทำให้เราตีความได้ว่าปรสิตในชื่อหนังหมายความถึงครอบครัวชนชั้นล่างซึ่งอาศัยเงิน/ที่อยู่/อาหารจากครอบครัวชนชั้นสูงเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป แต่หากพิจารณาอีกทีจะพบว่า ปรสิตอาจหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ความได้เปรียบทางสังคม ทำการดูดกลืนเงินและทรัพยากรต่าง ๆ เข้าหาตัวเอง โดยปล่อยให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสโดนเอาเปรียบหรือถูกทอดทิ้งให้จนตรอกโดนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าคำว่าปรสิตหมายความถึงคนกลุ่มไหนกันแน่