Parasyte(ปรสิต): ความชอบธรรมของการ"ฆ่า"ศีลธรรมของผู้อยู่ปลายห่วงโซ่อาหาร

Parasyte(ปรสิต): ความชอบธรรมของการ"ฆ่า"ศีลธรรมของผู้อยู่ปลายห่วงโซ่อาหาร

ความชอบธรรมของการ"ฆ่า"ศีลธรรมของผู้อยู่ปลายห่วงโซ่อาหาร

ภายใต้ลายเส้นที่หยาบ ๆ ที่ไม่สบายตา แต่มองเข้าไปในเนื้อหาที่หนักหน่วงแต่น่าติดตาม Parasyte หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "ปรสิต" คือมังงะ(หนังสือการ์ตูน) ชั้นดีที่พิสูจน์ผ่านกาลเวลามากว่า 30 ปี กลายเป็นของขึ้นหิ้งที่ถูกเอามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และมังงะภาคพิเศษในกาลต่อมา Parasyte เวอร์ชั่นมังงะผลงานของ Hitoshi Iwaaki ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1988 และจบในปี ค.ศ.1999 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังสองภาคในปี 2014-2015 ผลงานกำกับของ Takashi Yamazaki ที่เคยฝากผลงานเป็นหนังภาคต่อฟีลกู้ด อย่าง Always : Sunset on the Third Street ซึ่งโทนของหนังคนละเรื่องกับ Parasyte อย่างชัดเจน ด้วยความที่ช่วงเวลาของการเกิดขึ้นของมังงะและภาพยนตร์ห่างกันนานมาก หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ในภาพยนตร์ Parasyte จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น อย่างเช่น ในเวอร์ชั่นมังงะ ตัวละครใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์หยอดเหรียญและโทรศัพท์บ้าน แต่พอมาเป็นภาพยนตร์ในยุคปี 2014 จึงต้องเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน แต่แม้สิ่งของรอบข้างจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ประเด็นหลักอันทรงพลังในมังงะเมื่อส่งผ่านสู่ภาพยนตร์ก็ไม่ได้เหือดหายไปไหน ปรสิตได้ตั้งคำถามต่อสมดุลของโลก กับปัญหาที่ว่า ทุกวันนี้การบริโภคของมนุษย์ ทำให้สมดุลของโลกสูญเสียไปกี่เท่าไหร่? คำถามนี้ยิ่งดูจะเข้มข้นมากขึ้นในยุคนี้ที่การผลิตมันอยู่ในอัตราที่สูงมากกว่ายุคไหน ๆ "ถ้าประชากรมนุษย์ลดลงครึ่งหนึ่ง ป่าไม้ที่ถูกเผาทำลายจะลดลงครึ่งหนึ่งด้วยไหม? ถ้าประชากรมนุษย์ลดลง 99% มันจะช่วยลดมลพิษบนโลกได้ 99% ด้วยหรือเปล่า?” ประโยคเปิดของเรื่อง มาพร้อมกับก้อนกลมแปลกประหลาดที่มีสัณฐานคล้ายสปอร์แต่มีขนาดเท่ากับลูกเทนนิสซึ่งลอยยังโลก ในมังงะอธิบายว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มาจากนอกโลก แล้วสักพักมีตัวอ่อนที่ฟักตัวออกมาจากวัตถุประหลาดนี้ นี่คือ “ปรสิต” ที่ต้องการฝังตัวในส่วนหัวของมนุษย์ ชินอิจิ อิซูมิ วัยรุ่นระดับมัธยมฯ ปลาย ก็เป็นอีกคนที่ตัวปรสิตพยายามจะเข้ามาฝังในร่าง แต่ไม่สามารถไปถึงสมอง จึงต้องฟักตัวที่แขนขวาแทน ปรสิตตัวนี้จึงไม่สามารถยึดครองสมองอันเป็นระบบการสั่งการต่าง ๆ ของมนุษย์ได้สำเร็จ ปรสิตตัวนี้มีชื่อว่า “มิกิ” ซึ่งอาศัยเลือดของชินอิจิเพื่อการมีชีวิตอยู่ เหมือนความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างปรสิตกับโฮสต์(Host) ผู้ให้ที่อยู่อาศัย แต่ในขณะที่คนอีกหลายคนที่ถูกปรสิตฟักตัวที่สมอง กลับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ และกินมนุษย์เป็นอาหาร ในเบื้องต้นของ Parasyte ทั้งเวอร์ชันมังงะและภาพยนตร์ เทน้ำหนักไปให้ความน่ากลัวของตัวปรสิต ที่สำหรับมนุษย์ มันเปรียบเสมือนฆาตกรที่โหดเหี้ยม เพราะการกินเหยื่อของปรสิตนั้นเหลือซากศพที่ชวนสยองขวัญให้ได้แหวะอยู่เสมอ แต่เมื่อเนื้อหาไปถึงจุดหนึ่ง Parasyte พยายามผลักดันเรื่องให้นำไปสู่วาทะโต้แย้งที่ว่า การฆ่าเช่นนี้ เป็นเรื่องต้องห้ามบนฐานของศีลธรรมในแบบที่มนุษย์ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะมังงะและหนังพยายามชี้ให้เห็นว่า การกินของปรสิต ที่เลือกกินมนุษย์นั้น มันกินเพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกันกับที่มนุษย์ต้องกินหมูเห็ดเป็ดไก่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ในฐานะผู้อยู่ปลายสุดของห่วงโซ่ของการบริโภค มนุษย์เสียอีกที่บริโภคเกินความจำเป็น มนุษย์เป็นผู้ล่าผู้อยู่ปลายห่วงโซ่อาหารจนเคยตัว พอมาเจอกับการถูกล่าเสียเองจากปรสิต ที่อ้างสิทธิความชอบธรรมแบบเดียวกับมนุษย์ นั่นคือ ทำไปเพราะความอยู่รอด ตรรกะนี้ก็ชวนให้คิดหนักเหมือนกัน วาทะโต้แย้งระหว่าง ศีลธรรมแบบมนุษย์ กับการเอาตัวรอด(และเพื่อสมดุลของโลกที่ถูกมนุษย์ทำลายมาเยอะแล้ว) ทำให้ Parasyte มีเสน่ห์ที่น่าติดตาม เพราะมาตรฐานศีลธรรมของมนุษย์ และปรสิตนั้น เป็นคนละแบบกัน Parasyte(ปรสิต): ความชอบธรรมของการ"ฆ่า"ศีลธรรมของผู้อยู่ปลายห่วงโซ่อาหาร ที่น่าพิจารณาก็คือ “การฆ่า” ในสังคมมนุษย์ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ในสังคมการเมืองพึงหลีกเลี่ยง แม้แต่โทมัส ฮอบส์ (1588 – 1679) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษยังมองว่า สาเหตุที่มนุษย์ร่วมกลุ่มกัน สร้างสัญญาประชาคม(Social Contract) เพื่อเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะธรรมชาติ อันเป็นภาวะสงครามที่นำไปสู่ความตายอันรุนแรง(Violent Dead) ในสภาวะ “ปกติ” การฆ่าจึงถือว่าเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” เพราะการฆ่า คือการทำลายข้อตกลงร่วมกันที่มีในสังคมการเมือง แต่ที่น่าคิดก็คือ แล้วสภาวะ “ไม่ปกติ” ล่ะ การฆ่านั้น ยังถือว่าเป็นภาวะที่ “ปกติ” ไหมในซีรีส์อเมริกันอย่าง The Walking Dead ที่พูดถึงโลกที่ล่มสลายจากภัยคุกคามจากซอมบี้ กลุ่มตัวละครหลักที่ดำเนินเรื่องอยู่ จะมีคำถาม 3 คำถาม สำหรับคนนอก เพื่อพิสูจน์ว่า คน ๆ นั้นเป็น “คนดี” หรือไม่ ด้วยคำถาม 3 คำถามก็คือ 1.ฆ่าซอมบี้มากี่ตัว? 2.ฆ่าคนมากี่คน? 3.ทำไมถึงฆ่า? หากจะ “อ่าน” ทั้ง 3 คำถาม ในข้างต้น สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งก็คือ ในภาวะที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นใน The Walking Dead กลุ่มตัวละครนี้ยอมรับได้กับการฆ่า เพราะในภาวะที่ไร้ซึ่งกฎหมายที่จะยึดถือกันแล้ว การฆ่าอาจจะเป็นความชั่วร้ายที่ยอมรับกันได้ อันนำมาสู่การอ้างความชอบธรรมในคำถามข้อที่ 3 ว่าทำไมถึงฆ่า? การตั้งคำถามว่า ทำไมถึงฆ่า มันทำให้การฆ่านั้นกลายเป็นเรื่องที่ปกติ ทั้งสังคมที่ปกติและไม่ปกติ เพราะมันมีเหตุผลมากมายที่จะเลือกใช้บริการตัวเลือกที่เรียกว่า “การฆ่า” อย่างเช่น เพื่อป้องกันตัว หรือการบังคับโทษทางกฎหมายในเรื่องของโทษประหาร ซึ่งแน่นอนว่า สังคมที่พัฒนาหลักมนุษยธรรมมาถึงขีดสุดแล้ว การฆ่าในลักษณะของโทษประหาร ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” อยู่ดี กลับไปสู่ Parasyte เมื่อพิจารณาในเรื่อง “การฆ่า” หากตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงฆ่า?” เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างเหตุผลที่ปรสิตฆ่ามนุษย์ และกับการที่มนุษย์ฆ่าปรสิต ได้อย่างน่าสนใจ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว การฆ่าของปรสิต แม้ว่าจะน่ากลัว แต่ฆ่าบนพื้นฐานของความอยู่รอด มนุษย์ก็เช่นกัน การฆ่าปรสิตนั้นก็เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ แม้ว่าปรสิตจะมีความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ แต่ด้วยจำนวนที่มากมายของมนุษย์ ทำให้กลุ่มปรสิตที่รวมตัวกันรู้ดีว่า ไม่อาจจะเอาชนะมนุษย์ได้ จึงต้องพยายามปรับตัวให้มีความเป็น “มนุษย์” มากที่สุด เช่นการกินเนื้อสัตว์อื่นแทนการกินมนุษย์ แต่ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเรื่องความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้ว ความชอบธรรมต่อการฆ่าของมนุษย์นั่นก็คือ การสร้างความรู้สึกเป็นอื่น ความรู้สึกแยกเขา แยกเราโดยแยกมนุษย์ออกจากปรสิต ฉากสำคัญหนึ่งในเรื่อง นั่นคือ ฉากการเผชิญหน้ากัน 2 ครั้งระหว่างชินอิจิและปรสิตที่ฆ่าและยึดร่างแม่ของเขา ในครั้งแรก ชินอิจิไม่กล้าต่อสู้กับปรสิตในร่างของแม่ เพราะคิดว่านั่นคือแม่ของเขาจริง ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พอเจอกันครั้งที่สอง ชินอิจิกลับเลือกที่จะต่อสู้กับปรสิตตัวนี้ โดยไม่มีความรู้สึกที่ว่านี่คือแม่ของเขา ซึ่งปมนี้มันถูกปูมาอย่างแข็งแรงว่า ชินอิจิเลือกที่จะต่อสู้กับปรสิตตัวอื่น เพราะแม้ว่า ชินอิจิจะมองว่า ปรสิต เป็นศัตรูมากน้อยอย่างไร แต่อย่าลืมว่า ตัวตนของชินอิจิ ส่วนหนึ่งในร่างกายของเขาก็คือ มิกิ ซึ่งเป็นปรสิต นั่นทำให้ตัวของชินอิจิมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่ชินอิจิรู้สึกโกรธที่ปรสิตฆ่าแม่ของเขา แต่ตัวมิกิเองในฐานะเพื่อนร่วมต่อสู้ กลับเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับปรสิตคนอื่น “การฆ่า” ของชินอิจิ จึงนำไปสู่ข้อขบคิดถกเถียงกันในเรื่อง “ศีลธรรมเชิงซ้อน” ระหว่างโลกของชินอิจิ และโลกของมิกิ เอง อย่างมีมิติ นอกเหนือจาก Parasyte จะนำไปสู่คำถามต่อความสมดุลของโลกที่เต็มไปด้วยขยะและสารพิษที่จากแนวคิดบริโภคนิยมของมนุษย์ ไปจนถึงการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่เป็น “ปรสิต” เต็มตัว อย่าง ทามิยะ เรียวโกะ ว่าหากอยากมีสำนึกแบบมนุษย์ พวกเขาจะดำรงอยู่อย่างไร ผ่านการเลี้ยงลูกที่เป็นมนุษย์จริง ๆ อันนำไปสู่ฉากสะเทือนใจที่สุดในเรื่องนั่นคือการล้อมปราบเธอที่สวนสาธารณะ มีคำกล่าวว่า ประวัติศาสตร์นั้นเขียนโดยผู้ชนะ แต่สำหรับ Parasyte เป็นไปได้ว่า ประวัติศาสตร์นั้นอาจจะเขียนโดยผู้ที่อยู่ปลายห่วงโซ่อาหาร...