แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง

แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง
หากมีบทสดใสและบทเศร้า เธอขอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง “มันท้าทายตัวเองตั้งแต่ผู้จัดการบอกว่ามีคนติดต่อมาให้เล่นเป็นแม่แล้ว” ‘แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช’ นักแสดงมากฝีมือผู้รับบทเป็น ‘รุจา’ แม่เลี้ยงเดี่ยวจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Cracked - ภาพหวาด’ เล่าให้ทีมงาน The People ฟังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เธอจำได้ว่าการแคสต์บทรุจาเกิดขึ้นในปี 2018 ซึ่งขณะนั้นเธอเป็นเพียงหญิงสาววัย 20 ต้น ๆ ที่ไม่ได้มีสถานะใกล้เคียงความเป็นแม่ แต่นั่นกลับกลายเป็น ‘โอกาส’ และ ‘ความท้าทาย’ ที่ทำให้แพตอยากจะกระโดดลงไปคว้ามันในทันที ชนิดที่ไม่ต้องสนใจว่าการรับบทเป็นแม่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเธออย่างไร แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง ในภาพยนตร์เรื่อง Cracked รุจาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับมรดกชิ้นโตอย่าง ‘คอลเลกชันภาพวาด’ จากพ่อผู้เป็นศิลปิน เธอได้เรียก ‘ทิม’ (รับบทโดย นิชคุณ หรเวชกุล) มาซ่อมภาพวาดดังกล่าวเพื่อนำไปขาย และนำเงินมารักษาดวงตาที่กำลังจะมืดบอดให้กับลูกสาวอย่าง ‘ราเชล’ (รับบทโดย นีน่า - ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน)  “พอตัวละครสองตัวละครนี้ได้เจอกับภาพวาด มันก็ทำให้เกิดเรื่องบางอย่างที่อยู่ข้างหลังภาพ และหลังภาพเข้าไปอีก”  นั่นทำให้แพตในบทรุจาได้เริ่มออกวิ่ง และวิ่งหนีอย่างเดียวราวกับบทกลั่นแกล้งให้เจอ ‘เซอร์ไพรส์’ ทุก 5 นาทีของภาพยนตร์ นอกจากนี้แพตยังเล่าว่า เธอไม่ได้วิ่งแค่ในจอเท่านั้น เพราะนอกจอ เธอกับทีมงานก็ต้องวิ่งหนีน้ำในป่าด้วยกัน นับเป็นความท้าทายที่สนุกสนานสมใจนักแสดงคนนี้ “ตอนนั้นไม่กลัวเลยนะ รู้สึกว่าสนุกจัง คือมันแค่วิ่ง ไม่ได้ไกลจากพื้นที่ปลอดภัย วิ่งไปนิดเดียวมันก็ปลอดภัยแล้ว เราเห็นแล้วก็ อุ๊ย! วุ่นวายดีจัง แต่ตอนนั้นก็สงสารทีมงานนะ เขาต้องวิ่งแบกของไปมา แต่ทุกคนก็ปลอดภัยดี” แพตยิ้ม เมื่อเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความหลอนของภาพวาด ทีมงานจึงอยากรู้ว่า เธอในฐานะ ‘เด็กศิลป์’ ที่จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยได้พบเรื่องราวความหลอนในมหาวิทยาลัยบ้างไหม ซึ่งเธอตอบว่า เธอเคยได้ฟังจากคณะอื่นมาบ้าง เช่น นักศึกษาฝันติดต่อกันเกี่ยวกับผลงานชิ้นหนึ่ง และมีคนพบเจออะไรบางอย่างในวันถัดไป โดยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับมวลของงานศิลปะ แต่เนื่องจากช่วงเรียนเป็นช่วงที่เธอเข้าวงการ ทำให้เธอทำงานหนัก และไม่ค่อยได้ฟังเรื่องเหล่านี้มากนัก  พอถึงจุดนี้ เธอจึงเริ่มเล่าเส้นทางศิลปะในวัยเด็ก ก่อนที่จะจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นนักแสดงเต็มตัวให้ฟัง แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง เป้าหมายที่มาไม่ทันตั้งตัว “ป๊ากับหม่าม้าชอบเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็ก ๆ พอเขาไม่มีอะไรให้เราทำ เขาก็จะเอากระดาษมาให้วาดรูประบายสีเล่น เราก็จะเป็นคนวาดเก็บรายละเอียด โดยที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไรมาตั้งแต่เด็ก ๆ” จากวิธีฆ่าเวลาที่สมาชิกในบ้านหามาให้ แพตเติบโตและเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา สายการเรียนคณิต - อังกฤษ ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แต่เรียนได้เพียงอาทิตย์เดียว เธอก็รับรู้ได้ถึงความไม่ชอบจึงตั้งเป้าหมายสุ่มสี่สุ่มห้าว่าอยากเรียนศิลปะและเข้ามหาวิทยาลัยด้านศิลปะขึ้นมา ก่อนจะขอครูย้ายสายการเรียนเป็นศิลปะ - อังกฤษแทน “มันเป็นความจับพลัดจับผลู เป็นความอยากจะทำ ไม่มีที่มา เซอร์มาก อยากทำ อยากเรียน เราก็มีความสุขมากระหว่างทำ แต่ว่าชีวิตมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ความสุขมันก็จะกลายเป็นความเหนื่อยบ้าง แต่ก็แฮปปี้” หลังจากเริ่มเข้าคอร์สติวศิลปะเพื่อสอบเข้า เธอก็ได้ฝึกเทคนิคอย่างครบถ้วนทั้งการดรอว์อิ้ง วาดภาพแบบเรียลและเซอร์เรียล รวมไปถึงทำกราฟิก ตรงจุดนี้ แพตได้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การศึกษาไทยโดยภาพรวมยังไม่ได้สนับสนุนการเรียนเท่าที่ควร “การศึกษาไทยเป็นองค์ประกอบใหญ่มากที่มีหลายบุคคลพยายามจะผลักดันตรงนี้ แต่มันยังมีจุดเว้าแหว่งบางอย่าง จริง ๆ ก็ไม่ได้มีแค่บางอย่างด้วย เป็นความเว้าแหว่งในคำว่างานศิลปะในประเทศไทยที่เป็นศิลปะกว้าง ๆ ไม่ใช่แค่ศิลปะวาดรูป แต่เป็นศิลปะทุกแขนงที่ไม่ได้ถูกโอบอุ้มด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐขนาดนั้น” การติวของเธอจึงเริ่มมาจากการที่เพื่อนแนะนำ และเธอเองก็เคยใส่ชุดนักเรียนเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย เพื่อดูว่าถ้าตนเองสอบเข้าที่นี่จะเป็นอย่างไร เธอต้องสอบอะไร และทำอย่างไรบ้าง ซึ่งแพตใช้เวลาในการฝึกฝนตั้งแต่ตอน ม.4 เพื่อเอาชนะตัวเองและเข้าคณะที่ใคร ๆ ต่างก็บอกว่า ‘เข้ายาก’ ให้ได้ แบบที่เธอเรียกว่ามันคือการ ‘ตะบี้ตะบันติวอย่างเดียว’ จนในที่สุดความฝันก็เป็นจริง แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง กิจการครอบครัวคณะมัณฑนศิลป์ “พอเข้าไปเรียน มันเหนื่อยกว่าที่คิดมาก” แพตให้สัมภาษณ์พร้อมรอยยิ้ม เพราะท่ามกลางความเหนื่อย เธอก็ได้พบกับความสนุกและประสบการณ์ดี ๆ หลายอย่างทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่เพื่อนชวนไป เธอเล่าว่า งานศิลปะมันไม่ใช่แค่การวาด การจับพู่กัน หรือการจับดินสอ แต่มันคือทุกแขนงทั้งศิลปะดนตรี ศิลปะภาพ ศิลปะการแสดง ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนานเกินกว่าจะนับได้ และศิลปะก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้คนละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่นเดียวกับตัวเธอที่หลังจากขยับเข้าวงการมาทีละนิด เธอก็ได้ลงลึกกับบทที่ไม่ใช่ตัวเองมากขึ้น จนความชอบในการแสดงเกิดขึ้นตอนไหนก็ไม่รู้ “ไม่เคยคิดเลยว่าอยากจะเป็นนักแสดง แต่มันน่าจะเริ่มจากการที่รุ่นพี่ที่คณะผันตัวไปทำงานโปรดักชัน และมีความสนใจในงานศิลปะที่เป็นภาพยนตร์ ก็จะมีกิจการครอบครัวที่เธอมาช่วยเราหน่อย มาเล่นให้หน่อย เราก็ชิล ๆ เป็นนักเรียนที่ไปเล่น ๆ เหมือนเป็นงานรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนุก “พอมันทำไปเรื่อย ๆ รุ่นพี่เป็นแคสติ้งโฆษณาก็เรียกไป เราก็ไป แต่มันได้ พอเริ่มได้ คอนเนคชันก็ยาวไปอีก เหมือนมาอยู่ตรงนี้โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นจากอะไร เพราะไม่ใช่เป็นคนที่แสวงหาโอกาส มันไม่ใช่อยากเป็นอยากได้ตั้งแต่ตอนนั้น “พอถึงจุดที่เราลงไป ศิลปะการแสดงมันเพิ่งมาเริ่มตอนมีโอกาสได้ลงลึกในตัวละครอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเองมากขึ้น จริง ๆ มันมีพื้นที่อื่นนะ พื้นที่ใหม่ ๆ ที่ร่างกายเราตอบสนอง และน่าสนใจ มันเลยทำให้ลงลึกมากขึ้น” แพตเล่าว่า เธอเคยกลับบ้านแล้วนั่งคิดกับตัวเองว่า ซีนที่เพิ่งแสดงจบไปนั้นมันคืออะไรกันแน่ มันเหมือน Magical Moment ที่ทำให้ตัวเองเซอร์ไพรส์ และกลายเป็นโอกาสที่พาตัวเองเดินทางไปยังจุดใหม่ ๆ ที่ขอบเขตร่างกายของเธอไม่เคยไปถึง ซึ่งหลังจากนั้น นักแสดงคนนี้ก็ยังคงเดินทางไปยัง ‘ที่ไหนก็ไม่รู้’ อยู่เรื่อย ๆ แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง อยากแสดงให้ดีที่สุด ศาสตร์การแสดงนั้นลึกล้ำและน่าค้นหา บทคือหลังคาบ้าน และนักแสดงคือคนที่อยู่ในบ้าน หากนักแสดงไม่เชื่อว่าหลังคาแข็งแรง ก็เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะอยู่ในบ้านหลังนี้ได้อย่างมีความสุข แพตเปรียบเปรยการทำงานของเธอให้ฟัง เวลาที่อยู่ในกอง เธอให้ความสำคัญต่อความเชื่อและไม่เชื่อมาก ทั้งเชื่อในบท เชื่อในทีม เชื่อในตัวผู้กำกับ เชื่อในตัวเอง รวมถึงเชื่อพื้นที่ที่ยืนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น หากเธอเกิดภาวะที่ไม่เชื่อขึ้นมา เธอก็จะไม่พยายามหลอกตัวเองและไม่หลอกอารมณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติระหว่างทำงานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นอกจากนี้เธอยังเล่าให้ฟังถึงมุมขบถเล็ก ๆ ของตัวเองที่เกิดจากอิสระและศิลปะให้ฟังด้วย “บางครั้งเราต้องแอบกบฏบ้าง เช่น เราไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกตามทุกตัวหนังสือที่คนเขียนมาตลอด ตัวหนังสือมีชีวิตระดับหนึ่ง แต่พอทำการแสดง ตัวหนังสือมันเข้ามาอยู่ในมนุษย์ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ แล้วเราได้เอาประสบการณ์จากตัวหนังสือมาเป็นมนุษย์ มันก็จะมีบ้างที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องตามกรอบ “เรารู้สึกว่าทุกงานศิลปะที่โดดเด่นและแปลกใหม่ มันจะมีกลิ่นอายความกบฏเล็ก ๆ อยู่ในนั้น มันดื้อหน่อย เพราะว่ามันมีเหตุของการกบฏอยู่ในทุกงานศิลปะของมันเอง” จากประสบการณ์การแสดงที่ผ่านมา แพตไม่ได้รู้สึกว่าตัวเธอเติบโตขึ้นมากมาย แต่เธอรู้สึกมีความกล้าหาญมากขึ้นที่จะกระโดดเข้าไปในหลุมอารมณ์ของแต่ละบทบาทที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Cracked ที่เธอกระโดดเข้าไปเล่นเป็นแม่ครั้งแรก แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง ภาพหวาด ไปให้สุดผลลัพธ์ที่ดี “เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้ทั้งตัวเอง คนดู และทีมเชื่อว่าเรารับบทนี้ได้จริง ๆ ซึ่งมันประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบมาก ทั้งเรา ผู้กำกับ ครูสอนแอคติ้งที่มาเวิร์กชอปให้ในเรื่องนี้คือ ครูกุ๊กไก่ ครูสามารถพาเราไปในจุดนั้นได้ แล้วก็ขอบคุณตัวเองด้วยที่กล้าไปกับครูด้วยเหมือนกัน “จริง ๆ น้องนีน่าที่เล่นเป็นลูกก็เป็นเด็กที่พรสวรรค์แรงมาก เราคิดไม่ออกเลยว่า ถ้าวันนั้นไม่ใช่น้องมาเล่น แล้วเป็นคนอื่น เราอาจจะไม่ได้เกิดความเชื่อขนาดนี้ก็ได้ น้องเก่งมาก ตอนนั้นเขา 5 ขวบ แต่ทำได้ขนาดนั้น อยากให้ทุกคนมาดูน้องแสดง” สำหรับการทำงานร่วมกับนิชคุณ หรเวชกุล และนักแสดงผู้ใหญ่อีกหลายท่าน แพตเล่าว่าทุกคนมาทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และมีจุดหมายร่วมกันคืออยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ดีด้วยความตั้งใจสูงสุด ความตื่นเต้นของเธอจึงไปลงที่ผลงานมากกว่า นอกจากนี้ เธอยังได้แชร์ประสบการณ์ในกองถ่ายให้ฟังด้วยว่า เธอทะเลากับผู้กำกับไปหลายครั้ง เพื่อให้ได้การแสดงที่ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด “เราประทับใจความสู้ของทีมงานทุกคนมาก ๆ มันเลยทำให้รู้สึกว่า กองนี้พลังงานดีจัง แต่ว่ามันเป็นความประทับใจที่แปลก ๆ นิดหนึ่ง คือแพตทะเลาะกับผู้กำกับบ่อยมาก งอนมาก เพราะมันเป็นการทะเลาะกันผ่านเรื่องงาน เช่น เราเป็นนักแสดง เราก็รู้สึกว่าแสดงแบบนี้มัน satisfy มาก เมื่อกี้มันถึง มันใช่เลย แต่ว่าสิ่งที่เราทำ เราลืมว่าเราต้องมีไดเรกชันที่ผู้กำกับต้องการด้วย เช่นมาจบตรงนี้ เพื่อให้กล้องรับตรงนี้ มันก็เลยเป็นการถกเถียงกันผ่านเรื่องนี้ คือเถียงกันเรื่องงานให้มันดีและจริงที่สุด มันเลยเป็นการทำงานที่ประทับใจ แล้วก็ประทับใจผู้กำกับด้วย เป็นคนแรกที่คุยบทคนแรก ๆ มีสตอรี่บอร์ดครบทุกซีนตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเล่ม” (หัวเราะ) แพตเล่าต่อว่า เธอเป็นคนที่กลัวผีมาก ทำให้การแสดงของเธอเกิดจากความเชื่อจริง ๆ โดยอัตโนมัติ ทั้งยังต้องไปแสดงในป่าที่มีตั้งแต่ป่าธรรมดาไปจนถึงป่าช้า ทีมงานจึงถามแพตว่า หากเธอกลัวผี ทำไมจึงเลือกรับบทเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็น Cracked หรือ Forbidden ที่กำลังจะออกฉายในอนาคตก็ตาม เธอได้ให้คำตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน (ยิ้ม) สมมติมีบทที่สดใสมาก ๆ สดใสปานกลาง เศร้าเฉย ๆ กับเครียดมากเศร้ามาก เราจะเลือกอันที่ extreme ที่สุด (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันสะใจกว่า (หัวเราะอีก) โรคจิต มีเพื่อนบอกว่าโรคจิต มันสะใจ แต่มันก็ได้ท้าทายตัวเองแบบขั้นสุด ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าประสบการณ์ก้าวกระโดดไหม แต่มันเหมือนได้เติมอุปกรณ์ด้านอารมณ์เข้าไปในตัวเอง” ด้วยเหตุนี้เอง ในอนาคตแพตจึงไม่ได้กำลังรอคอยบทบาทใดเป็นพิเศษ แต่เธอรอคอย ‘บทที่ดี’ เพื่อผลิตเป็นผลงานที่ทำให้คนเห็นคุณค่ากับงานศิลปะร่วมกัน โดยหวังว่าสักวันจักรวาลคงจะจัดสรรความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาให้ เหมือนที่พาเธอเข้าวงการบันเทิงอย่างทุกวันนี้ แพต - ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช: เธอเลือกบทที่ ‘เศร้าขั้นสุด’ เพื่อเติมอุปกรณ์อารมณ์ให้ตัวเอง เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: Instagram @chayanitpat